#เลือกตั้ง66: บทเรียนเลือกตั้งล่วงหน้า ข้อเรียกร้องต่อ กกต. เพื่ออนาคต

ประสิทธิภาพในการจัดการการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นที่น่ากังขามาตั้งแต่บทเรียนการจัดเลือกตั้งในปี 2562 จนมาถึงความไม่พร้อมในปี 2566 และปรากฏรูปธรรมออกมาในการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ที่เต็มไปด้วยปัญหา ซึ่งอาจส่งผลขั้นต่ำสุด คือ สร้างความไม่สะดวกให้กับประชาชนและขั้นสูง คือ กระทบต่อเจตจำนงที่ประชาชนออกเสียงไปแล้ว

Vote 62 เครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานจับตาการเลือกตั้งและโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ได้รับรายงานปัญหาในการออกเสียงเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตของประชาชนในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 อย่างน้อย 589 กรณี เช่น การเขียนรายละเอียดหน้าซองบัตรเลือกตั้งผิด การไม่พบชื่อว่ามีสิทธิเลือกตั้งทั้งที่ลงทะเบียนไว้แล้ว การให้ข้อมูลผู้สมัครและพรรคไม่ครบหรือสร้างความสับสน และการปิดผนึกซองไม่ถูกต้อง รวมถึงปัญหาความแออัดและอากาศที่ร้อนจัดในหน่วยเลือกตั้งกลางแจ้ง

ในบรรดาปัญหาทั้งหมด ปัญหาที่จะก่อผลเสียอย่างมาก คือ การกรอกเขตของผู้มีสิทธิเลือกตั้งผิดเป็นเขตอื่นที่มีอยู่จริง ซึ่งมีโอกาสที่ซองบรรจุบัตรเลือกตั้งที่กรอกที่อยู่ปลายทางผิดจะถูกส่งไปผิดเขตและบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต จะถูกนับเป็นคะแนนของผู้สมัครคนอื่นในเขตเลือกตั้งอื่น ซึ่งขัดต่อเจตจำนงของผู้ออกเสียง จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า มีการจ่าหน้าซองผิดเขตเกิดขึ้นในหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าหลายเขต เช่น ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร(ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง กรุงเทพมหานคร, ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า พระราม2 กรุงเทพมหานคร, ที่สำนักงานเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร, ที่มหาวิทยาลัยรามคําแหง กรุงเทพมหานคร, ที่ศาลากลางชลบุรีและที่โรงเรียนเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรีและที่โรงเรียนเชิงทะเลวิทยาคม “จุติ-ก้อง อนุสรณ์” จังหวัดภูเก็ต ซึ่งคาดการณ์ว่า จะทำให้คะแนนเสียงถูกนับผิดไปไม่น้อยกว่า 1,000 ซอง โดยยังไม่รวมกรณีที่ยังไม่ได้รับแจ้งซึ่งอาจมีอีกเป็นจำนวนมาก

เพื่อให้มีการเลือกตั้งที่มีคุณภาพ ประชาชนสามารถออกเสียงได้อย่างสะดวก เท่าเทียมกัน และผลการเลือกตั้งได้รับการยอมรับ เราขอเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการ ดังนี้

 

มาตรการระยะสั้น

กกต.จะต้องสืบสวนข้อเท็จจริงของเรื่องร้องเรียนการจ่าหน้าซองจดหมายผิดโดยทันที เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปริมาณความเสียหายที่เกิดขึ้น และเพื่อให้เข้าใจสาเหตุของปัญหาว่า มีสาเหตุมาจากสิ่งใดและส่งผลต่อผลลัพธ์การแพ้ชนะในแต่ละเขตเลือกตั้งได้หรือไม่ หากเป็นความผิดพลาดในการจัดการเลือกตั้ง กรรมการ กกต. ต้องขอโทษประชาชน และอธิบายวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างละเอียด ไม่ซ่อนเร้นคำอธิบายด้วยคำศัพท์เชิงเทคนิค และในกรณีความผิดพลาดที่ละเมิดเจตจำนงการออกเสียงของผู้ใช้สิทธิ ถ้ายังไม่ได้จัดส่งซองจดหมายที่จ่าหน้าผิดก็ต้องดำเนินการคืนสิทธิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยที่จ่าหน้าซองจดหมายผิดได้มาใช้สิทธิลงคะแนนใหม่ และจ่าหน้าซองจดหมายที่ถูกต้อง

 

มาตรการระยะยาว

  1. เสนอแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง เช่น ลำดับการสมัครรับเลือกตั้งและหมายเลขของผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อให้หมายเลขของผู้สมัครในระบบแบ่งเขตและหมายเลขของพรรคการเมืองในระบบบัญชีรายชื่อเป็นหมายเลขเดียวกัน ไม่สร้างความสับสนให้แก่ประชาชนและสร้างความสะดวกให้แก่พรรคการเมืองในการหาเสียง และบัตรเลือกตั้งที่จำเป็นต้องมีรายละเอียดในสาระสำคัญในบัตรแบบแบ่งเขต ไม่ใช่เป็น “บัตรโหล” แบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่ง่ายต่อการบริหารจัดการของกกต. แต่สร้างภาระให้แก่ผู้ใช้สิทธิออกเสียง
  2. พัฒนาเทคโนโลยีการเลือกตั้งอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้อย่างไม่มีอุปสรรค การเข้าใช้งานระบบลงทะเบียนของประชาชนจำนวนมากเป็นสิ่งที่คาดหมายล่วงหน้าได้ จึงไม่ยากเกินไปที่กกต. จะพัฒนาระบบให้รองรับ และเชื่อมต่อฐานข้อมูลของรัฐให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อป้องกันความสับสน
  3. จัดเตรียมสถานที่ลงคะแนนที่เอื้ออำนวยต่อประชาชนในการใช้สิทธิ เพื่อไม่ให้เกิดภาพที่ประชาชนต้องแออัด และเข้าแถวเป็นเวลานานท่ามกลางอากาศร้อนจัด จนบางคนต้องกลับก่อนใช้สิทธิเพราะไม่สามารถทานทนอากาศร้อนได้ หรือจำนวนไม่น้อยเป็นลมระหว่างรอ นอกจากนี้ยังสร้างความเหนื่อยล้าให้กับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่อยู่หน้างาน จนเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำงานผิดพลาดไม่เป็นไปตามขั้นตอนด้วย สถานการณ์ดังกล่าวเป็นปัจจัยที่กกต. ทราบล่วงหน้าได้ และในระดับนโยบายต้องประสานความร่วมมือกับเจ้าของสถานที่เอกชน หรือของราชการเพื่อเลือกสถานที่ที่สะดวกสบายมากขึ้น เช่น หอประชุมในร่ม หรือห้างสรรพสินค้า ที่มีที่จอดรถสะดวก
  4. สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ทั้งหน้าที่ความรับผิดชอบหน้างานและความเข้าใจต่อระบบการจัดการเลือกตั้งโดยรวม ความผิดพลาดในการเลือกตั้งล่วงหน้าที่สะท้อนถึงคุณภาพในการอบรมกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งของ กกต. ไม่ว่าจะเป็นการจ่าหน้าซองผิด หรือการเขียนแบบฟอร์มเอกสารผิด เนื่องจากประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งอย่างน้อยทุกสี่ปี ดังนั้น กกต. จึงมีระยะเวลาเตรียมการที่คาดหมายได้ในการสร้างความรู้เข้าใจแต่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ไม่อาจปัดความรับผิดชอบให้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งเป็นความผิดของปัจเจกบุคคลระดับปฏิบัติได้
  5. สร้างวัฒนธรรมในการยอมรับความผิดพลาด และแก้ไข โดยเมื่อเกิดความผิดพลาดที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชน กกต. ต้องกล้าหาญที่จะออกมาแสดงความรับผิดชอบโดยเร็ว กล่าวขอโทษประชาชน และรีบแสวงหาข้อเท็จจริงพร้อมสาเหตุ เพื่อจะได้ทราบวิธีการแก้ไขและลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งการใช้ท่าทีที่อ่อนน้อม การอธิบายเหตุผลและข้อเท็จจริง เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้หน่วยงาน กกต. และการเลือกตั้งได้รับการยอมรับจากประชาชน
You May Also Like
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย