เลือกตั้ง66: รวมแปดปัญหาการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรประสบปัญหามากมาย ที่โด่งดังที่สุดคือกรณีการขนส่งบัตรเลือกตั้งจากประเทศนิวซีแลนด์มานับคะแนนไม่ทัน ส่งผลให้บัตรเลือกตั้งราว 1,500 ใบ กลายเป็นบัตรเสีย กรณีดังกล่าวยังเป็นมูลเหตุให้ ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถูกชี้มูลความผิดในเวลาต่อมา เมื่อถึงการเลือกตั้งปี 2566 การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจึงถูกจับตามมองโดยประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรด้วยความกังวลว่าเสียงของพวกเขาจะถูกนับหรือไม่

ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2566 หลังสถานทูตและสถานกงสุลไทยบางแห่งเริ่มจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรผ่านทางระบบไปรษณีย์ ไอลอว์เริ่มทำแบบสอบถามผ่านช่องทางออนไลน์ ให้ประชาชนที่ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเข้ามาสะท้อนประสบการณ์และปัญหาที่เผชิญในกระบวนการการใช้สิทธิ ซึ่งนับถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2566 มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถาม 50 ชุด ซึ่งสามารถจัดกลุ่มปัญหาที่ถูกสะท้อนออกมาได้ดังนี้

 

การประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง

ประชาชนไทยจำนวนมากที่อาศัยในต่างประเทศไม่ทราบข้อมูลการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร หรือเมื่อทราบก็ลงทะเบียนไม่ทัน ผู้ที่ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่งให้ข้อมูลว่าตัวเองทราบว่ามีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากทางโซเชียลมีเดีย รองลงมาอย่างห่าง ๆ คือจากครอบครัวหรือคนรู้จัก สื่อมวลชน และสถานทูต ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนหนึ่งในสหรัฐอเมริกาส่งความเห็นว่าตัวเองไม่ได้รับอีเมลประชาสัมพันธ์เรื่องการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากสถานทูต แต่ได้รับอีเมลเรื่องการประกวดคลิปสั้นเชื่อมความสัมพันธ์ ในขณะที่อีกคนหนึ่งเห็นว่าผู้สูงอายุที่ไม่ได้เข้าถึงโซเชียลเน็ตเวิร์คมักไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง นอกจากนั้นเว็บไซต์ของสถานทูตก็ใช้งานยาก จึงอยากให้มีการประชาสัมพันธ์ที่ทั่วถึงมากขึ้น

ปัญหาเรื่องการประชาสัมพันธ์อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยต่างประเทศลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไม่มาก สถิติจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่าในการเลือกตั้ง 2566 มีคนไทยลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร 115,139 คน ซึ่งลดลงจากการเลือกตั้งในปี 2562 ประมาณ 4,000 คน ซึ่งจำนวนดังกล่าวถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนคนไทยในต่างประเทศที่มีมากกว่า 1 ล้านคน

 

สถานทูตเผยแพร่ชื่อและข้อมูลของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

หลังปิดรับลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในวันที่ 9 เมษายน 2566 มีบางสถานทูตนำรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ลงทะเบียนสำเร็จเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งเว็บไซต์และโซเชียลเน็ตเวิร์คของสถานทูต โดยในไฟล์ PDF ที่เผยแพร่มีข้อมูลทั้งชื่อ-นามสกุล และรหัสเขตเลือกตั้งของประชาชนที่ลงทะเบียน จนมีการตั้งข้องสงสัยว่าจะเป็นการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่จำเป็นหรือไม่ ซึ่งภายหลังทางสถานทูตก็ได้ลบออกไป แต่ในบางกรณีหาก URL ยังถูกเก็บไว้ข้อมูลดังกล่าวจะยังสามารถเข้าถึงได้

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล รวบรวมข้อมูลว่ามีสถานทูตทั้งหมดเจ็ดแห่งที่เผยแพร่ข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมเป็นประชาชนทั้งหมด 23,797 ชื่อ ได้แก่ สถานทูตกรุงแคนเบอรา ประเทศออสเตรเลีย 7,476 ชื่อ สถานทูตกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 4,917 ชื่อ สถานทูตสิงคโปร์ 4,462 ชื่อ สถานทูตกรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา 3,929 ชื่อ สถานทูตกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน 1,902 ชื่อ สถานทูตกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก 1,083 ชื่อ และสถานทูตกรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา 28 ชื่อ

ทั้งนี้ อาทิตย์ก็ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุที่สถานทูตตัดสินใจเผยแพร่ข้อมูลผ่านช่องทางของตนเองก็เป็นเพราะช่องทางการตรวจสอบสิทธิกลางทางออนไลน์ของ กกต. หรือกรมการปกครองซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบยังไม่สามารถใช้งานได้ (เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2566) ซึ่งเมื่อเผยแพร่ข้อมูลแล้วมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กลับมา หลายสถานทูตก็เปลี่ยนมาใช้วิธีให้ผู้ที่ต้องการตรวจสอบสิทธิติดต่อไปที่สถานทูตโดยตรงแทน แต่ก็จะเป็นเพิ่มภาระให้กับเจ้าหน้าที่ อีกประเด็นหนึ่งคือแม้ว่าข้อมูลที่สถานทูตเผยแพร่อาจจะไม่ใช่ข้อมูลที่อ่อนไหวมาก แต่ก็อาจจะทำให้ผู้อื่นสามารถสืบค้นถึงที่อยู่อาศัยได้ และการเผยแพร่ในช่องทางออนไลน์มีความเสี่งในการเข้าถึงที่กว้างขวางกว่าการติดกระดาษที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง

 

ส่งบัตรเลือกตั้งล่าช้า ระบบไปรษณีย์มีปัญหา เจอวันหยุด

ในการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ หากบัตรเลือกตั้งมาถึงล่าช้า ก็อาจจะทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่งบัตรเลือกตั้งกลับไปที่สถานทูตไม่ทันวันสุดท้ายที่สถานทูตกำหนดได้ สำหรับปัญหาการใช้สิทธิทางไปรษณีย์ที่มีผู้ตอบแบบสอบถามสะท้อนไว้ได้แก่ ความล่าช้าในการจัดส่ง ความผิดพลาดในการเขียนที่อยู่ ไปจนถึงระบบไปรษณีย์ที่ในบางประเทศไม่ดีนัก ข้อมูลที่ได้รับจากผู้ตอบแบบสอบถามในสหรัฐฯ พบว่ามีสองคนที่กล่าวว่าเจ้าหน้าเขียนรหัสไปรษณีย์ผิด ทำให้เอกสารถูกตีกลับไปสถานทูต ในขณะที่คนรู้จักได้รับบัตรเลือกตั้งหลายวันแล้ว อีกปัญหาหนึ่งคือระบบไปรษณีย์ USPS

“มีเรื่องดีอยู่บ้าง คือกงสุลแนบซองและแสตมป์ไปรษณีย์แบบส่งด่วน (Priority Express ของ USPS) มาด้วย ไม่ต้องจ่ายเงินส่งไปรษณีย์เอง แต่เนื่องจากกงสุลแปะกระดาษให้เขียนรายละเอียดของตัวเอง (ชื่อและที่อยู่) ลงบนซอง (ที่ไม่ใช่ช่องใส่ชื่อที่อยู่ ผู้รับ-ผู้ส่ง ตามปกติ) ทางไปรษณีย์จึงสับสนและส่งผิด ตีกลับมาที่อยู่ของผมเอง (ผู้ส่ง) ทำให้ต้องไปส่งอีกรอบ ในวันที่ 1 พ.ค. ไม่แน่ใจว่าจะถึงกงสุลทันหรือไม่”

สำหรับในพื้นที่อื่น โดยเฉพาะยุโรปและออสเตรเลีย ประสบปัญหาได้บัตรเลือกตั้งกระชั้นชิดเกินไป และเมื่อจะส่งกลับให้สถานทูต ไปรษณีย์ก็หยุดวันแรงงาน (1 พฤษภาคม) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนหนึ่งในประเทศออสเตรเลียให้ข้อมูลว่า

“เอกสารยังไม่ได้รับในขณะที่ต้องส่งกลับภายใน 3 พ.ค. ซึ่งนอกจากวันอาทิตย์ไปรษณีย์จะหยุดทำการแล้ว วันที่ 1 พ.ค. ยังเป็นวันหยุดวันแรงงานอีกด้วย ซึ่งจะทำให้การส่งเอกสารกลับไปภายในวันที่ 3 พ.ค. นั้นเป็นไปไม่ได้”

เมื่อพบว่ามีปัญหาในการขนส่งไปรษณีย์ บางสถานทูตก็ได้มีการขยายวันที่บัตรเลือกตั้งต้องมาถึงสถานทูต เช่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนหนึ่งในประเทศสเปน ให้ข้อมูลว่าแต่เดิมสถานทูตกำหนดจะเริ่มส่งบัตรเลือกตั้งให้ในวันที่ 19 เมษายน และจะต้องส่งกลับถึงสถานทูตอย่างช้าสุดในวันที่ 27 เมษายน แต่กว่าที่จะได้รับเอกสารจริงก็วันที่ 26 เมษายน หรือเพียงหนึ่งวันก่อนวันสุดท้ายที่สถานทูตจะรับเอกสารคืนเนื่องจากประสบปัญหาวันหยุดราชการ เมื่อผู็มีสิทธิคนดังกล่าวสอบถามไปยังสถานทูตก็ได้รับคำตอบว่ามีการเลื่อนให้เป็นวันที่ 3 เมษายน แต่ไม่ได้ประกาศเลื่อนวันกำหนดส่งอย่างเป็นทางการในช่องทางสาธารณะ

เช่นเดียวกับที่สถานกงสุลใหญ่ลอสแอนเจลิส ซึ่งมีการขยายเวลาให้ถึงวันที่ 10 เมษายน เนื่องจากประสบปัญหากับระบบไปรษณีย์ แต่ก็ไม่ได้มีการออกประกาศอย่างเป็นทางการ เมื่อมีผู้สอบถามในเพจเฟซบุ๊ค กงสุลใหญ่ฯ ก็ยืนยันว่าจะจัดส่งบัตรเลือกตั้งที่ส่งมาหลังวันที่ 2 เมษายนกลับประเทศไทย ซึ่งเป็นกำหนดเดิม เพียงแต่ “จะมีความเสี่ยงมากขึ้นว่าอาจถูกส่งไปถึงหน่วยเลือกตั้งของแต่ละท่านได้ทันเวลานับคะแนนหรือไม่”

 

ตรวจสอบสถานะการจัดส่งบัตรเลือกตั้งไม่ได้

ในหลายพื้นที่ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารตรวจสอบสถานะการจัดส่งบัตรเลือกตั้งของตนเองทั้งในตอนที่สถานทูตส่งมาและส่งกลับไปที่สถานทูตได้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ ฟินแลนด์ สหรัฐ (นิวยอร์ก) สะท้อนว่าตนไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าการจัดส่งบัตรเลือกตั้งตอนนี้อยู่ที่ใด ซึ่งบางคนจะต้องติดต่อสถานทูตไปโดยตรงเพื่อยืนยันการส่ง “อ้างอิงจากคนไทยท่านอื่นๆที่อาศัยในบริเวณที่ผมอาศัยอยู่ ทุกคนต้องค้นหา tracking number ของตนเองผ่านบริการ informed delivery ของ USPS ทั้ง ๆ ที่ กกต. ควรจะแจ้งข้อมูลเหล่านี้ด้วยตนเอง”

นอกจากนี้ยังมีผู้มีสิทธิบางส่วนที่อยากให้มีระบบตรวจสอบสถานการณ์ส่งบัตรเลือกตั้งกลับประเทศไทยด้วย เพราะแม้ว่าจะทราบว่าบัตรเลือกตั้งของตนเองถึงสถานทูต แต่ยังไม่มีระบบที่ยืนยันได้ว่าซองของตนเองถึงประเทศไทยอย่างทันเวลาและไม่กลายเป็นบัตรเสีย

 

ขาดมาตรฐานกลางในการกรอกข้อมูล/ส่งเอกสาร

ในประเทศญี่ปุ่น พบปัญหาคล้าย ๆ กันกับประชาชนหลายคน คือ ในกระบวนการจ่าหน้าซองสำหรับส่งกลับสถานทูต เกิดความสับสนว่าต้องกรอกเป็นที่อยู่ที่ใด รวมถึงในบางพื้นที่ก็ใช้รูปแบบเอกสารที่ต่างออกไปแม้อยู่ในประเทศเดียวกัน และเมื่อสอบถามสถานทูตกรุงโตเกียวและกงสุลอื่น ๆ ในญี่ปุ่นก็ได้รับคำตอบกลับมาไม่เหมือนกัน “สถานทูตโตเกียว ให้จ่าชื่อที่อยู่ประเทศไทย โอซากาไม่ได้ใช้ซองแบบเดียวกัน ฟุกุโอกะใช้ที่อยู่ปัจจุบันในญี่ปุ่น”

ผู้ให้ข้อมูลคนหนึ่งเขียนว่าแม้จะมีปัญหาทำให้คนเข้าใจไม่ตรงกัน แต่ก็ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์แก้ความเข้าใจผิด กว่าจะรู้ได้ก็ต้องโทร.ไปสอบถามจากสถานทูตและมาเล่าต่อให้คนไทยคนอื่นฟัง การขาดมาตรฐานเช่นนี้ทำให้เกิดความกังวลว่าการส่งบัตรเลือกตั้งจะล่าช้า ถูกตีกลับ หรือทำให้กลายเป็นบัตรเสีย

 

คำอธิบายในเอกสารชวนสับสน ไม่มีให้ประชาชนเซ็นปิดผนึก

ในการใช้สิทธิผ่านทางไปรษณีย์ ประชาชนจะได้รับซองสำหรับใส่เอกสารสองซอง ประกอบไปด้วยซองใหญ่ (ส.ส. 5/21) และซองเล็ก (ส.ส. 5/2) เมื่อทำเครื่องหมายลงบนบัตรเลือกตั้งแล้ว จะต้องนำบัตรเลือกตั้งใส่ซองเล็ก จากนั้นนำซองเล็กใส่ในซองใหญ่พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนและลงรายชื่อที่ซองใหญ่เพื่อส่งกลับให้สถานทูต ปัญหาที่พบคือเมื่อปิดผนึกซองเล็ก จะมีช่องให้ลงรายชื่อกำกับที่รอยปิดผนึก โดยต้องเป็นลายเซ็นของเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามหลายคนให้ข้อมูลว่าเอกสารคำแนะนำที่แนบมานั้นไม่ชัดเจน ทำให้เข้าใจผิดว่าตัวผู้ใช้สิทธิจะต้องลงรายมือชื่อในจุดนั้น

“คำแนะนำมีการเขียนว่าให้ลงนามในช่องที่กำหนดและปิดผนึกให้เรียบร้อย” แต่ภายหลังทางสถานทูตได้มีการชี้แจงในเฟซบุ๊กว่า “ช่องลงนามเป็นช่องสำหรับกรรมการประจำที่เลือกตั้ง” ถึงจะมีการแจ้งว่า ”บัตรในซองที่มีการลงนามโดยผู้ลงคะแนนจะไม่ถูกนับเป็นบัตรเสีย” ก็ตาม แต่ก็ได้สร้างความสับสนให้กับผู้ลงคะแนนจำนวนไม่น้อย

อีกประการหนึ่งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตั้งข้อสังเกตคือในเมื่อซองเล็กให้เจ้าหน้าที่ลงรายมือชื่อ จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกสับเปลี่ยนซองได้

“ซองเล็กไม่มีการเซ็นปิดผนึกของผู้ลงคะแนน แต่กลับเป็นของเจ้าหน้าที่ ซึ่งทางผู้ลงคะแนนได้แกะเทปกาวปิดผนึกไปแล้ว หากมีการแกะเพื่อทุจริต สามารถแกะเปลี่ยนซอง แล้วนำบัตรเลือกที่แบบแบ่งเขต ไปให้เขตอื่นซึ่งเป็นของอีกพรรคการเมืองหนึ่ง แล้วเซ็นโดยเจ้าหน้าที่ใหม่อีกครั้ง ในลักษณะนี้ ไม่สามารถตรวจสอบการทำงานได้เลยครับ และไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่าซองบัตรเลือกตั้งจะไม่ถูกแกะ”

 

จัดเลือกตั้งวันธรรมดา ไม่มีช่องทางไปรษณีย์ในบางพื้นที่

ในประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ จอร์แดน อียิปต์ และเนเธอร์แลนด์ สถานทูตหรือกงสุลกำหนดให้มีช่องทางการออกเสียงที่สถานทูตเพียงช่องทางเดียว และในบางประเทศยังกำหนดวันออกเสียงเป็นวันธรรมดาที่คนทั่วไปต้องทำงานและไม่สะดวกไปใช้สิทธิ เช่น เบลเยียมในคราวแรกให้ประชาชนออกเสียงได้แค่ในวันธรรมดา แต่สุดท้ายก็เพิ่มวันอาทิตย์ให้

ในมาเลเซีย กำหนดให้มีแค่ช่องทางต้องไปเลือกตั้งด้วยตนเองในวันที่ 27-28 เมษายน ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี และวันศุกร์ เป็นวันทำงาน และมีหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่จำกัด ไม่ครอบคลุมในบางรัฐที่คนไทยอาศัยอยู่มาก อีกทั้งยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงวันฮารีรายอ 22-23 เมษายน ชาวไทยมุสลิมก็จะเดินทางกลับประเทศไทยเป็นเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ ทำให้อาจจะใช้สิทธิในช่วงวันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไม่ได้ และเมื่อถึงวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ชาวไทยเหล่านี้ก็จะเดินทางกลับไปทำงานในมาเลเซียแล้ว ซึ่งหลังจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ สถานทูตก็ได้มีการปรับเวลาลงคะแนนเสียงได้ถึงวันที่ 4 พฤษภาคม

ปัญหาเรื่องวันและช่องทางการเลือกตั้งนี้ทำให้ตัวแทนพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคเสรีรวมไทย และพรรคประชาชาติ เข้ายื่นหนังสือกับ กกต. เพื่อเรียกร้องให้ใช้ช่องทางไปรษณีย์เป็นทางเลือกหลักสำหรับการออกเสียงนอกราชอาณาจักร ขอให้ขยายเวลาการส่งไปรษณีย์ในบางพื้นที่ที่กำหนดไว้สั้นเกินไป และหากมีความเสี่ยงว่าจะส่งบัตรเลือกตั้งกลับไม่ทันเวลา ก็ให้นับคะแนนที่สถานทูตได้

 

สลับรูปผู้สมัคร ชื่อพรรคการเมืองผิด

เมื่อได้รับเอกสารจากสถานทูต ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้รับเอกสารแนะนำผู้สมัครด้วย แต่ก็มีรายงานที่ประเทศอังกฤษ มีความผิดพลาดโดยใส่ภาพผู้สมัครสลับกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคอนาคตไทย ซึ่งต่อมา กกต. ก็ยอมรับว่ามีความผิดพลาดจริงและได้สั่งการให้แก้ไข นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ไต้หวันซึ่งเขียนชื่อพรรคการเมืองของผู้สมัครพรรคไทยสร้างไทยผิดเป็นไทยสร้างชาติ รวมถึงที่สหรัฐฯ ของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ซึ่งมีการเคาะตารางกรอบชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติมาติดกับภาพและรายละเอียดของผู้สมัครพรรคก้าวไกล

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน