เลือกตั้ง66: เวลาที่เหลืออยู่ของ ส.ว.ชุดพิเศษ ทำอะไรได้บ้าง?

การเลือกตั้งครั้งนี้หลายคนตั้งความหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความก้าวหน้าด้วยปลายปากกาของประชาชน พรรคการเมืองและเหล่าผู้สมัครเดินสายหาเสียงดีเบตกันอย่างครึกครื้น ส่วนผู้สนับสนุนแต่ละพรรคก็ประชันความคิดเห็นกันอย่างหลากหลายถือเป็นสีสันอย่างหนึ่งของช่วงฤดูเลือกตั้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องไม่ลืมเหล่า “สมาชิกวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล” ที่มาจากการแต่งตั้งและยังคงถืออำนาจพิเศษซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ที่อาจทำให้ผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปดั่งใจหวัง

เลือกตั้งใหม่ สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ แต่ 250 ส.ว.ชุดพิเศษยังคงอยู่

สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 250 คน หรือ ส.ว.ชุดพิเศษตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 ความพิเศษของ ส.ว.ชุดนี้เริ่มตั้งแต่กระบวนการที่มาไปจนถึงอำนาจที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งวาระดำรงตำแหน่งของ ส.ว.ชุดนี้ถูกกำหนดไว้ห้าปี นับตั้งแต่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง หากนับตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาสี่ปีที่ประชาชนได้เห็นการทำงานของ ส.ว. ในการลงมติผ่านกฎหมายให้รัฐบาลนำโดยพลเอกประยุทธ์และคัดค้านกฎหมายจากฝ่ายค้านไปในทิศทางเดียวกันอย่างพร้อมเพรียง ทั้งยังปัดร่างกฎหมายที่เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อตนอย่างไม่ไยดีแม้จะถูกเสนอโดยประชาชนก็ตามและร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอื่นๆ อีก 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่ว่าจะด้วยอิทธิฤทธิ์ใดก็ไม่อาจทำให้ ส.ว.ชุดนี้หายไป จึงทำให้ ส.ว.ทั้ง 250 คนทำหน้าที่ได้จนกว่าจะครบวาระในเดือนพฤษภาคม 2567 หมายความว่าเหลือเวลาอีกประมาณหนึ่งปีที่ ส.ว.ชุดพิเศษจะได้ทำหน้าที่ต่อควบคู่ไปกับสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่

อำนาจพิเศษของ ส.ว.ชุดพิเศษ เลือกนายกและเป็นกลไกหลักสืบทอดแผนปฏิรูปประเทศ คสช.

เมื่อ ส.ว.ชุดพิเศษยังได้ไปต่อกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ชุดใหม่ อำนาจพิเศษเพิ่มเติมตามบทเฉพาะกาล ซึ่งถือเป็นกลไกที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้เป็นเครื่องมือปูเส้นทางในการที่จะรักษาอำนาจเอาไว้ก็ยังคงอยู่เช่นกัน ดังต่อไปนี้

1) เลือกนายกรัฐมนตรี – เปิดทางนายกฯ คนนอก

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้ ส.ว. มีสิทธิเลือกนายกได้ โดยระบุไว้ว่าในห้าปีแรก การเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็น “การประชุมร่วมกันของทั้งสองสภา” โดยจะต้องมีมติเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภาทำให้ ส.ว. มีอำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย อีกทั้งในวรรคสองกำหนดไว้ว่า หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้ โดยรัฐสภาต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาด้วย จึงถือเป็นการเปิดช่องให้นำไปสู่การมี “นายกฯ คนนอก” ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองเข้ามาอีกครั้ง

2) ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 ในบทเฉพาะกาลให้ ส.ว. มีอำนาจหน้าที่ในการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและปฏิรูปประเทศซึ่งจัดทำในยุคของ คสช. โดยคนที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นเองทั้งหมด ส.ว. ชุดนี้ซึ่งมีที่มาเดียวกันจึงมีหน้าที่ในการกำกับดูแลเพื่อไม่ให้แผนงานที่ คสช.ฝากไว้ต้องสูญเปล่า ทั้งนี้ การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศก็ไม่ใช่การออกกฎหมาย (พระราชบัญญัติ) ตามปกติที่ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ส.ว.ค่อยมีอำนาจเพียงยับยั้งหรือส่งคืนเท่านั้น แต่ต้องผ่านการพิจารณาร่วมกันของรัฐสภาซึ่ง ส.ว. จะร่วมอภิปรายและลงมติพร้อมกับ ส.ส. เลยตั้งแต่ต้น

3) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรยับยั้งไว้ในบางเรื่อง

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 271 ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้กรณีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน ถ้าหากเป็นกรณีที่การแก้ไขหรือเพิ่มเติมโทษนั้นจะทำให้ผู้กระทำผิดพ้นความผิดหรือไม่ต้องรับโทษ และวุฒิสภาไม่เห็นด้วยกับร่างฉบับที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร หรือกรณีการออกกฎหมายใดๆ ที่วุฒิสภาลงมติมากกว่าสองในสามว่าจะมีผลกระทบต่อการดำเนินกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง เมื่อวุฒิสภาส่งคืนให้กับสภาผู้แทนราษฎร ให้ลงมติใหม่โดย ส.ว. กับ ส.ส. พิจารณาร่วมกัน และร่างกฎหมายนั้นจะเห็นชอบได้เมื่อมีมติมากกว่า 500 เสียงขึ้นไป หรือสองในสามของสมาชิกทั้งสองสภาเท่าที่มีอยู่รวมกัน

4) แก้ไขรัฐธรรมนูญต้องอาศัยเสียง ส.ว.หนึ่งในสามของจำนวนที่มีอยู่

สำหรับอำนาจของ ส.ว.ตามบทบัญญัติหลักของรัฐธรรมนูญอื่นๆ โดยหลักคือ การทำงานร่วมกันกับสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบฝ่ายบริหาร พิจารณากฎหมายโดยทำการกลั่นกรองกฎหมายต่อจากสภาผู้แทนราษฎรอีกชั้น และให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ อย่างไรก็ตามอำนาจสำคัญอีกอย่างของ ส.ว.คือการเข้ามามีส่วนร่วมพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากมีผู้เสนอเข้ามา โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 256 กำหนดให้วาระที่หนึ่ง และวาระที่สาม ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. อย่างน้อย 84 คนหรืออย่างน้อยหนึ่งในสามของจำนวน ส.ว. ที่มีอยู่ จึงจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้  ดังนั้น ส.ว.เป็นตัวแปรที่ถืออำนาจสำคัญซึ่งจะทำให้กลไกต่างๆ ซึ่งเป็นมรดกจากคณะรัฐประหารนั้นยากที่จะถูกแก้ไขหรือถูกยกเลิกเหมือนดังเช่นที่ผ่านมา

5) ส.ว.มีอำนาจเห็นชอบ/ให้คำแนะนำองค์กรอิสระ

การกำหนดให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ โดยหลักการต้องผ่านความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติที่มีความยึดโยงกับประชาชน อย่างไรก็ตามด้วยเหตุที่ ส.ว.ชุดนี้เป็นชุดดำรงตำแหน่งตามบทเฉพาะกาลและมีที่มาพิเศษซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด กลับมีอำนาจให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะมาขับเคลื่อนองค์กรอิสระเหล่านี้ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และอื่นๆ โดยที่ผ่านมา ส.ว.ชุดพิเศษนี้ได้ให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระเหล่านี้ไปแล้วจำนวนไม่น้อย

ด้วยเหตุนี้ การคงอยู่ขององค์กรอิสระที่ไม่ได้เป็นอิสระอย่างแท้จริงเพราะบุคคลที่อยู่ภายในองค์กรล้วนวนเวียนผ่านการแต่งตั้งกันเองโดยยังเกี่ยวพันกันกับ คสช. อีกทั้งยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความน่าเชื่อถือจากสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่น่ากังวลว่าองค์กรอิสระเหล่านี้จะยังเข้ามามีบทบาทเกินความจำเป็นหรือเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองดังที่เคยทำจนทำให้การเลือกตั้งและการดำเนินงานของรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งในเร็ววันนี้ต้องสะดุดหยุดลงหรือไม่ 

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

รวมทริคลงสมัคร สว. เลือกกันเอง บทเรียนจากปี 61

จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเข้าร่วมกระบวนการในปี 2561 มีหลายกลเม็ดที่ผู้สมัครใช้ในการช่วยให้ตนเองได้เข้ารอบหรือรับเลือก โดยมีทั้งในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย ไปจนถึงใช้ยุทธศาสตร์-เทคนิค จากช่องทางบางประการในกฎหมาย