เปิดพ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ จับกุมคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และต้องมีที่ปรึกษากฎหมาย

จากการรวบรวมสถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 112 มีเด็ก และเยาวชนถูกดำเนินคดีแล้วจำนวน 18 ราย ใน 21 คดี ซึ่งมีคดีที่อัยการสั่งฟ้องคดีต่อศาลแล้ว 10 คดี กรณีล่าสุดคือ “หยก” เด็กนักเรียนผู้ถูกออกหมายเรียกคดี 112 ในตอนที่หยกมีอายุเพียงแค่ 14 ปี ถือเป็นผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ที่อายุน้อยที่สุดจากเท่าที่ปรากฎ

“หยก ธนลภย์” ถูกกล่าวหาจากเหตุจากการแสดงออกในกิจกรรมทางเมือง “13 ตุลาหวังว่าสายฝนจะพาล่องไป” ที่บริเวณเสาชิงช้า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2565 ต่อมาหยกถูกจับกุมเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566  แล้วจึงถูกควบคุมตัวไว้ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิง “บ้านปรานี” จังหวัดนครปฐม  โดยระหว่างที่ถูกจับกุม หยกเปิดเผยกับศูนย์ทนายฯ ในภายหลังว่า เธอถูกตำรวจผู้จับกุมซึ่งเป็นชายหลายรายได้นั่งทับตัวเธอ ล้วงจับขา และล้วงเข้าไปบริเวณหน้าอก เพื่อพยายามยึดเอาไอแพดที่เธอเหน็บไว้ในเสื้อด้านในออกไป จากนั้นตำรวจได้จับกุมและลากตัวเธอเข้าไปยังห้องสืบสวน อีกทั้ง ระหว่างถูกคุมขังที่บ้านปรานี ในช่วงแรกการที่ทนายความจะเข้าเยี่ยมหยกก็เป็นเรื่องยากลำบาก เพราะถูกปฏิเสธโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งอ้างว่าเพราะหยกติดโควิด-19  แต่กระนั้นเองการเยี่ยมผ่านวิดีโอคอลก็กลับทำไม่ได้เช่นกัน แม้ล่าสุด เมื่อ 8 เมษายน 2566 ทนายความเผยว่าเข้าเยี่ยมหยกได้แล้ว แต่กลับพบอุปสรรคอีกครั้ง เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ขัดขวางในการเซ็นเอกสารบางชุด โดยอ้างว่าอธิบดียังกังวลที่หยกยังเป็นเยาวชนอยู่ แม้หยกยืนยันว่าเธอเข้าใจดี และยินยอมที่จะเซ็นเอกสาร

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงน่ายกขึ้นมาพิจารณากันว่ากระบวนการดำเนินคดีเด็กและเยาวชนในฐานความผิดมาตรา 112 ยังคงยึดอยู่บนเจตนารมณ์ของการคุ้มครองสิทธิเด็กตามหลักสากล และกฎหมายในไทยที่เกี่ยวข้องหรือไม่

จับกุมเด็กหรือเยาวชน ต้องละมุนละม่อม และคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ห้ามใช้เครื่องพันธนาการ

ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ) “เด็ก” หมายถึงบุคคลที่มีอายุเกินกว่า 12 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์  และ “เยาวชน” หมายถึง บุคคลที่อายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ โดยผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กหรือเยาวชนจะต้องขึ้นศาลชำนัญพิเศษที่เรียกว่า “ศาลเยาวชนและครอบครัว” ซึ่งเด็ก หรือเยาวชนผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดคดีอาญาจะอยู่ในเขตอำนาจศาลเยาวชน ฯ หรือไม่นั้น กฎหมายให้ดูจากอายุในวันกระทำความผิด (มาตรา 5)

เรื่องการดำเนินคดีอาญา พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ จำแนกวิธีการจับกุมเด็กและเยาวชนออกจากกัน

  • กรณีที่เป็นเด็กซึ่งอายุเกิน 12 ปีบริบูรณ์แต่ไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ จะสามารถจับกุมได้เฉพาะในกรณีที่มีการกระทำผิดซึ่งหน้า หรือมีหมายจับหรือคำสั่งศาลเท่านั้น (มาตรา 66)
  • เยาวชน อายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ให้ใช้กฎหมายเดียวกันกับผู้ใหญ่  (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) กล่าวคือ การจับกุมบุคคลต้องใช้หมายจับ หากเป็นการจับกุมโดยไม่มีหมายจับ จะต้องเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุอันน่าสงสัยตามสมควรว่าบุคคลดังกล่าวจะไปก่อเหตุภยันตราย หรือเมื่อมีเหตุเร่งด่วน หรือเป็นการจับบุคคลที่หลบหนีหลังได้รับการประกันตัว

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ยังระบุด้วยว่าศาลควรจะหลีกเลี่ยงการออกหมายจับถ้าสามารถทำได้ และควรจะวิธีการติดตามตัวอื่นก่อน การออกหมายจับนั้นควรกระทำเฉพาะตอนที่มีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น โดยศาลต้องคำนึงถึงสิทธิของเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องอายุ เพศ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการออกหมายจับทั้งต่อสภาพจิตใจและต่อการเรียนหรือการประกอบอาชีพของตัวเด็กและเยาวชนด้วย (มาตรา 67)

ฉะนั้น เมื่อมีการจับกุมเด็กและเยาวชนแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิตามกฎหมายให้เด็กและเยาวชนทราบ หากมีผู้ปกครองหรือผู้รับผิดชอบอยู่ด้วยก็ต้องแจ้งข้อกล่าวให้ทราบด้วยเช่นเดียวกัน หลังจากนั้นก็ให้นำตัวเด็กหรือเยาวชนไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบโดยเร็ว กรณีเป็นคดีอาญาซึ่งมีโทษสูงสุดไม่เกินห้าปี เจ้าหน้าที่สามารถสั่งให้ผู้ปกครองนำตัวเด็กหรือเยาวชนไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนก็ได้  โดยในระหว่างนี้ หากผู้ถูกจับต้องการจะติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น เจ้าหน้าที่ก็ต้องอำนวยความสะดวกให้สามารถติดต่อได้ 

กฎหมายยังกำหนดให้การจับกุมนั้นต้องเป็นไปอย่างละมุนละม่อม คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และไม่เป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน เจ้าหน้าที่นั้นจะควบคุมตัวเท่าที่จำเป็น และห้ามไม่ให้ใช้เครื่องพันธนาการไม่ว่ากรณีใด ๆ ในการจับกุมเด็กและเยาวชน ยกเว้นว่าเป็นไปเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือรับรองความปลอดภัยของผู้อื่นเท่านั้น (มาตรา 69) รวมถึงยังห้ามไม่ให้มีการบันทึกภาพของเด็กหรือเยาวชนเพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัว ยกเว้นว่าเป็นประโยชน์แก่การสอบสวนเท่านั้น (มาตรา 76)

ในระดับระหว่างประเทศ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) ซึ่งไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีด้วยตั้งแต่ปี 2535 ก็ได้ให้การรับรองสิทธิของเด็กและเยาวชนเมื่อถูกจับกุมไว้ในลักษณะเดียวกัน มาตรา 37 ของอนุสัญญาระบุว่า

ก) จะไม่มีเด็กคนใดได้รับการทรมาน หรือถูกปฏิบัติหรือลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือต่ำช้าจะไม่มีการลงโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตที่ไม่มีโอกาสจะได้รับการปล่อยตัวสำหรับความผิดที่กระทำโดยบุคคลที่มีอายต่ำกว่าสิบแปดปี

ข) จะไม่มีเด็กคนใดถูกลิดรอนเสรีภาพโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือโดยพลการ การจับกุมกักขังหรือจำคุกเด็กจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย และจะใช้เป็นมาตรการสุดท้ายเท่านั้น และให้มีระยะเวลาที่สั้นที่สุดอย่างเหมาะสม

ค) เด็กทุกคนที่ถูกลิดรอนเสรีภาพจะได้รับการปฏิบัติด้วยมนุษยธรรม และด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีแต่กำเนิดของมนุษย์และในลักษณะที่คำนึงถึงความต้องการของบุคคลในวัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กทุกคนที่ถูก ลิดรอนเสรีภาพจะต้องถูกแยกต่างหากจากผู้ใหญ่ เว้นแต่จะพิจารณาเห็นว่า จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อเด็กที่จะไม่แยกเช่นนั้น และเด็กจะมีสิทธิที่จะคงการติดต่อกับครอบครัวทางหนังสือโต้ตอบและการเยี่ยมเยียนเว้นแต่ในสภาพการณ์พิเศษ

ง) เด็กทุกคนที่ถูกลิดรอนเสรีภาพมีสิทธิที่จะขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย หรือทางอื่นที่เหมาะสมโดยพลัน ตลอดจนสิทธิที่จะค้านความชอบด้วยกฎหมายของการลิดรอนเสรีภาพของเขาต่อศาล หรือหน่วยงานที่มีอำนาจอื่นที่เป็นอิสระและเป็นกลางและที่จะได้รับคำวินิจฉัยโดยพลันต่อการดำเนินการเช่นว่า

หากเจ้าหน้าที่จับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ศาลต้องสั่งให้ปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชน

เมื่อเด็กหรือเยาวชนถูกนำตัวมาส่งให้พนักงานสอบสวนแล้ว ในขั้นตอนการสอบสวนมีลักษณะเป็นการสอบถามรายละเอียดข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลของผู้ปกครอง โดยการสอบสวนเด็กจะต้องรีบทำ และทำในสถานที่ที่เหมาะสมแยกเป็นสัดส่วนไม่ปะปนกับผู้ต้องหาคนอื่น ต้องไม่มีบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในลักษณะเป็นการประจาน  (มาตรา 70) ต้องใช้ภาษาหรือถ้อยคำที่ทำให้เด็กหรือเยาวชนสามารถเข้าใจได้โดยง่าย

กรณีของเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด ในการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำจะต้องมีที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชนร่วมอยู่ด้วยทุกครั้ง พร้อมทั้งต้องแจ้งด้วยว่าเด็กหรือเยาวชนมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ ซึ่งถ้อยคำของเด็กหรือเยาวชนนั้นจะสามารถใช้รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้โดยคำนึงถึงอายุ เพศ สภาพจิตของแต่ละรายประกอบ อีกทั้ง บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถอยู่ด้วยระหว่างสอบปากคำได้ (มาตรา 75)  ยิ่งไปกว่านั้นในกรณีนี้สามารถนำวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ มาใช้โดยอนุโลม กล่าวคือ สามารถมีนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็ก หากคำถามใดนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์เห็นว่าอาจกระทบกระเทือนจิตใจเด็กรุนแรง พนักงานสอบสวนจะต้องถามผ่านนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ และต้องถามคำถามไม่ซ้ำซ้อน (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 135/2)

โดยหลังสอบปากคำ พนักงานสอบสวนต้องพาเด็กหรือเยาวชนไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุมทันทีคือ ภายใน 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่ผู้ถูกจับมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แต่ไม่ให้รวมระยะเวลาการเดินทางปกติจากที่ทำการไปศาลเข้ามานับรวมใน 24 ชั่วโมงนี้ด้วย แต่หากพนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วว่าผู้ปกครองทางกฎหมายของเด็กหรือเยาวชนสามารถปกครองดูแลเด็กหรือเยาวชนนั้นได้ อาจมอบให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้นำตัวเด็กหรือเยาวชนไปยังศาลภายใน 24 ชั่วโมง (มาตรา 72) 

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ยังวางกลไกคุ้มครองสิทธิของเด็กหรือเยาวชนเมื่อถูกจับกุมไว้ โดยเมื่อเด็กหรือเยาวชนที่ถูกกล่าวหามาปรากฏตัวต่อหน้าศาลแล้ว ศาลก็มีหน้าที่ต้องเป็นผู้ตรวจสอบว่าในการจับกุมเด็กหรือเยาวชนนั้นเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติโดยมิชอบ ก็จะต้องปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนไป ถ้าเด็กหรือเยาวชนยังไม่มีที่ปรึกษากฎหมาย ให้ศาลแต่งตั้งให้

อย่างไรก็ตาม หากปรากฎข้อเท็จจริงว่าการกระทำของเด็กหรือเยาวชนอาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่นร้ายแรง หรือมีเหตุสมควรอื่น ศาลอาจมีคำสั่งให้ควบคุมเด็กหรือเยาวชนไว้ในสถานพินิจหรือในสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและตามที่ศาลเห็นสมควร (มาตรา 73)  ซึ่งในการพิจารณาออกคำสั่งคุมขังของศาลต้องเป็นทางเลือกสุดท้าย และคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ รวมทั้งก่อนออกคำสั่ง ต้องให้โอกาสเด็กหรือเยาวชนและที่ปรึกษากฎหมายคัดค้าน โดยศาลอาจเรียกพนักสอบสวน อัยการ หลักฐานมาชี้แจงความจำเป็นหรือนำมาพิจารณาประกอบการออกคำสั่งด้วย (มาตรา 74) 

เข้าเยี่ยมเด็กหรือเยาวชนในสถานพินิจหรือศูนย์ฝึกอบรม ต้องได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการฯ ก่อน

“สถานพินิจ” กับ “ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน” เป็นที่ควบคุมตัวเด็ก และเยาวชนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตั้งแต่ในชั้นสอบสวนไปจนถึงชั้นที่ดำเนินการหลังจากมีคำพิพากษาแล้ว จัดตั้งขึ้นมาดำเนินงานควบคู่กับศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งมีความแตกต่าง และแยกกันกับกระบวนการของผู้ใหญ่อย่างชัดเจน เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนไม่ให้ปะปนกัน อีกทั้งมุ่งที่จะสืบหาสาเหตุของกระทำความผิดแล้วแก้ไขบำบัดให้เด็กและเยาวชนกลับคืนสู่สังคมได้อีกครั้งมากกว่าที่จะมุ่งลงโทษแบบในกรณีของผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ โดยมีผู้อำนวยการสถานพินิจ และผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเป็นผู้ดูแล 

เรื่องการเข้าเยี่ยมเด็กหรือเยาวชนผู้ซึ่งถูกควบคุมตัวไว้ในสถานพินิจ หรือศูนย์ฝึกและอบรม พระราชบัญญัติการบริหารการแก้ไข บำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด พ.ศ. 2561 ระบุให้เด็ก และเยาวชนมีสิทธิติดต่อกับบุคคลภายนอก รวมถึงทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย แต่ก็จำกัดไว้ว่าการติดต่อ หรือเข้าเยี่ยมต้องเป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกรมพินิจฯ กำหนด หากฝ่าฝืนให้เจ้าพนักงานพินิจมีอำนาจสั่งให้ออกจากสถานที่ควบคุม (มาตรา 46)  อีกทั้งต้องจัดสถานที่ให้เด็กและเยาวชนได้พบและปรึกษา กับที่ปรึกษากฎหมายหรือทนายความของตนเป็นการเฉพาะตัว (มาตรา47) 

สำหรับระเบียบที่ได้กล่าวข้างต้นคือ ระเบียบกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนว่าด้วยการติดต่อเด็กและเยาวชนของบุคคลภายนอก และการพบและปรึกษากับที่ปรึกษากฎหมายหรือทนายความ พ.ศ. 2565 ได้วางหลักเกณฑ์การเข้าเยี่ยม หรือติดต่อเพื่อกิจธุระอื่นในสถานพินิจ กับศูนย์ฝึกและอบรม  ไว้ดังนี้

  • กรณีบุคคลภายนอก เช่น บิดามารดา ผู้ปกครอง ญาติ อาจารย์ เป็นต้น จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการฯ ก่อน และต้องพิสูจน์ตัวบุคคลตามรูปแบบและวิธีการที่สถานที่ควบคุมกำหนด (ข้อ 7 และข้อ 9) ทั้งนี้ ถ้าบุคคลที่จะเข้าเยี่ยมมีอาการมึนเมาสุรา หรือมีพฤติการณ์น่าเชื่อได้ว่าจะยุยงส่งเสริมให้เด็กหรือเยาวชนก่อเหตุร้าย หรือเป็นกระทำผิดกฎระเบียบของสถานที่ควบคุม ได้แก่ แต่งกายไม่สุภาพ กิริยาวาจาไม่สุภาพ เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพินิจหรือเจ้าหน้าที่ ก็จะถูกห้ามไม่ให้เข้าเยี่ยม (ข้อ 8)
  • กรณีของทนายความ และที่ปรึกษากฎหมาย จะเข้าเยี่ยมได้นั้นต้องยื่นคำร้องขอตามแบบท้ายประกาศ ต่อเจ้าพนักงานพินิจหรือเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งแสดงใบอนุญาตเป็นที่ปรึกษากฎหมายหรือทนายความ หรือใบแต่งที่ปรึกษากฎหมายหรือทนายความที่ศาลประทับรับไว้ในสำนวนคดีให้เป็นที่ปรึกษากฎหมายหรือทนายความของเด็กหรือเยาวชน ทั้งนี้ จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการฯ ก่อนเช่นกัน รวมถึงต้องได้รับความยินยอมของเด็กหรือเยาวชนด้วย (ข้อ 21)

การติดต่อหรือเข้าเยี่ยมสามารถทำได้สองทาง ได้แก่ เข้าพบโดยตรงในสถานที่ซึ่งจัดไว้ หรือติดต่อผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของสถานพินิจ หรือศูนย์ฝึกและอบรมนั้น (ข้อ 10)

เมื่อได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมแล้วผู้เข้าเยี่ยมต้องปฏิบัติตนสุภาพเรียบร้อย ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานที่ อยู่เพียงในเขตที่กำหนด พูดภาษาไทยได้เท่านั้นหากใช้ภาษาอื่นในการสื่อสารต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานพินิจหรือเจ้าหน้าที่ และต้องพูดคุยให้เจ้าพนักงานพินิจที่ควบคุมได้ยิน รวมถึงต้องยินยอมให้เจ้าพนักงานพินิจฟังการสนทนา บันทึกภาพหรือเสียงและตัดการสื่อสารหากเจ้าพนักงานเห็นว่าไม่เหมาะสมในกรณีเป็นการพูดคุยผ่านเครื่องมือสื่อสาร นอกจากนี้ผู้เข้าเยี่ยมห้ามกระทำการใดที่ส่อพิรุธในทางที่ผิดกฎเกณฑ์ เช่น การนำสิ่งของต้องห้าม เช่น เงินสด มือถือ อาวุธ เข้ามาโดยไม่รับอนุญาต หรือแนะนำชักชวน แสดงกิริยา หรือส่งสัญญาณใด ๆ แก่เด็กและเยาวชนเพื่อให้กระทำผิดกฎหมาย เป็นต้น ทั้งนี้ ยังห้ามใช้โทรศัพท์ หรือเครื่องมือสื่อสารใด และห้ามบันทึกภาพเสียงของเด็กหรือเยาวชนด้วย (ข้อ 13)

อย่างไรก็ตามกรณีที่เป็นทนายความ หรือที่ปรึกษากฎหมายนั้นการพูดคุยหรือเข้าพบจะต้องเป็นการส่วนตัว เป็นห้องหรือแบ่งพื้นที่ชัดเจนตามความเหมาะสม และหากการพูดคุยกับทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมาย แล้วถ้อยคำนั้นเป็นความลับ สามารถแจ้งเจ้าพนักงานพินิจหรือเจ้าหน้าที่ และให้เจ้าพนักงานพินิจหรือเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมอยู่ในระยะที่ไม่สามารถได้ยินการสนทนาได้ (ข้อ 26 และข้อ 24)