เลือกตั้ง 66 : “ป้ายหาเสียง” พรรคมีอิสระในการสร้างสรรค์ แต่ไม่เป็นอิสระจากกกต.

ป้ายหาเสียงที่รายเรียงทั่วมุมเมือง หากบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมืองออกแบบป้ายโดดเด่นจะช่วยประชาสัมพันธ์ทั้งตัวเองและพรรคต้นสังกัด รวมถึงนโยบาย ให้ประชาชนรู้จักและตัดสินใจ แต่เรื่องความสวยงามโดดเด่นกลับไม่สำคัญเท่ากับว่าข้อมูลที่อยู่บนป้าย และการติดตั้งป้ายในจุดที่กำหนดนั้นเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือไม่ เพราะสองประเด็นหลังนี้อาจทำให้ป้ายหาเสียงจากที่จะเป็นคุณในการสร้างความนิยมเพิ่มให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง อาจกลับกลายเป็นโทษเสียแทน

ป้ายหาเสียงออกแบบได้อิสระ แต่ต้องอยู่ในกรอบหลักเกณฑ์ของกกต.

ป้ายหาเสียงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนความเป็นตัวตนของพรรคการเมืองผ่านการใช้สี โลโก้ และนำเสนอนโยบายเด่นๆ อยู่บนป้าย รวมถึงการจัดวางใบหน้าผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบเขต ให้เป็นที่จดจำของประชาชน อย่างไรก็ตาม เนื้อหาหลักบนป้ายจะต้องเป็นไปตาม ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 (ประกาศกกต. หลักเกณฑ์ประกาศและป้ายหาเสียง)  โดยประกาศฉบับนี้กำหนดกรอบกว้างๆ เป็นหลักเกณฑ์ในการทำป้ายหาเสียงให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมืองต้องปฏิบัติ ดังนี้
1. ขนาดของป้ายหาเสียงต้องมีความกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร ยาวไม่เกิน 245 เซนติเมตร
2. การจัดทำป้ายสามารถระบุ
  • ชื่อ รูปถ่าย และหมายเลขประจำของตัวผู้สมัครฯ
  • ชื่อ สัญลักษณ์  และนโยบายของพรรคการเมืองที่ตนสังกัด
  • คติพจน์ คำขวัญ หรือข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวผู้สมัครฯ หรือพรรคการเมือง 
  • ข้อมูลเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือคิวอาร์โค้ด เป็นต้น
  • ภาพของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคการเมือง และสมาชิกพรรคการเมือง 
  • ต้องใส่ชื่อนามสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้บริเวณที่เห็นได้ชัดเจนบนแผ่นป้าย 
3. จำนวนการจัดทำป้ายหาเสียง กกต.กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถทำแผ่นป้ายได้ไม่เกิน “สองเท่า” ของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น ส่วนพรรคการเมืองจัดทำแผ่นป้ายได้ไม่เกิน “หนึ่งเท่า”ของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในจังหวัดนั้น 
เช่น สมมติว่าเขตเลือกตั้ง A มีหน่วยเลือกตั้ง 100 หน่วย  ผู้สมัครในเขต A จะติดป้ายได้ 200 ป้าย ส่วนพรรคการเมืองจะติดได้ 100 ป้ายเท่านั้น 
นอกจากนี้ กกต.กำชับให้พรรคการเมืองต้องเก็บรักษาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ประกอบยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้งด้วย
การจัดทำเนื้อหาบนป้ายหาเสียงนั้นมีรายละเอียดยิบย่อย ซึ่งน้อยคนจะสังเกตเห็นว่าแต่ละพรรคทำถูกต้องหรือไม่ ถึงกระนั้นยังมีนักร้อง (เรียน) บางคนสามารถยกเรื่องนี้ขึ้นมาให้เป็นประเด็นในการร้องเรียนพรรคการเมืองได้ ซึ่งนั่นก็คือกรณีของเรืองไกรและพรรคเพื่อไทย โดยประเด็นมีอยู่ว่าป้ายหาเสียงของเพื่อไทยที่ติดอยู่ตามท้องถนนใช้รูปแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แต่กลับไม่มีรูปของชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เหมือนกับที่พรรคอื่นๆ มักจะมีรูปของหัวหน้าพรรคอยู่บนป้ายหาเสียง เรืองไกรจึงร้องต่อกกต. ว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมืองหรือไม่ 
ซึ่งต่อมา พรรคเพื่อไทยได้โต้กลับเรืองไกรว่า ทางพรรคทำทุกอย่างตามกฎหมาย โดยชลน่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทยชี้แจงว่า ระเบียบของ กกต. กำหนดชัดว่าสามารถใส่ภาพบุคคลได้สี่กลุ่ม คือ หัวหน้าพรรค แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ผู้สมัคร และสมาชิกพรรค ซึ่งแพทองธารเป็นสมาชิกพรรคแบบตลอดชีพ จึงถือว่าไม่มีความผิดใดๆ ทางพรรคจกำลังตรวจสอบว่าการร้องเรียนเช่นนี้ของเรืองไกรเป็นการเข้าข่ายใส่ร้ายพรรคการเมืองหรือไม่  

ป้ายหาเสียงต้องติดในพื้นที่สาธารณะที่กำหนด แต่ห้ามบดบังวิสัยทัศน์หรือกีดขวางการสัญจร

สมรภูมิด่านแรกของการเลือกตั้งคือ “พื้นที่” ที่ผู้สมัคร และพรรคการเมืองจะต้องแย่งชิงติดป้ายหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นตามริมถนน และในพื้นที่ชุมชน ซึ่งตามประกาศกกต. หลักเกณฑ์ประกาศและป้ายหาเสียงนั้น กำหนดพื้นที่ที่สามารถติดป้าย รวมถึงจุดที่ต้องห้ามไว้อย่างกว้างๆ  เพื่อไม่ให้มีการติดป้ายหาเสียงบดบังทิวทัศน์ หรือกีดขวางทางสัญจร จนอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนภายหลัง 
โดยการกำหนดสถานที่ติดป้ายหาเสียงทั่วประเทศ เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดที่จะเป็นผู้ประสานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการจะต่างกันตามเหตุที่ทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้ง
  • กรณีครบอายุสภาผู้แทนราษฎร จะต้องกำหนดสถานที่ก่อนครบอายุสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 240 วัน โดยผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดต้องออกประกาศที่กำหนดสถานที่ติดป้ายก่อนวันปิดรับสมัครเลือกตั้ง แล้วจึงแจ้งให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองทราบโดยทั่วกัน
  • กรณียุบสภา หรือการเลือกตั้งซ่อม ให้ประสานกับหน่วยงานล่วงหน้าตามความเหมาะสมและจำเป็นเพื่อกำหนดสถานที่ติดไปก่อน  แต่ต้องออกประกาศกำหนดสถานที่ติดป้ายก่อนวันปิดรับสมัครเลือกตั้ง แล้วจึงแจ้งให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองทราบโดยทั่วกัน
ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมือง สามารถติดป้ายหาเสียงได้ในบริเวณพื้นที่สาธารณะ เช่น บริเวณถนนและในที่สาธารณะ โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย ความปลอดภัย รวมถึงป้ายต้องมีความมั่นคงแข็งแรง ห้ามติดป้ายบังทัศนียภาพ กีดขวางทางสัญจรหรือทางจราจรจนก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนและยานพาหนะและห้ามตอกยึดแผ่นป้ายจนทำให้ต้นไม้หรือทรัพย์สินอื่นใดเสียหาย  ทั้งนี้ เรื่องสำคัญอีกประการคือ การติดแผ่นป้ายห้ามติดทับซ้อนหรือปิดบังแผ่นป้ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่น หรือพรรคการเมืองอื่น
อย่างไรก็ตาม ในประกาศกกต. ฉบับนี้เป็นเพียงการวางกฎเกณฑ์ให้คร่าวๆ เท่านั้น แต่การลงรายละเอียดเพิ่มเติมว่าอนุญาตให้ติดตรงตรงจุดไหนได้บ้างจะลงในประกาศท้องถิ่นของผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัด และหน่วยงานท้องที่นั้น ๆ ที่จะเสริมความชัดเจนให้เหมาะสมตามแต่ละพื้นที่โดยยึดหลักตามประกาศกกต. ฉบับนี้ไว้ 
ยกตัวอย่างเช่น กรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครออกประกาศ เป็นการลงรายละเอียดเพิ่มเติมเช่น สามารถติดป้ายในซอยได้ รวมถึงกำหนดจุดห้ามติดป้ายให้ชัดเจนขึ้น เช่น ห้ามติดบนผิวจราจร เกาะกลางถนน บริเวณปากซอย สะพานลอย ป้ายจราจร ฯลฯ ไปจนถึงห้ามติดในบางพื้นที่ โดยกรณีของกรุงเทพมหานคร พื้นที่ห้ามติดจะอยู่บริเวณ “โซนพระราชวัง” เช่น สนามหลวง ถนนรอบพระบรมหาราชวัง ลานพระบรมรูปทรงม้า ถนนรอบพระราชวังสวนจิตรลดา ถนนราชดำเนินนอก-กลาง-ใน เป็นต้น 
นอกจากนี้ ในประกาศก็ลงพิกัดตามแต่ละเขตเลือกตั้งของกรุงเทพมหานครทั้ง 33 เขตด้วยว่าตรงจุดใดที่สามารถติดป้ายได้ เช่น เขตเลือกตั้งที่ 1 เขตพระนคร สามารถติดป้ายที่ถนนพระอาทิตย์ทั้งสองฝั่งตั้งแต่ประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถึงป้อมพระสุเมรุ เป็นต้น
สำหรับเสาไฟฟ้าที่เป็นจุดยอดนิยมในการติดป้ายหาเสียง จะต้องเป็นไปตามระเบียบของการไฟฟ้านครหลวงซึ่งเป็นผู้ดูแล โดยติดป้ายได้หนึ่งแผ่น ต่อหนึ่งเสา และต้องติดในระดับความสูงไม่เกิน 3.5 เมตร รวมทั้งต้องไม่บดบัง หรือกีดขวาง และห้ามติดบริเวณที่มีเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า เสาที่อยู่ทางโค้งหรืออยู่ทางเข้าซอย
นอกจากนี้ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมืองอาจติดตั้งแผ่นป้ายได้ ณ ที่ทำการพรรคการเมืองหรือ สาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือศูนย์อำนวยการการเลือกตั้งได้ สถานที่ละหนึ่งแผ่น โดยความกว้างต้องไม่เกิน 400 เซนติเมตร และขนาดความยาวไม่เกิน 750 เซนติเมตร

ติดป้ายหาเสียงผิดที่ผิดทางอาจโดนปลดทิ้ง

กรณีที่พบป้ายหาเสียงติดอยู่ในสถานที่ที่ห้ามติด ติดเกินขอบเขตหรือเป็นการบดบังทัศนวิสัย กีดขวางการสัญจร นายอำเภอ ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขต ผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ สามารถสั่งให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือพรรคการเมืองแก้ไขให้ถูกต้องภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และแจ้งให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบโดยเร็วด้วย
หากผู้สมัครฯ หรือพรรคการเมืองไม่แก้ไขป้ายภายในห้าวัน ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสามารถรื้อถอน หรือปลดออกเอง หรือสั่งให้หน่วยงานอื่นดำเนินการแทน โดยจะคิดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกับผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองนั้น แล้วรายงานให้กกต. ทราบต่อไปซึ่งกกต. สามารถนำมาเป็นเหตุในการสืบสวน หรือไต่สวนว่ากระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งได้อีกด้วย
เนื่องจากกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 162 กำหนดโทษแก่ผู้สมัคร และพรรคการเมือง หรือผู้ใดก็ตามที่ติดป้ายหาเสียงไม่เป็นไปตามที่กกต. กำหนด มีโทษถึงจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประชาชนห้ามทำลายหรือปลดป้ายหาเสียงออกด้วยตนเอง

บางครั้งเมื่อเดินตามริมฟุตบาท ประชาชนอาจพบป้ายหาเสียงที่ติดเกะกะขวางทาง ทำให้เดินผ่านไม่สะดวก หรือป้ายหาเสียงมาติดในซอยบดบังหน้าบ้าน หากตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ให้โทรแจ้งกกต. สายด่วน 1444 (โทรในวันและเวลาราชการ) หรือแจ้งที่ทำการในท้องที่ให้เจ้าพนักงานมาดำเนินการปลดป้ายออกให้ อย่าใจร้อนทุบทำลายกรีดป้าย หรือปลดออกด้วยตนเองเด็ดขาด เพราะจะถือว่าผิดกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ