เลือกตั้ง66: กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง กทม. ใครได้ใครเสีย?

ศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยยกฟ้องคดี ให้เพิกถอนประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร สกลนคร และสุโขทัย ทำให้การเลือกตั้งยังคงเดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่มีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่

ประเด็นของการแบ่งเขตเลือกตั้งที่สลับซับซ้อนเกิดจาก กกต.กำหนด ผลต่างจากจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อ ส.ส.หนึ่งคนของแต่ละเขต ต้องไม่ต่างกันเกิน 10% โดยเฉพาะในพื้นที่ 33 เขต ของกรุงเทพมหานคร ที่การแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา

ซึ่งทำให้มีคนได้เปรียบและเสียเปรียบจากการเลือกตั้งครั้งนี้

1. ผู้สมัครที่มีฐานคะแนนนิยมในพื้นที่อาจเสียเปรียบ

เกณฑ์อย่างหนึ่งที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดไว้เพื่อการแบ่งเขตเลือกตั้ง คือ การเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน ทำให้ก่อนการแบ่งเขตเลือกตั้งในแต่ละครั้งว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.จะพอคาดการณ์ล่วงหน้าจากการเลือกตั้งในอดีตได้ว่า พื้นที่เขตเลือกตั้งของตัวเองอยู่ตรงไหน ทำให้สามารถลงพื้นที่แนะนำตัวต่อประชาชนได้ล่วงหน้า ก่อนประกาศวันเลือกตั้งจริง

จากการแบ่งเขตเลือกตั้ง 33 เขตของกรุงเทพมหานคร พบว่ามีเพียงสี่เขตเลือกตั้งที่เหมือนเขตเลือกตั้งเดิมเมื่อปี 2554 ส่วนอีก 29 เขตเลือกตั้งเปลี่ยนไป ทำให้อดีต ส.ส. หรือผู้สมัคร ส.ส.ที่ทำพื้นที่มาก่อนอาจเสียพื้นที่เดิม และต้องเริ่มต้นทำพื้นที่ใหม่พร้อมกับผู้สมัครหน้าใหม่

2. ผู้สมัครที่เน้นกระแสพรรคหรือกระแสผู้นำพรรคได้เปรียบ

อย่างไรก็ตาม การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ของ กกต. ใน กทม.ส่งผลดีต่อผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่ โดยเฉพาะผู้สมัครที่สังกัดพรรคที่มีคะแนนนิยมและมีคนรู้จักจำนวนมาก เพราะจะเสียเปรียบผู้สมัคร ส.ส.หน้าเดิมไม่มากเนื่องจากบ้างพื้นที่ผู้สมัครแต่ละคนต่างต้องเริ่มแนะนำตัวกับประชาชนใหม่ทั้งหมด

3. ประชาชนสับสนเขตเลือกตั้ง

การแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. นอกจากจะทำให้ผู้สมัคร ส.ส.ในแต่ละเขตมีความได้เปรียบเสียเปรียบกันแล้ว ยังส่งผลให้ประชาชนสับสนเขตเลือกตั้งของตัวเอง ซึ่งเกณฑ์การแบ่งเขตเลือกตั้งในกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ก็ได้กำหนดวิธีการเพื่อลดความสับสนไว้แล้ว

โดยกำหนดหลักเกณฑ์ ให้รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง และให้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งตามสภาพของชุมชนที่ประชาชนมีการติดต่อกันเป็นประจำในลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ซึ่งการแบ่งเขตเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร มีจำนวน 13 เขตเลือกตั้ง จากทั้งหมด 33 เขตเลือกตั้ง ที่เอาแขวงของหลายเขตมารวมกันโดยไม่มีเขต (อำเภอ) หลัก

การแบ่งเขตเลือกตั้งกรุงเทพมหานครในการเลือกตั้ง 2566 จะส่งผลให้ ส.ส. ในแต่ละพื้นที่ ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน อีกทั้งการรวมแขวงข้ามเขตแบบนี้ จะกระทบสิทธิประชาชน ทำให้เกิดความสับสนในการใช้สิทธิเลือกตั้ง