เลือกตั้ง 66: หากประยุทธ์ได้ไปต่อ เป็นนายกได้อีกกี่ปี

การกำหนดวาระที่บุคคลจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2550 โดยครั้งนั้นมาตรา 171 วรรคสี่ กำหนดห้ามไว้ว่า “นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปีมิได้” หมายความว่าคนที่ดำรงตำแหน่งนายก จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินแปดปีไม่ได้ แต่เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้เพียงเท่านั้น หากบุคคลดังกล่าวพ้นตำแหน่งไปแล้วก็สามารถกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่ได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ห้ามหรือกำหนดระยะเวลารวมที่สามารถดำรงตำแหน่งได้ไว้ ต่อมารัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นผลไปเพราะการรัฐประหารของคสช. ในปี 2557 หลังการรัฐประหาร คสช. แต่งตั้งคณะบุคคลขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญจนได้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้ (ปี 2566)

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดวาระผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ในมาตรา 158 วรรคสี่ว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่ง ติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง” หมายความว่าบุคคลคนหนึ่ง เมื่อเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็จะเริ่มถูกนับวาระการดำรงตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกันหรือเป็นการกลับมาดำรงตำแหน่งหลังมีบุคคลอื่นเข้ามาดำรงตำแหน่งคั่น โดยการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งจะไม่นับรวมการดำรงตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรีรักษาการ เช่นกรณีเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการเพื่อรอจัดการเลือกตั้งหลังการยุบสภา 

ในกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 วาระการดำรงตำแหน่งจะเหลืออีกกี่ปี?

เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ในวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ส.ส.ฝ่ายค้านได้ยื่นหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านประธานรัฐสภาให้ตีความว่าความเป็นรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์สิ้นสุด ตามความในมาตรา 158 วรรคสี่ ที่กำหนดให้นายกดำรงตำแหน่งเกินกว่าแปดปี ไม่ได้ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกันหรือไม่

เบื้องต้นศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ให้พล.อ.ประยุทธ์ พักการปฏิบัติหนัาที่นายกรัฐมนตรีไว้ชั่วคราวระหว่างที่ศาลพิจารณาประเด็นปัญหาแห่งคดี  จากนั้นในวันที่ 30 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าพล.อ.ประยุทธ์ยังดำรงตำแหน่งไม่ครบแปดปี เพราะการจำกัดวาระผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะเริ่มขึ้นเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ คือเริ่มนับจากวันที่ 6 เมษายน 2560

หากนับจากวันที่ รัฐธรรมนูญเริ่มบังคับใช้คือ 6 เมษายน 2560 จนถึงวันยุบสภา 20 มีนาคม 2566 พล.อ.ประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว 5 ปี 11 เดือน กับ 15 วัน ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินแปดปีไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกันหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ก็จะดำรงตำแหน่งได้อีกไม่เกิน 2 ปี กับ 15 วัน อย่างไรก็ตามช่วงเวลานับจากวันที่ 21 มีนาคม ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรีรักษาการ จะไม่ถูกนำเข้ามานับรวมกับเวลาแปดปีของวาระการดำรงแหน่งปกติ

ความพยามยามยกเลิกการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ในช่วงเดือนมกราคม 2566 ซึ่งนับเป็นช่วงท้ายของอายุสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งปี 2562 มีกระแสข่าวว่า ส.ว. มีแนวคิดว่าจะเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ที่กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นไม่กำหนดวาระ จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนฯ ของวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ทาง กมธ. มีแนวคิดที่จะเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ที่กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่เกินแปดปี ให้เปลี่ยนเป็นไม่มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยให้เหตุผลว่ามีตัวอย่างจากต่างประเทศที่ยอมรับให้เสียงของประชาชนเป็นผู้กำหนด บุคคลใจจะดำรงตำแหน่งกี่ครั้ง เป็นระยะเวลานานเท่าใดอยู่ที่เสียงของประชาชน ไม่จำเป็นต้องไปกำหนดเวลาไว้ พร้อมยกตัวอย่างกรณีของจีนที่สีจิ้นผิงดำรงตำแหน่งมากกว่าสองวาระ พร้อมตอบโต้ข้อครหาที่ว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นไปเพื่อเอื้อต่อ พล.อ.ประยุทธ์ โดยระบุว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญกติกาดังกล่าวก็จะบังคับกับทุกพรรคการเมืองและในเวลาที่มีกระแสข่าวดังกล่าวก็ยังไม่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าพรรคใดจะได้เป็นรัฐบาล

ท้ายที่สุดรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ในส่วนที่กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังไม่ถูกแก้ไข หาก พล.อ.ประยุทธ์ได้รับการลงมติจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ การนับวาระที่เหลือจะเริ่มขึ้นหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายก ไปจนครบเวลาที่เหลืออีก 2 ปี 15 วัน โดยต้องจับตาดูต่อไปด้วยว่า จะมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างนั่นอีกหรือไม่

You May Also Like
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย