18 มีนาคม 2566 เวลา 15.00-16.30 น. เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานจับตาการเลือกตั้งได้แก่ Opendream Rocket Media Lab และ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) จัดเวทีสาธารณะ ประกาศสามข้อเสนอ “พาประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยหลังเลือกตั้ง 66” ณ ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และเปิดเวทีให้ตัวแทนจากเก้าพรรคการเมือง ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอดังกล่าว และสามารถแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้ว่าจะดำเนินการอะไรเพิ่มเติมเพื่อให้ประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตย
1) นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.: สร้างนายกฯ ที่ยึดโยงกับประชาชนที่เป็นรูปธรรมผ่านการเลือกตั้ง และสร้างหลักประกันว่านายกฯ ในฐานะ ส.ส. คนหนึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อการตรวจสอบของสภาที่มาจากประชาชน
3) ส.ว. ต้องเคารพเจตจำนงเสียงข้างมาก: แสดงออกผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ด้วยการยกมือสนับสนุนพรรคการเมืองที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรในการจัดตั้งรัฐบาล
หลังจากตัวแทนจาก iLaw แถลงสามข้อเสนอเสร็จสิ้น ช่วงต่อมาเป็นเวทีให้ตัวแทนเก้าพรรคการเมืองได้แสดงความคิดเห็น เก้าพรรคการเมืองที่เข้าร่วมสนทนาในครั้งนี้
เช็คความเห็นตัวแทน 9 พรรคการเมือง คิดอย่างไรกับสามข้อเสนอ?
- เริ่มต้นด้วย ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ระบุว่าเห็นด้วยกับทั้งสามข้อเสนอ โดยข้อเสนอข้อที่หนึ่ง ศิธาเห็นว่าเป็นการสร้างความชัดเจนยิ่งขึ้น หากเทียบกับนายกฯ ปัจจุบันที่มาด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมาก และขอยืนยันว่าไทยสร้างไทยยอมรับ และยินดีจะปฏิบัติตามข้อนี้ ส่วนข้อที่สอง ยืนยันในหลักการที่ต้องพรรคที่มีคะแนนเสียงมากที่สุดจัดตั้งรัฐบาลเป็นอันดับแรก แต่ขอตั้งข้อสงวนไว้ว่าหากปรากฎว่าผลสุดท้ายพรรคทหารได้คะแนนเสียงมากที่สุดมาอย่างไม่โปร่งใสก็จะขอไม่สนับสนุน และข้อที่สาม ยอมรับอยู่แล้ว โดยเห็นว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ แม้จะเห็นว่าในความเป็นจริงจะทำได้ยาก สุดท้ายเห็นว่าเป็นการแก้เกมที่ดีขอภาคประชาชน ศิธายังยืนยันว่าพรรคไทยสร้างไทยจะไม่เข้าร่วมกับฝั่งรัฐบาลเผด็จการอย่างแน่นอน แม้จะต้องเป็นฝ่ายค้าน
“ไทยสร้างไทยยินดีสนับสนุน เป็นกำลัง เป็นลมใต้ปีกให้พรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยทุกพรรคที่ไม่สืบทอดอำนาจให้กับสามลุง และมีความชัดเจนว่าจะไม่ต่อยอดให้กับเผด็จการ”
- ขดดะรี บินเซ็น ตัวแทนจากพรรคประชาชาติ ยอมรับทั้งสามข้อเสนอ โดยข้อที่หนึ่ง เห็นว่าควรที่จะต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว และคิดว่า ต้องมีส.ส. ต้องมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง และสนับสนุนให้ทุกพรรคแคนดิเดตนายกฯ ที่มาจากส.ส.ในการเลือกตั้ง ส่วนข้อที่สอง ยอมรับ เพราะเชื่อเหลือเกินว่า พรรคที่ได้ส.ส.มากที่สุดเขาได้รับการไว้วางใจจากประชาชน ประชาชนเป็นคนเลือก แม้พรรคประชาชาติไม่มีโอกาสอยู่แล้วในการเสนอชื่อนายกฯ แต่ก็เข้าใจดีในข้อกฎหมาย
“พรรคประชาชาติต้องมี ส.ส. ต้องมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง พวกที่มาจากนอกลู่นอกทางคบไม่ได้”
- วิรัตน์ วรศสิริน รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ยอมรับทั้งสามข้อเสนอ โดยสรุปเห็นด้วยกับการที่นายกฯ ควรเป็นส.ส. แต่เห็นว่ายังไม่พอจึงเสนอว่าควรห้ามนายกฯ ที่มาจากการปฏิวัติด้วย ส่วนในข้อสองยอมรับเช่นกันในหลักการ แม้จะไม่มีกฎหมายเขียนไว้ก็ตาม
“ข้อเสนอที่หนึ่งยังไม่พอ ยังต้องมีเงื่อนไขอีกว่าเพิ่มว่านายกห้ามมาจากการปฏิวัติอีกเด็ดขาด บุคคลที่มาจากคณะปฏิวัติห้ามเข้าสู่การเมือง”
- ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ยอมรับทั้งสามข้อเสนอ โดยพิจารณาในรายประเด็น ดังนี้ ข้อที่หนึ่ง ลิณธิภรณ์ระบุว่าในข้อนี้ พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยและยอมรับในหลักการ และยังเคยเสนอแก้รัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาแล้วแต่ไม่สำเร็จ ซึ่งในขั้นตอนของพรรคกระบวนการเสนอแคนดิเดตว่าจะเป็นบัญชีรายชื่อ ส.ส. หรือไม่นั้นกำลังอยู่ในขั้นพิจารณาของพรรค ข้อที่สอง เห็นว่าเป็นมารยาททางการเมือง และที่ผ่านมาจากการครั้งเลือกตั้งครั้งก่อน เพื่อไทยชนะมาโดยตลอด จึงยอมรับข้อเสนอนี้อย่างแน่นอน และฝากถึงพรรคการเมืองอื่น ๆ ให้ยอมรับข้อเสนอด้วย หากพรรคใดปฏิเสธข้อเสนอนี้ จะเป็นการปฏิเสธอำนาจประชาชน และในข้อสาม เห็นด้วยในหลักการอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเรียกร้องจิตสำนึกสุดท้ายของ ส.ว. แม้ไม่สามารถคุมปัจจัยของ ส.ว. ได้ในทางปฏิบัติ เพราะเขามาจากการแต่งตั้งและที่ผ่านมาบทบาทของ ส.ว. ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า 250 เสียงพร้อมยืนข้างนายกรัฐมนตรีที่ชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเสนอให้มีการโหวตยุทธศาตร์มากกว่า 250 เสียงเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.
“เราสนับสนุนให้พรรคการเมืองที่รับคะแนนสูงสุดมีอำนาจจัดตั้งรัฐบาล และฝากถึงพรรคการเมืองอื่น ๆ ถ้าคุณไม่รับมารยาทในทางการเมืองเรื่องนี้ สิ่งที่คุณกล่าวอ้างว่าทำเพื่อประชาชน ก็เป็นเพียงคำกล่าวอ้างเท่านั้น”
- อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ในข้อเสนอแรกอรรถวิชช์ เห็นว่าต้องย้อนกลับไปดูตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งให้พรรคการเมืองต้องกำหนดบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ สามคน ตนคิดว่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว ส่วนนายกฯ จะต้องเป็น ส.ส. หรือไม่นั้น ตนคิดว่าไม่เหมาะกับบริบทในปัจจุบัน แต่แน่นอนว่าไม่รับนายกฯ คนนอกที่ไม่มีที่มา ข้อเสนอที่สอง ยอมรับและเห็นว่าเป็นไปตามกติการมารยาททางการเมือง ส่วนข้อสามตนสนับสนุนอยู่แล้ว และเห็นควรให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 บทเฉพาะกาลที่กำหนดให้ ส.ว. ชุดพิเศษมีอำนาจเลือกนายกฯ ก่อนเป็นอันดับแรก อีกทั้งฝากถึง ส.ว. ว่าควรมีหัวใจเป็นประชาธิปไตย และต้องโหวตให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนมากสุดจากสภาผู้แทนราษฎร
- แทนคุณ จิตต์อิสระ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ ยอมรับทั้งสามข้อเสนอ โดยข้อแรกให้เหตุผลว่าประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่เป็นสถาบันการเมือง และเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ คนเดียว ที่เป็น ส.ส อยู่แล้ว แต่ยังเห็นว่าไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหา ส่วนข้อที่สองยอมรับ และเห็นด้วย เพราะประชาธิปัตย์เคยทำมาแล้วเช่นกันในยุคสมัยของชวน หลีกภัย และข้อที่สามเห็นด้วยเช่นกัน เพราะประชาธิปัตย์เคยเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 มาแล้ว
- ชัยธวัช ตุลาธน ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล ยอมรับทั้งสามข้อเสนอ และกล่าวว่าเป็นหลักการพื้นฐานอยู่แล้วในทุกข้อเสนอซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะต้องมาพูดกันอีก ชัยธวัช เสริมในข้อแรกด้วยว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้สถาบันการเมืองมีความเข้มแข็ง และพรรคก้าวไกลพร้อมส่ง พิธา หัวหน้าพรรคซึ่งเป็น ส.ส. เป็นแคนดิเดตนายกฯ อยู่แล้ว ส่วนในข้อที่สองและสาม ยืนยันว่า ส.ว. ต้องเห็นชอบกับเสียงข้างมาก ในทางปฏิบัติจะมีการส่งชื่อนายกฯ เพียงสองชื่อจากสองฝั่งเท่านั้น เน้นย้ำว่า ส.ว. ต้องโหวตตามมติมหาชน หากไม่ทำตนเชื่อว่าจะเกิดวิกฤติทางการเมืองอย่างแน่นอน
“ส.ส. และพรรคการเมืองต้องยืนหยัดหนักแน่น ไม่มีทางที่จะมีใครจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้”
- พลอยนภัส โจววณิชย์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ ยอมรับทั้งสามข้อเสนอ ในข้อแรกพลอยนภัสเห็นว่าเป็นหลักการที่ถูกต้อง เพราะการเป็นนายกต้องได้รับฉันทามติจากประชาชน การที่ให้มีนายกฯ เป็นคนนอกจะเป็นการดูถูก สิทธิ และเสียงของประชาชนมากกว่า ในข้อที่สองเห็นเพิ่มเติมว่าไม่ควรที่จะเป็นแค่มารยาททางการเมือง และข้อที่สาม ยอมรับชัดเจนและเห็นว่า ส.ว. ไม่ควรมีอำนาจจนเกินไป ควรเป็นเพียงผู้ให้ความเห็นในการแก้ไขกฎหมาย หาก ส.ว. จะมีสิทธิเลือกนายกฯ ได้ ควรจะมาจากการเลือกตั้ง
- สัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา ยอมรับทั้งสามข้อเสนอ โดยลงรายละเอียดในข้อแรก ว่าเป็นเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้ว และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของเกือบทุกพรรคการเมืองที่นายกฯ เป็น ส.ส. ส่วนข้อสอง เห็นว่าไม่มีทางที่ครั้งต่อไปจะมีการอ้าง popular vote ชัดเจนว่าพรรคที่มีคะแนนเสียงมากที่สุดต้องได้ตั้งรัฐบาลก่อนอยู่แล้ว แม้เป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ ข้อสามเห็นด้วยในหลักการ แต่เห็นแย้งว่าคงไม่สามารถเป็นไปได้ในความเป็นจริง
หลายพรรคส่งเสียงย้ำ ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
ในบรรดาเก้าพรรคการเมือง มีตัวแทนจากหลายพรรคการเมืองที่พูดถึงประเด็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ได้แก่ ตัวแทนจากพรรคประชาชาติ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย
ประเด็นการป้องกันการรัฐประหาร ก็เป็นหนึ่งในข้อเสนอที่ตัวแทนจากหลายพรรคกล่าวถึง โดยตัวแทนจากพรรคเพื่อชาติ แสดงความเห็นว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ข้าราชการไม่จำเป็นต้องทำตามคำสั่งจากคณะรัฐประหาร ห้ามศาลรับรองผลการรัฐประหาร ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย ระบุว่า ทางพรรคได้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยระบุว่าจะบรรจุเรื่องการรัฐประหารคือกบฏในรัฐธรรมนูญ ไม่เปลี่ยนจุดยืน และทหารต้องขึ้นตรงกับรัฐบาล
นอกจากนี้ตัวแทนของแต่ละพรรคการเมืองยังมีข้อเสนอซึ่งแสดงให้เห็นแนวทางไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบของแต่ละพรรคการเมืองที่แตกต่างกันออกไป
โดยลิณธิภรณ์ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เสนอแนวทางแบ่งออกเป็นสามระยะ คือเริ่มจากการโหวตยุทธศาสตร์ เพราะการที่จะกลับสู่ประชาธิปไตย พรรคการเมืองต้องได้รับอำนาจรัฐมามากพอในการต่อสู้กับส.ว. และถือครองเสียงข้างมากในสภา ต่อมาคือเน้นการแก้ไขเรื่องปัญหาเศรษฐกิจเพื่อคืนศักดิ์ศรี ความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนก่อน และสุดท้ายจึงเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยประชาชน พร้อมระบุว่า
“ในการเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึง สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเลือกตั้งครั้งนี้คือปากกาในมือประชาชนเราต้องตัดสินใจเลือกให้ถูกต้องว่าอำนาจที่เราจะให้ เราจะใช้เพื่อยุติอำนาจของระบอบประยุทธ์หรือเปล่า”
ด้านชัยธวัช เลขาธิการพรรคก้าวไกล เสนอสี่ภารกิจในการสร้างประชาธิปไตย คือหนึ่ง ล้มล้างผลพวงรัฐประหาร เพื่อสร้างฉันทามติใหม่คืนอำนาจให้แก่ประชาชน สอง ทำให้กองทัพอยู่ใต้ประชาชนอย่างแท้จริง สาม ฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพประชาชนระบอบนิติรัฐ และสี่ ยุติระบบราชการรวมศูนย์
“ถ้ารัฐบาลหน้ายังมีส่วนผสมของพรรคทหาร พรรคที่มาจากการรัฐประหารยังอยู่ จะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง”
แทนคุณ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ยังคงย้ำถึงประชาสุจริตที่แท้จริง และสนับสนุนประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือสื่อสารกันอย่างมีวุฒิภาวะ เพื่อแก้ไขปัญหาความแตกแยก รวมถึงต้องถอดบทเรียนจากการทำงานของสภาในครั้งก่อนมาแก้ไข
RELATED POSTS
No related posts