เปิดปากคำพยานคดีฟ้องเพิกถอนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อเท็จจริงชัดอ้างโควิดปราบการชุมนุม

ระหว่างวันที่ 7-14 มีนาคม 2566 ศาลแพ่งนัดสืบพยานโจทก์ในคดีฟ้องเพิกถอนข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 15 ที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมีโจทก์สามคนคือ เป๋า-ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน วาดดาว-ชุมาพร แต่งเกลี้ยง กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก และครูใหญ่-อรรถพล บัวพัฒน์ กลุ่มราษฎรโขงชีมูล ทั้งสามเป็นจำเลยในคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการร่วมชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ส่วนจำเลยลำดับหนึ่งในคดีนี้ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้ออกข้อกำหนดที่ใช้เป็นฐานอำนาจในการดำเนินคดีโจทก์ทั้งสาม

ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน พล.อ.ประยุทธ์ ออกข้อกำหนดรวม 47 ฉบับ ฉากหน้าของข้อกำหนดเหล่านี้ระบุว่า เป็นไปเพื่อใช้ในการปราบปรามโรคระบาดอย่างโควิด-19 หากหลายฉบับมีวาระซ่อนเร้นเพื่อใช้ในทางปราบปรามเสรีภาพในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนที่มุ่งคัดค้านการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการใช้เสรีภาพการชุมนุมไม่น้อยกว่า 1,445 คน ประชาชนต้องสูญเสียเวลา ทรัพย์สินและโอกาสในการทำมาหาเลี้ยงชีพจากการต้องแบกภาระการพิสูจน์ความบริสุทธิ์  มากไปกว่านั้นคดีจำนวนมากยังสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวในการใช้เสรีภาพการชุมนุม ทั้งที่เสรีภาพนี้ได้รับการประกันในกฎหมายสูงสุดของประเทศอย่างรัฐธรรมนูญ

ในทางนำสืบของโจทก์มีเป็นประเด็นหลักคือ ความเห็นทางกฎหมาย ข้อเท็จจริงจากการสังเกตการณ์การชุมนุมและการใช้อำนาจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาในทางที่ปราบปรามเสรีภาพการชุมนุม และข้อเท็จจริงทางการแพทย์ที่ชัดเจนว่า การแพร่ระบาดไม่เกิดขึ้นในพื้นที่โล่งที่มีอากาศถ่ายเท  สำหรับข้อเรียกร้องของโจทก์คดีนี้คือ เพิกถอนข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 15 ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายนำมาสู่คดีความปิดปากปราบปรามเสรีภาพในการชุมนุมและให้ชดใช้ค่าใช้เสียหายให้โจทก์คนละ 1,500,000 บาท นอกจากนี้คดียังเป็นช่องทางการต่อสู้เพื่อยืนยันเสรีภาพในการชุมนุมระหว่างโควิด-19 เป็นสิ่งที่กระทำได้และปลดเปลื้องความกังวลในการใช้เสรีภาพของประชาชน รวมทั้งเป็นอีกโอกาสสำคัญที่จะยุติคดี “รกศาล” อันผลพวงจากกฎหมายที่มีวาระซ่อนเร้นเช่นนี้ 

ประยุทธ์ใช้โควิด-19 บังหน้าออกกฎปราบประชาชนและรักษาอำนาจ

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน โจทก์ที่หนึ่งส่งคำให้การในฐานะพยานโจทก์ ใจความหลักของพยานปากนี้คือ ความชอบธรรมของกฎหมายและพฤติการณ์ของการบังคับใช้ที่ทำให้เห็นว่า รัฐใช้ข้อกำหนดและประกาศที่ออกตามความ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปราบปรามเสรีภาพการชุมนุม โดยสรุปคือ

ต้นปี 2563 ไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย แต่ละประเทศเลือกรับมือด้วยมาตรการต่างออกไป สำหรับประเทศไทยพล.อ.ประยุทธ์เลือกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในรับมือกับการระบาดของโรค ซึ่งในทางปฏิบัติจำเป็นต้องใช้อำนาจตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น ได้แก่ ต้องใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประชาชนจากเหตุการณ์โรคระบาด และการกักตุนสินค้าที่จำเป็นสำหรับการอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ตามพยานมีความเห็นสามประการดังนี้

หนึ่ง การออกข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 15 และประกาศผู้บัญชาการทหารสูงสุด ฉบับที่ 3, 5 และ 11 เป็นการออกกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ด้วยเหตุผลสามประการ คือ

  1. การออกข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อแก้ไขการแพร่ระบาดของโรค เพราะมีการกำหนดห้ามไม่ให้มีการชุมนุมแยกออกมาต่างหาก ซึ่งหากผู้ออกกฎทั้งสองมีเจตนารัดกุมเพียงจำกัดการรวมกลุ่มที่ไม่จำเป็นการห้ามมั่วสุมก็สื่อความได้เพียงพอแล้ว ทั้งช่วงเวลาในการออกกฎดังกล่าวยังเป็นช่วงที่มีการชุมนุมคัดค้านรัฐบาล เป็นปฏิปักษ์ต่อนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่ออกข้อกำหนดและประกาศดังกล่าว จึงถือเป็นการฉวยโอกาสอ้างโรคปราบม็อบ
  2. ข้อกำหนดและประกาศตามฟ้องที่ระบุว่า “ห้ามมิให้กระทำการชุมนุม….อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” ขัดต่อหลักความชัดเจนแน่นอนและคาดหมายได้ของการกระทำของรัฐที่ประกันไว้ในรัฐธรรมนูญ
  3. ข้อกำหนดและประกาศตามฟ้องในส่วนที่ระบุว่า  “ห้ามมิให้มีการชุมนุม” นั้นเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินความจำเป็นและเกินสมควรแก่เหตุ เดิมทีรัฐมีพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นบทบัญญัติหลักในการดูแลความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยสาธารณะอยู่แล้ว หากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดก็สามารถใช้กฎหมายปกติฉบับอื่นอย่างพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ช่วยเสริมอีกทางได้ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษ 

สอง การออกข้อกำหนดและประกาศดังล่าวมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองและการรักษาอำนาจทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี ร่วมกับผู้บัญชาการทหารสูงสุด

พฤติการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการปราบปรามเสรีภาพของประชาชนเพื่อรักษาอำนาจทางการเมือง เห็นตั้งแต่หลังการรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 วันดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง และใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเช่นเดียวกัน ระหว่างที่ประกาศและคำสั่งสองฉบับนี้ใช้บังคับมีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 421 คน ทั้งยังมีการประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร เป็นผลให้มีการชุมนุมเกิดขึ้นน้อยมาก โดยข้อห้ามเรื่องการชุมนุมทางการเมืองดังกล่าวถูกยกเลิกก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไป 2562 ไม่นาน

หลังจากนั้น พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กลายมาเป็นบทหลักที่รัฐใช้ในการควบคุมการชุมนุม ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยกเว้นการใช้บังคับในสถานศึกษา จึงทำให้รัฐไม่มีกฎหมายในการควบคุมการชุมนุมหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ส่วนใหญ่จัดในสถานศึกษาได้ ท้ายที่สุดการชุมนุมชะลอตัวและยุติลงเอง เพราะประชาชนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคระบาดใหม่ จึงไม่ต้องการเสี่ยงต่อการติดเชื้อ กลางปี 2563 สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ประชาชนออกมาชุมนุมเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ลำพัง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่อาจทำให้ผู้ชุมนุมลดจำนวนลง นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดฉบับที่ 15 ข้อ 3 สั่งห้ามการชุมนุม สวนทางกับวัตถุประสงค์ของการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ใช้ในการควบคุมโรคระบาด 

หลังจากนั้นเกิดการดำเนินคดีโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกลั่นแกล้งและเพิ่มภาระให้ผู้ใช้เสรีภาพ ซึ่งเป็นแนวทางที่พล.อ.ประยุทธ์เคยชินและใช้ตั้งแต่รัฐประหาร 2557 จากข้อเท็จจริงที่ได้ติดตามสังเกตการณ์และบันทึกข้อมูลเห็นว่า ที่ผ่านมาการออกข้อกำหนดของพล.อ.ประยุทธ์เป็นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ดังนี้

  1. ระหว่างการชุมนุม 2563-2565 มีการชุมนุมแบบไร้แกนนำ ทำให้รัฐควบคุมยาก จึงใช้วิธีการ “หว่านแห” ดำเนินคดีตั้งแต่ผู้จัด ผู้ประกาศนัดหมายไปจนถึงผู้ให้บริการเครื่องเสียงและรถห้องน้ำเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวว่า จะถูกดำเนินคดี ในกรณีรถห้องน้ำเห็นได้ว่า การดำเนินคดีมุ่งเพียงหยุดยั้งการชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้เอื้ออำนวยหรือคุ้มครองสุขภาพ เนื่องจากรถห้องน้ำทำให้ผู้ชุมนุมมีโอกาสล้างมือและขับถ่ายอย่างถูกสุขอนามัยและช่วยป้องกันโรคติดต่อได้
  2. พล.อ.ประยุทธ์แต่งตั้งให้ผู้บัญชาการสูงสุดเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ทั้งที่ไม่ได้มีความรู้หรือความเกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคระบาด และช่วงเวลาดังกล่าวไม่ได้มีสงคราม หรือสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง  การออกประกาศห้ามชุมนุมจึงไม่ได้เป็นไปเพื่อมาตรการด้านสาธารณสุข  แต่ต้องการรักษาความมั่นคงทางการเมือง
  3. ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีและประกาศผู้บัญชาการทหารสูงสุดถูกใช้เป็นฐานอำนาจของตำรวจควบคุมฝูงชนในการห้ามจัดการชุมนุมในพื้นที่ที่เกี่ยวพันกับ พล.อ.ประยุทธ์ เช่น บริเวณใกล้ทำเนียบรัฐบาล ที่ทำงานของพล.อ.ประยุทธ์ และกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภ รักษาพระองค์ บ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อผู้ชุมนุมเข้าใกล้พื้นที่ชุมนุมก็จะพบกับสิ่งกีดขวางและปราบปรามด้วยอาวุธอย่างรุนแรง ส่งผลให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตสองคน สูญเสียอวัยวะสองคน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก แต่ไม่สามารถดำเนินคดีกับตำรวจได้เนื่องจากมาตรา 17 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่คุ้มครองให้ตำรวจไม่ต้องรับผิด ในทางตรงกันข้ามหากผู้ชุมนุมจัดการชุมนุมในพื้นที่อื่น ตำรวจจะไม่ห้ามปรามและจะไม่ต้องเผชิญกับการปราบปรามด้วยความรุนแรง เห็นได้ว่า การเลือกใช้อำนาจตามข้อกำหนดและประกาศไม่ได้เป็นไปเพียงเพื่อควบคุมโรคระบาดและนำมาใช้ต่อการรวมตัวทุกประเภทที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคอย่างเท่าเทียมกันทุกกรณี จงใจใช้อำนาจเพื่อคุ้มครองพล.อ.ประยุทธ์จากการชุมนุมขับไล่ของประชาชน
  4. ในคำให้การของจำเลยกล่าวอ้างกลับไปกลับมาหลายครั้งถึงเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ว่า มีผู้ปราศรัยที่กล่าวถึงประเด็นปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงมีเหตุจำเป็นที่ต้องดำเนินคดีกับโจทก์ทั้งสามฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ทั้งที่การชุมนุมเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นข้อเรียกร้องที่สามารถนำเสนอได้ คำให้การให้น้ำหนักในประเด็นดังกล่าวมากกว่าการอธิบายถึงลักษณะของการชุมนุมที่จะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิดหรือไม่ จึงแสดงให้เห็นว่า การคงอยู่ของข้อกำหนดและประกาศเป็นไปในทางการเมืองมากกว่าเหตุผลทางสาธารณสุข

สาม ข้ออ้างของการออกข้อกำหนดและประกาศตามฟ้องเพื่อการป้องกันโรคระบาดและการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและไม่สอดคล้องกับข้อมูลหลักฐานทางการแพทย์

ข้อเท็จจริงจากการสังเกตการณ์การชุมนุมพบว่า ผู้ชุมนุมจะใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ส่วนมาตรการอื่นๆ เช่น การรักษาระยะห่าง การแจกเจลแอลกอฮอล์ให้ล้างมือ มีมากน้อยต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทการชุมนุมและจำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุม ซึ่งโจทก์ไม่เคยติดเชื้อโควิดจากการเข้าร่วมการชุมนุมเลยแม้แต่ครั้งเดียว และไม่เคยมีข้อมูลว่า การชุมนุมสาธารณะครั้งใดเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของการเชื้อโควิดในช่วงเวลาดังกล่าว กลับกันโจทก์เคยติดเชื้อโควิดสองครั้งจากการเข้าร่วมสังสรรค์โดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งช่วงดังกล่าวโจทก์ไม่ได้ร่วมชุมนุมทางการเมืองเลย ข้อมูลจาก MOB DATA THAILAND ซึ่งเป็นโครงการสังเกตการณ์การชุมนุมระบุว่า ในปี 2564 มีการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างน้อย 1,516 ครั้ง ไม่เคยมีรายงานว่า มีการชุมนุมครั้งใดที่เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดของโรคโควิดเลย สำหรับข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ จำเลยก็ไม่ได้ให้การหรือไม่เคยนำเสนอพยานหลักฐานให้เห็นเป็นอื่นได้ว่า การชุมนุมทางการเมืองครั้งใดเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิดได้อย่างไร

ตรงกันข้ามกับการชุมนุมที่เกิดขึ้นในพื้นที่อากาศถ่ายเท การแพร่ระบาดของโควิดมักจะเกิดจากกิจกรรมประเภทอื่นที่ผู้เข้าร่วมถอดหน้ากากอนามัย เช่น การกินดื่มในสถานบันเทิง เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการอยู่ร่วมกันในพื้นที่ปิด ทำให้เชื้อไวรัสในละอองฝอยการจากการไอและจามแพร่กระจายและวนเวียนอยู่ในบริเวณเดิม ทั้งในปี 2564 เริ่มมีการผลิตวัคซีนแจกจ่ายให้กับประชาชนได้แล้ว และในหลายประเทศก็ดำเนินนโยบายเน้นให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ จึงเห็นได้ว่าแนวนโยบายที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องในสถานการณ์โรคโควิดของปี 2564 ไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ และยังจำกัดเสรีภาพของประชาชนโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ยืนยันพื้นที่ชุมนุมเปิดโล่งไม่เสี่ยงโควิด-19

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย พยานโจทก์ส่งให้คำให้การในประเด็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ชุมนุมที่เปิดโล่งอากาศถ่ายเทไม่ได้เป็นพื้นที่เสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19  โดยสรุปคือ

ปัจจุบันหลักฐานทางการแพทย์พบว่า มาตรการหลักในป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 คือ การสวมใส่หน้ากากอนามัย และการเว้นระยะห่างเพื่อลดการรับละอองฝอยเสมหะ น้ำมูก น้ำลายในระยะใกล้ชิด รวมถึงการอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทเพื่อลดจำนวนละอองฝอยที่หมุนเวียนในอากาศ การป้องกันที่ได้รับการกล่าวถึงน้อยคือ การอยู่ในพื้นที่เปิดโล่งที่อากาศถ่ายเทสะดวก โดยทฤษฎีทางการแพทย์ หากอยู่ในพื้นที่ที่อากาศเปลี่ยนแปลง 12 แอร์เช้นจ์ (ACH) คือ มีอากาศหมุนไป 12 รอบต่อชั่วโมง ซึ่งหลักการนี้ปกติใช้ในห้องความดันลบของโรงพยาบาลด้วยซึ่งโอกาสติดเชื้อโควิด-19 จะต่ำมาก 

ในพื้นที่เปิดโล่ง เช่น สถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ จะมีอัตราที่อากาศถ่ายเทประมาณ 24 แอร์เช้นจ์ หรือมากกว่าในห้องของโรงพยาบาลประมาณเท่าตัว ซึ่งปลอดภัยกว่าในโรงพยาบาลอย่างมาก มีโอกาสแพร่เชื้อโควิดให้คนที่มาชุมนุมด้วยกันต่ำมากๆ  จึงพอสรุปเป็นหลักทางวิชาการได้ว่า การชุมนุมทางการเมืองส่วนใหญ่ซึ่งจัดในที่เปิดโล่ง และทุกคนที่เข้าร่วมยังใส่หน้ากากอนามัย มีการเว้นระยะห่างบ้าง แต่ไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกัน มีโอกาสแพร่เชื้อโควิดต่ำมาก จึงเป็นเหตุให้ในต่างประเทศหลายประเทศไม่ได้ห้ามชุมนุมทางการเมือง ถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่สามารถชุมนุมทางการเมืองได้ถ้าชุมนุมในที่เปิดโล่ง 

จากประสบการณ์การทำงานที่โรงพยาบาลจะนะในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนัก โรงพยาบาลก็ไม่ต่างจากสถานที่ชุมนุมทางการเมือง เพราะคนไข้ก็ยังไปนั่งรอแผนกผู้ป่วยนอกจำนวนหลายร้อยคนต่อวัน ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีผู้ป่วยด้วยสารพัดโรคมารวมตัวกัน จึงไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามีคนที่ติดเชื้อโควิดอยู่ร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งแม้ว่า สถานการณ์โควิด-19 จะแพร่ระบาด แต่ที่โรงพยาบาลทุกแห่งก็ยังมีคนมาใช้บริการเยอะเช่นเดิมโดยทุกคนใส่หน้ากากอนามัย และอาจจะมีการเว้นระยะห่างบ้างเท่าที่สามารถทำได้ สิ่งที่พบคือ ไม่มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นเลยว่า มีการระบาดจากการมารับบริการที่โรงพยาบาล ทั้งที่ก็ยังเปิดให้บริการเหมือนปกติต่อเนื่อง

ในกรณีที่มีผู้ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจจะถูกจัดให้แยกไปตรวจอีกที่หนึ่ง มีทั้งคนที่ติดเชื้อโควิด-19 และคนที่เป็นโรคอื่นมารับบริการ เมื่อซักประวัติแล้วก็จะถูกแยกไปนั่งในเต็นท์ที่อากาศถ่ายเท เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงโควิดสูง คนกลุ่มนี้มารับบริการวันละประมาณ 30-40 คน ซึ่งก็ถูกจัดให้นั่งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยที่ไม่ได้ตรวจเชื้อโควิด-19 ให้กับทุกคน การจัดบริการของคลินิกโรคทางเดินหายใจหลักการคือจัดในพื้นที่เปิดโล่ง ให้ลมพัดผ่านได้ มีความร้อนจากแสงแดดอยู่บ้าง ให้คนไข้ใส่หน้ากากอนามัย ผลคือ ไม่พบการระบาดในคลินิกโรคทางเดินหายใจเลย เพราะฉะนั้นโดยหลักการแล้วเมื่อใส่หน้ากากอนามัย และอยู่ในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเท ก็จะมีโอกาสติดเชื้อโควิดได้น้อยมาก

นอกจากนี้ นพ.สุภัทร ยังเคยนำทีมแพทย์และอาสาสมัครหลายร้อยคน ลงพื้นที่ชุมชนในกรุงเทพมหานครช่วงเดือน กรกฎาคมถึงสิงหาคม 2564 เพื่อตั้งจุดคัดกรองตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับคนในชุมชุน โดยมีผู้เข้ารับการตรวจหาเชื้อมากกว่า 200,000 คน และพบผู้ติดเชื้อมากกว่าร้อยละสิบของผู้เข้ารับการตรวจ  ผู้เข้ารับการตรวจทุกคนต้องต่อแถวเพื่อการลงทะเบียน รอคิวตรวจ และรอฟังผล การเว้นระยะห่างทำได้อย่างจำกัดขึ้นอยู่กับความเอื้ออำนวยของพื้นที่แต่ละแห่ง ซึ่งทีมแพทย์และอาสาสมัครได้จัดพื้นที่ตรวจคัดกรองเป็นพื้นที่เปิดโล่งและมีอากาศถ่ายเท ผู้เข้ารับบริการทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ขณะที่ทีมงานอาสาสมัครบางส่วนก็สวมแค่หน้ากากอนามัย แต่แทบไม่มีการระบาดหรือการติดเชื้อจากการตั้งจุดคัดกรองนี้

จากข้อมูลที่พบการติดเชื้อส่วนมากติดจาการสัมผัสใกล้ชิดและส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในครัวเรือน เช่น เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดติดจากสมาชิกในครอบครัว ไม่มีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่ติดเชื้อจากการทำงานในโรงพยาบาล เนื่องจากเมื่ออยู่ในบ้านแล้วทุกคนถอดหน้ากากอนามัยทำให้ติดเชื้อได้ง่าย

ก่อนหน้านี้ นพ.สุภัทร เคยได้รับหมายเรียกจากศาลให้เป็นพยานในคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะในช่วงปี 2564 มีการกล่วาหาว่า จำเลยฝ่าฝืนข้อกำหนด และประกาศที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมดแปดคดี  ทำให้ต้องทำการศึกษาถึงผลกระทบจากการชุมนุม เปรียบเทียบกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และจำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ ในช่วงเวลาเจ็ดวันหลังจากที่จัดการชุมนุม และทำรายงานศึกษาเพื่อนำส่งศาล ผลการศึกษาพบว่า ไม่มีการระบาดของโรคให้เห็นในช่วงเวลาที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการชุมนุม ในทางตรงกันข้ามบางพื้นที่จำนวนผู้ติดเชื้อยังลดลงด้วย และไม่เคยพบรายงานว่า มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนจากการชุมนุมสาธารณะเลย 

ประสบการณ์คัดกรองโควิดไม่มีใครติดเชื้อจากการทำงาน

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการองค์กรเข้าถึงเอดส์ พยานโจทก์ส่งคำให้การในประเด็นข้อเท็จจริงในการทำงานสร้างเสริมความรู้และป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเป็นการใช้ความรู้และประสบการณ์ทำงานกรณีโรคติดเชื้อเอชไอวีที่รัฐเคยใช้วิธีการออกคำสั่งเพื่อแก้ไขปัญหาในทางที่ตีตราผู้ติดเชื้อ จนนำมาซึ่งการทำงานรณรงค์สร้างความเข้าใจในสังคมและประเมินความเสี่ยงแก่ประชาชน โดยนิมิตร์ให้การโดยสรุปดังนี้ 

ปี 2563 ระหว่างการระบาดของโควิด-19 พยานเห็นว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) และกระทรวงสาธารณสุขกำลังใช้แนวทางการออกคำสั่งให้ประชาชนทำหรือไม่ทำอะไรโดยไม่ได้สร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจด้วยตัวเองได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ในเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม 2564 นิมิตร์ร่วมกับองค์กรเครือข่ายตั้งทีมงาน “โควิดชุมชน” หรือ “Com Covid” ขึ้นมาเพื่อศึกษาปัญหาเชิงลึกว่า จะมีวิธีการอย่างไรให้คนในชุมชนสามารถส่งเสริมป้องกันการติดเชื้อในชุมชนได้เอง และให้สามารถระบุตัวคนที่ติดเชื้อในชุมชนได้ พร้อมกับให้เข้าถึงการรักษาได้  พยานลงพื้นที่เพื่อพบปะพูดคุยศึกษาปัญหาและทำงานร่วมกับทีมงานของชุมชนในกรุงเทพมหานคร รวม 23 ชุมชน โดยการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ ค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 และหาทางส่งต่อผู้ติดเชื้อให้ได้รับการรักษา ซึ่งการทำงานอาศัยความรู้และประสบการณ์ที่ทำงานเรื่อเอชไอวีมาใช้ในเรื่องนี้ด้วย 

เขาและองค์กรเครือข่ายร่วมทำงานเน้นการให้ความรู้แก่ประชาชน ทำการอบรมแกนนำในชุมชนให้มีความรู้ความเข้าใจว่า ในสถานการณ์การระบาดของโรคสิ่งใดที่ประชาชนสามารถทำได้ หรือทำไม่ได้ และให้แกนนำชุมชนสามารถไปสื่อสารต่อกับสมาชิกในชุมชนได้ เพื่อไม่ให้เกิดการรังเกียจผู้ติดเชื้อ และให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สามารถอยู่ร่วมกับคนในชุมชนได้ และร่วมกับทีมงานโควิดชุมชนจัดพื้นที่เพื่อการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อในชุมชนมากกว่าร้อยแห่ง ตรวจคัดกรองแห่งละมากกว่า 5,000 คน ข้อเท็จจริงที่พบจากการทำงาน มีดังนี้

หน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ

การแพร่เชื้อโควิด-19 เกิดในวงจำกัด  การใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาสามารถป้องกันเชื้อได้ และเชื้อไม่สามารถติดต่อกันได้ผ่านการกินอาหารหรือการสัมผัสเนื้อตัวผู้ติดเชื้อ ในการปฏิบัติงานของทีมงานและอาสาสมัครของ “โควิดชุมชน” ลงพื้นที่เพื่อทำหน้าที่พูดคุยกับคนที่มารับบริการ ลงทะเบียน ตรวจคัดกรองผู้ป่วย เมื่อพบผู้ติดเชื้อจะมีการจัดให้นั่งคอย และพูดคุยสัมภาษณ์อาการเพื่อแยกระดับความเสี่ยงของผู้ป่วย อธิบายวิธีการปฏิบัติและดูแลตัวเอง และร่วมมือกับแพทย์เพื่อจ่ายยา ทีมงานที่รับผิดชอบงานส่วนนี้ใช้อาสาสมัครจำนวนเกือบ 1,000 คน และแกนนำจากชุมชนต่างๆ อีกหลักร้อยคน ซึ่งสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวเพียงหน้ากากอนามัย อาสาสมัครจำนวนหนึ่งก็ใส่เฟซชิลด์ หรือบางคนใส่ชุดกันฝนด้วย แต่ไม่ได้ใส่ชุดป้องกันแบบ PPE 

อาสาสมัครแต่ละคนจะพบเจอและพูดคุยกับผู้ติดเชื้อจำนวนมากในแต่ละวัน ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนมีอาสาสมัครเพียงคนเดียวที่ติดเชื้อ ซึ่งสืบทราบว่ามาจากการช่วยพยุงผู้ป่วยที่ชรามาก ระหว่างที่ตัวเองไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย สำหรับตัวเขาไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 จากการทำงานดังกล่าวเลย ทั้งที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อหลายระดับจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพยายามประสานงานกับหน่วยงานรัฐเพื่อให้อธิบายข้อมูลแก่ประชาชนอย่างรัดกุมและไม่สร้างความตื่นตระหนกในสังคม 

สาธารณสุขเสี่ยงล่ม เสนอใช้ระบบคัดกรองผู้ป่วยตามอาการแทน

ระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงพยาบาลที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ ภาครัฐพยายามสร้างโรงพยาบาลสนามแต่ก็ไม่เพียงพอ ทีมงานโควิดชุมนุมเสนอว่า ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามเพื่อรับการรักษา ควรเก็บเตียงไว้สำหรับคนที่มีอาการรุนแรง จนกระทั่งเกิดเป็นระบบ Home Isolation ซึ่งไม่ใช่เพียงผู้ที่มีบ้านขนาดใหญ่ แต่ผู้ที่อยู่อาศัยในเป็นบ้านขนาดเล็กในชุมชนก็สามารถทำได้  จนกระทั่งกรมการแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วย และเริ่มนำไปทำเป็นนโยบายให้คนที่บ้านสามารถดูแลกันและกันได้ ทั้งผู้ป่วยและไม่ป่วยใส่หน้ากากอนามัยอยู่ร่วมกันในบ้าน  ไม่ต้องพึ่งพาโรงพยาบาลของรัฐทุกกรณี และทำให้บริการสาธารณสุขยังเดินหน้าต่อไปได้

ในประเด็นที่รัฐสั่งให้กักตัวผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งสร้างความโกลาหล จากการศึกษาพบว่า แต่ละคนมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน นำไปสู่การจัดวงความเสี่ยง วงที่หนึ่ง คือ ผู้ติดเชื้อโควิด วงที่สอง คือ คนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ และวงที่สาม คือ คนที่สัมผัสคนวงที่สอง ซึ่งเมื่อแบ่งประเภทเช่นนี้แล้ว คนที่อยู่ในความเสี่ยงวงที่สองก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้โดยการใส่หน้ากากอนามัยและการตรวจหาเชื้อด้วยตัวเอง เมื่อครบเวลาห้าวันที่สัมผัสผู้ป่วยวงที่หนึ่งแล้วไม่ติดเชื้อก็คือไม่มีความเสี่ยง ส่วนคนที่มีความเสี่ยงวงที่สาม ก็ไม่มีอะไรต้องกังวลและสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ โดยหากคนในวงที่สองยังไม่ตรวจพบเชื้อก็ไม่มีความเสี่ยงและไม่ต้องกักตัวเอง 14 วัน การทำนโยบายเช่นนี้จะทำให้คนยังคงสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่มีเหตุผลที่รัฐจะต้องออกคำสั่งห้ามไม่ให้คนมารวมตัวกันเพราะกลัวจะเกิดการแพร่ระบาด ทั้งนี้ประชาชนมีความตระหนักและใส่หน้ากากอนามัยกันอย่างแพร่หลาย เป็นวิถีปกติของทุกคนในสังคมทั้งหมด ซึ่งเพียงพอแล้วสำหรับการป้องกันโควิด-19 ประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าวยังคงใช้ชีวิตต่อไป มีการใช้งานขนส่งสาธารณะร่วมกัน ซึ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนคนก็ยืนกันอย่างหนาแน่นในขบวนรถที่อากาศไม่ถ่ายเทโดยทุกคนใส่หน้ากากอนามัย แต่ไม่มีข้อมูลเลยว่ามีการแพร่ระบาดในการใช้ขนส่งสาธารณะร่วมกัน  ในทำนองเดียวกันกับการชุมนุมสาธารณะที่ผู้ชุมนุมใส่หน้ากากอนามัยและมีการแจกเจลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นมาตรการที่พอเหมาะพอสมแล้ว ทั้งยังไม่เคยพบการแพร่ระบาดของโควิด-19 แบบกลุ่มก้อนจากการชุมนุมมาก่อน

ดังนั้นการสั่งห้ามการชุมนุมสาธารณะที่เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะแสดงออกต่อรัฐจึงเป็นการจำกัดเสรีภาพเกินจำเป็นต่อภาวะโรคระบาดในช่วงเวลานั้น และยังขัดต่อข้อเท็จจริงทางการแพทย์ด้วย นอกจากนี้การออกข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 15 และประกาศผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกหลายฉบับชี้ให้เห็นถึงความไม่ไว้วางใจประชาชน และการมุ่งใช้มาตรการขู่ให้กลัวเพื่อบังคับให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน มากกว่าการสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชนเข้าใจ รวมถึงการตีตราและเลือกปฏิบัติที่รุนแรงในสังคมอันเกิดจากการใช้มาตรการขู่ให้กลัวของภาครัฐเอง ซึ่งจากประสบการณ์ทำงานเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของเห็นว่า มาตรการภายใต้แนวคิดเช่นนี้ไม่สามารถป้องกันโรคระบาดได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน

ข้อกำหนดห้ามชุมนุมจำกัดสิทธิเกินสมควร เป็นข้ออ้างสกัดกั้นผู้เห็นต่างทางการเมือง

รศ.ดร.ต่อพงษ์ กิตติยานุพงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยานโจทก์ส่งให้คำให้การในประเด็นข้อกฎหมายเห็นว่า ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 15 และประกาศผู้บัญชาการทหารสูงสุด ฉบับที่ 3 ข้อ 2 และ 4 ฉบับที่ 5 และ 11 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ด้วยเหตุผลโดยสรุปดังนี้

เสรีภาพในการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รับรองไว้เป็นการเฉพาะในบทบัญญัติมาตรา 44 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและในวรรคสองได้บัญญัติเงื่อนไขในการจำกัดสิทธิ เสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำคัญสองประการที่เป็นเครื่องส่งเสริมหลักการพื้นฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รับรองให้แก่ฝ่ายข้างน้อยในทางการเมือง หรือฝ่ายที่ไม่ได้ถืออำนาจรัฐในการที่จะแสดงออกถึงความต้องการในทางการเมืองของฝ่ายตน โดยมีผลผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร ดังนั้น การใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติในการตรากฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายบริหาร และการตัดสินอรรถคดีของศาลจึงต้องผูกพันอยู่กับสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะที่เป็นคุณค่าสูงสุดของรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยด้วย

ทั้งนี้เสรีภาพในการชุมนุมอาจถูกจำกัดได้โดยกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ดังที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 วรรคสอง อย่างไรก็ตามกฎหมายที่ตราขึ้นจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ต่อเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขอีกประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญคือ หลักความพอสมควรแก่เหตุ กล่าวคือ จะต้องไม่มีลักษณะที่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมจนเกินสมควรแก่เหตุ หรือเป็นการจำกัดในลักษณะที่กระทบต่อสาระสำคัญของเสรีภาพในการชุมนุม อีกนัยหนึ่งคือ เป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมในลักษณะที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้เลยโดยเด็ดขาด

หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดหลายฉบับ โดยอ้างว่ามีความจำเป็นเพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พยานตั้งข้อสังเกตว่า ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 15 ข้อ 3 และประกาศผู้บัญชาการทหารสูงสุด อ้างว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันโรคระบาด ซึ่งถือเป็นวัตถุประสงค์ในการตรากฎหมายจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานที่มีความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อพิจารณาจากขอบเขตของการจำกัดสิทธิและเสรีภาพแล้วถือว่า เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่ได้สัดส่วนกันระหว่างประโยชน์สาธารณะที่ได้รับกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ต้องสูญเสียไป เพราะเป็นการจำกัดที่แทบไม่เปิดโอกาสให้มีการใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้เลย ข้อกำหนดในลักษณะดังกล่าวจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้รัฐบาลได้อาศัยข้อกล่าวอ้างเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคเพื่อการสกัดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและการใช้สิทธิทางการเมืองของประชาชนที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล มากกว่าจะมีวัตถุประสงค์ในการควบคุมการระบาดของโรคอย่างแท้จริง

พยานมีความเห็นว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนยังคงมีเสรีภาพในการชุมนุมอยู่ หากการชุมนุมที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และรัฐย่อมมีหน้าที่ในการคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้การชุมนุมสามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้มาตรการทางสาธารณสุขที่ตกลงร่วมกัน แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกลับสวนทางกัน ในกรณีที่มีผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล รัฐบาลกลับห้ามไม่ให้มีการชุมนุมทุกครั้ง ในทางตรงกันข้ามกลับเปิดโอกาสให้ประชาชนบางกลุ่มออกมารวมตัวกันจำนวนมากได้ โดยไม่มีมาตรการห้ามการชุมนุมแต่อย่างใด ดังนั้นจึงมีลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติด้วย นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาจากหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาย่อมเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า การห้ามไม่ให้มีการชุมนุมหรือการสลายการชุมนุมในแต่ละกรณีนั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอย่างแท้จริง หากแต่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในทางการเมืองเพื่อสกัดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของรัฐบาล

ในคำให้การพยานยกตัวอย่างวิธีคิดหรือการให้เหตุผลสำหรับการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในทางระหว่างประเทศ หรือตามคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศประกอบด้วย โดยสรุปคือ 

  1. คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) ได้มีมติที่ 44/20 รับรองเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 เรื่อง การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทของการชุมนุมโดยสงบ โดยเน้นย้ำว่า “รัฐไม่ควรอ้างการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เสรีภาพในการสมาคม และเสรีภาพในการแสดงออกโดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นและความได้สัดส่วน การจำกัดเสรีภาพใด ๆ ที่ได้รับการคุ้มครองตามพิธีสารระหว่างประเทศจะต้องทำภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพิธีสารนั้น ๆ อย่างเคร่งครัด 
  2. ศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์ของเยอรมนีวินิจฉัยไว้ในคดี BVerfG 1 BvR 828/20 ลงวันที่ 16 เมษายน 2563 มีหลักการโดยสรุปว่า การห้ามไม่ให้มีการชุมนุมโดยเด็ดขาดหรือโดยสิ้นเชิงในระหว่างการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขัดต่อหลักความจำเป็น ซึ่งเป็นหลักการที่เรียกร้องให้รัฐต้องเลือกมาตรการที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนน้อยที่สุด ดังนั้นการห้ามการชุมนุมโดยเด็ดขาดจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ หลักการสำคัญที่จะช่วยให้เสรีภาพในการชุมนุมและการป้องกันโรคระบาดได้รับการคุ้มครองไปพร้อม ๆ กัน คือการที่รัฐและผู้จัดการชุมนุมจะต้องประสานงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การจัดการชุมนุมมีมาตรการการป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาดด้วย รัฐอาจมีความชอบธรรมที่จะกำหนดเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดได้ 
You May Also Like
อ่าน

เปิด 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด

ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมือง มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีในปริมาณมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และในช่วงเวลาที่มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ก็เป็นผลให้มีประชาชนที่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดในข้อหามาตรา 112 ถูกตัดสินจำโทษมากที่สุด ดังนี้
อ่าน

ศาลอนุญาตฝากขังตะวัน – แฟรงค์ต่อ 12 วัน อ้างตำรวจรอผลตรวจกล้องหน้ารถในจุดเกิดเหตุ

วันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวันและณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ผู้ต้องหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากเหตุการณ์บีบแตรใส่ตำรวจท้ายขบวนเสด็จของกรมพระเทพฯเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 โดยในการไต่สวนนัดนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดงยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองต่ออีกเป็นครั้งที่สี่ ระหว่างวันที่ 21 – 1 เมษายน 2567 หลังการไต่สวนคัดค้านการฝากขัง ศาลอนุญาตให้ฝากขังทั้งสองต่อ ตามคำร้องที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าจำเป็นต้องรอผลตรวจคลิปวิดีโอที่ติดหน้ารถยนต์ของประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุว่ามีการแก้ไขหรือตัดต่อหรือไม่ แม้พนักงานสอบสวนจะยอมรับว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่สามารถจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ก็ตาม