เลือกตั้ง 66: พรรคอันดับหนึ่งต้องได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน ส.ว. ต้องเคารพเจตจำนงประชาชนเลี่ยงวิกฤตการเมือง

วันที่ 18 มีนาคม 2566 เวลา 13.30 น. เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานจับตาการเลือกตั้งได้แก่ Opendream Rocket Media Lab และ iLaw จัดเสวนาทางวิชาการ “ประเทศไทยหลังการเลือกตั้งทางออกสู่ประชาธิปไตย” โดยมีผู้เข้าแลกเปลี่ยนคือ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบุณยนุช มัทธุจักร iLaw ประเด็นสำคัญคือ ข้อเรียกร้องสามข้อได้แก่ นายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส. พรรคที่ได้ส.ส.มากที่สุดต้องได้รับสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลและส.ว.ต้องเคารพเจตจำนงของเสียงข้างมาก

เนื้อหาของ รศ.ดร.ประจักษ์ โดยสรุปคือ พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งต้องได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน ซึ่งเป็นธรรมเนียมทางการเมืองมาตลอดแต่ถูกฉีกในการเลือกตั้ง 2562 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพลังประชารัฐ พรรคอันดับสองได้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยเสียงส.ว. ข้ออ้างเรื่องป๊อปปูลาร์ โหวตของพรรคพลังประชารัฐเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวเนื่องจากประชาธิปไตยระบบรัฐสภาจะต้องดูพรรคที่ได้ที่นั่งมากที่สุด ขณะที่ป๊อปปูลาร์ โหวตเป็นเรื่องของระบบประธาธิบดี เขาเรียกร้องเพิ่มเติมว่า กกต.จะต้องจัดการเลือกตั้งที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เรียกความเชื่อมั่นของประชาชนคืนมา และขอให้ยกเลิกการยุบพรรคการเมืองที่นำไปสู่การเปลี่ยนสมดุลทางการเมือง นอกจากนี้ส.ว.จะต้องออกเสียงตามเสียงข้างมากของ ส.ส.

“การเลือกตั้งมันเป็นแค่จุดนับหนึ่งเท่านั้นเอง ถ้าเราอยากจะกลับไปสู่ประชาธิปไตยจริงๆ ซึ่งเหมือนเราลงเหวมานาน คือ ครั้งนี้คือจริงๆคือการปีนขึ้นจากเหว ซึ่งการเลือกตั้งถ้าเราทำให้ดี บริสุทธิ์ยุติธรรม เที่ยงธรรม โดยที่ให้เสียงของประชาชนเท่านั้นตัดสิน คนอื่นที่ไม่ใช่เสียงของประชาชนอย่าเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้ง แค่นี้ผมว่า มันยังพอมีความหวังให้ประเทศมีทางออกได้..ผมก็กลัวเหมือนกันว่า ถ้าผลออกมาแล้วเสียงของประชาขน เจตนาของประชาชนไม่ได้รับการเคารพ มันอาจจะเกิดความวุ่นวายได้ ในหลายประเทศในช่วงหลังมันก็เกิดความรุนแรงหลังการเลือกตั้งเพราะว่า ประชาชนรู้สึกว่า เสียงของเขามันถูกบิดเบือนไป”

มารยาททางการเมืองพรรคอันดับหนึ่งต้องได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน

รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวว่า ข้อเรียกร้องทั้งสามข้อของไอลอว์ เขามองว่า “ที่เรามาพูดเรื่องนี้มันประหลาดมาก มันสะท้อนว่าการเมืองไทยมันถอยหลังไปไกลมาก คือจริงมันเป็นสามข้อที่ไม่ควรต้องพูด ไม่ต้องมาเรียกร้องด้วยซ้ำเพราะมันเป็นสามัญสำนึก และเป็นมาตรฐานของประชาธิปไตยทั่วโลก และจริงๆเราควรจะพูดเรื่องนี้จบไปตั้งแต่พฤษภาทมิฬ 2535 แล้ว นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง ส่วนพรรคอันดับหนึ่งต้องจัดตั้งรัฐบาล จริงๆอันนี้มันเป็นอย่างนี้มาตลอดอยู่แล้ว ไม่เคยมีใครมีใครแหกธรรมเนียมนี้และเป็นมาตรฐานทั่วโลก”

ส่วนเรื่อง ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่หลังยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นต้นมา ส.ว. ไม่เคยมีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯอยู่แล้ว เรื่องนี้ไม่ควรจะมาเรียกร้อง ดังนั้นจึงสะท้อนว่า การเมืองอยู่ในความผิดปกติมานาน

คำถามที่ว่า พรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุดต้องได้รับสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล เขาระบุว่า “จริงๆเป็นคำถามที่มันงงเหมือนกันว่า ทำไมต้องมาอธิบาย มันเหมือนว่า ตอนนี้เราต้องกลับไปที่รัฐศาสตร์ 101 หมดแล้วในทุกเรื่อง ต้องมาพูดอธิบายหมดเลย หลักประชาธิปไตยคืออะไร การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมเที่ยงธรรมคืออะไร รวมถึงหลักการประชาธิปไตยแบบรัฐสภาด้วย ในเมื่อว่า เราหลงทางไปไกลแล้วก็ต้องตั้งหลักใหม่คือ เราใช้ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเราไม่ได้ใช้ระบบประธานาธิบดี ฉะนั้นมันไม่ได้ตัดสินกันที่ป๊อปปูลาร์โหวต ตัดไปเลย ครั้งที่แล้วพรรคเพื่อไทยได้ที่นั่งมาเป็นอันดับหนึ่ง พรรคพลังประชารัฐได้ที่นั่งมาเป็นอันดับสอง ป๊อปปูลาร์โหวตของพลังประชารัฐเยอะกว่า…พลังประชารัฐอ้างเหตุผลว่า ป๊อปปูลาร์โหวตเยอะกว่า ในระบบรัฐสภาป็อปปูลาร์ โหวตไม่มีความหมาย เขาดูที่ที่นั่งที่แต่ละพรรคได้ในการที่จะดูว่า ใครมีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน ถ้าจะเอาป็อปปูลาร์โหวตคุณต้องเปลี่ยนเป็นระบบประธานาธิบดี เขาดูที่นั่งว่าแต่ละพรรคได้ที่นั่งมากนน้อยอย่างไร โดยหลักคือพรรคที่ได้ที่นั่งอันดับหนึ่งมีความชอบธรรมมากที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาล”

ในกรณีที่พรรคที่ได้ที่นั่งอันดับหนึ่งไม่สามารถชนะเกินครึ่งต้องตั้งรัฐบาลผสม ชวนพรรคอื่นๆมาร่วมรัฐบาล แต่หากล้มเหลวในการจัดตั้งรัฐบาลผสม พรรคอันดับสองค่อยเสนอตัวขึ้นมาเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นเช่นนี้มาโดยตลอด อันที่จริงแล้วรูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลโดยให้พรรคที่ได้ที่นั่งอันดับหนึ่งก่อนเป็นเรื่องที่ทำมาโดยตลอด “จริงๆแล้วประเทศไทยเข้าใจหลักสากลนี้มาโดยตลอด ไม่ใช่จะไม่เข้าใจและนักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆ ก็ไม่มีใครละเมิดธรรมเนียมนี้มาก่อน แม้ว่าจะไม่มีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรแต่ทุกคนก็ปฏิบัติตาม ประเทศอื่นก็ไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร มันเป็นกฎกติกามารยาทสากลที่ทุกคนรู้กันว่าประชาชนเขาเลือกพรรคอันดับหนึ่ง พรรคอื่นก็ต้องรอก่อน”

ย้อนดูการเลือกตั้งแต่ละครั้งที่ผ่านมาไม่เคยมีพรรคอันดับสองแย่งชิงจัดตั้งรัฐบาลจนกระทั่งปี 2562 ในการเลือกตั้ง 2538 ผลการเลือกตั้งสูสีมากคือ พรรคความหวังใหม่และพรรคประชาธิปัตย์ห่างกันสองที่นั่ง แต่พรรคความหวังใหม่ก็ได้จัดตั้งรัฐบาล รศ.ดร.ประจักษ์ ระบุว่า มีคนชอบยกตัวอย่างเรื่องการเลือกตั้งปี 2518 ที่พรรคกิจสังคมได้ 18 ที่นั่งทำไมได้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นพูดที่ข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน เนื่องจากครั้งนั้นเลือกตั้งเสร็จแล้วประชาธิปัตย์ได้เสียงเป็นอันดับหนึ่งแต่ล้มเหลวในการตั้งรัฐบาล ทำให้พรรคอื่นถึงไปรวมเสียงกัน ทำให้พรรคกิจสังคมนำโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ขึ้นมาเป็นนายกฯ ได้

ปรากฏการณ์การแหกธรรมเนียมพรรคอันดับหนึ่งต้องจัดตั้งรัฐบาลในปี 2562 ต้องมองย้อนไปที่รัฐธรรมนูญ 2560 การเปิดโอกาสให้คนนอกเป็นแคนดิเดตนายกฯและบทบทบาท ส.ว. ถ้าตัดเงื่อนไขสองข้อนี้ออกไป การที่พรรคอันดับสองจะแหกธรรมเนียมจัดตั้งรัฐบาลคงเป็นเรื่องยาก

“ทำลายหลักการว่าการเลือกตั้งจะต้องสะท้อนเสียงของประชาชน ไม่งั้นเราจะเลือกตั้งไปทำไม เลือกตั้งไปเสร็จแล้วคนที่ได้อันดับหนึ่งมาได้เสียงข้างมากที่สุดไม่ต้องไปสนใจ ทั้งที่มันสะท้อนว่า ประชาชนเลือกเขามากที่สุด…เรื่องการที่ว่าตั้งรัฐบาลที่จะบริหารได้หรือไม่ได้ อันนั้นมันเป็นเรื่องภายหลัง ไม่เกี่ยวกัน แต่ตอนตั้งรัฐบาลกำลังพูดถึงว่า เสียงของประชาชนเขาสนับสนุนไปในทิศทางไหน มันคือการเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงยิ่งถ้าพรรคอันดับหนึ่งกับอันดับสองที่นั่งห่างกันมาก ครั้งที่แล้วห่างประมาณ 20 ที่นั่งแต่หากครั้งนี้ห่างกว่านี้แล้วพรรคอันดับสองจะไปชิงจัดตั้งรัฐบาล ผมคิดว่า อันนี้จะยิ่งขาดความชอบธรรม ผมกลัวว่า มันจะเป็นชนวนสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ด้วย มันจะนำไปสู่วิกฤตแน่ สมมติอันดับหนึ่ง อันดับสองห่างกัน 80 ที่นั่งและพรรคอันดับสองจะชิงจัดตั้งรัฐบาลด้วยโดยอาศัยเสียงส.ว. ผมว่า อันนี้วุ่นวายแน่ เกิดวิกฤตแน่ เลือกตั้งไปแล้วไม่สงบแน่”

“อันหนึ่งที่เสื่อมทรุดลงไปมากในช่วง 8 ปี คือวัฒนธรรมทางการเมืองหรือมารยาททางการเมืองที่แต่ก่อนมันมีบางอย่างที่เรารู้ว่า อันนี้ต่อให้ไม่มีลายลักษณ์อักษร เราก็ไม่ทำก็ไม่ละเมิด ประชาธิปไตยมันอยู่ได้ด้วยวัฒนธรรมประเพณีเหล่านี้ มารยาททางการเมืองที่ไม่ต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่พอรัฐประหารมันทำลายสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด”

เสนอเพิ่มสองข้อ กกต. ต้องโปร่งใสมีประสิทธิภาพและยุติการยุบพรรค

นอกจากสามข้อนี้ ประจักษ์เสนอข้อเรียกร้องอีกสองข้อคือ ข้อแรกคือ บทบาทของกกต.สำคัญอย่างมากในการเลือกตั้ง “สังคมต้องเรียกร้องให้กกต.ทำหน้าที่เป็นกลางเที่ยงธรรม มืออาชีพ มีประสิทธิภาพด้วย ถ้ากกต.ทำได้อย่างนี้จริงๆเป็นประโยชน์กับกกต.เองเพราะว่า มันจะฟื้นความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรเอง ปฏิเสธไม่ได้ครั้งที่แล้วโดนตั้งคำถามเยอะมาก จนกระทั่งเกิดแคมเปญออนไลน์หลังเลือกตั้ง ภายในเวลาไม่กี่วันมีคนลงชื่อเกือบหนึ่งล้านคน ครั้งนี้ กกต. คงไม่อยากให้เกิดปรากฏการณ์แบบนี้ขึ้นอื่น ฉะนั้นทำทุกอย่างให้โปร่งใส และตอบคำถามได้ และเที่ยงธรรมมันดีที่สุด ข้อนี้ผมอยากเสนอไปยังรัฐบาลว่า ควรเชิญองค์กรต่างประเทศแต่เนิ่นๆ ให้มาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพราะว่า มันจะช่วยสร้างความชอบธรรมให้การเลือกตั้งครั้งนี้”

ข้อที่สอง คือ เรื่องการยุบพรรคไม่ควรมีอีกแล้ว “นอกจากฝากไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้วซึ่งเป็นองค์ที่มีหน้าที่โดยตรงการตัดสินเรื่องนี้ ฝากถึงตัวละครทางการเมืองเลยเพราะมันมีการไปฟ้องร้องยุบพรรคกันมากตอนนี้ ค้างอยู่ในระบบ เกือบทุกพรรคตอนนี้มีคดีติดค้างอยู่ที่จะโดนยุบได้หมด ซึ่งผมคิดว่า มันไม่ควรมี ต่อให้พรรคที่เราไม่ชอบเราก็ไม่ควรสะใจสมมติเขาถูกยุบพรรคขึ้นมา ไม่ว่าจะขั้วไหนทั้งสิ้นเพราะว่า พรรคการเมืองมันเป็นสถาบันที่รวมความฝันของประชาชน รวมความหวังของประชาชน รวมความต้องการของประชาชน เราควรสร้างให้เกิดวัฒนธรรรมที่เราให้พรรคการเมืองเข้มแข็งและให้เขาไปต่อสู้กันเอง ประชาชนชอบไม่ชอบก็ให้ประชาชนตัดสินนโยบาย แต่มันไม่ควรไปยุบพรรคเขาเลย สมมติถ้าเป็นความผิดเชิงบุคคล ส.ส. คนใดคนหนึ่งของพรรคก็ตัดสิทธิคนนั้นไป สอบสวนคนนั้นไป เลิกได้แล้วในเรื่องการที่ว่าเอาการยุบพรรคการเมืองมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการเปลี่ยนสมดุลทางอำนาจ”

รศ.ดร.ประจักษ์ ระบุว่า สามข้อเสนอของไอลอว์ประชาชนทั่วไปเห็นด้วยอยู่แล้ว แต่ประชาชนต้องร่วมกันส่งเสียง “หน้าที่ของประชาชนครั้งนี้มันต้องมากกว่าการไปหย่อนบัตร มันต้องพยายามที่จะส่งเสียงแสดงออกบางอย่าง คนที่มีบทบาทสำคัญคือพรรคการเมืองต่างๆ เช่น ต่อไปนี้ถามเลยเวลาพรรคการเมืองไปดีเบตที่ไหน คำถามหนึ่งที่ผู้ดำเนินรายการควรจะต้องถามว่า คุณเห็นด้วยหรือไม่ในการที่ให้ ส.ว. มาโหวตเลือกนายกฯ โดยเฉพาะเลือกนายกฯที่ไม่ได้มาจากพรรคเสียงอันดับหนึ่ง อีกข้อหนึ่ง พรรคอันดับหนึ่งควรจัดตั้งรัฐบาล อันนี้เป็นคำถามที่สื่อควรจะต้องถามเลย…จริงๆ ผมคิดว่า ไม่มีพรรคการเมืองไหนควรภูมิใจที่จะได้ตั้งรัฐบาลหรือเป็นนายกฯโดยไม่ได้ชนะอันดับหนึ่ง มันคงยากในการเรียกร้องสปิริต แต่ถ้าทุกพรรคการเมืองส่วนใหญ่ที่เหลือเอาหมด เหลือพรรคการเมืองเดียว พรรคนั้นก็โดดเดี่ยวแล้วผมคิดว่า มันไม่ชอบธรรม”

ผุดแคมเปญล่าชื่อ ส.ว. ต้องโหวตตามเสียงข้างมาก

ประเด็นเรื่องเสียง ส.ว. ที่อาจหนุนให้พรรคการเมืองได้เป็นรัฐบาลก็ต้องคำนึงถึงอายุของ ส.ว. ที่เหลืออีกปีเดียว “ต่อให้มีความพยายามจะแก้รัฐธรรมนูญแต่ก็ไม่ง่าย ทั้งในเรื่องแก้อายุนายกฯ 8 ปี หรือการขยายอายุ ส.ว. ผมคิดว่า ไม่มีทางที่ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมจะเห็นด้วย” พรรคการเมืองที่ได้เสียงอันดับรองและฝืนจะตั้งรัฐบาลโดยอาศัยเสียง ส.ว. นั้นมองไม่เห็นทางว่า จะอยู่ยืดได้อย่างไร ดังนั้นพลอตแบบเดิมในปี 2562 มันไม่ง่าย

รศ.ดร. ประจักษ์ เสนอเพิ่มเติมว่า ประชาชนต้องทำแคมเปญในการที่ให้ ส.ว. เคารพเจตจำนงของประชาชนล่ารายชื่อ และในแคมเปญนี้ให้ ส.ว. มาลงชื่อว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่องพรรคอันดับหนึ่งควรมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อนหรือไม่ ลักษณะเป็น Public Shaming “ส.ว. อย่าลืมนะตัวเองจะได้ประโยชน์อะไรมากมายกับการที่ดึงดันในครั้งนี้ ในการฝืนมติประชาชน คุณเหลืออายุอีกแค่ปีเดียว…คุณจะทุ่มชีวิตของคุณโหวตให้นายคุณเพื่อชนะกลับมาอยู่ในอำนาจ คุณก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรและจะโดนประชาชนตั้งข้อรังเกียจเดียดฉันท์ ถ้าครั้งนี้เจตนารมณ์มันออกมาทางทิศทางใดทิศทางหนึ่งอย่างชัดเจน ถ้า ส.ว. ดึงดันในการโหวตสวนมติ ส.ว. จะเป็นจำเลยของสังคมทันทีและจะถูกบันทึกประวัติศาสตร์แบบผู้ร้าย

ในเชิงเทคนิค วันออกเสียงเลือกนายกฯในปี 2562 จะใช้วิธีขานรายชื่อ ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน ส.ว. อ้างว่า เขาไม่รู้ว่า ส.ส. เสียงส่วนใหญ่เลือกใครเป็นนายกฯ ดังนั้นครั้งนี้ควรจะเปลี่ยนให้การออกเสียงเลือกนายกฯ ต้องให้ ส.ส. ออกเสียงก่อนทั้งหมด เมื่อได้เสียงมากที่สุด ส.ว. จะต้องออกเสียงตามมติของ ส.ส.

“สุดท้ายข้อเสนอเหล่านี้จะเป็นจริง ทั้งประชาชนและสื่อต้องช่วยกัน เราอย่าคิดว่า ถึงวันเลือกตั้งไปทำหน้าที่พลเมืองไปหย่อนบัตรเท่านั้น ถ้าเราอยากให้ครั้งนี้มันเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้จริง เราต้องแอคทีฟมากกว่านั้น ตอนก่อน 14 ตุลากิจกรรมอันหนึ่งที่นักศึกษาทำกันเยอะคือ อาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง หรือตอนพฤษภาคม 2535 ทำให้เกิดองค์กรกลางขึ้นมา ซึ่งมันสำคัญ อย่าไปคิดว่า มันไม่สำคัญ”

“การเลือกตั้งมันเป็นแค่จุดนับหนึ่งเท่านั้นเอง ถ้าเราอยากจะกลับไปสู่ประชาธิปไตยจริงๆ ซึ่งเหมือนเราลงเหวมานาน คือ ครั้งนี้คือจริงๆคือการปีนขึ้นจากเหว ซึ่งการเลือกตั้งถ้าเราทำให้ดี บริสุทธิ์ยุติธรรม เที่ยงธรรม โดยที่ให้เสียงของประชาชนเท่านั้นตัดสิน คนอื่นที่ไม่ใช่เสียงของประชาชนอย่าเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้ง แค่นี้ผมว่า มันยังพอมีความหวังให้ประเทศมีทางออกได้..ผมก็กลัวเหมือนกันว่า ถ้าผลออกมาแล้วเสียงของประชาขน เจตนาของประชาชนไม่ได้รับการเคารพ มันอาจจะเกิดความวุ่นวายได้ ในหลายประเทศในช่วงหลังมันก็เกิดความรุนแรงหลังการเลือกตั้งเพราะว่า ประชาชนรู้สึกว่า เสียงของเขามันถูกบิดเบือนไป”