เลือกตั้ง 66: งานเสวนาบทเรียนจากท้องถนน “จุดยืนพรรคการเมืองต่อเสรีภาพการชุมนุมและนิรโทษกรรม”

ภายใต้บรรยากาศการเลือกตั้งครั้งใหญ่ปี 2566 และบรรยากาศการชุมนุมทางการเมืองบนท้องถนน วันที่ 11 มีนาคม 2566 พิพิธภัณฑ์สามัญชนร่วมกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) จัดงานเสวนาในหัวข้อ บทเรียนจากท้องถนน: พรรคการเมืองกับนโยบายเสรีภาพการชุมนุม ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยเชิญชวนพรรคการเมืองมาร่วมพูดคุยถึงประเด็นด้านเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน และนโยบายเกี่ยวกับการชุมนุมที่แต่ละพรรคตั้งใจนำเสนอ

จุดยืนและการแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน

เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ยืนยันมุมมองของพรรคก้าวไกลที่เชื่อมั่นว่า การชุมนุมสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ในรัฐบาลที่ผ่านๆ มา เราเห็นการปราบปรามพี่น้องประชาชน ทั้งการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กฎอัยการศึก เช่น กิจกรรมการกินแซนด์วิชก็ถูกดำเนินคดีชุมนุม การใช้กฎหมายในลักษณะนี้ดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน ที่มีนโยบายมาปราบปรามสิทธิของประชาชน จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าแต่ละรัฐบาลมีการใช้เครื่องมือที่แตกต่างกันในการควบคุมการแสดงออก

พรรคก้าวไกลมีมติว่าต้องพูดถึงเรื่องฉันทามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากเสียงของพี่น้องประชาชนแต่มีไว้เพื่อคนกลุ่มหนึ่ง ปัญหาที่มีผลกระทบจนถึงทุกวันนี้คือรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ประชาชนจริงๆ และยังเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเรื่อยมา นอกจากรัฐธรรมนูญแล้ว กฎหมายลำดับรอง เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไขเช่นกัน

เบญจากล่าวว่า “เราคิดว่าต้องมีการแก้ไขกฎหมายลูกที่ออกมาในสมัย สนช. และยกเลิกมาตรา 44 ที่ถูกนำไปรวมในรัฐธรรมนูญ ทางพรรคก้าวไกลเคยมีการยื่นร่างกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมสภาแต่ก็ไม่มีผลตอบรับ ทำให้เห็นว่าเก้าปีที่ผ่านมาเราทำอะไรได้ยากมาก ถ้าเสียงของประชาชนไม่มีความหมาย เพราะระบอบประยุทธิ์มันอยู่ในกฎหมายและยังถูกกระจายไปสู่ระบบอื่นๆ ทั้งตำรวจ ทหาร หรือตุลาการ เราจึงต้องพูดถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบเพื่อเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง 2566 และเมื่อเราได้ทำหน้าที่ในสภา จะสามารถทำควบคู่กันไปได้ทั้งระบบ สุดท้ายจะแก้ปัญหาความขัดแย้งในครั้งนี้ได้โดยนิรโทษกรรมให้คนที่แสดงออกทางการเมืองในปัจจุบัน”

รักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ ตัวแทนจากพรรคเพื่อชาติเห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เขากล่าวว่า การทำประชามติรัฐธรรมนูญไม่เสรีและเป็นธรรมเป็นประชามติที่อยู่ภายใต้คำสั่งหัวหน้าคสช. นอกจากนี้ “เราให้ความสำคัญและพร้อมผลักดันกฎหมายต้านรัฐประหาร รวมถึงการห้ามศาลเซ็นรับรองรัฐประหาร ในด้าน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เราก็มีข้อเรียกร้องที่อยากผลักดันเพิ่มเติม เช่น เสรีภาพในการชุมนุมทางออนไลน์ คิดว่าคนในโลกออนไลน์ต้องได้รับการคุ้มครอง ไม่มีการปิดกั้นเว็บไซต์จากรัฐบาล ไม่มีการติดตามตัว และถ้ารัฐสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงจะต้องมีการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด ทั้งนี้เจ้าหน้าที่รัฐควรเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับรู้ด้วย สุดท้ายเราคิดว่าสื่อก็เป็นปากเสียงให้ประชาชน สื่ออิสระควรได้รับการคุ้มครองเท่าสื่อหลัก รวมถึงมีการจัดสรรพื้นที่และปกป้องสื่อมวลชนในพื้นที่การชุมนุม”

ด้านแทนคุณ จิตต์อิสระ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า “ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายการชุมนุม มีคนกล่าวไว้ว่าเมื่อความอยุติธรรมเป็นกฎหมาย การต่อต้านก็เป็นหน้าที่ และต้องเท้าความไปที่การชุมนมกปปส. ที่มีการลักหลับ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะเห็นว่าปัญหาของบ้านเราที่ทำให้เกิดจุดร่วมของการชุมนุมไม่ใช่แค่เรื่องเผด็จการทหารเท่านั้น แต่เป็นเผด็จการที่เกิดจากการทุจริตคอรัปชั่นในระบบอุปถัมภ์และระบบรัฐสภา”

แทนคุณเสนอว่า “ ในการชุมนุมแต่ละครั้ง ถ้ามีบุคคลที่มีความเข้าใจในการใช้กฎหมายเป็นแนวร่วม ก็จะทำให้ก้าวย่างของการชุมนุมมีความรัดกุมขึ้น เช่น การขอคำพิพากษาศาล ซึ่งแล้วแต่ว่าการชุมนุมนั้นจะหยิบยกประเด็นใดมาเป็นประเด็นหลัก และเมื่อมีการใช้อาวุธ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดและไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล ไม่ว่าจะเป็นแก๊สน้ำตา น้ำแรงดันสูง ไปจนถึงกระสุนยาง จนทำให้เกิดการสูญเสีย พอเราพูดเหมารวมก็กลายเป็นว่าฝ่ายผู้สูญเสียที่อ้างถึงเรื่องนี้ตลอดทำไมไม่สืบหาความจริง เพราะหลักปฏิบัติสากลนั้นมีอยู่สี่ข้อ หนึ่งคือค้นหาความจริง ต้องเปิดเผยว่าใครฆ่า ใครสั่งการ อย่างไร สองคือเปิดเผยความจริง สามคือจัดการความจริง และสี่เยียวยา เรายังไม่ทันได้ทำก็เกิดการนิรโทษกรรมเพื่อปิดปากทั้งหมด เมื่อเกิดการทำผิดซ้ำขึ้นมาผมจึงเกิดการตั้งคำถามว่าควรทำอย่างไรต่อไป

ดังนั้นกระบวนการที่เราจะยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรงไปจนถึงการจลาจล สงครามกลางเมืองในอนาคตจะมีกระบวนการใดบ้าง ส่วนตัวเคยเป็นผู้ชุมนุมมาก่อนก็มีความกังวลในแง่กฎหมายเช่นกัน” สุดท้ายแทนคุณมองว่า ทุกฝ่ายที่เคยร่วมชุมนุม ควรมาถอดบทเรียน ว่ากฎหมายที่มีอยู่นั้นมีช่องโหว่อะไรบ้าง และควรทำอย่างไรกับเรื่องการใช้ความรุนแรงในการชุมนุม

ทางด้าน นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยหยิบยกรายระเอียดในประเด็นสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ว่าสิทธิของประชาชนควรจะเป็นประเด็นหลักหลักใหญ่ เรื่องการลิดรอนสิทธิควรเป็นประเด็นรอง แต่รัฐธรรมนูญประเทศไทยนั้นตรงกันข้าม

เชิดชัย เล่าว่า “พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและถูกกระทำมาโดยตลอด ทำให้มีช่องทางและวิธีการในการป้องกันการละเมิดสิทธิ รวมถึงการชุมนุมต้องยึดหลักการดูแล ไม่ใช่การควบคุม ใครกระทำความรุนแรง เช่น การเผา ก็ต้องรับโทษทางกฎหมาย และพรรคเพื่อไทยมีนโยบายตรงไปตรงมาว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ต้องเห็นหัวประชาชน ทางพรรคเองเชิญอาจารย์หลายท่านมาให้ความรู้ทำให้ได้ข้อสรุปว่าประชาธิปไตยถดถอย ทำให้กระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยว และเผด็จการก็มีเครื่องมือที่สำคัญคือทหาร ภายหลังที่ประชาชนเก่งขึ้น รัฐจึงต้องใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ ซึ่งก็คือการออกกฎหมายริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้นทุกที่ในประเทศ”

กิตติวัฒน์ อึ้งเจริญ ตัวแทนจากพรรคประชาชาติ กล่าวถึงการลงพื้นที่ชุมนุมว่า “เราได้พูดคุยกันเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่เหนือกฎหมาย เมื่อรัฐบาลไม่สามารถตอบโจทย์ประชาชนได้ การชุมนุมก็ชอบธรรมเพราะถือเป็นประชาธิปไตยทางตรง เรามีแนวคิดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงสนับสนุนให้ลงนามสนธิสัญญา ILO 87 (ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการรวมตัว) และ ILO 98 (ว่าด้วยการต่อรอง) สนธิสัญญาเหล่านี้จะเป็นการเพิ่มอาวุธกับผู้ชุมนุม”

นอกจากนี้พรรคประชาชาติจะผลักดันให้รัฐสนใจสิทธิมนุษยชน อย่างเช่น การชุมนุมในปี 2553 ที่มีผู้ชุมนุมบาดเจ็บล้มตาย ทางพรรคคิดว่าต่อให้มีความรุนแรงแต่ถ้าไม่ถึงขั้นจลาจลก็จะไม่มีคนเจ็บและตาย ซึ่งการป้องกันไม่ให้มีคนตายนั้นทำได้ ถ้าทางรัฐมองเห็นความเป็นมนุษย์และสลายการชุมนุมเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย กิตติวัฒน์ ได้กล่าวอีกว่า “เท่าที่ดูการชุมนุมมา ไม่มีการชุมนุมไหนเลยที่มีอาวุธ เช่น กลุ่มวีโว่ ที่มีโล่หรือชุดเกราะ แต่นั่นคือการป้องกันตัวของประชาชนต่อความรุนแรงจากรัฐ จึงมองว่ารัฐบาลควรเคารพสิทธิของประชาชน และสนธิสัญญา เพราะการชุมนุมคือเสียงสะท้อนของประชาชน

สำหรับข้อเสนอถึงภาครัฐนั้นมีสามหลักการ คือ ก่อนชุมนุมต้องทำได้โดยง่าย ระหว่างชุมนุมต้องทำตามหลักการ และหลังชุมนุมต้องทำให้ผู้ชุมนุมติดตามผลการเรียกร้องได้

จุดยืนพรรคการเมืองต่อการนิรโทษกรรมคดีความทางการเมือง

กิตติวัฒน์ ตัวแทนจากพรรคประชาชาติ มองว่า สิทธิในการชุมนุมเป็นสิทธิมนุษยชนที่ติดตัวประชาชนมาแต่แรกและอยู่เหนือกฎหมาย การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธนั้นไม่มีความผิด การนิรโทษกรรมก็เป็นไปได้ แต่อาจจะไม่สามารถพูดได้ว่ามีขอบเขตแค่ไหน แต่ว่าเราลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งการชุมนุมก็เป็นส่วนหนึ่งของอนุสัญญาเช่นกัน

ทางด้าน นพ.เชิดชัย จากพรรคเพื่อไทย ได้ยกข้อความจากหนังสือนโยบายของพรรคเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ มากล่าวว่าควรผลักดันให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ขจัดอำนาจเผด็จการ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จัดตั้งสสร. มีการทำประชามติ ปฏิรูประบบราชการทั้งระบบ สร้างกระบวนการยุติธรรมที่ซื้อไม่ได้ ลดดุลยพินิจของศาล รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระต้องอิสระและยึดโยงกับประชาชนจริงๆ ต้องมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือการยุบพรรคต้องไม่เกิดขึ้นอีก เพราะพรรคการเมืองถือว่าเป็นกลไกหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย สุดท้ายประเทศที่มีสงครามกลางเมืองใดๆ ก็ต้องมาเจรจากัน มาคุยกันว่าระบอบประชาธิปไตยควรเป็นไปแบบใด และผู้กระทำผิดก็ได้รับโทษตามสมควร สิ่งสำคัญคือต้องเยียวยาผู้เสียหายด้วย

แทนคุณ ตัวแทนจากประชาธิปัตย์ เสนอถึงการแบ่งกลุ่มผู้ชุมนุมออกเป็นห้ากลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ถืออำนาจนำตัวจริง อาจจะเป็นนักการเมือง พรรคการเมือง และมีคดีอาญาซึ่งไม่ได้เกิดจากมูลเหตุทางการเมือง เช่น คดีทุจริตคอรัปชั่น เป็นผู้มีอิทธิพลตัวจริง กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการการนิรโทษกรรม ซึ่งไม่สามารถนิรโทษกรรมได้ กลุ่มที่สองอาจเรียกว่าแกนนอน เป็นภาคประชาชน ตัวแทน ที่ลุกขึ้นมาเป็นแกนนำการเคลื่อนไหว แต่ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะไปเป็นนักการเมือง ไม่ได้มีลักษณะที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็ควรได้รับการนิรโทษกรรม

กลุ่มที่สามเป็นฝ่ายฮาร์ดคอร์ “เผาเลยพี่น้อง” ทำให้เกิดเหตุขึ้นจริงๆ กลุ่มนี้ถึงจะมีคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองก็ต้องว่าไปตามกระบวนการ ไม่สามารถนิรโทษกรรมได้ เพราะต่อไปอาจจะมีการกระทำแบบนี้เกิดขึ้นอีก กลุ่มที่สี่เป็นฝ่ายนักวิชาการที่อภิปรายและออกความเห็นเป็นแนวร่วม ไม่ได้ออกไปเคลื่อนไหวบนท้องถนน ซึ่งก็ควรได้รับการนิรโทษกรรม กลุ่มที่ห้า ควรได้รับการนิรโทษกรรมแน่นอนคือประชาชน ที่ถูกแจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ความผิดจราจร

แทนคุณได้ยกพระราชดำรัสของรัชกาลที่เก้าเกี่ยวกับชัยชนะบนซากปรักหักพัง และแสดงความเห็นถึงความขัดแย้ง การแบ่งขั้วข้าง เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่อย่างไรก็ต้องหลีกเลี่ยงความรุนแรงทั้งจากฝ่ายรัฐ ฝ่ายผู้ชุมนุม รวมถึงมือที่สามที่สี่ เราต้องรักษาชีวิตของผู้ชุมนุมเป็นสำคัญ ที่ผ่านมาเมื่อมีการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในปี 2556 เราเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมที่มีคดีอาญาบางประเภท ซึ่งได้มีการพูดคุยในกมธ. แต่ปรากฎว่ามีการสอดไส้ จนทำให้สถานการณ์เป็นอย่างทุกวันนี้

รักษ์ชาติ จากพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า ยังไม่มีนโยบายเกี่ยวกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่จุดยืนของพรรคคือความเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน คุณรักษ์ชาติกล่าวว่า ส่วนตัวหากได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการร่างรัฐธรมนูญใหม่ก็จะร่วมผลักดันให้ออกกฎหมายนี้ เพราะประชาชนที่ไปชุมนุมโดยบริสุทธิ์ควรได้รับการนิรโทษกรรม และผู้กระทำผิดต้องโดนลงโทษ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการบังคับสูญหาย ควรต้องถูกลงโทษ ต้องมีการสอบสวนก่อน ถึงจะยุติธรรมกับผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ทางพรรคสนับสนุนการนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมหรือผู้เรียกร้องที่เป็นประชาชน รวมถึงพรรคการเมืองที่ถูกตุลาการภิวัฒน์อย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งในกระบวนการนี้ต้องผ่านการพูดคุย ต้องเยียวยาผู้สูญเสียและถูกคุมขังด้วย

ต่อมา เบญจา ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล เสนอว่า การออกจากความขัดแย้งนั้น จะทำไม่ได้เลยถ้าไม่นิรโทษกรรมทางการเมือง และคืนความยุติธรรมให้ผู้ชุมนุม โดยเฉพาะการรัฐประหารหลังปี 2557 มติของพรรคเสนอให้นิรโทษกรรมผู้ชุมนุมตั้งแต่ปี 2557 แต่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งการพูดถึงการนิรโทษกรรมเป็นประเด็นอ่อนไหว ต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง พรรคก้าวไกลมีความเห็นว่ากระบวนการนี้ควรตัดเจ้าหน้าที่รัฐออกไปก่อน ส่วนแกนนำ ผู้ชุมนุม ให้ใช้สิทธิเข้ากระบวนการคัดกรองโดยกรรมการ แต่อย่างไรก็ตามการนิรโทษกรรมคือปลายทาง

เบญจา กล่าวอีกว่า เราไม่สามารถละเลยการใช้กฎหมายบิดผันโดยภาครัฐ เช่น ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 หรือมาตรา 116 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เรายืนยันว่าการใช้กฎหมายในช่วงที่ผ่านมาเป็นการใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง การดำเนินคดีหลังรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ทั้งหมดต้องเข้าสู่กระบวนการ รวมถึงต้องแก้กฎหมายระหว่างทางด้วย ที่สำคัญคือต้องแก้กฎหมายที่ทำให้เกิดนักโทษ เช่น คดีมาตรา 112 116 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และต้องทำไปพร้อมกับการนิรโทษกรรมที่เป็นปลายน้ำ

ประเด็นนี้มีจะพูดเฉพาะการนิรโทษกรรมอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพูดเรื่องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ เพราะคนในกระบวนการทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้อง การพูดนิรโทษกรรมเดี่ยวๆ ทำไม่ได้ นอกจากนี้พรรคก้าวไกลเสนอให้ประเทศไทยเข้าสัตยาบรรณกับศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC เพราะในเมื่อศาลในประเทศเป็นที่พึ่งไม่ได้ การที่เรายื่นเรื่องต่อ ICC ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เบญจา กล่าวทิ้งท้ายว่า “เราจะออกจากความขัดแย้งไม่ได้ ถ้ามีคนบางกลุ่มลอยนวล แล้วคนตัวเล็กตัวน้อยที่ออกมาต่อสู้ถูกดำเนินคดี”

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน