เสวนาวัน Open Data ยันผู้มีอำนาจต้องโปร่งใส ภาคประชาชน-สื่อพร้อมช่วย กกต. ทำงาน

4 มีนาคม 2566 เนื่องในวันเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ WeVis จัดงาน “Open Data Day 2023 – Open Data การเมืองไทย” ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยภายในงานประกอบไปด้วยสองวงเสวนาเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะโดยเฉพาะในการเลือกตั้งทั่วไป 2566 จากตัวแทนพรรคการเมือง สื่อมวลชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม รวมถึงกิจกรรมแสดงความเห็นและนิทรรศการข้อมูลทางการเมือง

กกต. พร้อมเปิดผลเลือกตั้งรายหน่วย

งานเริ่มด้วยวงเสวนา Pre-Election: Open Data for Free & Fair Election โดยมีประเด็นหลักคือบทเรียนจากการเลือกตั้งทั่วไป 2562 ในมุมมองด้านข้อมูล และความคาดหวังต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า วิทยากรคนแรก กิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยอมรับว่าการเลือกตั้ง 2562 ใช้ระบบเลือกตั้งใหม่ บัตรใบเดียว รวมถึงการเปลี่ยนเวลาปิดหีบให้ยาวขึ้น ทำให้เกิดความกดดันกับ กกต. มาก ดังนั้น จึงมีความพยายามใช้เทคโนโลยีใหม่โดยเฉพาะการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการหรือ Rapid Report ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้ความน่าเชื่อถือของผลคะแนนน้อยในสายตาประชาชน โดยเหตุก็เป็นเพราะ กกต. ประจำหน่วยที่เป็นคนกรอกคะแนนเข้าแอปพลิเคชันมีความผิดพลาด จึงเกิดความคลาดเคลื่อนระหว่างคะแนนไม่เป็นทางการและเป็นทางการ

จากบทเรียนของสี่ปีที่แล้ว กกต. จึงพยายามพัฒนาให้ดีกว่าเดิม แต่ก็มีการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งอีกครั้งทำให้ต้องเตรียมการใหม่อีกครั้ง ถึงแม้ว่าจะไม่มีแอปพลิเคชันรายงานผล แต่ กกต. ก็จะมีกระบวนการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการให้ประชาชนได้รับทราบ สิ่งที่เพิ่มเติมจากการเลือกตั้ง 2562 คือผลคะแนนรายหน่วยจะถูกเปิดเผยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ รวมถึงจากนี้ประชาชนก็สามารถถ่ายภาพเมื่อไปสังเกตการณ์ได้ เพราะ กกต. ได้นำข้อห้ามออกไปจากระเบียบแล้ว

หัวใจหลักคือความโปร่งใสและคำอธิบาย

พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส The MATTER กล่าวว่าช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2562 ต้องยอมรับว่าความตื่นตัวของประชาชนมีไม่มาก สื่อจำนวนมากก็ไม่มีประสบการณ์รายงานผลการเลือกตั้ง จึงเป็นครั้งแรกที่มีการเชื่อมข้อมูลจาก กกต. มารายงานผลอย่างทันที ความต้องการของสื่อเองคือข้อมูลเพื่อมารายงาน เช่น ที่ตั้งของหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งก็ไม่ได้รับการตอบรับจาก กกต. ในตอนนั้น นอกจากนี้ การรายงานผลอย่างทันทียังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ ทำให้ในคืนการเลือกตั้งมีความแปลกประหลาด เช่น คะแนนหยุดรายงาน สุดท้ายก็มีคำอธิบายว่าเป็นเรื่องของความผิดพลาดส่วนบุคคล โดยเป็นเหตุเพราะคะแนนเป็นคอขวดซึ่ง กกต. ตัดสินใจดึงท่อออกทำให้สื่อไม่ได้รับข้อมูล

พงศ์พิพัฒน์เรียกร้องสองประการ คือความโปร่งใสของข้อมูลและคำอธิบายที่เพียงพอจากผู้มีอำนาจเมื่อเกิดปัญหา ซึ่งในการเลือกตั้ง 2562 กกต. อาจจะทำหน้าที่ตรงนี้ไม่ค่อยดีนัก อีกประเด็นคือกติกาในการคำนวณ ส.ส. ในการเลือกตั้ง 2562 มีสูตรหลายรูปแบบ ซึ่งสุดท้ายเมื่อ กกต. เลือกแบบหนึ่งก็ไม่มีคำอธิบายว่าเลือกด้วยเหตุใด

บรรณาธิการอาวุโสจาก The MATTER เสริมว่าที่ผ่านมาเมื่อเกิดปัญหา กกต. มักจะอ้างกฎหมายเสมอ ตนอยากให้ กกต. เปลี่ยนคำอธิบายว่าตนอยากทำและจะพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น การเลือกตั้ง 2566 นอกจากพรรคการเมือง ยังเป็นการแข่งขันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนด้วย โดยเป็นสิ่งที่ กกต. ต้องร่วมเข้าแข่งขัน สำนักงาน กกต. พยายามจะอธิบายแต่ประชาชนต้องการได้ยินคำอธิบายจากผู้มีอำนาจโดยตรงด้วย เวลาหลังจากปิดหีบไปจนถึงการรายงานผล เป็นช่วงเวลาแห่งความสงสัย ประชาชนจึงต้องเข้าไปช่วย กกต. นับคะแนน และภาคสื่อเองก็พยายามนับคะแนนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้มากขึ้นด้วย กกต. ต้องช่วยอำนวยความสะดวกให้การสังเกตการณ์สามารถทำได้

ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เห็นด้วยกับรองเลขาธิการ กกต. ว่าปัญหาในการเลือกตั้ง 2562 คือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากที่ประเทศไม่มีการเลือกตั้งมานาน มีการเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง อีกทั้งรัฐธรรมนูญยังเขียนให้เวลา กกต. ในการคำนวณมากถึง 60 วัน ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากโดยเฉพาะเรื่องบัตรใบเดียว และยังมีกระบวนการที่พรรคการเมืองต้องปฏิบัติตาม เช่น การส่งผู้สมัครต้องทำไพรมารีโหวต การต้องตั้งตัวแทนประจำจังหวัด พรรคการเมืองจึงเจอกับแรงกดดันจากการต้องแบกรับงานธุรการ โดยปัญหามาจากรัฐธรรมนูญที่สร้างภาระให้กับ กกต. 

ไพบูลย์เห็นว่าการเลือกตั้ง 2566 กกต. แก้ปัญหาได้ในส่วนใหญ่แล้ว และตนก็ได้แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นบัตรเลือกตั้งสองใบเพื่อให้การทำงานง่ายขึ้น ในฐานะตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ พรรคการเมืองพร้อมและสนับสนุนให้เปิดเผยข้อมูล เพราะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเมืองทั้งสิ้น

เรียกร้อง กกต. เปิดข้อมูลผู้สมัครให้สื่อและภาคประชาสังคมด้วย

วิทยากรคนสุดท้าย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เริ่มว่าเห็นใจฝ่ายปฏิบัติของ กกต. เพราะระบบเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ทำให้การทำงานต้องเปลี่ยนทุกครั้ง ตนดีใจที่ กกต. ออกระเบียบใหม่ให้เปิดเผยผลคะแนนรายหน่วยผ่านใบ ส.ส. 5/18 บนเว็บไซต์ภายในห้าวัน แต่ในเลือกตั้ง 2562 ก็ทำได้เช่นกัน ตนเข้าใจว่ามีบางพรรคได้ไปขอผลคะแนนรายหน่วยแล้วก็ก็ไม่ทราบว่าตอนนี้ผลคะแนนอยู่ไหน เลขาธิการ กกต. เคยพูดว่าให้ กกต. ประจำหน่วยถ่ายภาพเพื่อให้คนกรอกข้อมูลจากนั้นจึงเปิดเผยต่อสาธารณะ จึงอยากเรียกร้องให้เปิดเผยตรงนี้ด้วยเพื่อจะได้นำมายืนยันว่าผลคะแนนของ กกต. ถูกหรือไม่ 

ผู้อำนวยการไอลอว์เสริมอีกประการหนึ่งว่าที่ให้มีการเปิดข้อมูลของผู้สมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้งครั้ง 2562 กกต. ให้ประชาชนต้องเข้าไปดูในแอปพลิเคชัน แต่ในความจริงแล้ว กกต. สามารถก็ทำให้ง่ายขึ้นด้วยการนำข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. ขึ้นเว็บไซต์เพื่อให้องค์กรภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนสามารถดาวน์โหลดเพื่อนำไปใช้ต่อให้ประชาชนเข้าถึงง่ายขึ้น

ในวงเสวนาต่อมา Post-Election: Open Data for Open Parliament อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ จากเครือเนชั่น เสริมในประเด็นการเลือกตั้งว่า จากประสบการณ์ตนรู้สึกว่า กกต. มีท่าทีไม่อยากรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ ซึ่งในส่วนของสำนักงาน เลขาธิการกกต. รองเลขาฯ และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติตั้งใจดีที่จะทำได้ดี แต่กรรมการกกต. ดูเหมือนไม่อยากทำ ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเราทราบว่าคะแนนผิดเพี้ยนมากจนไม่มีใครรับประกันได้ว่าคะแนนที่ออกมาถูกต้องหรือไม่

ในหมู่คนทำงานสื่อคุยกันแล้วเป็นห่วงมาก พอไปคุยกับ กกต. มาหลายครั้งก็พบว่าไม่มีเทคโนโลยีที่จะมาแก้ปัญหาได้ ล่าสุด กกต. บอกว่าจะใช้งานระบบใหม่ชื่อ ECT Report ส่วนการทำงานก็คือการถ่ายรูปกระดาษสรุปผลหน้าหน่วย แล้วส่งมามากรอกข้อมูลที่เขต ซึ่งเป็นระบบแบบที่ใช้งานเมื่อสามสิบปีก่อน ยังไม่รู้ว่าจะกรอกข้อมูลเสร็จเมื่อใด แล้วสื่อมวลชนก็ไม่อาจได้ข้อมูลจาก กกต. ระดับเขตที่กรอกข้อมูล ต้องรอให้ผลคะแนนออกมาจาก กกต. กลาง 

ล่าสุดองค์กรสื่อมวลชนก็ต้องรวมตัวกันเพื่อพยายามทำระบบการรายงานผลคะแนนสด อาจจะทำไม่ได้สมบูรณ์นัก แต่ไม่ทำก็ไม่ได้ สื่อเคยทำระบบรายงานเองตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งเรารายงานได้ประมาณ 30% เป็นคะแนนที่รายงานได้จนถึงเวลาประมาณหนึ่งทุ่ม ในการเลือกตั้งที่จะถึง ทางองค์กรสื่อมวลชนจะร่วมมือกับพรรคการเมือง และองค์กรภาคส่วนอื่น ๆ เช่น Fintech เชิญชวนคนไปเป็นอาสาสมัครช่วยกันนับคะแนนเลือกตั้งในคืนวันเลือกตั้งด้วย