เลือกตั้ง 66: เปิดกฎหมายหาทางออก กรณี กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งไม่ทันยุบสภา

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การคำนวนจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะต้องคำนวณโดยเอาเฉพาะจำนวนราษฎรที่มีสัญชาติไทยมาคำนวณเท่านั้น ส่งผลให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องคำนวณจำนวน ส.ส.ใหม่ เพราะเดิม กกต. คำนวณจำนวน ส.ส. โดยเอาจำนวนราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยเข้าไปร่วมคำนวณด้วย

ผลที่ตามมาหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คือ มี 8 จังหวัดที่จำนวน ส.ส. เปลี่ยนแปลงไป และทำให้ กกต. ต้องดำเนินการแบ่งเขตการเลือกตั้งใหม่ ได้แก่ กลุ่มจังหวัดที่จำนวน ส.ส. ลดลง ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก เชียงราย และสมุทรสาคร กับ กลุ่มจังหวัดที่จำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้น ได้แก่ อุดรธานี ลพบุรี ปัตตานี นครศรีธรรมราช 

ผลที่ตามมาหลังจำนวน ส.ส. บางจังหวัดเปลี่ยนไป คือ ต้องมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ และถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาในวันที่ 15 มีนาคม 2566 ตามที่มีการคาดการณ์ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะกระทบกับการจัดการเลือกตั้งของ กกต. เพราะ หาก กกต. ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งไม่แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนด ก็จะเป็นผลให้บางเขตไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 103 วรรคสาม กำหนดให้ภายใน 5 วันหลังการยุบสภา กกต. ต้องประกาศวันเลือกตั้ง และ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง มาตรา 12 (2) กำหนดให้เปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต ภายใน 25 วัน หลังยุบสภา หรือหมายความว่า ถ้ายุบสภาวันที่ 15 มีนาคม 2566 กกต. ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 9 เมษายน 2566 เพื่อที่พรรคการเมืองจะได้รู้เขตการเลือกตั้งและส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้

ตามประกาศ กกต. เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2566 ข้อ 3 ระบุขั้นตอนการแบ่งเขตเลือกตั้งไว้ดังนี้

  1. หลัง กกต. ประกาศจำนวน ส.ส.ในแต่ละจังหวัด ให้ให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ภายใน 3 วัน
  2. หลัง ผอ.การเลือกตั้งฯ จัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จ ให้เปิดรับฟังความคิดเห็นเป็นเวลา 10 วัน
  3. หลังสิ้นสุดระยะเวลารับฟังความคิดเห็นเรื่องรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ ผอ.การเลือกตั้งฯ สรุปผลการแบ่งเขตเลือกตั้งที่เหมาะสมให้ กกต. พิจารณา ภายใน 3 วัน
  4. เมื่อ กกต. ได้รับรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วให้ดำเนินการพิจารณาและประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา (ไม่มีกำหนดกรอบเวลา)

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 กกต. ได้ออกประกาศเรื่องจำนวน ส.ส.ในแต่ละจังหวัดฉบับใหม่ ทำให้อย่างเร็วที่สุดที่ กกต. จะแบ่งเขตเลือกตั้งได้ทัน จะใช้เวลาประมาณ 16 วัน หรือ ภายในวันที่ 19 มีนาคม 2566 และหากเป็นเช่นนี้ การเลือกตั้งก็จะดำเนินไปอย่างเฉียดฉิวแต่หาก กกต. ไม่สามารถสรุปการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ก่อนวันที่ 9 เมษายน 2566 ปัญหาจะตามมาทันที เพราะพรรคการเมืองจะไม่สามารถดำเนินการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารีโหวต) เพื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้

นอกจากนี้ ในวันที่ 3 มีนาคม 2566 กกต. ยังได้ยกเลิกประกาศ กกต. เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2566 ทำให้ไม่ทราบกรอบเวลาที่ชัดเจนในการแบ่งเขตเลือกตั้ง

สำหรับทางออกจากปัญหานี้ สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย และ อดีต กกต. เสนอแนะว่า 

  1. กกต. เร่งพิจารณาเพื่อออกมติให้คำนวณ จำนวน ส.ส.ของแต่ละจังหวัดใหม่ ทั้งประเทศ และมีคำสั่งให้ 8 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ จัดทำการแบ่งเขตใหม่ ภายในวันที่ 4 มีนาคม 2566
  2. กกต. ต้องมีมติให้ลดระยะเวลารับฟังความคิดเห็น ใน 8 จังหวัดดังกล่าว จาก 10 วัน เหลือ 5 วัน เพื่อให้การรับฟังจะเสร็จสิ้นในวันที่ 8 มีนาคม 2566 และ กกต. สามารถลงมติ เรื่องรูปแบบแบ่งเขตได้ในวันที่ 10 มีนาคม 2566
  3. ใน 69 จังหวัด ที่ไม่ได้รับผลกระทบ  ให้ กกต. ประกาศผลการแบ่งเขตในราชกิจจานุเบกษาก่อนทันที เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถทำการเลือกตั้งขั้นต้นไปล่วงหน้าได้
  4. ใน 8 จังหวัดที่เป็นปัญหา  หลังจาก กกต. มีมติในวันที่ 10 มีนาคม 2566 สามารถลงในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 10 มีนาคม 2566  และพรรคการเมืองสามารถไปทำการเลือกตั้งขั้นต้น  ในช่วง 11-15 มีนาคม 2566 
  5. ให้ นายกฯ ยุบสภา ประมาณ 22 มีนาคม 2566  และเลือกตั้ง 21 พฤษภาคม 2566  

อย่างไรก็ดี หาก กกต. เล็งเห็นว่า การกำหนดวันเลือกเดิมจะมีปัญหาหรือวันที่เปิดรับสมัครรับเลือกตั้งจะมีปัญหา กกต. มีทางเลือกอีกอย่างน้อย 2 ทาง คือ

  • หนึ่ง ‘กำหนดวันเลือกตั้งใหม่’ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 104 ที่กำหนดว่า ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้และเป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งตามวันที่ กกต. ประกาศ ให้กําหนดวันเลือกตั้งใหม่ก็ได้ แต่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 30 วันนับแต่วันที่เหตุดังกล่าวสิ้นสุดลง (การกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ต้องใช้วันเลือกตั้งเดียวกันทั่วราชอาณาจักร)
  • สอง ‘กำหนดวันรับสมัครลือกตั้งเพิ่มเติม’ ตาม พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 47 ที่กำหนดว่า ในกรณีมีเหตุจําเป็นเฉพาะพื้นที่ทําให้ไม่สามารถดําเนินการรับสมัครรับเลือกตั้งได้ เนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจําเป็นอื่นในเขตเลือกตั้ง และให้ กกต. มีอํานาจประกาศกําหนดวันรับสมัครเพิ่มเติมโดยอาจกําหนดให้ดําเนินการรับสมัครรับเลือกตั้งในท้องที่อื่นได้ ดังนั้น ถ้าจังหวัดไหนมีปัญหาการแบ่งเขตเลือกตั้งก็สามารถดำเนินการรับสมัครในภายหลังได้แต่ต้องไม่เป็นผลให้เลือกตั้งไม่พร้อมกัน

หาก กกต. ดำเนินการตามนี้ การเลือกตั้งก็จะสามารถดำเนินต่อไปได้ แต่หาก กกต. ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อให้เกิดการเลือกตั้ง ประเทศไทยก็จะเดินเข้าสู่ภาวะสูญญากาศทางการเมืองอีกครั้ง เหมือนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

You May Also Like
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่
อ่าน

จะ “เขียนรัฐธรรมนูญใหม่” ทำไมต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน? 

ย้อนดูเกมการเมืองที่ทำให้ยังไม่ได้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ยังไม่ได้ทำประชามติเสียที โดยจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องการทำประชามติ เป็นครั้งที่สอง