เลือกตั้ง 66: เปิดระเบียบ กกต. คุ้มครองผู้ชี้เบาะแสทุจริต หาเซฟเฮ้าส์ให้อยู่ได้

การเลือกตั้งมักมาพร้อมกับคำถามต่อความโปร่งใสและการทุจริตเพื่อให้ประชาชนลงคะแนนเสียงให้หรือไม่ลงคะแนนเสียงให้ เช่น การซื้อเสียง การให้อิทธิพลข่มขู่ หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบและสืบสวนหาข้อเท็จจริงก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่คนที่น่าจะเข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานได้ดีที่สุดก็คือ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเอง

ในความเป็นจริง ประชาชนที่พบเห็นการทุจริตหลายครั้งต่างก็ตกอยู่ในภาวะความหวาดกลัวต่อชีวิตและทรัพย์สินของตัวเอง หากนำข้อเท็จจริงที่รับรู้รับทราบรายงานต่อกกต. หรือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่อาจมั่นใจได้ว่าจะปลอดภัยหรือไม่ การ “จับโกง” จึงไม่ค่อยได้ผล อย่างไรก็ตาม ทางกกต. ทราบถึงปัญหานี้ จึงออกระเบียบฉบับหนึ่งเมื่อปี 2563 ชื่อว่า ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการคุ้มครองพยาน 2563 (ระเบียบคุ้มครองพยาน) ออกแบบทางปฏิบัติให้เกิดการคุ้มครองผู้ที่ให้ข้อมูลต่อกกต.

ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า การเลือกตั้งทั่วไป 2562 มีคำร้องเกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่สุจริตอย่างน้อยห้าร้อยฉบับ ในจำนวนนี้มีพยานคดีเลือกตั้งยื่นขอรับการคุ้มครองประมาณสามสิบคน แต่กกต.มีมติคุ้มครองไปประมาณ 26 คน ซึ่งพยานทั้งหมดปลอดภัยและข้อมูลที่ได้รับมานำไปสู่การพิจารณาออกใบเหลืองและใบแดงกับผู้สมัครได้

หลักการคุ้มครองพยานต้องลับ เร่งด่วนและปลอดภัย

ระเบียบคุ้มครองพยานฉบับนี้ใช้คุ้มครองบุคคลที่มีส่วนในการให้ข้อมูลผู้กระทำเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกหรือผู้บริหารสภาท้องถิ่น และการออกเสียงประชามติ ทั้งยังรวมการกระทำผิดกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมาย กกต. ด้วย มีหลักการสำคัญ คือ การดำเนินการคุ้มครองต้องเป็นความลับ คำนึงถึงความปลอดภัยของพยาน ในแต่ละขั้นตอนจะกำหนดมาตรการเอื้ออำนวยต่อข้อจำกัดของพยาน ลดขั้นตอนและดำเนินการให้ทันต่อสถานการณ์ทั้งช่องทางการสื่อสาร หรือการเปิดช่องให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการคุ้มครองไปก่อนคำสั่งได้เป็นการชั่วคราวหากเห็นสมควร ระเบียบฉบับนี้กำหนดให้มีบุคคลอยู่ในข่ายสามารถรับการคุ้มครองพยาน ดังนี้

  1. พยาน หมายถึง บุคคลที่มาให้ข้อเท็จจริงต่อกกต. หรือเบิกความต่อศาลเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งและพรรคการเมือง 
  2. ผู้ให้ข้อมูล หมายถึง บุคคลที่ให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ในการสืบสวนหรือไต่สวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง
  3. ผู้ชี้เบาะแส หมายถึง บุคคลที่ให้เบาะแส ข้อมูลพอเป็นเค้าให้ติดตามต่อไปได้ในคดีเลือกตั้ง

การร้องขอและกระบวนการพิจารณาให้การคุ้มครองพยานคดีเลือกตั้ง

กรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่า พยาน ผู้ให้ข้อมูลหรือผู้ชี้เบาะแสคดีเลือกตั้ง อาจได้รับอันตรายหรือการคุกคาม กระบวนการคุ้มครองจะเริ่มได้สองทาง ช่องทางที่หนึ่งคือ พยานคดีเลือกตั้งเป็นผู้ยื่นคำร้องตามแบบฟอร์มที่กำหนดต่อสำนักงานกกต. กำหนด อาจส่งไปรษณีย์หรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นมายื่นแทนในกรณีมีเหตุจำเป็นก็ได้ ในกรณีเร่งด่วนพยานคดีเลือกตั้งสามารถส่งคำร้องทางเครื่องมือสื่อสารอื่นได้ เมื่อสำนักงานกกต. ได้รับคำร้องแล้วจะเริ่มกระบวนการตรวจสอบความถูกต้อง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและแจ้งสิทธิ หรือเงื่อนไขต่างๆ ให้แก่พยานคดีเลือกตั้งทราบ ระหว่างนี้อาจส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลเบื้องต้นก็ได้

หากคำร้องยังขาดพยานหลักฐาน แต่ผู้ร้องขอความคุ้มครองไม่ได้ยื่นหลักฐานเพิ่มในเวลาห้าวันตามที่กำหนดหรือแจ้งเหตุจำเป็น สำนักงานกกต. สามารถรวบรวมหลักฐานเท่าที่มีและทำรายงานความคิดเห็นส่งต่อกกต.ให้พิจารณาได้โดยเร็ว กรณีที่สำนักงานฯ เห็นควรให้คุ้มครองพยาน ต้องระบุวิธีการคุ้มครอง ระยะเวลา กำหนดเงื่อนไขแก่พยานคดีเลือกตั้งระหว่างการคุ้มครอง ผู้ให้การคุ้มครอง และค่าใช้จ่ายประกอบในรายงานความเห็นด้วย

ช่องทางที่สอง คือ  กรณีที่ กกต. เลขาธิการ กกต. ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เห็นถึงเหตุอันควรเชื่อเองว่า จะมีอันตรายต่อพยานคดีเลือกตั้ง กกต. สามารถจัดให้มีการคุ้มครองพยานได้

กระบวนการคุ้มครองพยานคดีเลือกตั้งทั้งสองทางนี้ กกต. จะเป็นผู้ชี้ขาดว่า จะให้การคุ้มครองกับบุคคลใดหรือไม่  ระหว่างที่กกต.พิจารณา หากมีความจำเป็นเร่งด่วนเลขาธิการฯสามารถมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทำการคุ้มครองไปก่อนเป็นการชั่วคราวได้ นอกจากนี้ในการพิจารณาให้การคุ้มครอง กกต. อาจให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม หรือสั่งสอบพยานหลักฐานเพิ่มได้ และอาจแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการคุ้มครองเพื่อพิจารณาเสนอความเห็นต่อ กกต. เพิ่มเติมได้

คุ้มครองหลายระดับตั้งแต่สอดส่องชั่วคราว ย้ายไปเซฟเฮ้าส์ เปลี่ยนชื่อสกุล

หากกกต.พิจารณาให้การคุ้มครองพยานคดีเลือกตั้งรายใดจะต้องเลือกวิธีการตามความเหมาะสมตามที่ระเบียบกำหนดไว้ เช่น การให้เจ้าหน้าที่ไปสอดส่องเป็นครั้งคราวเพื่อไม่ให้เกิดอันตราย การจัดให้พยานคดีเลือกตั้งอยู่ในอารักขาหรือภายใต้การคุ้มครองของเจ้าหน้าที่ จัดให้พยานคดีเลือกตั้งไปอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย หรือ หากจำเป็นให้ประสานเปลี่ยนชื่อสกุล และข้อมูลที่เกี่ยวข้องในทางที่จะระบุตัวตนของพยานได้ หรือ กกต. ยังสามารถใช้วิธีการอื่นที่ไม่ระบุในระเบียบนี้ได้เองตามความเหมาะสมด้วย  

หลังจากที่ กกต. สั่งคุ้มครองพยานคดีเลือกตั้งรายใดแล้ว จะต้องแต่งตั้งผู้ดำเนินการคุ้มครอง นอกจากพนักงานของสำนักงานฯ อาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นร่วมคุ้มครองพยานได้ ระหว่างการคุ้มครอง หากวิธีการที่ กกต. ไม่เหมาะสม หรือเจ้าหน้าที่ที่ดูแลไม่เหมาะสมหรือทำงานต่อไปไม่ได้ ให้พยานคดีเลือกตั้งหรือผู้ได้รับมอบอำนาจยื่นคำร้องขอเปลี่ยนวิธีการหรือผู้ดำเนินการคุ้มครอง

การสิ้นสุดของการคุ้มครองมีหลายเงื่อนไข เช่น พยานคดีเลือกตั้งเสียชีวิต ร้องขอให้ยุติการคุ้มครอง พฤติการณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยเปลี่ยนแปลงไปจากแรกเริ่มไม่เข้าข่ายจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองอีก หรือพยานนั้นกลับคำให้การ อาจเกิดความเสียหายในคดีเลือกตั้ง 

อย่างไรก็ตามเมื่อการคุ้มครองสิ้นสุดลงแล้วแต่มีเหตุที่เชื่อได้ว่า พยานคดีเลือกตั้งที่เคยได้รับการคุ้มครองตกอยู่ในอันตรายอีกครั้ง กกต.อาจจัดให้มีการคุ้มครองพยานใหม่อีกครั้งได้