‘สมชัย ศรีสุทธิยากร’ เตรียมพบ กกต. ขอคำชี้แจงกรณีปัดตกคำร้อง รทสช. ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

ในวันที่ 3 มีนาคม 2566 สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทยและอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะขอเข้าพบกับ กกต. เพื่อขอคำชี้แจง หลังถูกปัดตกคำร้องที่ระบุว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เข้าข่ายกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.) ปี 2561 จากการจัดประชุมเปิดตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ถูกปัดตก เนื่องจาก กกต. เห็นว่าเป็นคำร้องที่ขาดรายละเอียดและพยานหลักฐาน 

อย่างไรก็ดี เมื่อดูจากเอกสารคำร้องที่สมชัยได้ยื่นต่อ กกต. มีการระบุรายละเอียดการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ดังนี้

  • จูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยการให้ผลประโยชน์อื่นใดหรือด้วยการจัดเลี้ยง

ในคำร้องระบุว่า มีการใช้รถขนคนมาร่วมปราศรัย มีหลักฐานภาพรถขนส่งประชาชนจากหลายจังหวัดประมาณ 100 คัน ระยะเวลาในการเดินทางก่อนเที่ยง ไปจนถึงเวลาประมาณ 21.00 น. ย่อมต้องมีการจัดเลี้ยงอาหาร หรือเครื่องดื่มในระหว่างการเดินทาง หรือ อาจมีการจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนให้แก่ผู้มาเข้าร่วมงาน อาจเข้าข่ายการกระทำผิดมาตรา 73 (1) และ 73 (4) ของ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ในประเด็นการให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตน และการเลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด

  • จูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยการให้ผลประโยชน์อื่นใด ได้แก่ เสื้อ หมวก

ในคำร้องระบุว่า มีการแจกเสื้อและหมวก มีการแจกเสื้อและหมวก แดง ขาว น้ำเงิน เพื่อจัดแถวนั่งเป็นรูปธงชาติ แม้ว่าที่ซองใส่เสื้อจะมีข้อมูลพิมพ์ติดว่า “ทรัพย์สินของพรรครวมไทยสร้างชาติ ใช้เฉพาะในห้องประชุมเท่านั้น”  แต่เสื้อและหมวกทั้งหมด  ไม่มีการประกาศเรียกคืนเมื่อเสร็จสิ้นการประชุม ” จึงเป็นเพียงการอ้างเพื่อให้พ้นข้อกล่าวหาแจกทรัพย์สินโดยมีเจตนาที่แท้ในการแจกทรัพย์สินอันอาจคำนวณเป็นมูลค่าเงินให้แก่บุคคลทั่วไปที่เข้าไปฟังการปราศรัย  โดยมีพยานบุคคลที่มิได้เป็นสมาชิกพรรคแต่ได้รับการแจงของดังกล่าวสามารถให้การเป็นพยานได้  การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายความผิด มาตรา 73 (1) ของ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.

  • จูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ

ในคำร้องระบุว่า มีการจัดให้มีการแสดงดนตรีของ หรั่ง ร็อคเคสตร้า แม้เป็นเพลงโฆษณาของพรรค แต่การใช้ศิลปินที่มีความนิยมสามารถเทียบเคียงกับกรณีที่พรรคการเมือง ไม่สามารถนำศิลปิน ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคมาร่วมเดินหาเสียง หรือขึ้นบนเวทีปราศรัยเพื่อเรียกคนหรือสร้างคะแนนนิยมต่อพรรค  การกระทำดังกล่าวจึงน่าจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.ป.ส.ส. มาตรา 73 (3)

  • จูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยการหลอกลวงให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของพรรคการเมือง

ในคำร้องระบุว่า มีการปราศรัยที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ระหว่างการประชุมไตรรงค์ สุวรรณคีรี ปราศรัยมีเนื้อหาพาดพิงสถาบันกษัตริย์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น “พี่น้องไปดูประเทศที่มันไม่มีระบอบกษัตริย์มันเกิดอะไรขึ้นครับพี่น้องครับ … เมื่อไม่มีระบบกษัตริย์ มันก็ต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อแย่งชิงความเป็นประธานาธิบดีกัน เพราะประธานาธิบดีคือ ประมุขของประเทศ เหมือนกษัตริย์  มันจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตนเองเป็นประมุขของประเทศ โกงเลือกตั้งก็เอา ซื้อเสียงก็เอา ฆ่าคนก็เอา ขอให้กูได้เป็นประธานาธิบดี” เป็นการขัดต่อระเบียบกกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ข้อ 17 และ 18 (3) และ พ.ร.ป.ส.ส. มาตรา 73 (5)

  • พรรคการเมืองไม่ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับพรรคอย่างครบถ้วน

ในคำร้องระบุว่า การประชุมใหญ่วิสามัญที่ขัดกับข้อบังคับพรรค วันที่เป็นเหตุตามคำร้อง มีการติดป้ายหน้างานว่า “การประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2566  พรรครวมไทยสร้างชาติ” แต่สมชัยตั้งข้อสังเกตว่า การประชุมเกิดขึ้นจริงหรือไม่และได้ปฏิบัติตามข้อบังคับพรรครวมไทยสร้างชาติครบถ้วนหรือไม่

โดยในท้ายคำร้อง สมชัยได้แนบพยานหลักฐานเช่น ภาพขบวนรถที่เข้าร่วมงานประชุมของพรรค การแจกเสื้อ และหมวก และรายละเอียดพยานบุคคลที่สามารถให้การเป็นพยานได้ นอกจากนี้ สมชัย ยังแถลงต่อสื่อมวลชนด้วยว่า ถ้าทาง กกต. ชี้แจงเหตุผลในการยกคำร้องได้ไม่เพียงพอจะขอสงวนสิทธิในการดำเนินคดีกับ กกต. ที่ลงมติ