เลือกตั้ง 66: เปิดระเบียบใหม่ กกต. เร่งกระบวน “ยุบพรรค” ให้ทุกคดีจบได้ภายใน 67 วัน

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกระเบียบใหม่จำนวนสามฉบับ หนึ่งในนั้นคือ ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งสาระสำคัญของระเบียบดังกล่าวคือ การเร่งรัดกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง โดยกำหนดกรอบเวลาให้ไม่เกิน 67 วัน นับตั้งแต่วันที่รับเรื่องร้องเรียน

หลัง กกต. ออกระเบียบดังกล่าว ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่า จะทำให้กระบวนการยุบพรรคถูกเร่งรัดและสร้างบรรยากาศที่ไม่เสรีและเป็นธรรมต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะอาจนำไปสู่การกลั่นแกล้งกันทางการเมือง เช่น การร้องยุบพรรคจากการนำเสนอนโยบายหรือการดำเนินการรณรงค์หาเสียงของพรรคหรือผู้สนับสนุนพรรค

ระเบียบใหม่ กกต. เร่งกระบวน “ยุบพรรค” ให้คดีจบได้ภายใน 67 วัน

ระเบียบ กกต. ที่ว่าด้วยการยุบพรรคฯ มีข้อกำหนดอยู่ทั้งสิ้น 11 ข้อ และระเบียบฉบับนี้เป็นเพียงการแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาจากระเบียบฉบับก่อน โดยกำหนดกรอบเวลาในการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ใช้ในการพิจารณายุบพรรคการเมืองตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพรรคการเมือง หรือ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ปี 2560 ดังนี้

  • ข้อ 5 เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำที่เป็นความผิดที่เข้าข่ายให้ยุบพรรคการเมืองตาม ม.92 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ให้เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า มีข้อเท็จจริง พฤติการณ์ พยานหลักฐาน หรือข้อมูลเพียงพอจะรับไว้ดำเนินการต่อหรือไม่ ภายใน 7 วันนับตั้งแต่ได้รับมอบหมาย
     
  • ข้อ 6 หากเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีหลักฐานหรือข้อมูลเพียงพอให้รับไว้ดำเนินการต่อ ให้แจ้งต่อเลขาธิการ กกต. พิจารณา หากเห็นพ้องด้วยก็ให้ดำเนินการต่อ แต่หากไม่เห็นพ้องด้วยให้ยุติเรื่องและรายงาน กกต. ทราบ

    ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลเพียงพอให้แจ้งต่อเลขาธิการ กกต. พิจารณา หากเห็นพ้องด้วยก็ให้ยุติเรื่อง แต่หากไม่เห็นพ้องด้วยให้เลขาธิการ กกต. รับไปดำเนินการต่อแทน

  • ข้อ 7 เมื่อเลขาธิการ กกต. รับเรื่องร้องเรียนมาดำเนินการ ให้แต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลเพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็น ภายใน 30 วัน หากไม่แล้วเสร็จสามารถขอขยายเวลาออกไปได้อีกครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าจะแล้วเสร็จ
     
  • ข้อ 9 เมื่อเลขาธิการเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำความผิดที่เข้าข่ายให้ยุบพรรคการเมืองได้ตาม ม.92 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ให้เสนอ กกต. พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากเห็นชอบด้วยกับเลขาธิการ กกต. ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค แต่หากไม่เห็นชอบด้วยให้ยกคำร้องหรือยุติเรื่องดังกล่าว

กล่าวโดยสรุปคือ เมื่อมีการร้องเรียนว่าพรรคการเมืองใดเข้าข่ายกระทำผิดอันเป็นเหตุให้ยุบพรรค เลขาธิการ กกต. มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเป็นเวลา 7 วัน เมื่อเห็นว่ามีมูลให้ดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มภายใน 30 วัน (ขอขยายเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน) จากนั้นส่งให้ กกต. พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ดังนั้น กระบวนการยุบพรรคการเมืองจากกกต. ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ จะใช้เวลาประมาณ 67 วัน 

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตด้วยว่า ระเบียบดังกล่าวให้อำนาจกับเลขาธิการ กกต. ในการเป็นคนชี้ขาดว่าจะดำเนินการพิจารณายุบพรรคใดหรือไม่ อันจะเห็นได้จากระเบียบข้อที่ 6 ระบุว่า ในกรณีที่ผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลเพียงพอ แต่หากเลขาธิการ กกต. ไม่เห็นพ้องด้วย เลขาธิการ กกต. มีอำนาจในการตั้งคณะทำงานเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงเองต่อ

อย่างไรก็ดี แม้ กกต. จะอ้างว่า การออกระเบียบดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม ปี 2565 แต่การยุบพรรคเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่มีความร้ายแรงและการยุบพรรคการเมืองย่อมส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น การพิจารณายุบพรรคจึงสมควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้การยุบพรรคกลายเป็นเครื่องมือในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน 

อีกทั้ง การเร่งรัดกระบวนการยุบพรรคยังเป็นการสร้างบรรยากาศที่ไม่ดีต่อการเลือกตั้ง ทำให้พรรคการเมืองและประชาชนเกิดความหวาดกลัวต่อการรณรงค์หาเสียง อันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปอย่างเสรีและเที่ยงธรรม เพราะตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ กำหนดให้หลักเกณฑ์ในการพิจารณายุบพรรคเป็นไปอย่างกว้างขวาง เช่น การกล่าวหาว่าพรรคการเมืองใดถูกครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลซึ่งไม่เป็นสมาชิกพรรคจากการรณรงค์หาเสียงของบุคคลทั่วไป หรือ การกล่าวหาว่ากระทำการอันเป็นการล้มล้างหรือปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากการเสนอนโยบายบางอย่าง เป็นต้น

เลือกตั้ง 62: กกต. และ ศาลรัฐธรรมนูญ ใช้เวลายุบพรรคเพียง 23 วัน

ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ ได้ยุบพรรคการเมืองอย่างน้อยสองพรรค พรรคแรกคือ ‘ไทยรักษาชาติ’ จากการเสนอชื่อ ‘ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี’ เป็นหนึ่งในบุคคลที่พรรคจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเข้าข่ายกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

โดยกระบวนการยุบพรรคเริ่มต้นหลังพรรคไทยรักษาชาติมีมติเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ซึ่งต่อมาได้มีการเผยแพร่พระบรมราชโองการของในหลาวงรัชกาลที่สิบโดยระบุว่า การนำสมาชิกชั้นสูงในราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับการเมืองถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี และเป็นการกระทำที่มิบังควรอย่างยิ่ง  

ต่อมา ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 ศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นหนังสือต่อประธาน กกต. และขอให้ไต่สวน วินิจฉัยและยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติขัดต่อขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากนั้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 กกต.มีมติว่า การที่พรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เข้าข่ายผิดมาตรา 92 พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ

จากนั้นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณษคดีเป็นครั้งแรกโดยไม่ไต่สวนเพิ่มเติมเพราะเห็นว่าพยานหลักฐานเพียงพอแล้ว ก่อนจะนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 7 มีนาคม 2562 ว่าพรรคไทยรักษาชาติมีความผิดและให้ยุบพรรคพร้อมตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ด้วยเหตุนี้ การยุบพรรคไทยรักษาชาติจึงใช้เวลาทั้งสิ้นเพียง 23 วัน

ส่วนพรรคที่สองที่ถูกยุบคือ ‘พรรคอนาคตใหม่’ จากการกู้ยืมเงิน ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ ของพรรคการเมือง ซึ่งเข้าข่ายเป็นการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยคดีนี้เริ่มต้นหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ 20 กันยายน 2562 โดยมีรายละเอียดว่าธนาธรให้พรรคอนาคตใหม่กู้เงินรวม 191.2 ล้านบาท ทำให้ศรีสุวรรณ จรรยาได้ยื่นเรื่องให้กกต.ตรวจสอบสัญญาเงินกู้ดังกล่าว 

หลังกกต.ทำการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานก็ได้มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกู้เงินดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดและต้องถูกยุบพรรคหรือไม่ โดยกกต.ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ต่อมาในวันที่ 25 ธันวาคม 2562 หรือ 13 วัน นับจากวันที่กกต.ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลก็มีมติรับพิจารณาเรื่องดังกล่าว คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดการไต่สวน ด้วยวาจาแต่ได้ให้พยานบุคคลรวม 17 ปาก ของพรรคอนาคตใหม่และเลขาธิการกกต. ทำความเห็นเป็นหนังสือส่งศาลในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ก่อนศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่

เท่ากับว่าหากนับจากวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ซึ่งคำร้องถูกยื่นต่อศาลจนถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ศาลอ่านคำวินิจฉัย การดำเนินการทั้งหมดแล้วเสร็จใน 71 วัน แต่หากนับจากวันที่ศาลให้พยานและผู้เกี่ยวข้องทำความเห็นเป็นหนังสือส่งศาล จนถึงวันที่ศาลนัดอ่านคำวินิจฉัย ศาลจะใช้เวลาเราพิจารณาพยานหลักฐานเหล่านั้นเป็นเวลา 10 วัน

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า พรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคล้วนมีจุดยืนไม่สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะที่ ‘พรรคพลังประชารัฐ’ พรรคที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคแต่กลับไม่พบความคืบหน้าเท่าที่ควร จนนำไปสู่คำถามถึงความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.