ส.ว. โหวตคว่ำ! 157 : 12 เสียง ไม่ส่งครม. ทำประชามติ จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

21 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ประชุมวุฒิสภา มีวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ เพื่อ เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการตามที่รัฐสภามีมติในการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)  ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยข้อเสนอนี้ ถูกเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากพรรคฝ่ายค้านเมื่อ 15 กันยายน 2565 และเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2565 สภาผู้แทนราษฎก็รมีมติเห็นด้วยกับญัตติให้ทำประชามติ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย  324 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 7 เสียง และส่งต่อมาเพื่อให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ

แต่ในการประชุมวุฒิสภา 21 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมวุฒิสภาก็ยังไม่ได้ลงมติว่าจะเห็นชอบกับการให้จัดทำประชามติ แต่กลับตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณาศึกษาญัตติดังกล่าว 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 20 ธันวาคม 2565 แต่กมธ. ก็ขอ “ขยายเวลา” ศึกษาต่ออีก 45 วัน ซึ่งในวันที่ 20 ที่ประชุมวุฒิสภาก็มีมติขยายเวลาให้กมธ. ศึกษาต่อได้อีก 45 วัน

หลังจากกมธ. ศึกษาแล้วเสร็จ และส่งกลับมาให้ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติ ท้ายที่สุด ที่ประชุมวุฒิสภาก็มีมติ “ไม่เห็นด้วย” กับการส่งให้ครม. จัดทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่าสมควรจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ ด้วยคะแนนเสียง ไม่เห็นด้วย 157 เสียง เห็นด้วย 12 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง เป็นอันว่าเรื่องดังกล่าวนั้นตกไป

ข้อเสนอ “จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ” เพื่อใช้แทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่ข้อเสนอที่เพิ่งมีขึ้นใหม่ ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2563 กระแสจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมถูกจุดขึ้นผ่านพื้นที่ชุมนุม  นำไปสู่การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งจากฟากประชาชนและจากส.ส. พรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เพื่อให้มีการตั้งสสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมรัฐสภาได้มีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญสองฉบับ หนึ่งฉบับเสนอโดยส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และอีกฉบับเสนอโดยส.ส.พรรคเพื่อไทย

แม้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางตั้งสสร. จะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไปจนถึงวาระสอง การลงมติรายมาตรา แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนั้นก็ไม่สำเร็จ เมื่อไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ และสมชาย แสวงการ ส.ว. เสนอญัตติด่วนให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 วินิจฉัยว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” ซึ่งบางฝ่ายตีความคำวินิจฉัยนี้ว่าหมายถึง ต้องทำประชามติว่าประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่เสียก่อน แล้วค่อยเสนอร่างแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่หนึ่ง ทำให้เสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวในการพิจารณาวาระที่สาม เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564

จากผลพวงของการคว่ำข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสสร. ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ชี้แจงชัดแจ้งว่า การทำประชามตินั้นจะต้องทำขั้นตอนใด ตั้งแต่ก่อนเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ หรือหลังร่างแก้รัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว จึงนำมาสู่การเสนอเรื่องทำประชามติ เพื่อถามประชาชนเจ้าของประเทศต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ 

นอกจากกระบวนการเสนอทำประชามติผ่านสภาแล้ว ยังมีอีกช่องทางหนึ่งที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม เสนอทำประชามติได้ ผ่านการลงชื่อประชาชน 50,000 ชื่อ เพื่อเสนอให้ครม. จัดทำประชามติถามประชาชนว่าต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ โดยสามารถลงชื่อได้ทางเว็บ https://www.resetthailand.org/

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่