เลือกตั้ง66: ส.ส.พาเหรดย้ายพรรคอลหม่าน ผลพวงรัฐธรรมนูญ 2560

ตลอดสมัยสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 หรือระหว่างปี 2562-2566 มีส.ส.ย้ายพรรคกันอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมการย้ายพรรคจนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 มีอย่างน้อย 138 คน (นับรวมส.ส.ที่ยังไม่ลาออกแต่แสดงตัวหรือมีรายงานข่าวการย้ายพรรคแล้ว) การย้ายพรรคการเมืองอาจแบ่งได้สี่ประเภทหลัก 

ประเภทแรก “พรรคขอไม่ทน” เมื่อ ส.ส.ออกเสียงสวนมติพรรค ต้นสังกัดเล็งเห็นว่า เอาไม่อยู่จึงต้องใช้มติพรรคขับส.ส.ออกจากพรรค ส.ส.ที่ย้ายพรรคประเภทนี้มี 28 คนแบ่งเป็นพรรคอนาคตใหม่ คือ  ศรีนวล บุญลือ จารึก ศรีอ่อน พ.ต.ท. ฐนภัทร กิตติวงศา และกวินนาถ ตาคีย์ พรรคเพื่อไทยคือ พรพิมล ธรรมสาร และศรัณย์วุฒิ ศรัณยเกตุ พรรคพลังประชารัฐ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า และส.ส.ในกลุ่มรวม 21 คน และพรรครวมแผ่นดิน คือ บุญญาพร ญาตะธนภัทร

เมื่อส.ส.ถูกขับออกจากพรรคการเมืองแล้ว ส.ส.เหล่านี้จะต้องหาพรรคใหม่สังกัดให้ได้ภายใน30 วัน หากครบกำหนดหาพรรคใหม่สังกัดไม่ได้จะสิ้นสภาพ ส.ส. ซึ่งหลายครั้งพิสูจน์แล้วว่า การขับออกจากพรรคเอื้อให้พรรครัฐบาล ดีล ส.ส.ฝ่ายค้านเข้าไปเพิ่มที่นั่ง เพิ่มเสียงโหวตทางอ้อม ไม่ได้เกิดการลงโทษ ส.ส.ในการกระทำขัดมติพรรค ดังเช่นรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2521 เป็นต้นมา หากพรรคมีมติขับ ส.ส. ออกจากพรรค ส.ส. จะต้องสิ้นสภาพความเป็น ส.ส. ทันที เว้นแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ยังเปิดโอกาสให้ ส.ส. ที่ถูกขับออกสามารถอุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้พรรคเลือกที่จะไม่ขับส.ส. ทำให้เกิดการย้ายพรรคแบบประเภทที่สอง

ประเภทที่สองคือ “ต่างฝ่ายต่างทน” เมื่อส.ส.แสดงทีท่าลงมติแทงสวนพรรค จึงเกิดการเอาคืนทำนองว่า หากอยากย้ายพรรคก็ต้องลาออกจากส.ส.เอง พรรคไม่มีการลงมติขับออกอีก ทำให้เกิดภาพขัดแย้งทำนองว่า ชื่อที่แสดงตัวในทีวีรัฐสภาเป็นพรรคที่สังกัดอยู่แต่ตัวย้ายไปนั่งเก้าอี้พรรคอื่น เช่น ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้แก่ เกษมสันต์ มีทิพย์ ขวัญเลิศ พานิชมาท คารม พลพรกลาง พีรเดช คำสมุทร และเอกภพ เพียรพิเศษ หรือ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ชัดเจนในการลงมติเห็นด้วยกับร่าง (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เช่น ธีระ ไตรสรณกุล นิยม ช่างพินิจ วุฒิชัย กิตติธเนศวร และสุชาติ ภิญโญ ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย  

ประเภทที่สามคือ “ส.ส.ขอไปเอง” เช่น กรณีของวทันยา วงษ์โอภาสี พรรคพลังประชารัฐและวินท์ สุธีรชัย พรรคก้าวไกล ที่ตัดสินใจลาออกไปอยู่กับพรรคใหม่ อีกส่วนคือ ส.ส.ที่เลือกลาออกและย้ายพรรคในช่วงท้ายของสมัยสภาเพื่อเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า เพื่อให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนด เช่น กรณีการพาเหรดเปิดตัว ส.ส.ย้ายพรรคเข้าพรรคภูมิใจไทยเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 ซึ่งมีทั้ง ส.ส. ที่ออกเสียงสวนมติพรรคมาแรมปีในประเภทที่สอง และส.ส.ที่ลงมติตามพรรคเป็นระเบียบมาตลอดแต่ตัดสินใจย้ายพรรคในภายหลัง

ประเภทที่สี่คือกลุ่มที่ได้อานิสงส์จากการยุบพรรคอนาคตใหม่ ถือโอกาสเปลี่ยนพรรคย้ายขั้ว ไม่ตามไปสังกัดพรรคก้าวไกล เช่น โชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี กิตติชัย เรืองสวัสดิ์และกฤติเดช            สันติวชิระกุล

 ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ลดดีกรีโทษของส.ส.ที่ขัดมติพรรค ให้เอกสิทธิ์ส.ส.ในการออกเสียงอย่างเป็นอิสระจากพรรคการเมืองมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อเสถียรภาพและความเป็นสถาบันพรรคการเมือง ทั้งนี้การสวนมติพรรคอาจขัดเจตจำนงของประชาชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองนั้นๆด้วย

 

เปลี่ยนขั้ว กังขาอุดมการณ์ทางการเมือง

การย้ายพรรคในสมัยสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ในช่วงแรกเป็นการย้ายจากพรรคร่วมฝ่ายค้านไปพรรครัฐบาล เช่น กรณีของ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่และก้าวไกล ในช่วงปลายสมัยของสภา นักการเมืองพาเหรดย้ายพรรคมีทั้ง ส.ส.พรรคฝ่ายค้านกระโดดไปร่วมพรรครัฐบาล และส.ส.พรรครัฐบาลย้ายเปลี่ยนพรรคกันเอง ที่โดดเด่นและเป็นเรื่องเป็นราวมากที่สุดคือ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคนั่งร้านสาขาสองของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่โชว์พลังดูด ส.ส.พรรครัฐบาลไปได้จำนวนไม่น้อย ขณะที่พรรคฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทยก็คว้าตัว ส.ส.จากฝ่ายรัฐบาลมาเพิ่มได้บ้าง อย่างไรก็ตามการย้ายข้ามขั้วตัดข้ามอุดมการณ์กลายเป็นคำถามที่ประชาชนกังขาและหลายครั้งตามด้วยการประท้วงโทษฐานหักอกประชาชนที่เลือกมาด้วยอุดมการณ์แบบหนึ่ง ขณะที่ถ้าฝ่ายอนุรักษ์นิยมย้ายมาฝ่ายประชาธิปไตยก็อาจต้องเริ่มด้วยคำขอโทษต่อประชาชน

สมัคร ป้องวงษ์ อนาคตใหม่~ชาติพัฒนา~ภูมิใจไทย~รวมไทยสร้างชาติ

สมัคร ป้องวงษ์ อดีตส.ส. เขต 2 สมุทรสาคร พรรคอนาคตใหม่ เป็นบุรุษไปรษณีย์วัยเกษียณ เคยเป็นแรงงานคณะกรรมการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้รับเลือกจากกระแสแห่งความหวังของพรรคอนาคตใหม่เรียกว่า ความนิยมพรรคสูงนำตัวบุคคล โดยการเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้ผู้แทนในพื้นที่สมุทรสาครสองจากสามที่นั่ง สมัครเป็นผู้แทนเขตสองที่มีสัดส่วนคะแนนผู้สนับสนุนสูงที่สุดในจังหวัดคือ  36,738 คะแนนหรือคิดเป็นร้อยละ 38.31 ของบัตรดีทั้งหมด

หลังเข้าทำหน้าที่ในสภา สมัครเป็น ส.ส.รายแรกๆ ที่แฉการซื้อตัว ส.ส.ให้ลงมติเลือกประธานสภาและนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ตัวเองได้รับข้อเสนอสูตร 6-7-7 รวม 20 ล้านบาท 6 แรกคือ การลงมติเลือกประธานสภา 7 ถัดมาคือ การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี และ 7 สุดท้ายคือ เงินโบนัสให้เปล่า ในตอนนั้นเขากล่าวทีเล่นทีจริงว่า น้อยใจที่ตัวเองได้ข้อเสนอน้อยกว่าคนอื่นๆ ที่ได้มากถึง 50 ล้านบาท แต่ยืนยันว่า ไม่มีการแปรพักตร์ในหมู่ ส.ส.อนาคตใหม่อย่างแน่นอน ท้ายสุดเสียงเลือกประธานสภาฝ่ายประชาธิปไตยหายไปหกเสียง ซึ่งจับมือใครดมไม่ได้เนื่องจากเป็นการลงคะแนนลับ  โดยคะแนนของฝ่ายประชาธิปไตยกลับมาเป็นปกติในการเลือกนายกรัฐมนตรี

สมัครอยู่ร่วมพรรคทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้ไม่ถึงปี วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่จากเหตุเงินกู้ 191.2 ล้านบาทของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ทำให้ ส.ส.ที่ไม่ถูกร่างแหตัดสิทธิทางการเมืองต้องย้ายไปสังกัดพรรคใหม่อย่างก้าวไกล สมัครเป็นหนึ่งใน ส.ส.ที่ไม่ย้ายไปพรรคก้าวไกลและไปสังกัดพรรคชาติพัฒนาแทน ซ้ำยังขัดเจตจำนงประชาชนที่เลือกด้วยการลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีฝ่ายรัฐบาลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงเกิดการประท้วงแห่โลงศพเพื่อขอคืนคะแนนเสียงที่เลือกในฐานะตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ วันที่ 16 ธันวาคม 2565 สมัครเป็นหนึ่งใน ส.ส.ที่มีรายชื่อร่วมเปิดตัวกับพรรคภูมิใจไทยตั้งเป้าเปลี่ยนไปลงสมัคร ส.ส.เขตในอุบลราชธานี ภูมิลำเนาเดิมแทน แต่พรรคมีมติเลือกคนอื่น ทำให้อยู่ได้ไม่ถึงเดือนก็ย้ายไปสมัครเข้าร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การย้ายพรรคครั้งที่สามของเขาจึงเป็นการย้ายแบบสุดทางจากพรรคต้านการสืบทอดอำนาจสู่พรรคนั่งร้านเผด็จการ คสช.

กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ พลังประชารัฐ~เพื่อไทย

กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ อดีต ส.ส.เขต 1 กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ ย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อไทยและเปิดตัวลงรับสมัครรับเลือกตั้ง 2566 ในเขตเดิม กานต์กนิษฐ์เป็นทายาทของแก้ว แห้วสันตติ ส.ก.เขตพระนครห้าสมัย หลังแก้วเสียชีวิตลงในปี 2550 กานต์กนิษฐ์ลงรับสมัครเลือกตั้งแทนตำแหน่งพ่อของเธอ และเป็นส.ก.เรื่อยมาจนกระทั่งก่อนการรัฐประหาร 2557 ที่เธอเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่ม กปปส.ด้วย 

เธอให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ทีวีถึงเหตุผลของการย้ายพรรคว่า มีประเด็นหลักสองข้อคือ “หนึ่งในการที่เราจะทำงานเราอยากจะอยู่กับพรรคที่เราอยู่แล้วรู้สึกสบายใจในการทำงาน สองด้วยพื้นที่ของกานต์เป็นพื้นที่พ่อค้าแม่ค้าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ มีพี่น้องประชาชนอาจจะค้าขายกันเยอะ เพราะฉะนั้นเรื่องปากท้อง การค้าขาย เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่กานต์ให้ความสำคัญมากและกานต์ลองดูนโยบายต่างๆ ของพรรคต่างๆ ก็มองว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่เน้นในเรื่องด้านเศรษฐกิจ ด้านปากท้อง จึงมองว่า พรรคเพื่อไทยช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้เธอยอมรับว่า ความไม่สบายใจกับพรรคพลังประชารัฐส่วนหนึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวและเรื่องครอบครัว ก่อนหน้านี้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ชนก จันทาทอง ส.ส.พรรคเพื่อไทยอภิปรายไม่ไว้วางใจชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อดีตสามีของกานต์กนิษฐ์เรื่องประพฤติเสื่อมเสียทางศีลธรรมอันดี

ในประเด็นการเคยร่วมชุมนุมกับ กปปส. กานต์กนิษฐ์ระบุว่า มาถึงปัจจุบันประเทศชาติได้รับผลกระทบทั้งเรื่องเศรษฐกิจและปากท้อง หลายอย่างเห็นว่า ไม่ได้เป็นไปตามที่คิดว่าจะดีขึ้น อยากจะขอโทษผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในวันนั้น กานต์กนิษฐ์ระบุว่า ครอบครัวของเธอเป็น ส.ก.มาแล้วหลายสมัยและมีความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ การย้ายพรรคครั้งนี้ประชาชนที่เธอได้พูดคุยก็ยังคงเลือกเธอต่อไป แม้จะมีฐานเสียงจากการเป็น ส.ก.หลายสมัยในเขตพระนคร และได้รับเลือกเป็นส.ส.ในปี 2562 แต่กระแสการเมืองปี 2566 ไม่ได้เอื้อให้นักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมมากนัก เห็นได้จากการเลือกตั้ง ส.ก.เมื่อปี 2565 พรรคก้าวไกลคว้าชัยในเขตพระนครแทน ขณะที่กรุงเทพมหานคร เพื่อไทยได้ ส.ก.มากที่สุดคือ 20 ที่นั่ง พรรคก้าวไกล 14 ที่นั่ง ขณะที่พลังประชารัฐได้เพียงสองที่นั่ง

ตัวอยู่พรรคเดิม แต่คนใกล้ตัวลงพรรคใหม่

การเลือกตั้ง 2566 มีกรณีทายาททางการเมืองประกาศตัวลงสมัครรับเลือกตั้งในพรรคใหม่ แต่ ส.ส.ต้นทางหลายคนยังไม่ลาออกจากตำแหน่งและพรรคการเมืองเดิม มีจำนวนอย่างน้อยเจ็ดคนดังนี้

  • สุชาติ ตันเจริญ ส.ส. เขต 3 จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ วันที่ 2 ธันวาคม 2565 ศักดิ์ชาย ตันเจริญ ลูกชายเปิดตัวลงสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมกับฐิติมาและวุฒิพงศ์ ฉายแสง ขณะที่สุชาติยังไม่มีท่าทีลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ
  • ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส. เขต 3 จังหวัดราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ วันที่ 25 มีนาคม 2564 ศาลฎีการับคำร้องของคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคดีการครอบครองที่ดินป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี ทำให้เธอต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ต่อมาปารีณาพาสีหเดช ไกรคุปต์ พี่ชายลงสมัครเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยเพื่อลงชิงเก้าอี้เขต 3 แทนเธอ
  • สุรชาติ ศรีบุศกร ส.ส. เขต 3 จังหวัดพิจิตร พรรคพลังประชารัฐ ในงานประชุมพรรครวมไทยสร้างชาติเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 สุรชาติ พร้อมด้วยภรรยา มาดามนิด-ปุณณรีย์ ศรีบุศกร, สัญญา นิลสุพรรณ ส.ส. เขต 3 จังหวัดนครสวรรค์ และมานัส อ่อนอ้าย ส.ส. เขต 5 จังหวัดพิษณุโลกเข้าร่วมให้กำลังใจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมาดามนิด ชัดเจนว่า จะลงสมัคร ส.ส. เขต 2 พรรครวมไทยสร้างชาติ ส่วน ส.ส.พลังประชารัฐอีกสามคนที่แสดงตัวให้กำลังใจยังไม่มีใครลาออกจากตำแหน่ง
  • สุรศักดิ์ อนรรฆพันธุ์ ส.ส. เขต 4 จังหวัดเพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ ข้อมูลจากนักการเมืองในพื้นที่ระบุว่า สุรศักดิ์อาจเว้นวรรคทางการเมืองในสมัยหน้า เป็นการเปิดทางทางอ้อมให้สุประวีณ์ อนรรฆพันธ์ หลานชาย ซึ่งลงเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทย
  • สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ อดีต ส.ส. เขต 3 จังหวัดชัยภูมิ  วันที่ 14 ธันวาคม 2565 สัมฤทธิ์ลาออกจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และมีข่าวว่า เขาจะร่วมกับพรรคภูมิใจไทย โดยก่อนหน้านี้ปี 2564สุชาดา แทนทรัพย์ ลูกสาวล่วงหน้าไปก่อนแล้ว สัมฤทธิ์เป็นนักการเมืองในกลุ่มสามมิตร ซึ่งท่าทีในการเลือกตั้ง 2566 คือ แยกกันเดินกระจายความเสี่ยง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจยังอยู่พลังประชารัฐ สมศักดิ์ เทพสุทินแสดงท่าทีจะไม่อยู่ต่อ เค้าลางจากการที่นักการเมืองคนสนิทลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทยแล้ว ขณะที่อนุชา นาคาศัย ระบุชัดว่า จะไปร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ
  • จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์  ส.ส. เขต 4 จังหวัดศรีสะเกษเคยมีประวัติลงมติสวนมติพรรคเพื่อไทยและจะดำรงตำแหน่ง ส.ส.จนครบวาระ ในการเลือกตั้ง 2566 เขาจะส่งอุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ ภรรยาลงเลือกตั้งในนามพรรคภูมิใจไทยแทน อุดมลักษณ์ไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับภูมิใจไทยเคยชนะเลือกตั้งในนามพรรคมัชฌิมาธิปไตยและภูมิใจไทยในปี 2550 และ 2554 มาก่อนแล้ว ทั้งสองอยู่ในตระกูลการเมืองที่สำคัญของจังหวัดศรีสะเกษ อุดมลักษณ์เป็นน้องสาวของวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษหลายสมัย และธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษหลายสมัย ก่อนหน้านี้การเลือกตั้ง 2562 ตระกูลไตรสรณกุล-เพ็งนรพัฒน์แบ่งเป็นสองสายคือ สายเพื่อไทยนำโดยธีระและจาตุรงค์ และสายภูมิใจไทยนำโดยวิชิตที่ส่ง ไตรศุลี ไตรสรณกุล ลง ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค 
  • ผ่องศรี แซ่จึง ส.ส. เขต 8 จังหวัดศรีสะเกษ เคยมีประวัติลงมติสวนมติพรรคเพื่อไทยและจะดำรงตำแหน่ง ส.ส.จนครบวาระ ในการเลือกตั้ง 2566 ผ่องศรีหลีกทางให้ปวีณ แซ่จึง ผู้เป็นสามีลงสมัครรับเลือกตั้งแทน ปวีณและผ่องศรีเป็น ส.ส.มาแล้วหลายสมัย ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาทั้งคู่ผลัดกันลง ส.ส.ในนามเพื่อไทยและชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอด ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปีที่บ้านแซ่จึงจะลง ส.ส.ในนามพรรคภูมิใจไทย