ศาลแพ่งยกฟ้องคดีนักสิทธิเรียกค่าเสียหายสำนักนายกฯกรณีถูก IO โจมตี

16 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลแพ่งนัด อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ มาฟังคำพิพากษาในคดีที่ทั้งสองคนร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 3,000,000 บาท และ 2,000,000 บาท ตามลำดับ จากหน่วยงานราชการสองแห่งได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกองทัพบก กรณีทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) โจมตีให้เสียหายจากการรณรงค์เรื่องสิทธิในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในคดีนี้โจทก์ทั้งสองกล่าวหาว่า หน่วยราชการตามฟ้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ผ่านทางเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงตามเอกสารที่ กอ.รมน.เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อของบประมาณในการจัดทำเว็บไซค์ และเอกสารนี้ถูกนำมาเปิดเผยประกอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 

สุรชัย ตรงงาม หนึ่งในทนายความฝ่ายโจทก์เปิดเผยว่า คำพิพากษาคดีนี้มีสี่ประเด็นหลักๆ ประเด็นแรก ขณะที่โจทก์ฟ้องคดี คดียังมีอายุความอยู่หรือไม่ ซึ่งศาลเห็นว่า เนื่องจากพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ไม่ได้ระบุอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความโดยทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งที่กำหนดให้คดีมีอายุความสิบปี นับจากวันที่โจทก์รู้ว่ามีการกระทำเกิดขึ้น โดยคดีนี้การเผยแพร่ข้อมูลที่โจทก์นำมาร้องเกิดขึ้นในช่วงปี 2559 ส่วนโจทก์อ้างว่าทราบเรื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาในดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งทั้งสองกรณีล้วนอยู่ภายในระยะเวลาสิบปี ไม่ขาดอายุความ

ประเด็นที่สอง หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องและอาจถูกฟ้องได้ เนื่องจาก กอ.รมน. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลข่าวสารและเผยแพร่ข้อมูลในช่องทางต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเอื้อต่อการสร้างความสันติสุขในพื้นที่ เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้สังกัดของสำนักนายกรัฐมนตรี ภารกิจและอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. มีความเกี่ยวข้องกับกรณีที่โจทก์กล่าวหาว่า มีการละเมิด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้กำกับดูแล กอ.รมน. ส่วนกองทัพบกซึ่งเป็นจำเลยที่สองไม่ได้มีภารกิจเกี่ยวข้องกับกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่ามีการละเมิดและแม้มีบุคคลากรของกองทัพภาคที่สี่ ส่วนหน้า ซึ่งอยู่ภายใต้กองทัพบก ทำงานอยู่ในกอ.รมน.ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กอ.รมน. ไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพบก โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องกองทัพบกซึ่งเป็นจำเลยที่สอง

ประเด็นที่สาม ข้อความและภาพบนเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com เป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ศาลเห็นว่าข้อความทั้งหมดถือเป็นการไขข่าวความเท็จ ที่มีข้อความและภาพเจาะจงให้ทราบว่าหมายถึงโจทก์ทั้งสองพร้อมกล่าวหาโจทก์ทั้งสองทำนองว่า มีทัศนคติที่เป็นอันตรายและทำงานโดยมีวัตถุประสงค์แอบแฝงหรือเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ เป็นการใส่ความโจทก์ทั้งสองให้เกิดความเสียหาย เนื่องจากจำเลยไม่นำสืบโต้แย้งประเด็นนี้ ศาลจึงรับฟังข้อเท็จจริงของฝ่ายโจทก์ว่าเป็นความจริง การใส่ความบนเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com จึงถือเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง

ประเด็นที่สี่ กอ.รมน. มีความเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com หรือไม่ และสำนักนายกรัฐมนตรีจำเลยที่หนึ่งต้องชดใช้ค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ หรือไม่ สุรชัยระบุว่าศาลเห็นว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานสำคัญที่มีน้ำหนัก เช่น ข้อมูลการจราจรทางอิเล็กทรอนิกส์จากเว็บไซต์ blogspot.com ซึ่งเป็นผู้ให้บริการพื้นที่ที่ pulony ใช้งานมาแสดงให้เห็นจนสิ้นสงสัยว่าบุคคลใดเป็นผู้ใช้งาน เผยแพร่เนื้อหา และมีความเกี่ยวโยงกับกอ.รมน. อย่างไร จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยมีความเกี่ยวข้องกับการกระทำที่เกิดขึ้น จึงพิพากษายกฟ้อง

หลังฟังคำพิพากษา  อังคณาระบุว่าในฐานะประชาชนมีความรู้สึกผิดหวังอยู่บ้างกับคำพิพากษาที่ออกมา เพราะถือว่าตัวเองและทนายความได้พยายามหาหลักฐานทั้งหมดเท่าที่จะทำได้แล้ว ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับการจราจรที่ศาลบอก เป็นข้อมูลที่ประชาชนธรรมดาคงยากจะเข้าถึง แต่ก็ยังมองว่าคำพิพากษาที่ออกมายังมีแง่บวกอยู่บ้าง เช่น ศาลยอมรับว่าข้อความที่นำมาใช้โจมตีตัวเธอและอัญชนาถือเป็นการละเมิดต่อทั้งสอง และสิ่งที่ pulony ทำ ถือเป็นการละเมิดสิทธิ ศาลยังวินิจฉัยในประเด็นที่ฝ่ายโจทก์ต่อสู้ด้วยว่าในฐานะที่รัฐบาลไทยรับรองปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ก็มีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องและเยียวยาในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้น แต่เนื่องจากรัฐบาลยังไม่ได้อนุวัติการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องขึ้นมากำหนดหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามปฏิญญาดังกล่าว ศาลจึงไม่สามารถสั่งให้หน่วยงานใดเป็นผู้ดำเนินการเยียวยาได้

ขณะที่อัญชนาระบุว่า ไม่รู้สึกแปลกใจกับคำพิพากษาที่ออกมา แต่แม้ว่าศาลจะยกฟ้อง สิ่งที่ได้กลับมาจากการต่อสู้คดีครั้งนี้คือทำให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในความเป็นจริงแล้วคุ้มครองประชาชนได้แค่ไหน อัญชนาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเกิดการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นเรื่องยากมากที่จะเอาผิดกับรัฐในฐานะองค์กร อย่างมากก็ทำได้เพียงเอาผิดกับเจ้าหน้าที่เป็นรายบุคคลไปเท่านั้น แม้ว่าการละเมิดที่เกิดขึ้นจะทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐในเวลาราชการและในขณะที่สวมเครื่องแบบก็ตาม 

You May Also Like
อ่าน

เปิด 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด

ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมือง มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีในปริมาณมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และในช่วงเวลาที่มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ก็เป็นผลให้มีประชาชนที่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดในข้อหามาตรา 112 ถูกตัดสินจำโทษมากที่สุด ดังนี้
อ่าน

ศาลอนุญาตฝากขังตะวัน – แฟรงค์ต่อ 12 วัน อ้างตำรวจรอผลตรวจกล้องหน้ารถในจุดเกิดเหตุ

วันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวันและณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ผู้ต้องหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากเหตุการณ์บีบแตรใส่ตำรวจท้ายขบวนเสด็จของกรมพระเทพฯเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 โดยในการไต่สวนนัดนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดงยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองต่ออีกเป็นครั้งที่สี่ ระหว่างวันที่ 21 – 1 เมษายน 2567 หลังการไต่สวนคัดค้านการฝากขัง ศาลอนุญาตให้ฝากขังทั้งสองต่อ ตามคำร้องที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าจำเป็นต้องรอผลตรวจคลิปวิดีโอที่ติดหน้ารถยนต์ของประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุว่ามีการแก้ไขหรือตัดต่อหรือไม่ แม้พนักงานสอบสวนจะยอมรับว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่สามารถจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ก็ตาม