เลือกตั้ง66 : กกต. ขอภาคประชาชน ช่วยอธิบายขั้นตอนการจัดเลือกตั้ง

14 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 13.30 น. ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดยผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นัดหมายเข้าพบกับแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่สำนักงานกกต.ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ พร้อมชวนภาคประชาชนที่ทำหน้าที่ติดตามสังเกตการณ์การจัดเลือกตั้ง ได้แก่ iLaw และ We Watch เข้าพูดคุยกับกกต. เพื่อหารือแนวทางปฏิบัติที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งที่จะถึง และหาทางทำงานร่วมกันเพื่อให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยบริสุทธิ์โปร่งใสที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

แสวงกล่าวว่า ต้องการให้ภาคประชาชนเข้ามาร่วมกันทำงาน ไม่ใช่ทำงานในจุดยืนเดียวกับกกต. แต่ให้อยู่ในจุดยืนของภาคประชาชน ซึ่งอาจจะเป็นจุดยืนที่แตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การทำเพื่อประเทศชาติ ไม่ใช่เพื่อให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งชนะการเลือกตั้ง แต่ทำเพื่อให้การเลือกตั้งออกมาโปร่งใสไม่มีปัญหา โดยแสวงยอมรับว่า แม้กฎระเบียบของกกต. ในปัจจุบันจะออกมาเพื่อแก้ปัญหาหลายเรื่องแล้ว แต่ในทางปฏิบัติเองงานของกกต. อาจยังมีปัญหา เช่น กรรมการประจำหน่วย (กปน.) หลายแสนคนซึ่งมีที่มาหลากหลาย อาจจะเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย หรืออาจเป็นชาวบ้านในพื้นที่ จึงจำเป็นต้องอาศัยอาสาสมัครสังเกตการณ์จากภาคประชาชนช่วยกันตรวจสอบ เพื่อให้ทุกอย่างเดินไปอย่างถูกต้อง

ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอได้ ต้องสื่อสารกับเจ้าหน้าที่กปน. ให้ทราบ

เมื่อตัวแทนจาก iLaw พยายามสอบถามถึง สิทธิของประชาชนในการถ่ายภาพและวิดีโอระหว่างการนับคะแนน และการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างวันของเจ้าหน้าที่กปน. แสวงตอบว่า เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่สามารถถ่ายภาพและถ่ายวิดีโอได้อยู่แล้ว โดยต้องอยู่นอกเส้นกั้น ไม่รบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่และไม่ถ่ายเจาะรายละเอียดบัตรลงคะแนน ซึ่งกรณีหลังจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย แม้อาจจะมีเจ้าหน้าที่กปน. บางคนเข้าใจผิดไปบ้าง เพราะเคยมีระเบียบที่ห้ามการกระทำดังกล่าวแต่ระเบียบดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้ว ดังนั้นต้องช่วยกันสื่อสารให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวเข้าใจ

เมื่อตัวแทนจาก iLaw จึงขอความร่วมมือจากกกต. ส่วนกลางให้ออกระเบียบ หรือออกหนังสือคำสั่งให้ชัดเจนในเรื่องการถ่ายรูปของประชาชน ทางเลขาธิการกกต. จึงตอบรับว่า จะพยายามอบรมเจ้าหน้าที่กปน. ให้ดีให้ครบถ้วน แต่เรื่องนี้จะไม่ได้เขียนอยู่ในระเบียบฉบับใดเพราะเป็นเรื่องทางปฏิบัติ ด้านตัวแทนจาก We Watch จึงขอความร่วมมือที่จะเข้าร่วมสังเกตการณ์กระบวนการอบรมเจ้าหน้าที่กปน. ซึ่งเลขาธิการกกต. เห็นด้วยว่า ควรให้ประชาชนเข้าไปสังเกตการณ์ในกระบวนการอบรมได้ รวมถึงอาจให้มีส่วนร่วมแสดงตัวในการอบรมด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่กปน. ทุกคนทราบว่า มีภาคประชาชนจับตาดูการทำงานอยู่ แต่ในทางปฏิบัติให้ภาคประชาชนทำหนังสือขอนัดหมายและประสานงานกับสำนักงานกกต. ของแต่ละจังหวัดเองว่า จะสามารถไปเข้าร่วมที่ใด และเมื่อใดบ้าง

รายงานผลไม่เป็นทางการโดยส่งไลน์ และเปิดเผยรายหน่วยภายหลัง

เนื่องจากในการเลือกตั้งปี 2566 ทางกกต. ไม่ได้เตรียมจัดทำแอพพลิเคชั่นหรือเทคโนโลยีเฉพาะทางสำหรับการรายงานผลคะแนนสด จากหน้าหน่วยเลือกตั้งเกือบ 100,00 แห่ง ซึ่งเป็นที่กังวลของทุกฝ่ายว่า จะเกิดความไม่โปร่งใสในการดำเนินการรวมคะแนนและรายงานผล แสวงอธิบายว่า ในวันเลือกตั้งหลังนับคะแนนเสร็จ เจ้าหน้าที่กปน. จะมีหน้าที่กรอกใบสรุปผลคะแนนของหน่วยนั้นเรียกว่า ใบส.ส.5/18 ซึ่งใช้ “กระดาษก๊อปปี้” เขียนครั้งเดียวแต่เขียนลงบนกระดาษได้สามแผ่น แผ่นหลังอาจจะชัดบ้างไม่ชัดบ้าง โดยแผ่นแรกที่เขียนเอาแปะไว้หน้าหน่วยเลือกตั้งข้ามคืน เมื่อแปะแล้วประธานประจำหน่วยจะถ่ายภาพส่งทางแอพพลิเคชั่นไลน์ไปยังกรรมการประจำเขตเลือกตั้งนั้นๆ อีกแผ่นหนึ่งใส่ไว้ในหีบเลือกตั้ง และอีกแผ่นหนึ่งเดินทางนำไปส่งที่สำนักงานเขตเลือกตั้งนั้นๆ 

เมื่อคณะกรรมการรวมคะแนนประจำเขตเลือกตั้งได้รับภาพที่ส่งทางแอพพลิเคชั่นไลน์แล้วก็จะแบ่งหน้าที่กันกรอกข้อมูลเป็นดิจิทัลลงในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งหากกรอกตัวเลขผิดพลาดจะทำให้ผลคะแนนรวมไม่ถูกต้องระบบก็จะขึ้นเตือนเพื่อให้มีการตรวจสอบให้ถูกต้อง ก่อนที่จะส่งให้สื่อมวลชนนำไปรายงานผลต่อประชาชน ผลรวมคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าจะหยุดอยู่ที่ร้อยละ 95 ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น หลังจากนั้นภาพถ่ายใบส.ส.5/18 ทุกใบจะนำขึ้นเว็บไซต์เปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึงได้

เมื่อตัวแทนจาก We Watch สอบถามว่า ภาพถ่ายใบส.ส.5/18 จำนวนเกือบ 100,000 ใบจากทุกหน่วยเลือกตั้งจะเก็บไว้ที่เว็บไซต์ของกกต.ส่วนกลาง หรือแยกเก็บตามเว็บไซต์ของจังหวัด แสวงตอบว่า จะเก็บไว้ตามเว็บไซต์ของจังหวัดต่างๆ และจะมีระบบกลางที่ลิงค์ข้อมูลทั้งหมดเพื่อให้ประชาชนสามารถค้นหาได้อย่างสะดวกโดยเว็บไซต์จะคงค้างข้อมูลไว้สี่ปี ทำให้ผู้ที่ต้องการทราบผลคะแนนรายหน่วยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงระบบการคัดถ่ายสำเนาใบส.ส.5/18 อย่างที่ผ่านมาอีกแล้ว ตัวแทนจาก We Watch จึงขอเข้าไปสังเกตการณ์ขั้นตอนที่คณะกรรมการรวมคะแนนประจำเขตกรอกคะแนนเข้าระบบดิจิทัล เพื่อให้มั่นใจว่าการรวมคะแนนนั้นเป็นไปโดยถูกต้อง แสวงแจ้งว่า กระบวนการกรอกข้อมูลอาจจะทำในสำนักงานของแต่ละเขต ไม่น่าจะสะดวกให้คนนอกเข้าสังเกตการณ์

ตัวแทนจาก iLaw ได้สอบถามว่า การกรอกข้อมูลเป็นดิจิทัลนั้นจะกรอลงในโปรแกรมใด เป็น Microsoft Excel หรือไม่ แสวงตอบว่า น่าจะเป็นเช่นนั้นหรือที่คล้ายกัน ตัวแทนจาก iLaw จึงสอบถามต่อว่า รายชื่อของกรรมการผู้ทำหน้าที่กรอกคะแนนจะเปิดเผยได้หรือไม่ แสวงตอบว่า มีเปิดเผยอยู่แล้ว ตัวแทนจาก iLaw จึงขอให้ทางกกต. เขียนระเบียบ หรือคู่มือการปฏิบัติเกี่ยวกับขั้นตอนเหล่านี้และเผยแพร่ต่อสาธารณะให้ชัดเจน ซึ่งแสวงแจ้งว่า ขั้นตอนเหล่านี้เป็นเรื่องทางเทคนิคการปฏิบัติ ไม่จำเป็นต้องออกเป็นระเบียบ ตัวแทนจาก iLaw จึงเสนอให้เลขาธิการกกต. จัดแถลงข่าวอธิบายขั้นตอนทางปฏิบัติให้เข้าใจตรงกันบ่อยๆ ด้านแสวงขอร้องกลับว่า อยากให้ภาคประชาชนช่วยกันทำหน้าที่สร้างความเข้าใจประเด็นเหล่านี้ เพราะเมื่อกกต. พูดไปแล้วไม่ค่อยมีคนอยากฟัง แต่ภาคประชาชนพูดแล้วจะมีน้ำหนักมากกว่า

ร่วมมือผู้ตรวจการเลือกตั้ง ส่งข้อร้องเรียนจับคนซื้อเสียง

ผศ.ดร.ปริญญา มีข้อเสนอว่า กลไกอย่างหนึ่งตามกฎหมายที่มีบทบาทไม่มากนักในช่วงที่ผ่านมา คือ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งอยากให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งเข้ามาทำงานร่วมกับภาคประชาชนคอยตรวจสอบนักการเมืองที่ลงสนามเลือกตั้งว่า ปฏิบัติถูกต้องหรือไม่ ซึ่งแสวงเห็นด้วย และกล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ตรวจการเลือกตั้งยังมีบทบาทไม่ชัดเจน และตรวจสอบนักการเมืองไม่ได้มากจึงมาตรวจสอบแต่การทำงานของเจ้าหน้าที่กปน. หรือเจ้าหน้าที่กกต.ของแต่ละจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาอาจยังขาดการทำงานในช่วงเริ่มต้น ที่มาที่ไปของการออกเสียงอย่างการซื้อเสียงและวิธีการได้เสียงของประชาชนอย่างไม่สุจริต จึงแนะนำให้ภาคประชาชนทำงานร่วมกับผู้ตรวจการเลือกตั้ง อาจจะร่วมตั้งแต่การเข้าร่วมงานจัดประชุมใหญ่ของผู้ตรวจการเลือกตั้งเพื่อให้การตรวจสอบการเลือกตั้งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัวแทนจาก iLaw เสนอว่า สำหรับภารกิจในการจับโกงระดับการซื้อเสียงเป็นเรื่องที่ยาก เพราะมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากผู้เสียผลประโยชน์ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีข้อร้องเรียนเข้ามาหลายเรื่อง แต่ผู้ที่ร้องเรียนเองไม่กล้าที่จะเปิดเผยตัวตน และไม่กล้าเปิดเผยรายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากนัก เพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย จึงต้องการติดต่อกับผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ไว้ใจได้ว่า จะช่วยนำเรื่องร้องเรียนไปตรวจสอบและคุ้มครองผู้ที่เปิดเผยเรื่องราวได้จริงๆ ซึ่งแสวงรับว่าจะประสานงานให้ร่วมมือกันและแก้ปัญหาการซื้อเสียง เพราะที่ผ่านมาการโกงก่อนวันเลือกตั้งด้วยการซื้อเสียงถือว่า อยู่ในมุมมืด ที่กกต. เอื้อมมือเข้าไปได้ลำบาก จึงอยากภาคประชาชนมีบทบาทร่วมตรวจสอบมากขึ้น

หลังจากการพูดคุยซึ่งใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ตัวแทนจาก iLaw จึงยื่นหนังสือเป็นข้อเรียกร้องต่อ กกต. เพื่อพัฒนาทางปฏิบัติในการจัดการเลือกตั้งให้โปร่งใส ซึ่งแสวง บุญมี ได้รับข้อเรียกร้องดังกล่าวไว้ และจะมีการติดตามความคืบหน้ากันเรื่อย ๆ หลังจากนี้





ข้อเรียกร้องต่อ กกต. ในฐานะผู้สังเกตการณ์เลือกตั้ง


  • ให้กกต.ชี้แจงระบบรายงานผลคะแนนเลือกตั้งแบบไม่เป็นทางการต่อสาธารณะ ชี้แจงวิธีการคํานวณ ที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และทําเป็นเอกสารเผยแพร่อย่างเป็นทางการ

  • ให้กกต.ออกระเบียบว่าด้วยการเปิดผลคะแนนรายหน่วย โดยต้องมีสาระสําคัญคือการเปิดผลคะแนนรายหน่วยในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกและใช้งานได้จริง

  • ให้กกต.ออกระเบียบหรือประกาศที่ให้คณะกรรมการเลือกตั้งประจําหน่วยมีหน้าที่อํานวยความสะดวกในการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง รวมถึงต้องอนุญาตให้มีการบันทึกภาพ เสียง ในระหว่างการนับคะแนนประจําหน่วย

  • ให้กกต.เปิดเผยรายชื่อผู้ที่ทําหน้าที่ในการรายงานและบันทึกข้อมูลผลคะแนนเลือกตั้งรายหน่วยแบบไม่เป็นทางการ (คณะกรรมการรวมคะแนน) หลังการประกาศคะแนน

  • ให้กกต.เปิดเผยข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ได้รับและการดําเนินการตามข้อร้องเรียน

  • ให้กกต.เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการแบ่งเขตรวมถึงผลการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง

  • ให้กกต.ทําหนังสือขอให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดเผยข้อมูลที่ตํารวจประจําหน่วยการเลือกตั้งได้รวบรวมไว้ อาทิ ใบรายงานผลคะแนน
     



 

 

You May Also Like
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย