#สมรสเท่าเทียม ยังไปต่อได้! ถ้าครม. ชุดหน้าขอให้สภาพิจารณาต่อ

โดยหลักแล้วกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั่วไป จะต้องผ่านการพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎรสามวาระ และส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณาอีกสามวาระ หากวุฒิสภา “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายนั้นในวาระสาม นายกรัฐมนตรีก็จะต้องนำร่างกฎหมายนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ขณะที่กรณีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติที่เป็นกฎหมายปฏิรูป จะใช้การประชุมร่วมกันของรัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาประชุมไปพร้อมกัน

28 กุมภาพันธ์ 2566 จะเป็นวันปิดสมัยประชุมสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2562 หลังจากปิดสมัยประชุมสภาจนไปถึงวันที่สภาผู้แทนราษฎรนี้สิ้นอายุหรือมีการยุบสภา แม้จะมีวุฒิสภาชุดพิเศษตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ยังเป็นปีกหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติทำงานอยู่ แต่กลไกการออกพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ จะหยุดลงจนกว่าจะได้สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ต่อ

ระหว่างที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาก็จะประชุมไม่ได้ (รัฐธรรมนูญ มาตรา 126) ยกเว้นกรณีที่เป็นการประชุมเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลมาดำรงตำแหน่งตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจวุฒิสภาไว้ หรืออีกกรณีหนึ่ง คือเป็นกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก วุฒิสภาสามารถประชุมในนาม “รัฐสภา” ได้ คือกรณีที่เกี่ยวกับการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 17 และมาตรา 19 การรับทราบร่างกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 20 การพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้สืบราชสันตติวงศ์ที่องคมนตรีเป็นผู้เสนอ ตามมาตรา 21 การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม ตามมาตรา 177

เมื่อสภาผู้แทนราษฎรนี้สิ้นอายุหรือมีการยุบสภา นอกจากกระบวนการนิติบัญญัติต้องหยุดไว้ก่อนชั่วคราวแล้ว ยังมีผลกระทบสำคัญต่อร่างกฎหมายที่พิจารณาไปแล้ว แต่ยังไม่เสร็จด้วย ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 147 กำหนดว่ากรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบ จะเป็นอัน “ตกไป”

หากดูสถานการณ์ทางการเมืองและบรรยากาศในสภาช่วงโค้งสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุมสภาที่เกิดเหตุ “สภาล่ม” องค์ประชุมไม่ครบอยู่บ่อยครั้ง ก็เป็นหนึ่งในสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ร่างกฎหมายหลายฉบับ ที่สภาผู้แทนราษฎรจะรับหลักการในวาระหนึ่ง อาจจะไม่ได้ไปต่อ ต้องตกไปเพราะพิจารณาไม่ทันสภาชุดนี้ และอาจจะต้องไป “เริ่มใหม่” ตั้งต้นเสนอใหม่ในสภาชุดหน้า

โดยหนึ่งในร่างกฎหมายที่ได้รับความสนใจจากประชาชน แต่อาจพิจารณาไม่ทันในสภาชุดนี้ คือร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ #สมรสเท่าเทียม ที่สภารับหลักการในวาระหนึ่งไปแล้วเมื่อ 15 มิถุนายน 2565 ซึ่งหลังสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว ก็เข้าสู่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) ที่พิจารณาในเชิงรายละเอียดแต่ละถ้อยคำ ซึ่งกมธ. พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเสร็จแล้ว ตามกระบวนการต่อไป ก็จะต้องกลับเข้าสู่การพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎรในวาระสอง เพื่อพิจารณาลงมติในรายมาตรา และหากพิจารณาวาระสองเสร็จ ก็จะพิจารณา “เห็นชอบ” ในวาระสามต่อไป

แม้ว่าร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะถูกบรรจุวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไว้แล้ว และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็มีมติให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาเป็นลำดับต้นๆ แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ต่อคิวร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ซึ่งผู้เสนอในวาระหนึ่งคือพรรคภูมิใจไทย ตามมาด้วยร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่สภารับหลักการมาพร้อมๆ กัน ดังนั้น ตามกระบวนการปกติ หลังสภาพิจารณาร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตแล้ว จึงจะต่อด้วยการพิจารณาสมรสเท่าเทียม

ด้วยสถานการณ์ทางการเมือง และความซับซ้อนในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่นำมาสู่สถานการณ์สภาล่มบ่อยครั้ง ส่งผลให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม รวมถึงร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตเองก็อาจไม่ถูกพิจารณาจบครบทุกกระบวนการได้ภายใต้สภาชุดนี้ ทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวอาจต้อง “ตกไป” ตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี ก็ไม่ใช่ว่าเส้นทางการผลักดันแก้ไขกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวผู้มีความหลากหลายทางเพศ จะต้องวนลูปกลับไปเริ่มที่การเสนอร่างกฎหมายต่อสภาเสมอไป เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 147 วรรคสอง ยัง “เปิดช่อง” ได้มีทางที่สภาชุดหน้าหลังการเลือกตั้งจะพิจารณาร่างกฎหมายนั้น “ต่อ” ได้

เงื่อนไขสำคัญ ที่ร่างกฎหมายจะถูกพิจารณา “ต่อ” ด้วยสภาชุดหน้า คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดหลังจากการเลือกตั้ง 2566 จะต้องร้องขอต่อรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบว่า สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี จะนำร่างกฎหมายที่ “ตกไป” นั้น มาพิจารณา “ต่อ” ได้หรือไม่ โดยครม. จะต้องทำภายใน 60 วันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง

หากรัฐสภา (ซึ่งประกอบด้วยส.ส. และส.ว.) เคาะว่าเห็นชอบให้พิจารณาต่อไปได้ สภาก็สามารถพิจารณา “ต่อ” จากเดิมได้เลย อย่างกรณีของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม หากรัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบให้พิจารณาต่อได้ สภาผู้แทนราษฎรชุดที่มาจากการเลือกตั้ง 2566 ก็สามารถพิจารณาวาระสอง ลงมติรายมาตรา ไม่ต้องไปเริ่มวนซ้ำที่วาระหนึ่ง



รัฐธรรมนูญ 2560 : มาตรา 147  ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบ หรือที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วแต่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้เป็นอันตกไป

บรรดาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบที่ตกไปตามวรรคหนึ่ง ถ้าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปร้องขอต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี พิจารณาต่อไป ถ้ารัฐสภาเห็นชอบด้วยก็ให้รัฐสภาสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี พิจารณาต่อไปได้ แต่คณะรัฐมนตรีต้องร้องขอภายในหกสิบวันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 141 : เมื่อรัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติต่อไป ตามมาตรา 156 (9) ประกอบมาตรา 147 ของรัฐธรรมนูญ ถ้าร่างพระราชบัญญัตินั้นค้างการพิจารณาอยู่ในวาระใด ก็ให้พิจารณาต่อไปในวาระนั้น และให้ประธานสภาบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วน

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ถ้าอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นใหม่
อย่างไรก็ตาม หากครม. ชุดหน้าไม่ได้ร้องขอต่อรัฐสภา หรือรัฐสภาไม่เห็นชอบให้พิจารณาร่างกฎหมายที่ตกไปต่อ การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อ #สมรสเท่าเทียม ก็จะต้องกลับไปเริ่มที่ขั้นตอนของการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภา โดยร่างกฎหมายนั้นอาจจะมาจากการเสนอโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10,000 คนขึ้นไป ซึ่งก็มีร่างจากภาคประชาชนที่กำลังเปิดให้เข้าชื่ออยู่ทาง https://www.support1448.org/ และร่างฉบับนี้ยังไม่ได้เสนอต่อสภาชุดที่มาจากการเลือกตั้ง 2562 นอกจากนี้ ส.ส. หรือแม้แต่ครม. ชุดหน้าเอง ก็สามารถเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อให้สภาพิจารณาในวาระหนึ่งได้เช่นกัน

You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

จับตาประชุมสภา ลุ้น สส. ผ่านร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสอง-สาม

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนวาระสอง-สาม หากสภามีมติเห็นชอบในวาระสาม ร่างกฎหมายก็จะได้พิจารณาต่อชั้นวุฒิสภา