รู้จัก Gerrymandering แค่แบ่งเขตก็กำหนดผลแพ้ชนะเลือกตั้งได้

ในการเลือกตั้ง การกำหนดว่าเขตเลือกตั้งหนึ่งจะตั้งอยู่ที่ไหนอาจจะมีความสำคัญมากไม่ต่างกับการออกไปใช้สิทธิหย่อนบัตร หากมีผู้จงใจออกแบบเขตเลือกตั้งให้เป็นแบบใดแบบหนึ่งโดยไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของพื้นที่ ก็อาจจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้ง เราเรียกการแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งว่า Gerrymandering

ความไม่เป็นธรรมของเขตเลือกตั้ง

เทคนิคในการแบ่งเขตเลือกตั้งเรียกว่า Gerrymandering หรือการจงใจแบ่งเขตเลือกตั้งให้พรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งบางคน หรือประชากรบางกลุ่ม ได้เปรียบในการเลือกตั้ง ในขณะที่คนกลุ่มที่เหลือจะมีโอกาสชนะน้อยลง ผลของการแบ่งเขตที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้มักทำให้ผลการเลือกตั้งกับผลการลงคะแนนเสียงออกมาไม่สอดคล้องกัน พรรคที่ได้คะแนนเสียงน้อยกว่าอาจจะได้สัดส่วนที่นั่งมากกว่าพรรคที่ได้คะแนนเสียงมาก ส่วนเขตเลือกตั้งก็อาจจะออกมามีรูปร่างแปลกประหลาด เช่น เป็นเส้นยาวคดเคี้ยวไปมา หรือผ่าตัดบางพื้นที่ที่ควรเป็นเนื้อเดียวกัน

ดังนั้น แทนที่เขตเลือกตั้งจะเป็นภาพแทนของกลุ่มคนที่มีความใกล้เคียงกันทางภูมิศาสตร์ มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา หรือภาษาคล้ายกัน ก็จะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ในการเลือกตั้ง หากผู้ที่มีอำนาจตีเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งทราบว่าพื้นที่ใดมีแนวโน้มจะลงคะแนนเสียงให้กับพรรคใด ก็สามารถลากเส้นตัดเพื่อหวังผลสูงสุดได้ง่าย ๆ


ยกตัวอย่างเช่น ผลการเลือกตั้งในจังหวัดหนึ่ง พรรคสีแดงได้คะแนนร้อยละ 60 ในขณะที่พรรคสีน้ำเงินได้คะแนนร้อยละ 40 หากการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นไปตามสัดส่วนที่สมเหตุสมผล พรรคสีแดงก็ควรจะได้ที่นั่งมากกว่าพรรคสีน้ำเงิน แต่ต้องไม่มากเกินไปด้วย Gerrymandering ในกรณีนี้สามารถเกิดขึ้นได้ให้เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย วิธีการแรกทำให้พรรคสีแดงได้ที่นั่งทั้งหมด 5 ที่นั่งซึ่งมากเกินสัดส่วนคะแนนที่พรรคได้ ในขณะที่วิธีการที่สองทำให้พรรคสีน้ำเงินได้ที่นั่งมากกว่าพรรคสีแดงทั้งที่ได้คะแนนน้อยกว่า ทั้งนี้ ในการแบ่งเขตก็ต้องดูปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย


Gerrymandering เป็นคำที่มีที่มาจากนักการเมืองชาวอเมริกัน ผู้ว่าการรัฐ Massachusetts ชื่อ Elbridge Gerry ผู้ใช้การแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเองเป็นคนแรก ๆ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยเป็นการรวมคำกันระหว่าง Gerry ซึ่งเป็นชื่อของนักการเมือง และ Salamander ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีผู้วิจารณ์ว่ามีลักษณะคล้ายกับเขตเลือกตั้งที่ Gerry จัดทำขึ้น ในสหรัฐอเมริกาปัจจุบัน มีการต่อสู้เรื่องการวาดแผนที่เขตเลือกตั้งจากทั้งสองพรรคใหญ่อย่างดุเดือด และหลายครั้งก็ต้องไปสู้กันในชั้นศาลเรื่อยมาจนถึงศาลสูงสุด

Gerrymandering ในประเทศไทย

สำหรับในประเทศไทย อำนาจในการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีกระบวนการเริ่มจากให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งจังหวัดนำเสนอเขตเลือกตั้งของจังหวัดตนเองสามรูปแบบเผยแพร่ต่อสาธารณะ จากนั้นก็ให้ประชาชนทั่วไป นักการเมือง พรรคการเมือง เข้ามาแสดงความเห็นว่ารูปแบบใดจะสะท้อนสภาพความเป็นจริงของพื้นที่จังหวัดนั้นได้ดีที่สุด ท้ายที่สุด ก็จะมีการส่งความเห็นนั้นให้กับ กกต.กลาง เป็นผู้ตัดสินขั้นสุดท้ายว่าจะใช้รูปแบบเขตเลือกตั้งใด

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 จำเป็นต้องมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เนื่องจากภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ในขณะนั้นมีการลดจำนวน ส.ส. เขตลงเหลือ 350 คน ทำให้ต้องตีเส้นใหม่เป็นเขตเลือกตั้งที่ใหญ่ขึ้น แต่ก็มีปัญหาว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นถูกแทรกแซงโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลของประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งก็เป็นผู้แต่งตั้ง กกต. ทั้งเจ็ดคนผู้มีอำนาจในการเคาะหน้าตาของเขตเลือกตั้ง

ในช่วงปี 2561 ซึ่ง กกต. ต้องเริ่มนำเสนอเขตเลือกตั้งทั้งสามแบบออกมา คสช. ก็ได้ใช้มาตรา 44 เพื่อให้ กกต. สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งได้ทันทีหลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 บังคับใช้ เนื่องจากเกรงว่าอาจจะไม่ทันเวลา อย่างไรก็ดี กกต. ก็ไม่สามารถดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งออกมาได้ทันเวลาที่กำหนดไว้ ทำให้ คสช. ต้องใช้มาตรา 44 เพื่อออกต้องออกคำสั่งที่ 16/2561 เพื่อขยายเวลาให้ กกต.

คำสั่งที่ 16/2561 นี้มีการสอดไส้เนื้อหาอื่นให้คสช. เข้ามาแทรกแซงกระบวนการแบ่งเขตด้วย กล่าวคือ มีการกำหนดให้หาก คสช. หรือรัฐบาลได้รับข้อร้องเรียนไม่ว่าจากใครก็สามารถให้ กกต. ตีเส้นเขตใหม่ได้ นอกจากนี้ ข้อจำกัด เช่น ห้ามแยกตำบลออกจากกัน คสช. ก็ยกเว้นให้ทั้งหมด จน กกต. จะแบ่งเขตอย่างไรก็ได้ ซึ่งในท้ายที่สุด หลังจาก กกต. ประกาศผลการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างเป็นทางการออกมา ก็พบว่ามีเขตเลือกตั้งใน 11 จังหวัดที่มีร่างไม่เหมือนกับเขตเลือกตั้งทั้งสามแบบที่ กกต. ประกาศออกมาในครั้งแรก โดยถูกวิจารณ์ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพลังประชารัฐ และส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เดิมของพรรคเพื่อไทย

ในการเลือกตั้งทั่วไป 2566 เนื่องจากมีการเปลี่ยนสัดส่วนจำนวน ส.ส. ให้ ส.ส. เขตมีมากขึ้นเป็น 400 คนจาก 350 คน ทำให้ต้องมีการแบ่งเขตใหม่อีกครั้ง ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปแสดงความเห็นต่อรูปแบบการแบ่งเขตของ กกต. จังหวัดทั้งสามแบบได้ภายในวันที่13 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อป้องกันการแบ่งเขตที่วางผลประโยชน์ทางเมืองเหนือสภาพความเป็นจริงของพื้นที่