เลือกตั้ง 66: คิดให้ดูทีละขั้น!! เปิดสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคปัดเศษยังมีลุ้นได้ที่นั่ง

 

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 (กฎหมายเลือกตั้ง) ประกาศใช้เพื่อรองรับ #เลือกตั้ง66 ที่กำลังจะมาถึง ระบบการเลือกตั้งปี 2566 นั้นแตกต่างไปจากการเลือกตั้งครั้งก่อนในปี 2562 โดยจะนำระบบ “บัตรสองใบ” ที่แยกบัตร ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อออกจากกัน รวมทั้งปรับสัดส่วนให้มี ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

 

กติกาเลือกตั้ง ส.ส.เขต เข้าใจไม่ยาก เนื่องจากใช้ระบบเสียงข้างมากแบบธรรมดา คือ ผู้สมัคร ส.ส. คนใดได้คะแนนสูงสุดจากผู้มาใช้เสียงทั้งหมดในเขตเลือกตั้งนั้นก็จะเป็นผู้ชนะ และได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนเขตเลือกตั้งเข้าไปนั่งในสภา ในขณะที่การคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซับซ้อนและเป็นที่ถกเถียงมากกว่า ถึงขนาดที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยเปลี่ยนสูตรคำนวณมาแล้วในปี 2562 อย่างไรก็ดี กฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่ระบุขั้นตอนการคำนวณไว้ชัดเจนแล้ว จึงชวนทำความเข้าใจวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยภาษาที่อ่านเข้าใจได้เป็นขั้นตอน ดังนี้

 

ขั้นตอนการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

 

กฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่จะใช้ระบบ Mixed Member Majoritarian หรือ MMM หรือระบบที่คนนิยมเรียกว่า "ระบบคู่ขนาน" (Parallel System) เนื่องจากเป็นระบบการจัดสรรที่นั่ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบแยกขาดออกจากกัน โดยมาตรา 96 ของกฎหมายเลือกตั้ง กำหนดขั้นตอนการคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไว้ดังนี้

 

1) ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ หารด้วย 100 ผลลัพธ์ที่ได้ คือ “คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน”

 

เช่น หากนำผลการเลือกตั้งปี 2562 มาคำนวณเป็นตัวอย่าง พรรคการเมืองที่ส่งส.ส.บัญชีรายชื่อได้คะแนนรวมทั้งหมด 35,561,556 เสียง หารด้วย 100 ดังนั้น คะแนนเฉลี่ยต่อส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน จะเท่ากับ 355,561.56 เสียง

 

2) ให้นำคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน ผลลัพธ์ที่ได้ "เฉพาะส่วนที่เป็นจำนวนเต็ม" คือจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ

 

หากนำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับในปี 2562 มาหารด้วย 355,561.56 จะได้ผลลัพธ์ตามตารางด้านล่างนี้ (แสดงเฉพาะพรรคการเมือง 20 อันดับแรก)

 

อันดับ พรรคการเมือง คะแนนเสียง คะแนนเสียง / คะแนนเฉลี่ย นับเฉพาะจำนวนเต็ม
1 พลังประชารัฐ 8,441,274 23.7371 23
2 เพื่อไทย 7,881,006 22.1616 22
3 อนาคตใหม่ 6,330,617 17.8019 17
4 ประชาธิปัตย์ 3,959,358 11.1338 11
5 ภูมิใจไทย 3,734,459 10.5014 10
6 เสรีรวมไทย 824,284 2.3179 2
7 ชาติไทยพัฒนา 783,689 2.2038 2
8 เศรษฐกิจใหม่ 486,273 1.3674 1
9 ประชาชาติ 481,490 1.3540 1
10 เพื่อชาติ 421,412 1.1850 1
11 รวมพลังประชาชาติไทย 415,585 1.1686 1
12 ชาติพัฒนา 244,770 0.6883 0
13 พลังท้องถิ่นไทย 214,189 0.6023 0
14 รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 134,816 0.3791 0
15 พลังปวงชนไทย 80,186 0.2255 0
16 พลังชาติไทย 73,421 0.2065 0
17 ประชาภิวัฒน์ 69,431 0.1952 0
18 พลังไทยรักไทย 60,434 0.1699 0
19 ไทยศรีวิไลย์ 60,354 0.1697 0
20 ครูไทยเพื่อประชาชน 56,633 0.1593 0
รวม       91

 

3) ถ้าจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้รับรวมกันไม่ครบ 100 คน กฎหมายเลือกตั้งระบุไว้ชัดว่า ให้ “พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ที่เป็นเศษโดยไม่มีจำนวนเต็ม” และ “พรรคการเมืองที่มีเศษหลังการคำนวณตามข้อ 2) ข้างต้น” พรรคใดเป็นหรือมีเศษจำนวนมากที่สุด ให้ได้รับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 1 คนเรียงตามลำดับ จนกว่าจะมีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมดได้รับรวมกันครบ 100 คน

 

จากตารางข้างต้น จะเห็นว่าหากนับเฉพาะจำนวนเต็ม พรรคการเมืองทั้งหมดจะได้รับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพียง 91 คนเท่านั้น ยังไม่ครบ 100 คน ดังนั้นจะต้องมีการ “ปัดเศษ” โดยจะต้องนำคะแนนเศษของทุกพรรคการเมืองมาเรียงลำดับ โดยไม่ต้องคำนึงว่าพรรคนั้นจะได้คะแนนเป็นจำนวนเต็มหรือได้รับคะแนนเกินคะแนนเฉลี่ยต่อส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน (355,561.56) หรือไม่ ซึ่งกรณีตามตัวอย่างนี้ จะต้องการ ส.ส. บัญชีรายชื่ออีก 9 คน จึงจะครบ 100 คน ดังนั้น จะต้องนำคะแนนเศษของทุกพรรคการเมืองมาเรียงลำดับ พรรคที่มีเศษสูงสุด 9 อันดับแรก จะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มอีกพรรคละ 1 คน โดยผลลัพธ์จะเป็นไปตามตารางด้านล่างนี้

 

อันดับ พรรคการเมือง คะแนนรวม คะแนนรวม / คะแนนเฉลี่ย นับเฉพาะจำนวนเต็ม เศษ (เลือก 9 อันดับมากที่สุด) รวม ส.ส. บัญชีรายชื่อ
1 พลังประชารัฐ 8,441,274 23.7371 23 0.7371 24
2 เพื่อไทย 7,881,006 22.1616 22 0.1616 22
3 อนาคตใหม่ 6,330,617 17.8019 17 0.8019 18
4 ประชาธิปัตย์ 3,959,358 11.1338 11 0.1338 11
5 ภูมิใจไทย 3,734,459 10.5014 10 0.5014 11
6 เสรีรวมไทย 824,284 2.3179 2 0.3179 3
7 ชาติไทยพัฒนา 783,689 2.2038 2 0.2038 2
8 เศรษฐกิจใหม่ 486,273 1.3674 1 0.3674 2
9 ประชาชาติ 481,490 1.3540 1 0.3540 2
10 เพื่อชาติ 421,412 1.1850 1 0.1850 1
11 รวมพลังประชาชาติไทย 415,585 1.1686 1 0.1686 1
12 ชาติพัฒนา 244,770 0.6883 0 0.6883 1
13 พลังท้องถิ่นไทย 214,189 0.6023 0 0.6023 1
14 รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 134,816 0.3791 0 0.3791 1
15 พลังปวงชนไทย 80,186 0.2255 0 0.2255 0
16 พลังชาติไทย 73,421 0.2065 0 0.2065 0
17 ประชาภิวัฒน์ 69,431 0.1952 0 0.1952 0
18 พลังไทยรักไทย 60,434 0.1699 0 0.1699 0
19 ไทยศรีวิไลย์ 60,354 0.1697 0 0.1697 0
20 ครูไทยเพื่อประชาชน 56,633 0.1593 0 0.1593 0
รวม       91   100

 

ทั้งนี้ วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อสำหรับการเลือกตั้งปี 2566 จะมีความแตกต่างกับระบบการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ตรงที่รัฐธรรมนูญ 2540 ได้กำหนด “คะแนนขั้นต่ำของพรรคที่จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ” ไว้ที่ร้อยละ 5 ของคะแนนรวมทั้งประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ “ส.ส.ปัดเศษ” หรือ ส.ส.จากพรรคที่ได้คะแนนน้อยกว่า “คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน”

 

อย่างไรก็ดี การคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อตามกฎหมายเลือกตั้งปี 2566 ไม่ใช่เรื่องใหม่ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เนื่องจากเป็นสูตรคำนวณเดียวกับการเลือกตั้งปี 2554 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) โดยกฎหมายเลือกตั้งในขณะนั้น ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนเท่ากับกฎหมายฉบับปัจจุบัน โดยระบุเพียงว่า “ในกรณีที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับรวมกันทุกพรรคการเมืองมีจำนวนไม่ครบหนึ่งร้อยยี่สิบห้าคน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ตาม (๓) เป็นเศษที่มีจำนวนมากที่สุด…” แต่ในทางปฏิบัติ กกต. ก็คำนวณผลการเลือกตั้งโดยนับรวมพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงน้อยกว่า “คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน” เข้าด้วย ทำให้ผลการเลือกตั้งปี 2554 มี “ส.ส.ปัดเศษ” จำนวน 4 คน

 

ส.ส.ปัดเศษมีลุ้นเข้าสภา แต่อาจสำคัญน้อยลงในการจัดตั้งรัฐบาล

 

แม้ว่าในปี 2566 ปรากฏการณ์ “ส.ส.ปัดเศษ” (ในที่นี้หมายถึง ส.ส.จากพรรคที่ได้คะแนนเสียงน้อยกว่าคะแนนเฉลี่ยต่อส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน) ยังสามารถเกิดขึ้นได้ แต่มีแนวโน้มว่าบรรดา ส.ส.ปัดเศษ เหล่านี้ จะมีความสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลน้อยลง เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 เนื่องจากส.ส.ปัดเศษแม้จะเกิดขึ้นได้ แต่ก็เกิดขึ้นได้ยากกว่าปี 2562 มาก เห็นได้จากตัวอย่างการคำนวณข้างต้น จะมี ส.ส.ปัดเศษเพียง 3 คน ซึ่งน้อยกว่าปี 2562 ที่มี ส.ส.ปัดเศษทั้งหมด 11 คน นอกจากนี้ คะแนนเสียงที่พรรคการเมืองนั้นได้รับจะต้องแตะ “หลักแสน” ต่างกับปี 2562 ที่มีพรรคการเมืองซึ่งได้รับเพียง 35,099 เสียง ก็สามารถมีส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว เมื่อส.ส.ปัดเศษเกิดได้ยากขึ้นและมีจำนวนน้อยลง โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์แบบปี 2562 ที่เหล่า ส.ส.ปัดเศษ 11 คน มีอำนาจต่อรองเพื่อเข้าร่วมกับพรรครัฐบาล คงเกิดได้ยากขึ้น