เลือกตั้ง 66: กกต. ดีดเขตเลือกตั้งพิสดาร รวมคนไม่มีสัญชาติไทยเข้ามาด้วย! ทำ 6 จังหวัดมี ส.ส. เพิ่มขึ้นหรือลดลงกว่าที่ควรเป็น

หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด เพื่อเตรียมพร้อมรับการเลือกตั้ง 2566 ทาง สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย และอดีต กกต. ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กกต. ได้นำจำนวนราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยมาใช้คำนวณจำนวน ส.ส. ในแต่ละจังหวัดด้วย 

ต่อมา ปกรณ์ มหรรณพ หนึ่งใน กกต. ออกมาชี้แจงว่า นิยาม “จำนวนราษฎร” ไม่ใช่จำนวนผู้มีสิทธิการเลือกตั้งและไม่ใช่เฉพาะผู้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น โดยตั้งแต่ปี 2558 ทางสำนักทะเบียนกลางได้ประกาศจำนวนราษฎรโดยแยกเพศกำเนิดชายและหญิงของผู้ที่มีสัญชาติไทย และผู้ที่ไม่ได้สัญชาติไทย และหลังจากนั้นมีการปฏิบัติในลักษณะนี้เรื่อยมา กระทั่งการเลือกตั้งครั้งที่แล้วปี 2562 และยืนยันว่าเป็นสิ่งที่ทำมาตลอด

ทั้งนี้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน บัญญัติความหมายของคำว่า “ราษฎร” หมายถึง ผู้ที่เป็นคนของประเทศ ถือสัญชาติเดียวกัน อยู่ภายใต้การปกครองเดียวกัน มีสิทธิตามกฎหมาย และต้องปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองเหมือนกันทุกคน เมื่อพิจารณาตามความหมายดังกล่าว จำนวนราษฎรที่ใช้คำนวนจำนวน ส.ส. ในแต่ละจังหวัดจึงจะต้องใช้ราษฎรที่เป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น

อีกทั้ง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า “โดยหลักการแล้วคนต่างด้าวไม่มีสิทธิเลือกตั้ง และไม่นำมานับเพื่อคำนวณเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง อย่าว่าแต่ต่างด้าวเลย คนไทยที่อายุต่ำกว่า 18 ปีก็ต้องคิดอีกแบบหนึ่ง ตรงนี้ไง กรุงเทพฯ จาก 36 เขต จึงลดเหลือ 33 เขต เพราะนับไปนับมามีต่างด้าวจึงต้องนำออก”

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการคำนวนจำนวนน ส.ส. ในแต่ละจังหวัดจะไม่ได้ข้อยุติว่าจะใช้นิยามหรือหลักเกณฑ์แบบไหนจึงจะถูกต้องที่สุด แต่จากการลองคำนวณจำนวน ส.ส. แบบที่ใช้จำนวนราษฎรเฉพาะที่มีสัญชาติไทยของ Rocket Media Lab พบว่า เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการคำนวณของ กกต. ที่ใช้จำนวนราษฎรทั้งที่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณ มีจำนวน ส.ส. อยู่ 6 จังหวัดที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

หนึ่ง กลุ่มจังหวัดที่ใช้วิธีการคำนวณแบบ กกต. แล้ว มีจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้น หรือ มีจำนวน ส.ส. มากกว่าการคำนวณโดยใช้จำนวนราษฎรเฉพาะที่มีสัญชาติไทย ได้แก่

1) จังหวัดเชียงราย ถ้าคำนวนจำนวน ส.ส. แบบใช้จำนวนราษฎรเฉพาะที่มีสัญชาติไทย จังหวัดเชียงรายจะมี ส.ส. ทั้งสิ้น 7 คน แต่เมื่อใช้วิธีการคำนวณแบบ กกต. จะได้จำนวน ส.ส. 8 คน

โดยผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พบว่า มี ส.ส. ทั้งสิ้น 7 ที่นั่ง เป็นของพรรคเพื่อไทยครอง 5 ที่นั่ง ได้แก่ วิสิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์ วิสาร เตชะธีราวัฒน์ รังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน และ ละออง ติยะไพรัช ส่วนอีก 2 ที่นั่ง เป็นของพรรคอนาคตใหม่ (ก้าวไกล) ได้แก่ เอกภพ เพียรพิเศษ และ พีรเดช คำสมุทร แต่ในการเลือกตั้ง ปี 2566 อดีต ส.ส. จากพรรคก้าวไกลทั้งสองคนได้ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ซึ่งทั้งสองเขตของอดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล เป็นเขตที่มีคะแนนสูสีกับผู้สมัครที่ได้คะแนนเป็นลำดับที่สอง

2) จังหวัดเชียงใหม่ ถ้าคำนวนจำนวน ส.ส. แบบใช้จำนวนราษฎรเฉพาะที่มีสัญชาติไทย จังหวัดเชียงใหม่จะมี ส.ส. ทั้งสิ้น 10 คน แต่เมื่อใช้วิธีการคำนวณแบบ กกต. จะได้จำนวน ส.ส. 11 คน

โดยผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พบว่า มี ส.ส.ทั้งสิ้น 9 คน เป็นที่นั่งของพรรคเพื่อไทยทั้งหมด ได้แก่ ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ นพคุณ รัฐผไท จักรพล ตั้งสุทธิธรรม วิทยา ทรงคำ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ประสิทธิ์ วุฒินันชัย สุรพล เกียรติไชยากร ศรีเรศ โกฎคำลือ ทว่า ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง กกต. ใช้อำนาจสั่งระงับการเลือกตั้งพร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ สุรพล เกียรติไชยากร ไว้เป็นการชั่วคราว ทำให้ต้องมีการจัดเลือกตั้งใหม่และได้ ศรีนวล บุญลือ จากพรรคอนาคตใหม่เป็น ส.ส. ก่อนจะย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย 

สอง กลุ่มจังหวัดที่ใช้วิธีการคำนวณแบบกกต. แล้วจำนวนส.ส. น้อยลงหรือมีจำนวนส.ส. น้อยกว่าการคำนวณโดยใช้จำนวนราษฎรเฉพาะที่มีสัญชาติไทยได้แก่

3) จังหวัดตาก ถ้าคำนวนจำนวน ส.ส. แบบใช้จำนวนราษฎรเฉพาะที่มีสัญชาติไทย จังหวัดตากจะมี ส.ส. ทั้งสิ้น 3 คน แต่เมื่อใช้วิธีการคำนวณแบบ กกต. จะได้จำนวน ส.ส. 4 คน

โดยผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พบว่า มี ส.ส.ทั้งสิ้น 3 ที่นั่ง เป็นของพรรคพลังประชารัฐ 2 ที่นั่ง ได้แก่ ธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ และ ภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส่วนที่นั่งที่เหลือเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ แต่ต่อมา ภาคภูมิ ย้ายไปพรรคเศรษฐกิจใหม่ และในการเลือกตั้ง ปี 2566 ธนัสถ์ ได้ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย 

1) จังหวัดอุดรธานี ถ้าคำนวนจำนวน ส.ส. แบบใช้จำนวนราษฎรเฉพาะที่มีสัญชาติไทย จังหวัดอุดรธานีจะมี ส.ส. ทั้งสิ้น 10 คน แต่เมื่อใช้วิธีการคำนวณแบบ กกต. จะได้จำนวน ส.ส. แค่ 9 คน

โดยผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พบว่า มี ส.ส.ทั้งสิ้น 8 ที่นั่งเป็นของพรรคเพื่อไทยทั้งหมด ได้แก่ ศราวุธ เพชรพนมพร อนันต์ ศรีพันธุ์ ขจิตร ชัยนิคม อาภรณ์ สาราคำ จุฑาพัตธน์ เมนะสวัสดิ์ จักรพรรดิ ไชยสาส์น เกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม และ เทียบจุฑา ขาวขำ แต่ในการเลือกตั้ง ปี 2566 จักรพรรดิ ได้ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย

2) จังหวัดนครศรีธรรมราช ถ้าคำนวนจำนวน ส.ส. แบบใช้จำนวนราษฎรเฉพาะที่มีสัญชาติไทย จังหวัดนครศรีธรรมราชจะมี ส.ส. ทั้งสิ้น 10 คน แต่เมื่อใช้วิธีการคำนวณแบบ กกต. จะได้จำนวน ส.ส. แค่ 9 คน

โดยผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พบว่า มี ส.ส.ทั้งสิ้น 8 คน แบ่งเป็นพรรคประชาธิปัตย์ 5 ที่นั่ง ได้แก่ เทพไท เสนพงศ์ ประกอบ รัตนพันธ์ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ชัยชนะ เดชเดโช และพิมพ์ภัทรา วิชัยกุลในขณะที่ 3 ที่นั่งเป็นของพรรคพลังประชารัฐ ได้แก่ รงค์ บุญสวยขวัญ สัณหพจน์ สุขศรีเมือง และสายัณห์ ยุติธรรม แต่ในการเลือกตั้ง ปี 2566 มีรายงานข่าวว่า พิมพ์ภัทรา และ สายัณห์ จะย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคการเมืองใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

3) จังหวัดปัตตานี ถ้าคำนวนจำนวน ส.ส. แบบใช้จำนวนราษฎรเฉพาะที่มีสัญชาติไทย จังหวัดปัตตานี จะมี ส.ส. ทั้งสิ้น 5 คน แต่เมื่อใช้วิธีการคำนวณแบบ กกต. จะได้จำนวน ส.ส. แค่ 4 คน

โดยผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พบว่า มี ส.ส.ทั้งสิ้น 4 ที่นั่ง แบ่งเป็น พรรคประชาชาติ 2 ที่นั่งได้แก่ อนุมัติ ซูสารอ และ สมมุติ เบ็ญจลักษณ์ และอีก 2 ที่นั่งเป็นของ พรรคประชาธิปัตย์ 1 ที่นั่งได้แก่ อันวาร์ สาและ และพรรคภูมิใจไทย 1 ที่นั่งได้แก่ อับดุลบาซิม อาบู แต่ในการเลือกตั้ง ปี 2566 มีรายงานข่าวว่า อันวาร์ ได้ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ที่นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ อนุมัติ เตรียมย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

มีข้อสังเกตต่อผลการคำนวณจำนวน ส.ส. แบบพิสดารของ กกต. ด้วยว่า เป็นการคำนวณจำนวน ส.ส. ที่ไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่แท้จริง เนื่องจากผู้ที่มีไม่มีสัญชาติไทยจะไม่มีสิทธิเลือกตั้ง อีกทั้ง การนำผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณจำนวน ส.ส. ทำให้บางจังหวัดมีจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นหรือน้อยลง ในขณะที่จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่แท้จริงอาจจะเท่าเดิมหรือใกล้เคียงเดิม ด้วยเหตุนี้ คะแนนของพรรคการเมืองในบางเขตหรือทุกเขตอาจจะลดลง เพราะต้องเกลี่ยไปให้เขตเลือกตั้งใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา ส่วนจังหวัดที่มีจำนวน ส.ส. น้อยลง คะแนนของพรรคการเมืองในบางเขตหรือทุกเขตอาจจะเพิ่มขึ้น เพราะมีคะแนนจากเขตที่หายไปถูกนำไปรวมด้วย 

สิ่งนี้อาจจะนำไปสู่ความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง โดยเฉพาะในเขตที่คะแนนเสียงสูสีเป็นทุนเดิม เช่น ในจังหวัดปัตตานีที่มีการคำนวณของ กกต. ทำให้มี ส.ส. น้อยลงกว่าที่ควรจะเป็นหนึ่งคน ในการเลือกตั้ง 2562 เขต 2 ผู้ชนะ อับดุลบาซิม ได้คะแนนมากกว่าอันดับสองเพียงประมาณ 400 คะแนนเท่านั้น หมายความว่าในการเลือกตั้ง 2566 ตัวเลขที่นั่ง ส.ส. ที่ กกต. คำนวณมาอาจจะทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงในเขต 2 มากขึ้น และอาจส่งผลต่อผลการเลือกตั้งและฐานเสียงของผู้สมัคร