เปิดประวัติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ เคยร่างรัฐธรรมนูญ 60 นั่งกรรมการหลายตำแหน่ง

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ศาสตราจารย์ อุดม รัฐอมฤต เนื่องจากทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ดำรงตำแหน่งจนครบวาระ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง อุดม รัฐอมฤต เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ 28 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

ประวัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่นี้ นับว่าน่าจับตา เพราะก่อนจะมาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อุดมเคยมีบทบาทสำคัญในแวดวงวิชาการ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายวิธีสบัญญัติและกฎหมายมหาชน ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ และเป็นรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่อีกบทบาทสำคัญที่ลืมไม่ได้ คือบทบาทในฐานะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะอุดม เป็นหนึ่งในกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์

อดีตเคยร่างรัฐธรรมนูญ 60 เข้าชิงตำแหน่งอธิการบดี มธ. แต่ไม่ได้รับเลือก

อุดม รัฐอมฤต เกิดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2502 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2524

หลังจากจบการศึกษา อุดมก็เข้าสู่แวดวงวิชาการโดยรับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากดูประวัติของอุดมบนเว็บไซต์คณะนิติศาสตร์ ก็พบว่าเขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงปี พ.ศ. 2528-2529 ระหว่างที่อุดมเป็นอาจารย์ เขาก็ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบปริญญาโทในปี 2531 ด้วยวิทยานิพนธ์หัวข้อ “ปัญหาบางประการเกี่ยวกับกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ” โดยมีผศ.สมยศ เชื้อไทย และผศ. วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ (ตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น) เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์

หลังจากจบปริญญาโทในไทยได้ไม่นาน อุดมก็เดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศฝรั่งเศส ในปี 2532 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททางกฎหมายอาญา (Diplôme d’Etudes Approfondies – Sciences Criminelles) มหาวิทยาลัย Nancy II และปี 2536 สำเร็จการศึกษาระดับ ปริญญาเอกทางกฎหมายอาญา (Doctorat en Droit Pénal) มหาวิทยาลัย Nancy II

ด้านการทำงาน พ.ศ. 2528-2529 อุดมเป็นผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ ต่อมาในปี 2538 อุดมได้ตำแหน่งทางวิชาการเป็น “ผู้ช่วยศาสตราจารย์” จากนั้นจึงได้ตำแหน่งทางวิชาการ “รองศาสตราจารย์” ในปี 2545 และได้ตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” ในปี 2553

ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนักวิชาการ อุดมก็ได้ทำงานในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลายตำแหน่ง อาทิ

• พ.ศ. 2542-2544 : หัวหน้าภาควิชากฎหมายวิธีสบัญญัติ และกรรมการประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

• พ.ศ. 2544-2547 : รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

• พ.ศ. 2553–2555 : หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน และกรรมการประจำคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

• พ.ศ. 2547- 2557 : รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ท่าพระจันทร์ กรรมการและเลขานุการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

• พ.ศ. 2557-2559 : รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์และกฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

• พ.ศ. 2559-2562 : คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หลังจากพ้นช่วงการดำรงตำแหน่งคณบดีในปี 2562 โดยมีรศ.มุนินทร์ พงศาปาน มารับตำแหน่งต่อ ในช่วงปลายปี 2563 อุดมก็ได้รับการเสนอชื่อชิงเก้าอี้อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เพื่อให้สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้คัดเลือก แต่อุดมก็ชวดตำแหน่งดังกล่าว เพราะเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ประชุมสภามหาวิทยาลัย มีมติคัดเลือก รศ.เกศินี วิฑูรชาติ เป็นอธิการบดีอีกหนึ่งสมัย

นอกจากบทบาทในฐานะนักวิชาการรั้วเหลือง-แดง และการเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนแห่งอื่น อุดมยังนั่งเป็นกรรมการหลายตำแหน่ง อาทิ

• ตุลาคม 2558 – กันยายน 2561 : กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

• มีนาคม 2560 – มีนาคม 2562 : กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ

• ธันวาคม 2561 – 3 มกราคม 2566 : กรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 6 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

• พฤษภาคม 2564 – 3 มกราคม 2566 : กรรมการสภามหาวิทยาลัยทักษิณ

จากรายงานของสำนักข่าวอินโฟเควสท์ ระบุว่า อุดม รัฐอมฤต ได้ออกมาเปิดเผยว่าลาออกจากการเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือกรรมการ หรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งตำแหน่งในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินการธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2566 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ผ่านทุกด่านไร้คู่แข่ง ส.ว. เทโหวตเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ย้อนกลับไปช่วงก่อนทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ จะครบวาระเดือนตุลาคม 2565 วันที่ 8-22 สิงหาคม 2565 สำนักเลขาธิการวุฒิสภา ได้เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางสาขานิติศาสตร์ มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด และไม่มีลักษณะต้องห้าม เมื่อปิดรับสมัคร ผลปรากฏว่า มีผู้สมัครเพียงคนเดียว คือ อุดม รัฐอมฤต ไร้ผู้สมัครรายอื่นร่วมเข้าชิงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

หลังจากปิดรับสมัครแล้ว กระบวนการต่อมาคือการตรวจสอบคุณสมบัติและตรวจสอบประวัติ รวมไปถึงทำกระบวนการสัมภาษณ์และเปิดให้ผู้สมัครแสดงความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ โดยขั้นตอนนี้จะอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบไปด้วย 

1) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ > ปิยกุล บุญเพิ่ม

2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร > ชวน หลีกภัย

3) ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร > ชลน่าน ศรีแก้ว

4) ประธานศาลปกครองสูงสุด > ศาสตราจารย์พิเศษชาญชัย แสวงศักดิ์

5) บุคคลซึ่งองค์กรอิสระห้าองค์กรแต่งตั้งและเสนอชื่อให้มาเป็นกรรมการสรรหา องค์กรละหนึ่งคน ประกอบไปด้วย 1) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 2) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 3) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) 4) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) 5) ผู้ตรวจการแผ่นดิน 

ซึ่งสามองค์กรแรก ไม่สามารถแต่งตั้งและเสนอชื่อบุคคลเป็นกรรมการสรรหาภายในเวลาที่กำหนด คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเท่าที่มีอยู่จึงทำหน้าที่มีอยู่ไปพลางก่อน โดยกสม. และผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่งตั้งและเสนอชื่อบุคคลให้มาเป็นคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ

5.1) บุคคลซึ่งกสม.แต่งตั้ง > มานพชัย วงศ์ภักดี อดีตอธิบดีกรมเอเชียตะวันออกกลางและแอฟริกา อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และอดีตเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ สาธารณรัฐสิงคโปร์

5.2) บุคคลซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้ง > ดำรง ใคร่ครวญ อดีตอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และ อดีตเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

โดยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงคะแนนเลือกอุดม รัฐอมฤต เป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนนเสียง 4:2 หลังจากนั้นจึงส่งรายชื่อมาที่วุฒิสภา เพื่อให้ตั้งกมธ.สอบประวัติฯ ภายหลังจบกระบวนการสอบประวัติในชั้นวุฒิสภาแล้ว เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ที่ประชุมวุฒิสภา ได้ลงมติด้วยวิธีการออกเสียงลงคะแนนลับ ให้ความเห็นชอบให้อุดม รัฐอมฤต เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนนเสียง ให้ความเห็นชอบ 200 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 2 เสียง ไม่ออกเสียง 6 เสียง นับว่าเส้นทางการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของผู้ร่างรัฐธรรมนูญรายนี้ ค่อนข้างราบรื่น ไร้ผู้สมัครรายอื่นร่วมชิงตำแหน่ง ได้รับเสียงข้างมากจากคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และยังได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นจากส.ว. ส่งผลให้อุดม รัฐอมฤต อดีตผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ก้าวเข้าสู่บัลลังก์ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นหนึ่งในผู้ตีความรัฐธรรมนูญที่ตนเป็นผู้ร่างมา

อ้างอิง

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่