เลือกตั้ง66: จัดตั้งรัฐบาล ขจัดขั้วอำนาจ คสช.เบ็ดเสร็จต้องซุปเปอร์แลนด์สไลด์

แม้ว่าการเลือกตั้งปี 2566 จะเปลี่ยนกติกาใหม่เป็นระบบเลือกตั้งคล้ายกับระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีบัตรเลือกตั้งสองใบ คือ ใบหนึ่งเลือก ส.ส.เขต กับอีกใบหนึ่งเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นระบบที่เพิ่มโอกาสให้มีพรรคการเมืองที่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรหรือมากกว่า 250 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่ง

แต่ด้วยกติกาการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ยังคงมีวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง 250 คน เข้ามามีส่วนร่วม ทำให้พรรคการเมืองที่จะเป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาล ถ้าไม่มีเสียง ส.ว.แต่งตั้งยกมือสนับสนุนก็มีแนวโน้มจะตั้งรัฐบาลยากขึ้น หรือถ้าตั้งรัฐบาลโดยใช้เสียง ส.ส. อย่างเดียวก็จะทำให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค และมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วสูง

ตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ไม่พอ

หลังการเลือกตั้งปี 2566 การเลือกนายกรัฐมนตรีหรืออีกนัยยะหนึ่ง คือ “จัดตั้งรัฐบาล” รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 กำหนดให้ห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่ประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี โดยผู้ได้รับแต่งตั้งต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ดังนั้นบุคคลที่จะได้รับเลือกเป็นนายกฯ ตามกติกานี้ต้องได้เสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งจากรัฐสภาที่ประกอบด้วย ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน คือ ต้องได้เสียงเกิน 376 คนขึ้นไป ด้วยเหตุนี้ แม้พรรคการเมืองจะสามารถจับขั้วกันจนได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร คือได้เกิน 251 เสียงขึ้นไป แต่ก็ยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ เพราะต้องหาเสียงสนับสนุนอีก 125 เสียง ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ

ตัวอย่างสมมุติในกรณีนี้ ถ้าหากพรรคการเมืองในซีกฝ่ายพรรคค้านปัจจุบันนำโดยพรรคเพื่อไทย สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ คือมีเสียง 251 เสียง จากทั้งหมด 500 เสียง ก็ยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ จะต้องหาเสียงเพิ่มอีก 125 เสียง จากพรรคฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน และ ส.ว. เพื่อให้ได้ 376 เสียง จึงจะสามารถตั้งรัฐบาลได้ ดังนั้นในกรณีนี้ถ้าพรรคร่วมฝ่ายค้านปัจจุบันได้คะแนนเสียง ส.ส.เกินกึ่งครึ่งของสภาผู้แทนฯ ไม่มากพอก็อาจจะจัดตั้งรัฐบาลไม่เสร็จ

ส.ว.ยังเป็นพรรคใหญ่ ตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาล

ภายใต้รัฐธรรมนูญเผด็จครึ่งใบทำให้ ส.ว. 250 คน ที่มาจากคสช.เป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภา แม้ระบบเลือกตั้งที่แก้ไขใหม่จะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถมีที่นั่ง ส.ส.ได้มากกว่า 250 ที่นั่ง แต่ก็ยังเป็นเรื่องไม่ง่ายที่พรรคที่ได้เสียงเกิน 250 ที่นั่งจะสามารถตั้งรัฐบาล เพราะเงื่อนไขสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลต้องใช้เสียงทั้งสองสภามากกว่า 376 เสียง

ดังนั้น ส.ว.จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จหรือไม่สำเร็จหรือชี้ขาดได้ว่าจะให้พรรคใดเป็นรัฐบาล

พรรคการเมืองที่ยึดโยงกับ คสช.จึงได้เปรียบกว่าพรรคอื่นๆ ในการจัดตั้งรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และพรรครวมไทยสร้างชาติของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้สนามเลือกตั้งปี 2566 พี่น้อง 2ป. จะต้องแยกกันเดิน ซึ่งอาจทำให้หลังการเลือกตั้ง ส.ว.แตกออกเป็นสองขั้ว

อย่างไรก็ตามหากพรรคของพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรสามารถจับมือกันหลังเลือกตั้งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ก็สามารถทำให้ ส.ว.ส่วนใหญ่ยังคงเป็นปึกแผ่นได้ แต่หากเป็นพรรคการเมืองขั้วฝ่ายค้านที่มีพรรคเพื่อไทยแกนนำ ก็คงเป็นเรื่องยากที่ ส.ว.จะหันมายกมือสนับสนุน ยกเว้นได้รับแรงกดดันจากประชาชนให้ทำตามผลการเลือกตั้ง หรือได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจให้เปลี่ยนขั้ว โดยเฉพาะ ส.ว.ในมือของพลเอกประวิตร ที่อาจจะสนับสนุนพรรคแกนนำรัฐบาลที่พรรคพลังประชารัฐเข้าร่วม

ตั้งรัฐบาลขั้วเดียวกันอาจไม่พอ อาจต้องจับข้ามขั้ว

 การเลือกตั้งปี 2566 ยังคงเป็นการแบ่งขั้วการเมืองสองขั้วเช่นเดิม คือ ขั้วพรรคการเมืองฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล คสช. มีพรรคหลัก คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนขั้วพรรคพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. มีพรรคหลัก คือ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพรรคเพื่อชาติ

ภายใต้กติกาที่ไม่ปกติ การใช้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอาจไม่เพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้พรรคขั้วรัฐบาลสืบทอดอำนาจ คสช.ได้เปรียบ เนื่องจากมี ส.ว.อยู่ในมือล่วงหน้าก่อนเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามหากหลังเลือกตั้ง พรรคขั้วฝ่ายค้านได้คะแนนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว แต่ยังมีเสียงไม่เพียงพอที่จะตั้งรัฐบาลได้ จึงมีความจำเป็นต้องไปดึงเสียงจากพรรคขั้วรัฐบาลให้ถึง 376 เสียง เพื่อให้เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาล

ด้วยกติกาเช่นนี้ทำให้หลังการเลือกตั้ง หากพรรคขั้วฝ่ายค้านที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรแต่มีเสียงไม่ถึง 376 ที่นั่ง ก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดการดึงพรรคการเมืองขั้วฝ่ายรัฐบาลสืบทอดอำนาจ คสช. เข้ามาร่วมรัฐบาลเพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

ตัวอย่างสมมุติว่า หลังการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยรวมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านปัจจุบัน ได้เสียง ส.ส.ประมาณ 300 เสียง แม้จะเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ แต่ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ดังนั้นถ้าอยากจัดตั้งรัฐบาลจะต้องหาเสียงเพิ่มอีก 76 เสียง ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องดึงเสียง ส.ส. จากพรรคขั้วรัฐบาลปัจจุบัน เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย หรือแม้กระทั้งพรรคพลังประชารัฐ หรือถ้าหากไม่ใช้เสียง ส.ส. ก็อาจต้องใช้เสียง ส.ว. ในการตั้งรัฐบาล

ดังนั้นหากขั้วพรรคฝ่ายค้านต้องการจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีขั้วพรรครัฐบาลเข้ามาร่วมด้วย จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกพรรคการเมืองในขั้วฝ่ายค้านต้องได้เสียง ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 376 เสียงขึ้นไป หรือในอีกกรณีคือต้องกดดันให้ ส.ว.โหวตให้พรรคการเมืองขั้วฝ่ายค้านเพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลได้

อย่างไรก็ตาม หากขั้วพรรคฝ่ายค้านได้เสียง ส.ส. ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ หรือเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ เล็กน้อย ก็มีโอกาสที่ขั้วรัฐบาลปัจจุบันจะจับมือกันต่อโดยเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.

ปิดสวิตช์ สว. ขจัดขั้วอำนาจ คสช.เบ็ดเสร็จ ต้องซุปเปอร์แลนด์สไลด์

จากเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลแบบปกติไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีเสียง ส.ว. 250 คน และจำนวนเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลที่ต้องใช้ถึง 376 เสียง เป็นอุปสรรค ด้วยเหตุนี้ในการเลือกตั้งปี 2566 ถ้าต้องการปิดสวิตช์ ส.ว.ในการเลือกตั้งนายกฯ และขจัดพรรคการเมืองที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. รวมทั้งผู้นำรัฐประหารอย่างพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรได้อย่างเบ็ดเสร็จ จึงจำเป็นที่พรรคการเมืองที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช.ต้องชนะเลือกตั้งแบบซุปเปอร์แลนด์สไลด์ คือต้องชนะเลือกตั้งรวมกันแล้วต้องเกิน 376 ที่นั่ง โดยไม่มีพรรคการเมืองขั้วอนุรักษ์นิยมที่เป็นรัฐบาลปัจจุบันเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย

ดังนั้น หากขั้วพรรคต่อต้านการสืบทอดอำนาจได้ที่นั่ง ส.ส.ไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็อาจจำเป็นต้องเพิ่งเสียง ส.ส.จากพรรคการเมืองขั้วตรงข้าม หรืออาจต้องเพิ่งเสียง ส.ว.บางส่วนเพื่อให้เสียงถึง 376 เสียง ซึ่งหากจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ พรรคขั้วอนุรักษ์นิยมจับมือกับ ส.ว.ตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ พรรคการเมืองฝั่งต่อต้านการสืบทอดอำนาจอาจต้องเป็นฝ่ายค้านอีกครั้งก่อนที่ ส.ว.แต่งตั้งจาก คสช. จะหมดอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี

 

 

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์