พลิกโฉมโลกออนไลน์ เมื่อประกาศดีอีใหม่สร้างสวรรค์ “นักร้อง(เรียน)” แจ้งลบเนื้อหา

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) ออกประกาศเรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2565 (ประกาศเรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือนฯ) ประกาศฉบับนี้จะ “พลิกโฉม” บรรยากาศโลกออนไลน์ในประเทศไทย ทำให้การแสดงความคิดเห็นบนอินเทอร์เน็ตถูกปิดกั้นง่ายขึ้น เพราะตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2565 ใครก็ตามก็จะสามารถร้องเรียนไปยัง “ผู้ให้บริการ” และ “โซเชียลมีเดีย” เช่น เว็บบอร์ด เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ให้ลบเนื้อหาได้อย่างไม่ยาก และผู้ให้บริการถ้าอยากพ้นความรับผิดชอบต้องลบภายใน 24 ชั่วโมง

ประกาศเรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือนฯ ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์อย่างร้ายแรง ใน 3 ประเด็น 

ประเด็นแรก เป็นการเพิ่มอำนาจในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นให้กับ “นักร้อง(เรียน)” หรือบุคคลที่ชอบร้องเรียนว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ผิดกฎหมายเพื่อสร้างปัญหาให้คนอื่นอย่างสม่ำเสมอ 

ประเด็นที่สอง ประกาศฉบับนี้สร้างภาระให้ผู้ให้บริการและโซเชียลมีเดียเกินสมควร บีบให้ต้องตั้งทีมเตรียมลบเนื้อหาโดยไม่มีเวลาตรวจสอบ 

ประเด็นสุดท้าย ประกาศฉบับนี้อาจมีปัญหาเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีบทบัญญัติที่อาจขัดต่อหลัก “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์” ซึ่งรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

เปิดช่อง “นักร้อง” ปิดกั้นความเห็นต่าง เจ้าของเนื้อหาโต้แย้งไม่ได้

ตามประกาศเรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือนฯ หาก “ผู้ใช้บริการ” หรือ “บุคคลทั่วไป” เห็นว่ามีข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดตามมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เช่น ข้อมูลเท็จที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ข้อมูลที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ข้อมูลที่มีลักษณะลามก เป็นต้น สามารถร้องเรียนให้มีการลบเนื้อหาผิดกฎหมายดังกล่าวได้ โดยการลงบันทึกประจำวัน หรือแจ้งความต่อตำรวจ และกรอก “แบบฟอร์มร้องเรียน” ซึ่งผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องจัดเตรียมไว้ล่วงหน้า 

หลังจากผู้ให้บริการได้รับข้อร้องเรียนตามแบบฟอร์มพร้อมเอกสารประกอบแล้ว ผู้ให้บริการต้องลบหรือแก้ไขไม่ให้ข้อความผิดกฎหมายนั้นแพร่หลายต่อไปโดยทันที และระงับการแพร่หลายของข้อมูลโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 24 ชั่วโมง นับแต่วันที่ได้รับข้อร้องเรียน

นอกจากนี้ ประกาศฉบับนี้ไม่กำหนดช่องทางให้เจ้าของข้อมูลที่ถูกลบออกจากระบบคอมพิวเตอร์โต้แย้งข้อร้องเรียนได้ ถ้าบุคคลทั่วไปแจ้งข้อร้องเรียนให้ลบข้อมูล เมื่อผู้ให้บริการลบข้อมูลดังกล่าว จะมีผลเป็นการ “ลบแล้ว ลบเลย” เจ้าของข้อมูลไม่สามารถขอให้ผู้ให้บริการนำข้อมูลกลับเข้าสู่ระบบได้อีก ซึ่งแตกต่างต่างจากประกาศฉบับเดิม ปี 2560 ที่ให้สิทธิเจ้าของข้อมูลในการโต้แย้งการลบข้อมูล เพื่อให้ผู้ให้บริการใช้ดุลพินิจยกเลิกการระงับข้อมูลที่ได้รับแจ้ง

จะเห็นได้ว่า คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากประกาศฉบับนี้ คือ บรรดา “นักร้อง” ที่คอยหาทางปิดกั้นความคิดเห็นที่ตัวเองไม่พอใจ บรรดา “นักร้อง” สามารถอาศัยช่องทางตามประกาศฉบับนี้ยื่นข้อร้องเรียนให้ปิดกั้นการแสดงความเห็นทางการเมืองได้อย่างง่ายดาย โดยอ้างว่า เนื้อหาต่างๆ บนเว็บไซต์ โพสต์ในเฟสบุ๊ค ทวีตในทวิตเตอร์ เป็นข้อมูลที่ผิดมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สิ่งที่ต้องทำ คือ การไปแจ้งความกับตำรวจ และยื่นแบบฟอร์มร้องเรียนต่อผู้ให้บริการ

ประกาศฉบับนี้ไม่ได้จำกัดว่า คนที่ร้องเรียนคนหนึ่งสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนให้ปิดข้อความได้กี่เรื่อง และสามารถยื่นต่อผู้ให้บริการได้จำนวนเท่าใด ในบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองจึงอาจมีกลุ่มบุคคลที่จัดตั้งกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ หรือรับจ้างเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมืองคอยทำหน้าที่ร้องเรียนเพื่อให้ข้อมูลจากฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองทยอยถูกลบไป และบุคคลเหล่านี้ที่มีเวลามากพอก็จะมีอำนาจควบคุมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ของประชาชนได้

ผู้ให้บริการอาจไม่รอด ต้องมอนิเตอร์ตลอดเวลา และต้อง “ลบไว้ก่อน” 

หน้าที่ในการลบเนื้อหาที่ถูกร้องเรียนภายใน 24 ชั่วโมง เป็นภาระที่หนักอึ้งของผู้ให้บริการ เนื่องจากโดยทั่วไป หลายๆ เว็บไซต์ ไม่มี “คน” และ “เวลา” มากพอที่จะสอดส่องและใช้ความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์เนื้อหาทุกประเภทได้ตลอดเวลา ด้วยผลของประกาศฉบับนี้ ผู้ให้บริการไม่ว่าขนาดใหญ่หรือเล็กอาจต้องแบกรับภาระมากขึ้นในการจ้างทีมนักกฎหมายหรือพนักงานที่ทำหน้าที่มอนิเตอร์ว่า มีข้อร้องเรียนให้ลบเนื้อหาหรือไม่ อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ แม้ว่าผู้ให้บริการบางรายอาจมีกำลังมากพอที่จะจัดให้มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเรื่องร้องเรียนโดยเฉพาะ การตรวจสอบข้อร้องเรียนและดำเนินการลบเนื้อหาให้ทันภายใน 24 ชั่วโมง โดยไม่เว้นวันหยุดราชการหรือวันหยุดประจำปี ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ตัวอย่างเช่น กรณีมีการร้องเรียนให้ลบเนื้อหาโดยอ้างว่า เนื้อหาดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 14 (2) คือ เป็นข้อมูลเท็จที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ลำพังการพิสูจน์ว่า ข้อมูลใด “เป็นเท็จ” หรือไม่ ก็ต้องใช้เวลาตรวจสอบและศึกษาพอสมควร แม้จะได้ความว่า ข้อมูลเป็นเท็จแล้ว ผู้ให้บริการยังต้องตรวจสอบอีกทอดหนึ่งว่า ข้อมูลเท็จดังกล่าว “น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ” หรือไม่ 

ระยะเวลา 24 ชั่วโมง นั้นอาจสั้นเกินไปจนปฏิบัติจริงไม่ได้ อาจทำให้ผู้ให้บริการขนาดเล็กไม่สามารถประกอบกิจการได้เพราะประกาศฉบับนี้ 

หากผู้ให้บริการไม่สามารถลบเนื้อหาที่ผิดกฎหมายได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้รับการร้องเรียน ผู้ให้บริการจะตกอยู่ในภาวะ “สุ่มเสี่ยง” มีความผิดตามมาตรา 15 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฐานให้ความร่วมมือ ให้ความยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท 

ดังนั้น ประกาศฉบับนี้อาจมีผลเป็นการบีบบังคับทางอ้อม เมื่อผู้ให้บริการบางรายไม่อาจลงทุนในการมอนิเตอร์และพิจารณากลั่นกรองได้ ก็อาจต้องใช้ระบบ “ลบไว้ก่อน” เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง คือ สร้างระบบที่จะลบเนื้อหาออกจากระบบทันทีที่ได้รับข้อร้องเรียน โดยไม่ตรวจสอบว่าเนื้อหาที่ลบนั้นเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จริงหรือไม่ เพื่อป้องกันตนเองจากการถูกดำเนินคดีอาญา หากเกิดสถานการณ์เช่นนี้ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยจะอยู่ในภาวะวิกฤต เพราะเนื้อหาต่างๆ จะถูกลบอย่างรวดเร็ว โดยที่ยังไม่มีการพิสูจน์ตรวจสอบอย่างจริงจังว่าเป็นเนื้อหาผิดกฎหมายหรือไม่

เจ้าหน้าที่ก็สั่งลบได้ หากฝ่าฝืน “สันนิษฐาน” ไว้ก่อนว่าผิด ประกาศฯ อาจขัดรัฐธรรมนูญ

นอกจากบุคคลทั่วไปจะสามารถร้องเรียนให้มีการลบข้อมูลได้แล้ว ประกาศเรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือนฯ ยังให้อำนาจแก่ “พนักงานเจ้าหน้าที่” ที่ได้รับแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ในการออก “คำสั่ง” ไปยังผู้ให้บริการหรือโซเชียลมีเดียเพื่อให้ลบข้อมูลได้เช่นเดียวกัน โดยแบ่งเป็นความผิดตามมาตรา 14 (1) ต้องลบออกภายใน 7 วัน ความผิดตามมาตรา 14 (2) และ (3) ต้องลบออกภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนความผิดตามมาตรา 14 (4) ต้องลบออกภายใน 3 วัน แต่หากเป็นภาพลามกเด็ก ต้องลบออกภายใน 24 ชั่วโมง

การให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการ “ออกคำสั่ง” เช่นนี้ เป็นการ “ลัดขั้นตอน” ของการระงับการเข้าถึงข้อมูลหรือการสั่ง “บล็อคเว็บไซต์” เพราะตามมาตรา 20 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กำหนดขั้นตอนให้การระงับการเข้าถึงข้อมูลใดๆ ต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง และต้องขออนุญาตจากศาลก่อนจึงจะสามารถปิดกั้นได้ ซึ่งเป็นระบบที่ต้องการตรวจสอบถ่วงดุลไม่ให้เจ้าหน้าที่สั่งลบเนื้อหาได้โดยอำเภอใจ แต่ประกาศฉบับนี้กลับให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากไปกว่าพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่ “สั่ง” ได้เลย ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามประกาศฉบับนี้ และขั้นตอนตามมาตรา 20 กับระบบการตรวจสอบถ่วงดุลจะไม่มีที่บังคับใช้อีกต่อไป

นอกจากนี้ หลักเกณฑ์ข้างต้นแสดงให้เห็นถึงระบบที่ “กลับหัวกลับหาง” ของคนเขียนประกาศฉบับนี้ เนื่องจากกรณีที่ “บุคคลทั่วไป” ร้องเรียน บังคับให้ผู้ให้บริการต้องลบข้อมูลอย่างรวดเร็ว คือ ภายใน 24 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ในกรณีที่ “เจ้าหน้าที่” ออกคำสั่ง ผู้ให้บริการกลับมีเวลามากขึ้นในการลบเนื้อหา ทั้งๆ ที่โดยปกติ เจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีข้อมูลและพยานหลักฐาน เพื่อตรวจสอบว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นผิดกฎหมายจริงหรือไม่ และมีความเป็นกลางน่าเชื่อถือ มากกว่าการร้องเรียนโดยบุคคลทั่วไป

ทั้งนี้ ประกาศเรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือนฯ อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญและไม่อาจใช้บังคับได้ เนื่องจากมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้รับรอง “หลักให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์” (presumption of innocence) แต่ ข้อ 9 ของประกาศฉบับนี้ กลับระบุว่า “ผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ดำเนินการตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามหมวดนี้อย่างครบถ้วนและภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้สันนิษฐานว่าผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ผู้นั้น ร่วมมือ สนับสนุน หรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 15” เท่ากับประกาศฉบับนี้จะใช้หลักการ “สันนิษฐานให้มีความผิด” และหากผู้ให้บริการถูกดำเนินคดีก็ตกเป็นฝ่ายมีภาระในการพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งแตกต่างกับหลักทั่วไปในคดีอาญาที่โจทก์ต้องมีภาระการพิสูจน์และนำสืบความรับผิดทางอาญาของจำเลยให้ศาลเห็น

หากประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ในวันที่ 25 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป เสรีภาพบนโลกอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยจะถูกสั่นคลอน ระบบการปิดกั้นเนื้อหาจะเกิดขึ้นอย่างสับสน เนื้อหาจำนวนมากอาจถูกลบไปโดยไม่มีบันทึกการดำเนินการให้เข้าใจได้ ผู้ให้บริการต้องรับภาระเกินสมควรในการคอยลบเนื้อหาที่ถูกร้องเรียน และสุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายได้ง่าย นอกจากนี้ ประชาชนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตก็อาจเข้าถึงเนื้อหาต่างๆ ที่ต้องการไม่ได้ หรือไม่อาจรู้ได้เลยว่ามีข้อมูลใดบ้างที่ถูก “นักร้อง” ขอให้ปิดจนหายไปจากความรับรู้โดยทั่วไป  

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว