เลือกตั้ง 66: ส่องนโยบาย “กระจายอำนาจ” ของพรรคการเมือง หลังสภาคว่ำร่างแก้รัฐธรรมนูญ #ปลดล็อกท้องถิ่น

7 ธันวาคม 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พิจารณา “ร่างแก้รัฐธรรมนูญ #ปลดล็อกท้องถิ่น” ที่มี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เป็นผู้นำในการเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว โดยที่ประชุมมีมติรับหลักการ 254 เสียง (แบ่งเป็น ส.ส. 248 เสียง และ ส.ว. 6 เสียง) ไม่รับหลักการ 245 เสียง งดออกเสียง 129 เสียง ซึ่งการพิจารณารับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญ ต้องมีเสียงเห็นชอบจากรัฐสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ ไม่น้อยกว่า 361 เสียง และต้องมีเสียงเห็นชอบหรือรับหลักการจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 81 เสียง ดังนั้น ร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจึงต้องตกไป

อย่างไรก็ดี แม้ “ร่างแก้รัฐธรรมนูญ #ปลดล็อกท้องถิ่น” จะไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา แต่ความหวังของประชาชนที่ต้องการให้ประเทศไทยมีการ “กระจายอำนาจ” ให้ท้องถิ่นมากขึ้นยังไม่หมดไป เนื่องจากในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นอย่างช้า ในปี 2566 มีพรรคการเมืองอย่างน้อยสองพรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ที่ประกาศนโยบายสนับสนุนการกระจายอำนาจ และลดการรวมศูนย์อำนาจของส่วนกลาง ทั้งนี้ นโยบาย “กระจายอำนาจ” ของทั้งสองพรรค สามารถแบ่งเป็นประเด็นได้ดังนี้

1. เลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัด

เพื่อไทย: จากการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคเพื่อไทย ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ได้แถลงนโยบายของพรรคสำหรับการเลือกตั้งในปี 2566 โดยหนึ่งในนโยบายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ คือ “การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่มีความพร้อม”

ก้าวไกล: เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 พรรคก้าวไกลได้แถลงนโยบาย “ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า” ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น โดยมีนโยบาย “เลือกตั้งนายกจังหวัด” ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้บริหารสูงสุดในจังหวัดแทนผู้ว่าราชการที่มาจากการแต่งตั้งในทุกจังหวัดทั่วประเทศ หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล ภายใน 1 ปี จะจัดให้มีการทำประชามติว่า ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่กับการเลือกตั้ง “นายกจังหวัด” ทุกจังหวัด

2. กระจายอำนาจจากราชการส่วนภูมิภาค

เพื่อไทย: แพทองธาร ชินวัตร แถลงในที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคเพื่อไทยว่า “จะให้มีการกระจายอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากส่วนกลางออกไปส่วนท้องถิ่นมากขึ้น” ซึ่งหมายถึง การลดอำนาจของราชการส่วนภูมิภาค และเพิ่มอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ในปี 2570 เพื่อไทยตั้งเป้ากระจายอำนาจจากโรงพยาบาลของรัฐไปยังท้องถิ่นในรูปแบบองค์การมหาชน หรือ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ก้าวไกล: พรรคก้าวไกลมีนโยบายจัดทำประชามติภายใน 1 ปี เพื่อถามประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ไปพร้อมกับการทำประชามติเรื่อง “นายกจังหวัด” โดย วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า นโยบายของพรรคดังกล่าวจะไม่กระทบต่อข้าราชการที่สังกัดส่วนภูมิภาคและสังกัดส่วนท้องที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน การปฏิรูประบบราชการเป็นเพียงการเปลี่ยนการทำงานของข้าราชการบางส่วนในแต่ละพื้นที่ จากเดิมที่ต้องทำงานแยกกันภายใต้อธิบดีกรมหรือปลัดกระทรวงที่ประจำในกรุงเทพมหานคร เปลี่ยนเป็นทำงานร่วมกันภายใต้ผู้บริหารท้องถิ่นที่ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ระบบใหม่จะทำให้ศักดิ์และสิทธิของข้าราชการทุกสังกัดเท่าเทียมกัน มีกลไกรองรับการถ่ายโอนโยกย้ายระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น

3. เพิ่มสัดส่วนเงินท้องถิ่น

เพื่อไทย: พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดสรรรายได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ก้าวไกล: ตามนโยบาย “ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า” รัฐบาลก้าวไกลจะทยอยกระจายงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดทำบริการสาธารณะและพัฒนาพื้นที่ โดยภายใน 4 ปี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศจะได้งบเพิ่มขึ้น 200,000 ล้านบาท ต่อปี (เพิ่มสัดส่วนรายได้ที่ส่วนกลางต้องแบ่งให้ท้องถิ่นจากไม่เกิน 30% เป็นไม่น้อยกว่า 35%) โดยจะเพิ่มงบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ละ 250 ล้าน เมืองละ 100 ล้าน และ ตำบลละ 50 ล้านบาทต่อปี โดยเฉลี่ย