แก้รัฐธรรมนูญ 5 ภาครวม 26 ข้อเสนอ ส.ว. ปัดตกแทบเกลี้ยง แม้เสียงเกินครึ่งของสภา

ตลอดเวลากว่าสี่ปีที่สภาผู้แทนราษฎรชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งหลังการรัฐประหาร 2557 ได้ทำงาน ประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเรื่องร้อนที่สภาต้องมาถกกันอยู่สม่ำเสมอ แต่รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเครือข่ายกับวางเงื่อนตายสำคัญเอาไว้ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นยากเสียยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญใดก็ตามที่หวังจะได้รับความเห็นชอบ นอกจากจะต้องหวังเสียงจาก ส.ส. แล้ว ยังต้องการเสียง ส.ว. ที่ คสช. แต่งตั้งเองมากับมืออีกหนึ่งในสามของ 250 คนหรือ 84 คนเป็นอย่างน้อย เรียกได้ว่าหากผู้มีอำนาจไม่อยากให้ไฟเขียว ก็ยากที่จะผ่านได้

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงเดือนธันวาคม 2565 รัฐสภาร่วมกันระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. ต้องอภิปรายลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด ห้ายก รวมทั้งหมด 26 ข้อเสนอ โดยมาจากทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และภาคประชาชนที่ร่วมกันล่ารายชื่อเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง แต่จนแล้วจนรอด ส.ว. ก็ยังทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญของ คสช. ได้อย่างแข็งขัน ปัดตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกือบทั้งหมด ผ่านได้เพียงแค่ร่างเดียวคือข้อเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์

ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถแบ่งตามเนื้อหาได้เป็นดังนี้ (บางฉบับเสนอเป็น “แพ็คเกจ” มีเนื้อหาหลายประเด็น)

  • แก้ไขเพื่อเปิดทางร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3 ฉบับ
  • ปิดสวิตช์ ส.ว. เลือกนายก 6 ฉบับ
  • กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 2 ฉบับ
  • สิทธิเสรีภาพของประชาชน 5 ฉบับ
  • ระบบเลือกตั้ง 4 ฉบับ
  • รื้อมรดก คสช. 6 ฉบับ

สถิติที่น่าสนใจในศึกการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา

๐ 14 ฉบับคือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะผ่านถ้าไม่มีเงื่อนไขต้องได้รับเสียง ส.ว. ถึงหนึ่งในสาม

หลักเกณฑ์ให้ต้องได้เสียง ส.ว. หนึ่งในสามหรือ 84 เสียงคือทางตันของการเมืองไทย เพราะหากไม่มีเงื่อนไขนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านมากถึง 14 ฉบับ ซึ่งรวมถึงข้อเสนอสำคัญอย่างการแก้ไขเพื่อเปิดทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพิ่มสิทธิพื้นฐาน กระจายอำนาจ รื้อมรดก คสช. และปิดสวิตช์ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีที่มีการเสนอจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และภาคประชาชน แต่ก็ไม่สามารถทำให้ ส.ว. แต่งตั้งยอมยกมือตัดอำนาจตัวเองได้ถึงหนึ่งในสามเลยแม้แต่ครั้งเดียว โดยครั้งที่ได้รับคะแนนมากที่สุดจาก ส.ว. คือร่างที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งเสนอให้ตัดมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีและกลไกนายกคนนอกออกทั้งมาตรา ได้ไป 56 เสียงจากที่ต้องการ 84 เสียง ทำให้ต้องตกไปตามระเบียบ คสช.

หมายความว่า เพียงเพราะรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนให้ต้องใช้เสียง ส.ว. แต่งตั้งอย่างน้อย 84 คนเพื่อผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ข้อเสนอที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองไทยถึง 13 ข้อเสนอต้องถูกเก็บขึ้นชั้นไป สิ่งเดียวที่ ส.ว. ยอมให้ผ่านก็คือร่างแก้ไขระบบเลือกตั้งที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งกำลังจะมีผลในการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า

ในโลกคู่ขนานที่หลักเกณฑ์แก้ไขรัฐธรรมนูญใช้ตามที่ระบุในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับปี 2517 เป็นต้นมาจนถึงฉบับปี 2550 ซึ่งให้ใช้เพียงเสียงกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาโดยไม่ได้มี “เงื่อนไขพิเศษ” ของ ส.ว. ทั้ง 13 ฉบับที่ตกไปก็จะพลิกกับมาผ่านทั้งหมด

สิ่งที่น่าสนใจคือแม้ว่า ส.ว. จะให้ร่างแก้ไขระบบเลือกตั้งของประชาธิปัตย์ผ่าน แต่ก็ไม่ได้โหวตให้ร่างแก้ไขระบบเลือกตั้งที่มีหลักการคล้ายกันของพรรคเพื่อไทยให้ผ่านไปด้วย เหมือนว่า ส.ว. แต่งตั้งจะไม่ได้มีเนื้อหาของร่างกฎหมายอยู่ในใจเพียงอย่างเดียวเมื่อต้องตัดสินใจว่าจะยกมือให้กับร่างใด แต่ยังมองไปถึงว่า “ใคร” เป็นผู้เสนอด้วย หากเป็นฝ่ายตนเองก็คงจะพอรับได้ ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามต้องไม่ยอมให้ผ่าน แม้จะมีเนื้อหาแทบไม่ต่างกันก็ตาม

๐ 6 ฉบับคือข้อเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. เลือกนายก แต่ไม่เคยผ่าน ส.ว.

อำนาจของ ส.ว. แต่งตั้งทั้ง 250 คนในการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นสิ่งพิสดารอันดับต้น ๆ ของรัฐธรรมนูญ 2560 จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ข้อเสนอการปิดสวิตช์ ส.ว. จะได้รับการเห็นด้วยจากแทบทุกกลุ่มก้อนของ ส.ส. ไม่ว่าจะสังกัดพรรคใด ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการเสนอให้ปิดสวิตช์ ส.ว. มีทั้งหมด หกฉบับ โดยมีความแตกต่างไปในข้อเสนอ ตั้งแต่การยกเลิก ส.ว. ไปเลย ไปจนถึงข้อเสนอเดียวประเด็นเดียว ยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ “ทุกกระบวนท่า” ของข้อเสนอนี้ก็ยังไม่มีครั้งใดที่ ส.ว. จะยอมยกมือตัดอำนาจตัวเองแม้แต่ครั้งเดียว

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ “ฉิวเฉียด” ที่สุดคือข้อเสนอของพรรคร่วมฝ่ายค้านครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ท่ามกลางกระแสกดดันทางการเมืองที่พุ่งขึ้นสูงจากการชุมนุมของนักศึกษา ในครั้งนั้น มี ส.ว. ทั้งหมด 53 คนที่ลงคะแนนเห็นชอบตัดอำนาจตัวเอง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผ่านวาระแรกไปได้ หลังจากนั้นเมื่อกระแสการเมืองเริ่มเบาบางลง กลับมี ส.ว. จำนวนมากที่ “เปลี่ยนใจ” ไม่ตัดอำนาจเลือกนายกฯ ของตัวเองแล้ว ข้อเสนอของพรรคการเมืองทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลทั้งสองฉบับในเดือนมิถุนายน 2564 ได้คะแนนเสียงจาก ส.ว. น้อยลงมาก แม้ว่า ส.ส. จากทุกพรรคการเมืองจะร่วมกันโหวตให้อย่างท่วมท้นจนคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา แต่เมื่อได้คะแนนเสียง ส.ว. ไม่ถึง 84 เสียง ข้อเสนอเหล่านั้นจึงต้องตกไป

ดังนั้น ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 สภาแต่งตั้งก็ยังขอมีส่วนร่วมเข้ามาโหวตนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทยได้

๐ 4 ฉบับคือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีประชาชนเป็นผู้เสนอ และถูกปัดตกทั้งหมด

นอกจากช่องทางการการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย ส.ส. แล้ว ประชาชนยังสามารถรวบรวมรายชื่อกันเองเพื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณาได้ด้วย โดยต้องใช้เสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างน้อย 50,000 รายชื่อ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์หลังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา มีกลุ่มประชาชนล่ารายชื่อเพื่อขอแก้รัฐธรรมนูญเองสี่ครั้ง แต่ก็ได้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาเลยแม้แต่ครั้งเดียว พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคใหญ่พรรคเดียวที่ไม่เคยโหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยประชาชนเลย

รื้อ สร้าง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ (ไอลอว์) – เสนอเมื่อวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2563

รื้อระบอบประยุทธ์ (Resolution) – เสนอเมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2564

ปิดสวิตช์ ส.ว. ประเด็นเดียว (No272) – เสนอเมื่อวันที่ 6-7 กันยายน 2565

ปลดล็อกท้องถิ่น (คณะก้าวหน้า) – เสนอเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน และ 7 ธันวาคม 2565

๐ 2 คนคือจำนวน ส.ว. ที่ไม่เคยรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้แต่ฉบับเดียว

ในบรรดา ส.ว. 250 คนที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. มีสองคนที่ยังทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างแข็งขัน ไม่เคยยกมือให้กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดเลยแม้แต่ครั้งเดียว ได้แก่ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร และ ว่าที่ ร.ต.วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี สำหรับธวัชชัย เป็นอดีตแม่ทัพภาคสอง และยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่นที่ 12 ของประยุทธ์อีกด้วย ธวัชชัยเคยได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคชาติพัฒนาในการเลือกตั้ง 2557 ซึ่งสุดท้ายต้องกลายเป็นโมฆะ หลังจากนั้นก็ดูเหมือนจะเสื่อมศรัทธาในการเลือกตั้ง หลังจากการรัฐประหารได้เข้ารับตำแหน่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) ธวัชชัยเป็นคนที่เคยลุกขึ้นอภิปรายเห็นค้านกับข้อเรียกร้องสามข้อของผู้ชุมนุมคนรุ่นใหม่ โดยกล่าวว่าเด็กควรฟังผู้ใหญ่

ส่วนวงศ์สยามก็เป็นผู้ที่เคยลั่นวาจาไว้ในคราวแก้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2564 ว่าให้ ส.ส. ที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับถอนร่างไปเสีย เพราะไม่มีประโยชน์ “หากไม่มีการถอนจะได้เห็นว่าวุฒิสภาลงมติอย่างไร”

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ