ไล่เรียงข้อกฎหมาย-ข้อขัดแย้งเรื่องลิขสิทธิ์บอลโลก “ประวิตร” ลอยลำท่ามกลางคำขอบคุณ

หลังจากข้อขัดข้องอันยืดเยื้อเพื่อระดมเงินทุนจัดซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดดสดฟุตบอลโลก 2022 ในวันใกล้สุดท้ายเพื่อไม่ให้อับอายขายขี้หน้าของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ประธานคณะกรรมการ กกท. จากที่เคยลั่นวาจาไว้ว่าเป็นหน้าที่ของตนที่จะทำให้คนไทยได้ดูฟุตบอลโลก ในที่สุดคนไทยก็ได้ดูจริงๆ พร้อมรับลูกเทคเครดิตให้ตัวเองแบบเต็มที่ เห็นได้จากคำพูดของผู้บรรยายที่มักพูดหลังจบเกมอย่างสม่ำเสมอว่า “ขอขอบคุณ พล.อ.ประวิตร” แม้เงินทุนส่วนหนึ่งที่ใช้ในการจัดซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกจะมาจากกองทุน กทปส. ซึ่งเป็นเงินที่จัดเก็บมาจากภาษีของประชาชนและรายได้ของรัฐก็ตาม

แต่แล้ว การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกภายใต้คำสรรเสริญ พล.อ.ประวิตร กลับต้องสะดุดลง เมื่อผู้ใช้งาน IPTV (Internet Protocol Television หรือแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่ากล่องโทรทัศน์ที่รับชมผ่านทางอินเทอร์เน็ต) ที่ไม่ใช่กล่องของ “ทรูวิชชั่น” ประสบกับปัญหา “จอดำ” ไม่สามารถรับชมได้ ซึ่งดูเหมือนจะขัดกับข้อกำหนดตาม “ประกาศ Must Carry” ของ กสทช. ที่บังคับให้ผู้ประกอบการกิจการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (รวมถึงกล่องอินเทอร์เน็ต) ต้องนำช่องฟรีทีวีไปฉายอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลา และไม่มีการดัดแปลง

เรื่องยิ่งอีรุงตุงนังมากขึ้น เมื่อผู้ให้บริการกล่อง IPTV อาทิ AIS และ 3BB รวมตัวกันร้องเรียนต่อ กสทช. ว่า การปิดกั้นของทรูวิชชั่นไม่ใช่สิ่งที่สามารถกระทำได้ตามประกาศ Must Carry และขอให้ กสทช. มีคำสั่งให้ทรูเปิดช่องสัญญาณให้มีการถ่ายทอดสดตามประกาศข้อบังคับ ร้อนถึงทรูวิชชั่นที่จะไม่ยอมเสียเปรียบจากการช่วยลงขันไปกว่า 300 ล้านบาท จึงได้ฟ้องร้องต่อศาลให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ผู้ให้บริการ IPTV อื่นถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก “ทรูวิชชั่น” ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ 

ไม่ว่าเหตุการณ์ข้างต้นจะจบลงอย่างไร คนที่ลอยลำมากที่สุดในสถานการณ์นี้คงไม่พ้น “พล.อ.ประวิตร” ที่เป็นผู้นั่งหัวโต๊ะรับผิดชอบเรื่องนี้เต็มๆ แต่กลายเป็นผู้โยนบท “ตัวร้าย” ในเรื่องนี้ไปให้กับทรูวิชชั่นที่เข้ามาจ่ายเงินในจังหวะสุดท้ายไปแบบแนบเนียน ท่ามกลางสงครามทางกฎหมายของภาคธุรกิจ และคำถามว่าคอบอลชาวไทยตาดำๆ จะได้ดูฟุตบอลโลกที่กำลังจะเลื่อนผ่านเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายผ่านกล่อง IPTV อื่นที่ไม่ใช่ทรูวิชชั่นไหม ไอลอว์ชวนทบทวนลำดับเหตุการณ์และรายละเอียดข้อกฎหมายว่า ทำไมคนไทยถึงได้มายืนอยู่จุดนี้ได้

 

(1) 17 พ.ย. 65 ก่อนบอลโลกเริ่มคิกออฟ 3 วัน ดร.ก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าฯ กกท. เปิดเผยว่า กกท. ได้บรรลุข้อตกลงการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 กับ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) จำนวน 64 แมตช์ เรียบร้อยแล้วในมูลค่าประมาณ 1,400 ล้านบาท โดยต้องขอขอบคุณ “พล.อ.ประวิตร” รองนายกรัฐมนตรีที่เป็นตัวกลางประสานงานภาคเอกชนจนสำเร็จขั้นตอนการระดมเงินทุน

สำหรับภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุน “พล.อ.ประวิตร” ด้วยการลงขันรวมเป็นเงินกว่า 700 ล้านบาทเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้ ประกอบไปด้วย ทรู คอร์ปอเรชั่น 300 ล้านบาท, น้ำแร่ธรรมชาติตราช้าง 100 ล้านบาท, ปตท. 100 ล้านบาท, ปตท. โออาร์ 20 ล้านบาท, ไทยออยล์ 20 ล้านบาท, โกลบอล พาวเวอร์ ซินเนอร์ยี่ 10 ล้านบาท, พลังงานบริสุทธิ์ 50 ล้านบาท, ธนาคารกสิกรไทย 50 ล้านบาท และบางจาก คอร์ปอเรชั่น 50 ล้านบาท

มีข้อสังเกตว่าบางส่วนของกลุ่มบริษัทเหล่านื้ เป็นตั้งตัวตีของ “โครงการเศรษฐกิจชีวภาพชีวิภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG)” ซึ่งเป็นวาระสำคัญที่รัฐบาลไทยต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นขึ้นในเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 65 อันเป็นระยะเวลาไล่เลี่ยกันกับช่วงที่ พล.อ.ประวิตร ต้องเร่งระดมทุนเพื่อซื้อค่าลิขสิทธิ์ 

(2) อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการสมาคมทีวีดิจิทัลแห่งประเทศไทย เปิดเผยผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวว่า ในที่ประชุมเรื่องการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกระหว่าง กกท. กับสมาคมทีวีโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) กกท. ได้แจ้งว่า ได้ตกลงมอบสิทธิ์พิเศษให้กับทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้สนับสนุนหลัก แบ่งเป็น ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ (TV Rights) 200 ล้านบาท สำหรับการออกอากาศทางช่อง True4U แบบเอ็กคลูซีฟ 32 นัด โดยสามารถเลือกนัดการแข่งขันได้ก่อน และลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทางระบบดิจิทัล (OTT Rights) สำหรับการออกอากาศผ่านช่องทางกล่องทีวีอินเทอร์เน็ต และแอปพลิเคชั่นทรูไอดี
 

OTT Rights นี้เอง คือต้นตอปัญหาจอดำของกล่อง IPTV ที่หลายคนกำลังประสบพบเจออยู่ การได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทางระบบดิจิทัลของทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ทำให้ “ทรูวิชชั่น” เป็น “ผู้มีสิทธิ์เพียงผู้เดียว” ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกผ่านระบบดิจิทัล (ซึ่งก็คือระบบอินเทอร์เน็ต) ดังนั้น หากผู้รับชมคนใดต้องการชมผ่านทางอินเทอร์เน็ตแบบถูกลิขสิทธิ์ ต้องรับชมผ่านช่องทางแพลตฟอร์มของ ทรูวิชชั่น เท่านั้น

(3) แน่นอนว่าสมาคมทีวีดิจิทัลไม่ยอม เพราะทรู คอร์ปอเรชั่น นั้นเป็นเพียงผู้ลงขันรายหลังๆ ในราคา 300 ล้านบาท ขณะที่ผู้ลงขันรายใหญ่ถึง 600 ล้านบาท ในการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกครั้งนี้ คือ กองทุน กทปส. ซึ่งเงินมาจากภาษีของประชาชนและรายได้ของรัฐ  วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ตัวแทนสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) นำโดยอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ และเดียว วรตั้งตระกูล เข้ายื่นหนังสือถึงบอร์ด กสทช. เรียกร้องให้มีการจัดสรรแมทช์ในการถ่ายทอดสดให้แก่ช่องต่างๆ โดยเท่าเทียมกันและเป็นไปตามเงินสนับสนุนของ กสทช. ที่อนุมัติมาก่อนหน้านี้ 

(4) 22 พฤศจิกายน 2565 ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาราชการแทนเลขาฯ กสทช. ได้หารือกับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และขอความร่วมมือทรูวิชชั่นให้คืนโควต้าการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย 16 นัด (รอบน็อกเอาท์) กลับมาให้ กกท. นำไปจัดสรรให้กับช่องดิจิทัลทีวีอื่นถ่ายทอดสดแบบคู่ขนานแล้ว ซึ่งทางทรูไม่ขัดข้องและ กกท. จะจัดสรรตารางการถ่ายทอดสดให้กับช่องทีวีดิจิทัลต่อไป ทำให้ปัญหาขัดแย้งกับทีวีดิจิทัลจบลงด้วยดี

(5) แต่การถ่ายทอดสดผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ย้อนกลับไปในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 3BB (ทรีบรอดแบรนด์) และ SBN ผู้ให้บริการ AIS Playbox (ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวิร์ค) ได้มีหนังสือถึง กสทช. เพื่อปรึกษาหารือว่าควรดำเนินการอย่างไร หาก 3BB ได้รับหนังสือจาก ผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทางระบบดิจิทัล (ทรูวิชชั่น) ให้ระงับการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกผ่านกล่องอินเทอร์เน็ตของตน ซึ่งได้ถ่ายทอดสดผ่านการอนุญาตตาม “ประกาศ Must Carry”

กสทช. มีหนังสือตอบกลับเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ถึงทั้งสองผู้ให้บริการว่า มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อ 6 ของประกาศ Must Carry ต่อไป คือ ต้องถ่ายทอดสดฟรีทีวีโดยตรงอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทำซ้ำ ดัดแปลง ผังรายการหรือเนื้อหา แปลเป็นภาษาคนง่ายๆ ว่า ทั้งสองเจ้ายังคงสามารถถ่ายทอดสดต่อไปได้ ไม่จำเป็นต้องสนใจหนังสือสั่งห้ามจากทรูวิชชั่น เพราะว่าเป็นหน้าที่ตามประกาศ Must Carry ที่ กสทช. สั่งให้ปฏิบัติตาม

(6) ร้อนถึงทรูวิชชั่นต้องออกมาปกป้องสิทธิผลประโยชน์ของตนเอง เมื่อพึ่ง กสทช. ไม่ได้ก็ต้องพึ่งศาล วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ยื่นฟ้องบริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวิร์ค จำกัด (SBN) ผู้ให้บริการ AIS Playbox ซึ่งแพร่ภาพและเสียงการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ซึ่งทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญหาและการค้าระหว่างประเทศ และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามไม่ให้ผู้บริการโทรทัศน์ในระบบ IPTV และระบบ OTT ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทรูวิชชั่นอย่างถูกต้องทั้งหมดระงับการแพร่เสียงและแพร่ภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกในรอบสุดท้ายทันที ซึ่งศาลอนุญาตตามคำขอ 

แม้ว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจะยังไม่ใช่บทสรุปในทางกฎหมาย แต่สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ใช้บริการทรูไอดีหรือทรูวิชชั่นแล้ว สิ่งนี้คือจุดจบอย่างแท้จริง เพราะกระบวนการพิจารณาคดีของศาลย่อมลากเวลายาวนานกว่าการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกที่มีกำหนดการลงเตะนัดชิงชนะเลิศในวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ทำให้คนที่ต้องการรับชมต้องหันไปเลือกใช้ช่องทางอื่น เช่น ฟรีทีวี ซึ่งไม่สะดวกสำหรับคนส่วนใหญ่ที่ใช้โทรศัพท์หรือแท็บเล็ตในการรับชม หรือต้องยอมจ่ายเงินให้แก่ทรูวิชชั่นเพื่อเป็นค่าใช้งานแพลตฟอร์มของเจ้าของลิขสิทธิ์ผู้นี้

(7) อีกหนึ่งคำถามที่ถูกโยนทิ้งไว้ให้เกิดขึ้นในใจของใครหลายๆ คน เกิดขึ้นเมื่อ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟสบุ๊ก ตั้งคำถามถึงการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ว่าเหตุใดการกีฬาแห่งประเทศจึงโอนลิขสิทธิ์ให้ทรูวิชชั่น ซึ่งจ่ายเงินสนับสนุนเพียง 300 ล้าน เป็นผู้ตัดสินใจในการจัดสรรลิขสิทธิ์ ทั้งที่ตามเอกสารผู้ถือครองลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในประเทศต่างๆ ของฟีฟ่า ระบุว่า การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์โดยตรง

(8) ท่ามกลางสภาวะต้องทนเจ็บและทำใจของคอบอลผู้ไม่ได้เป็นลูกค้าของทรูวิชชั่น แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ซึ่งเคยมืดบอดไปแล้วก็ได้ปรากฎภาพความหวังขึ้น เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ตามการรายงานของสำนักข่าวฐานเศรฐกิจ นพรัตน์ พลสิงห์ และ กุลธิดา เกิดแก่นแก้ว รับมอบอำนาจจากนภดล วงษ์วิหค ตัวแทนประชาชนเข้ายื่นฟ้อง ผู้ว่าฯ กกท., กกท., บอร์ด กสทช. และ กสทช. เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 ต่อศาลปกครอง กรณีละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดสรรลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และไม่เลือกปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของ “ประกาศ Must Have” และ “ประกาศ Must Carry” พร้อมขอให้ศาลพิจารณามีมาตรการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวโดยเร่งด่วน

(9) 29 พฤศจิกายน 2565 SBN ผู้ให้บริการ AIS PLAYBOX ยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินฯ ขอให้ยกเลิกคำสั่งที่ห้ามแพร่ภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายบนระบบไอพีทีวี (IPTVTransmission) โดยยืนยันว่าได้ดำเนินการทุกอย่างภายใต้กฎหมายทุกประการ พร้อมระบุว่า สาเหตุเหตุที่บริษัทฯ เข้ามายื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินฯ เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ในการปฏิบัติตาม กสทช. ที่กำกับดูแลอย่างถูกต้อง ตามคำสั่งที่มีกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจน
(10) อย่างไรก็ตาม จนฟุตบอลโลกรอบแรกจะจบแล้ว ศาลปกครองกลางยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมีคำสั่งคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวหรือไม่ ที่สำคัญคือต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่าจะมีคำสั่งออกมาเมื่อใด เพราะยิ่งช้ามากเพียงใด โอกาสที่คนไทยทั่วประเทศจะได้รับชมฟุตบอลโลกอย่างพร้อมเพรียงและเท่าเทียมกันก็ยิ่งจะน้อยลงๆ แน่นอนว่ารวมถึงโอกาสของ “ประชาชนคนไทย” ที่จะได้ยินคำว่า “ขอบคุณ พล.อ.ประวิตร” จากผู้บรรยายฟุตบอลในระหว่างการถ่ายทอดสดก็จะน้อยลงด้วย

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน