ศาลรธน. เคาะ ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองไม่ขัดรธน. นัดชี้ชะตากฎหมายเลือกตั้ง 30 พ.ย. 65

23 พฤศจิกายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติคดีที่ 77 ส.ว. เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง หรือร่างกฎหมายพรรคการเมือง) มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติ “เอกฉันท์” วินิจฉัยว่าร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ กระบวนการหลังจากนี้ นายกรัฐมนตรีก็จะนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

การเสนอและพิจารณาร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 (ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. หรือร่างกฎหมายเลือกตั้ง) เป็นผลพวงมาจากการ #แก้รัฐธรรมนูญ เรื่องระบบเลือกตั้ง เปลี่ยนบัตรเลือกตั้งจากใบเดียว เป็นสองใบ คือ บัตรเลือก ส.ส.เขต และบัตรเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ เปลี่ยนสัดส่วนจำนวน ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากเดิม 350 : 150 มาเป็น 400 : 100 สิ่งที่ตามมาคือต้องเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับระบบใหม่ ที่จะใช้กับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า ซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2566

ร่างกฎหมายพรรคการเมืองและร่างกฎหมายเลือกตั้ง ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. พร้อมๆ กัน โดยร่างกฎหมายพรรคการเมือง ถูกเสนอเข้าวาระหนึ่งถึงหกฉบับ มีทั้งร่างที่เสนอโดยครม. ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และส.ส. ฝ่ายค้าน แต่ร่างที่ผ่านด่านรัฐสภารับหลักการไปได้ มีเพียงสามฉบับจากครม. และส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 

เส้นทางการพิจารณาร่างกฎหมายพรรคการเมือง ดูเหมือนจะราบรื่นดีต่างจากร่างกฎหมายเลือกตั้งที่พิจารณาไล่เลี่ยกันมา ที่เกิดเหตุพลิกล็อคสูตรคำนวนที่นั่งส.ส.บัญชีรายชื่อ จากใช้สูตรหาร 100 ไปเป็นสูตรหาร 500 ซ้ำยังเกิดเหตุ “สภาล่ม” องค์ประชุมไม่ครบ ครั้งแล้วครั้งเล่า โค้งสุดท้ายของการพิจารณา 15 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่จะครบ 180 วันของกำหนดเวลาการพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง ก็ยังเจอเทคนิคที่ ส.ส. จากทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ ไม่แสดงตนเข้าร่วมการประชุมทำให้องค์ประชุมไม่ครบ เมื่อครบกำหนดเวลาแล้วพิจารณาให้แล้วเสร็จไม่ได้ กฎหมายเลือกตั้งจึง “พลิกล็อก” อีกครั้งกลับไปใช้ “สูตรหาร 100” อีกครั้ง ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 (1)  เป็นไปตามร่างกฎหมายเลือกตั้ง ฉบับที่ครม.เสนอในวาระหนึ่ง

ถึงแม้ร่างกฎหมายพรรคการเมืองจะผ่านการพิจารณาของรัฐสภามาสามวาระได้ แต่ก็ยังไม่ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายเนื่องจาก 77 ส.ว. ขอให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น

1. กรณีที่ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองแก้ไขเกี่ยวกับอัตราค่าธรรมเนียม และค่าบำรุงพรรคการเมืองที่เรียกเก็บจากสมาชิก โดยลดค่าบำรุงพรรครายปีจาก 200 บาท เป็น 20 บาท และแบบตลอดชีพ จาก 2,000 บาท เป็น 200 บาท ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งออกแบบให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมือง และกำหนดให้เก็บค่าบำรุงพรรคนั้นเป็นความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมต่อพรรคการเมือง รวมถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับการสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมือง ดังนั้นการลดอัตราค่าสมาชิกพรรคดังกล่าวอาจเปิดช่องให้เกิดโอกาสที่มีผู้ออกเงินแทนและทำให้เกิดการครอบงำได้

    2. การแก้คุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นสมาชิกพรรคการเมือง กฎหมายพรรคการเมืองเดิมกำหนดความเข้มข้นห้ามบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรค แต่ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองได้แก้ไขหลักเกณฑ์ส่วนนี้

    3. การแก้ไขการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. (ระบบไพรมารี่) เดิมกำหนดให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนไปเป็นผู้สมัคร ส.ส. แบบเขตเลือกตั้ง แต่ถูกแก้ไขให้กรรมการสรรหาของพรรคเป็นผู้เลือกตัวแทนไปดำเนินการ ขณะที่กระบวนการไพรมารี่ของผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เดิมกำหนดให้การเรียงลำดับจะมาจากคะแนนผู้ที่ได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคด้วยคะแนนสูงสุดลดหลั่นไป แต่ถูกแก้ไขให้กรรมการสรรหาจัดลำดับได้เองจึงมองได้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ

    แม้ท้ายที่สุดผลสรุปของคดีนี้ คือร่างกฎหมายพรรคการเมืองยังไปต่อได้ แต่ก็ยังมีอีกหนึ่งคดีสำคัญที่ยังต้องจับตากันต่อไป คือกรณีของร่างกฎหมายเลือกตั้ง ที่ส.ส. และส.ว. รวม 105 คน นำโดยระวี มาศฉมาดล ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่ ผู้เสนอสูตร “หาร 500” เข้าชื่อกันเสนอประธานรัฐสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายเลือกตั้งฉบับนี้ ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและมีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ 

    หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการตราร่างกฎหมายเลือกตั้ง ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และ/หรือ วินิจฉัยว่า ในเชิงเนื้อหามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยที่ข้อความนั้นเป็นสาระสำคัญ ร่างกฎหมายเลือกตั้งก็จะ “ตกไปทั้งฉบับ” หมายความว่าต่อให้เรื่องระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญจะถูกแก้ไขแล้ว แต่กฎหมายลูกยังไม่ได้ถูกแก้ไขทำให้เกิดเป็นภาวะ “สุญญากาศ” ทางกฎหมายกับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในปี 2566

    โดยศาลรัฐธรรมนูญจะนัดลงมติคดีร่างกฎหมายเลือกตั้ง 30 พฤศจิกายน 2565 จับต่อกันต่อไปว่า ทิศทางของร่างกฎหมายเลือกตั้งซึ่งจะกำหนดทิศทางการเลือกตั้งครั้งหน้า จะออกมาเป็นอย่างไร