ภาคประชาสังคมชี้ APEC ไร้ประชาชน รัฐหวังใช้โมเดลเศรษฐกิจเอื้อนายทุนฟอกเขียว

4 พฤศจิกายน 2565 ที่ศูนย์ฝึกอบรมวีเทรน ดอนเมือง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “APEC2022: ในทัศนะภาคประชาสังคม” ก่อนที่ไทยจะมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก (Asia-Pacific Economic Cooperation – APEC) ในช่วง 18-19 พฤศจิกายน 2565 โดยงานเสวนามีวิทยากรเข้าร่วม ได้แก่ คีตนาฏ วรรณบวร จาก Focus on Global South ศุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิจัยจากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จากมูลนิธิชีววิถี (Biothai) ร่วมพูดคุยถึงเบื้องหลังการกำเนิดเอเปก กลไกเอเปก และโมเดลเศรษฐกิจ “BCG” (Bioeconomy – Circular Economy – Green Economy) ซึ่งรัฐบาลไทยมีเป้าหมายว่าจะไปนำเสนอให้เอเปกรับรองเพื่อสร้างความชอบธรรมในระดับนานาชาติ

เอเปกในฐานะตัวขับเคลื่อนลัทธิเสรีนิยมใหม่

คีตนาฏ วรรณบวร จาก Focus on Global South เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่าเราอาจจะเข้าใจว่าเอเปกเป็นการประชุมเพียงครั้งเดียวที่ผู้นำประเทศต่าง ๆ มารวมตัวกัน แต่แท้จริงแล้วเอเปกเป็นส่วนหนึ่งของภาพที่ใหญ่กว่า เดิมทีเอเปกก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามยัดเยียดลัทธิเสรีนิยมใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เราจึงเห็นตัวแทนธุรกิจพยายามใช้เวทีเอเปกในการผลักดันการเปิดเสรีทางการค้า ขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้น โดยสรุปแล้ว เอเปกจึงเป็นการเปิดเสรีทางการค้า ไม่ใช่เปิดเสรีทางสิทธิให้แก่คนทั่วไป

สำหรับมุมมองจากภาคประชาสังคม คีตนาฏเน้นว่าเอเปกตอกย้ำถึงทิศทางการค้าที่ให้ความสำคัญกับแนวทางเสรีนิยมใหม่ และเอเชียเป็นจุดสำคัญของแนวคิดนี้เนื่องจากมีทรัพยากรมากและมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ทำให้เป็นโอกาสของทุนและรัฐที่ต้องการส่งเสริม บางรัฐก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเสรีนิยมใหม่ด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และกระตือรือร้นมากกับการเข้าร่วมเอเปก ไทยเองก็ให้ความสำคัญกับการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของโลก ลดกำแพงภาษีและข้อจำกัดในการทำธุรกิจ เมื่อมีการทำความตกลงทางการค้าของประเทศ เขตการค้าเสรี (Free Trade Area หรือ : FTA) จะกลายเป็นมาตรฐานให้การทำสัญญาการค้าเสรีครั้งต่อไปเสรีขึ้นเรื่อย ๆ

ต่อมา คือ การเป็นเจ้าภาพเอเปกนั้นเป็นภาพแทนของความสัมพันธ์ทางอำนาจในภูมิภาคได้ชัดเจนมาก ดังเช่นข่าวว่าผู้นำประเทศใดบ้างที่ตอบรับมาเยือนไทย ใครเป็นเพื่อนกับใครนั้น ส่งผลโดยตรงกับการตัดสินใจด้านการลงทุนหรือแม้กระทั่งความมั่นคง ผู้นำจีนอย่างสีจิ้นผิงก็ตอบรับแล้วว่าจะมาเยือนไทยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ขึ้นสู่อำนาจ อันเป็นการส่งสัญญาณว่าจีนกำลังสนใจการแข่งขันอิทธิพลในภูมิภาค นโยบายการเปิดเสรีทางการค้าก็ส่งผลต่อนโยบายในประเทศ เปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน การจัดสรรผลประโยชน์ต่าง ๆ โดยไม่ได้ปรึกษาประชาชน

รัฐหวังให้เอเปกสร้างความชอบธรรมให้เศรษฐกิจสีเขียว

วิทยากรคนต่อมา ศุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิจัยจากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มด้วยการตั้งคำถามว่า ถ้าถามว่าเอเปกเกี่ยวข้องกับประชาชนธรรมดาหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าทั้งเกี่ยวและไม่เกี่ยว ข้อเท็จจริงคือ เอเปกเป็นเวทีเดียวในสามเวทีหลักในระดับภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ที่ไม่มีกลไกการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนเลย หลังจากความขัดแย้งในสงครามเย็นจบลง แต่ละประเทศก็เริ่มหันมาพัฒนาเศรษฐกิจ แต่กลับพบว่าไม่มีตลาดให้ส่งออกสินค้าที่ตนผลิต เอเปกจึงเกิดขึ้นเพื่อผลักดันการค้าให้เสรีมากขึ้น แต่ในเมื่อเรามีองค์กรการค้าโลกอยู่แล้ว จึงต้องการให้เอเปกผลักดันให้ไปไกลในฐานะเครื่องมือผลักดันการเปิดเสรีการค้ามากขึ้น จึงมีการรวมฮ่องกงและไต้หวันซึ่งไม่ได้ถูกยอมรับว่าเป็นประเทศมาเป็นเขตเศรษฐกิจ เอเปกจึงเป็นเรื่องของการค้าและการลงทุนเท่านั้น ไม่มีเรื่องอื่น

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เล่าต่อว่า ที่ผ่านมาเวทีเอเปกนั้นก็พูดแต่เรื่องการค้ามาโดยตลอด แต่ในระยะหลังก็เริ่มมีการพูดถึงเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การประชุมเอเปกในปีที่ก่อนซึ่งมีนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ มีการร่างแผนปฏิบัติการที่แต่ละประเทศจะต้องนำไปปฏิบัติ ก็เริ่มมีแนวคิดว่าจะสร้างเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก สำหรับการประชุมที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีนี้ ตั้งธีมงานว่า Open Connect Balance และมีสิ่งที่เป็นรูปธรรมคือเศรษฐกิจสีเขียวหรือ BCG (Bioeconomy – Circular Economy – Green Economy) เป็นโมเดลทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลไทยมีเป้าหมายว่าจะไปนำเสนอให้เอเปกรับรองเพื่อสร้างความชอบธรรมในระดับนานาชาติ หากพูดถึง BCG แบบผ่าน ๆ จะรู้สึกว่าเป็นแนวคิดที่ดูชวนฝันมาก แต่ข้อเท็จจริงคือ BCG ยังไม่ได้รับการยอมรับจากที่ประชุมมากนัก ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลไทยอยากทำคือการออกแถลงการณ์ในนามเอเปกเพื่อรับรองแนวทางใหม่นี้

BCG โมเดลสิ่งแวดล้อมที่ไร้ประชาชน ฟอกเขียวให้นายทุน

ในด้านของกระบวนการและเนื้อหา วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จากมูลนิธิชีววิถี (Biothai) กล่าวว่าสารัตถะสำคัญของเอเปกมาจากสภาธุรกิจอาเซียนและสภาเศรษฐกิจเอเปกที่มีคณะทำงานชุดต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ในการขับเคลื่อน ซึ่งตัวแทนของไทยก็คือตัวแทนของกลุ่มทุนและรัฐบาลทั้งสิ้น ประเด็นสำคัญที่ฝ่ายไทยยกขึ้นมา ประเด็นแรก การส่งเสริมการค้าเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นพยายามจัดตั้งเขตการค้าเสรีที่อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักในทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีจีนและสหรัฐอยู่ด้วยกัน ประเด็นที่สอง การส่งเสริมการค้า การท่องเที่ยว และการเดินทาง และประเด็นที่สามคือการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ฝ่ายไทยให้ความสำคัญมาก โดยมีการโยงเข้ากับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs แต่สิ่งที่สำคัญคือเป็นการชงกลุ่มทุนไทยซึ่งต้องการการยอมรับจากต่างประเทศ

วิฑูรย์เล่าต่อว่า ปัจจุบัน BCG ได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นทางการแล้ว โดยยึดโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และรัฐบาลก็ได้อนุมัติงบประมาณแล้วประมาณ 40,000 ล้านบาท มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน BCG ในสามระดับ คือระดับคณะกรรมการบริหาร ระดับคณะกรรมการขับเคลื่อน และระดับอนุกรรมการที่มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาหลายคณะ ซึ่งอาจจะเป็นส่วนสำคัญที่สุดเพราะต้องปฏิบัติจริง โดยทั้งหมดนี้มีส่วนประกอบจากฝ่ายการเมือง ข้าราชการ และตัวแทนจากกลุ่มทุน แต่ไม่มีประชาชน แม้กระทั่งเลขาของอนุกรรมการยังเป็นกรรมการบริษัททุนใหญ่ โมเดลเศรษฐกิจ BCG จึงถูกขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนโดยสมบูรณ์ ไม่ว่าประยุทธ์จะอยู่ถึงเมื่อใด แต่คณะกรรมการชุดนี้จะอยู่ถึงปี 2570 ซึ่งนานกว่าประยุทธ์แน่

สำหรับเนื้อหาของ BCG ก็ไม่น่าแปลกใจนักที่จะเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มบริษัทใหญ่ทั้งสิ้น วิฑูรย์ยกตัวอย่างการแก้กฎหมายพันธุ์พืชเพื่อให้ประโยชน์กับทุนใหญ่ให้สามารถผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืชไว้กับบริษัท และไม่ต้องแบ่งปันให้กับเกษตรกรอีกต่อไป มีการเปิดทางให้มีการปลูกพืชจีเอมโอ (พืชที่ได้รับการคัดเลือกให้มาผ่านกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) ส่งเสริมให้เอกชนปลูกป่าในพื้นที่ของรัฐ 3.2 ล้านไร่ โดยเอกชนจะได้ผลประโยชน์ทางภาษีและคาร์บอนเครดิต ให้เอาไปขายหรืออ้างเป็นผลงานได้ หัวใจคือเมื่อ BCG สำเร็จ บริษัททุนใหญ่จะได้ฟอกเขียวว่ารักสิ่งแวดล้อม วิทยากรจากมูลนิธิชีววิถีตั้งคำถามว่าในขณะที่รัฐบาลมีพื้นที่หลายล้านไร่ให้กับเอกชน เหตุใดจึงไม่สนใจแก้ปัญหาที่ดินให้กับประชาชนกว่าหนึ่งล้านคนที่ในปัจจุบันยังมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินกับรัฐ จึงเรื่องเรื่องที่ค่อนข้างชัดเจนว่ารัฐบาลหวังจะใช้เอเปกเพื่อฟอกเขียวโมเดล BCG เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนและธุรกิจใหญ่