ญัตติเสนอทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านด่าน ส.ส. แล้ว! แต่ยังต้องรอลุ้น ส.ว. ต่อ

3 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ความเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการตามที่รัฐสภามีมติในการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2565 (พ.ร.บ.ประชามติ) กำหนด 

โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นด้วยกับญัตติให้ทำประชามติ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 323+1 = 324 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 7 เสียง หลังสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบญัตติดังกล่าว จะต้องส่งต่อให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบอีกเช่นกัน 

ทั้งนี้ ญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ความเห็นชอบเสนอต่อ ครม. ดำเนินการตามที่รัฐสภามีมติในการออกเสียงประชามติ เสนอเมื่อสมัยประชุมสภาครั้งที่แล้ว 15 กันยายน 2565 โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากพรรคฝ่ายค้าน ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล และจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย แต่เมื่อถึงช่วงลงมติญัตติดังกล่าว แม้จะได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบ 217 เสียง ไม่เห็นด้วย 6 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง แต่ก็มีปัญหาทางเทคนิคเกิดขึ้นเมื่อขณะที่ลงมติ “องค์ประชุมไม่ครบ” ส.ส. หลายรายตั้งข้อห่วงกังวลว่าหากปล่อยผ่านไปสู่ชั้นวุฒิสภา จะทำให้เกิดข้อโต้แย้งได้ว่าส.ส. เห็นชอบขณะองค์ประชุมไม่ครบ และจะทำให้สิ่งที่ทำมาสูญเปล่า การลงมติจึงถูกยกยอดมาลงมติอีกครั้งในสมัยประชุมนี้

ข้อเสนอ “จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ” เพื่อใช้แทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่ข้อเสนอที่เพิ่งมีขึ้นใหม่ ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2563 กระแสจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมถูกจุดขึ้นผ่านพื้นที่ชุมนุม  นำไปสู่การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งจากฟากประชาชนและจากส.ส. พรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เพื่อให้มีการตั้งสสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมรัฐสภาได้มีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญสองฉบับ หนึ่งฉบับเสนอโดยส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และอีกฉบับเสนอโดยส.ส.พรรคเพื่อไทย

แม้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางตั้งสสร. จะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไปจนถึงวาระสอง การลงมติรายมาตรา แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนั้นก็ไม่สำเร็จ เมื่อไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ และสมชาย แสวงการ ส.ว. เสนอญัตติด่วนให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 วินิจฉัยว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” ซึ่งบางฝ่ายตีความคำวินิจฉัยนี้ว่าหมายถึง ต้องทำประชามติว่าประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่เสียก่อน แล้วค่อยเสนอร่างแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่หนึ่ง ทำให้เสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวในการพิจารณาวาระที่สาม เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564

จากผลพวงของการคว่ำข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสสร. ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ชี้แจงชัดแจ้งว่า การทำประชามตินั้นจะต้องทำขั้นตอนใด ตั้งแต่ก่อนเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ หรือหลังร่างแก้รัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว จึงนำมาสู่การเสนอเรื่องทำประชามติ เพื่อถามประชาชนเจ้าของประเทศต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ 

นอกจากกระบวนการเสนอทำประชามติผ่านสภาแล้ว ยังมีอีกช่องทางหนึ่งที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม เสนอทำประชามติได้ ผ่านการลงชื่อประชาชน 50,000 ชื่อ เพื่อเสนอให้ครม. จัดทำประชามติถามประชาชนว่าต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ โดยสามารถลงชื่อได้ทางเว็บ https://www.resetthailand.org/ 

สำหรับกรณีของลงชื่อโดยประชาชนเสนอครม. ทำประชามติ ครม. จึงมีดุลยพินิจในการจัดหรือไม่จัดให้มีการทำประชามติก็ได้ จะ “ปัดตก” ก็ได้ การเสนอผ่านช่องทางสภา จึงเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ทำคู่ขนานกันไป ซึ่งต้องติดตามกันด่านต่อไปว่า บรรดาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดพิเศษ จะให้ความเห็นชอบกับการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่