ร่าง พ.ร.บ.กัญชา: 146 วัน หลังปล่อย “เสรีกัญชา” รัฐบาล-สภา ยังหาทางจบปัญหาไม่ได้

2 พฤศจิกายน 2565 จะเป็นวันประชุมของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 วันแรกของสมัยประชุม “สุดท้าย” เนื่องจากอายุของสภาชุดนี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 24 มีนาคม 2566 ดังนั้น สภาจะเหลือเวลาในการทำงานพิจารณาออกกฎหมายอีกไม่ถึงห้าเดือนเท่านั้น แต่ทว่ายังมีร่างกฎหมายอีกหลายฉบับที่ยังคงค้างหรือรอคอยการพิจารณาของสภาอยู่ หากไม่เสร็จสิ้นภายในสมัยประชุมนี้ก็เท่ากับยังต้องไปลุ้นต่อกับสภาชุดหน้า ซึ่งอาจมีตัวแทนที่คิดเห็นต่างออกไปจากที่ผ่านมาก็ได้

หนึ่งในกฎหมายสำคัญที่อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของสภาผู้แทนฯ คือ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ซึ่งจะมาเป็นกฎหมายที่ควบคุมสิ่งที่เคย “ผิดกฎหมาย” มาก่อน และเป็นกุญแจดอกสำคัญในการหาทางออกให้กับปัญหาการใช้กัญชาอย่างกว้างขวาง ชนิดไร้การกำกับดูแลมาเป็นเวลากว่า 146 วัน ถ้านับตั้งแต่วันที่ประกาศสาธารณสุขที่ปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดมีผลใช้บังคับ หรือ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 

อย่างไรก็ดี ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่พิจารณากันล่าช้ามากว่าที่คาดหมายมากแล้ว กลับถูกพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลตั้งคำถามถึงความหละหลวมของกฎหมาย อีกทั้งในความเห็นของแพทย์บางคน ก็ชี้ว่า กฎหมายดังกล่าวอาจจะส่งผลร้ายมากกว่าผลดี เพราะแอบเปิดทางให้มีการใช้กัญชาในเชิงสันทนาการอย่างกว้างขวาง ทำให้คาดเดาได้ยากว่า ผลการลงมติต่อร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จะเป็นอย่างไร และการปล่อยให้เสรีกัญชาแบบไร้ขอบเขตจะจบอย่างไร

ปลดล็อกกัญชา: เริ่มต้นเพื่อการรักษา แต่ช่องโหว่ทำให้มีผู้เสียชีวิต

การเรียกร้องให้ “ปลดล็อกกัญชา” เพื่อนำมาใช้ในการรักษาโรคหรือใช้ในทางการแพทย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย และมีการพูดถึงกันมาแล้วอย่างน้อยหลักสิบปี แต่เริ่มปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกในปี 2562 หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 โดยสาระสำคัญของกฎหมาย คือ ‘การปลดล็อค’ ให้นำกัญชาใช้สำหรับการแพทย์ การรักษา การศึกษาวิจัย หรือ การพาณิชย์ได้ แต่ยังคงเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 อยู่ 

โดยการแก้ไขกฎหมายใหม่กำหนดให้การผลิต นำเข้า ส่งออก ซื้อขาย รวมถึงการใช้ในชีวิตประจำวัน ต้องอยู่ภายใต้กำกับของรัฐ แต่มาตรการดังกล่าวก็ยังไม่ใช่การ “เปิดเสรี” เพราะบุคคลทั่วไปหรือครัวเรือนยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากกัญชาได้อย่างเต็มที่ อาทิ กลุ่มเกษตรกรรายย่อย เนื่องจากกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องไม่ได้อนุญาตให้ “ใครปลูกก็ได้” แต่กำหนดให้เกษตรกรต้องรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนสามารถเพื่อขออนุญาตปลูก

ต่อมา ในวันที่ 15 ธันวาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศ เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยระบุให้ “กัญชา” (Cannabis) พืชในสกุล Cannabis วัตถุหรือสารที่อยู่ในพืชกัญชา เช่น ยาง น้ำมัน เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ยกเว้น เปลือก ลำต้น และใบกัญชา (ที่ไม่มีช่อดอก) และสารสกัดกัญชาที่มีสาร Tetrahydrocannabinol-THC หรือ Cannabidiol-CBD ไม่เกิน 0.2% จะไม่ถือเป็นยาเสพติด 

จากนั้น ในปี 2564 รัฐบาลได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติด เข้าสู่ที่ประชุมของรัฐสภาในฐานะ “กฎหมายปฏิรูป” และที่ประชุมของรัฐสภาได้มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย จนในวันที่ 9 ธันวาคม 2565 พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติด ก็มีผลบังคับใช้ ซึ่งตามกฎหมายให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศระบุชื่อยาเสพติดให้โทษได้ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และในยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 ก็มีการถอดกัญชาออกไป

ต่อมาในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศเรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 โดยมีใจความว่า

  • กัญชาทุกส่วน ไม่ถือเป็นยาเสพติด
  • สารสกัดกัญชาที่มีสาร THC หรือ CBD ไม่เกิน 0.2% ไม่ถือเป็นยาเสพติด
  • มีผลบังคับใช้หลังเผยแพร่ประกาศ 120 วัน (มีผลบังคับใช้ 9 มิ.ย. 65)

การกำหนดให้ทุกส่วนของกัญชาไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด ในมุมหนึ่งคือการเปิดให้มีการใช้กัญชาได้อย่าง “เสรี” ไม่มีขอบเขต ซึ่งก็มีข้อดีคือทำให้เกิดการผลิตที่มากขึ้น คนที่ต้องการใช้เข้าถึงได้ง่าย และกระตุ้นการพัฒนาธุรกิจด้านนี้ได้มาก แต่ก็มีข้อเสียในกรณีที่ผู้ใช้กัญชาจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือสังคม หลังเปิดเสรีกัญชาแบบไร้ขอบเขต พบว่า ตั้งแต่มิถุนายนถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2565 มีผู้ป่วยที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือภาวะพิษเฉียบพลันจากการใช้กัญชาในเชิงสันทนาการ อย่างน้อย 63 คน ซึ่งมาจากการเก็บข้อมูลของนายแพทย์กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ นอกจากนี้ ยังมีจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตที่ยังคงเป็นปริศนาว่าเกี่ยวข้องกับการใช้กัญชามากน้อยแค่ไหน รวมถึงมีภาพของเยาวชนที่ใช้กัญชาจนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงการปล่อยเสรีโดยไม่มีมาตรการกำกับให้รัดกุม

ด้วยเหตุนี้พรรคภูมิใจไทย จึงเสนอ ร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา ให้สภาพิจารณา โดยมีสาระสำคัญว่า อนุญาตให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาเพื่อบริโภคในครัวเรือนได้แต่ต้องขอจดแจ้งกับรัฐเสียก่อน รวมถึงการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือ จำหน่ายกัญชาต้องได้รับใบอนุญาต นอกจากนี้ ต้องห้ามขายกัญชาเพื่อการบริโภคแก่ผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี, สตรีมีครรภ์, สตรีให้นมบุตร เว้นแต่แพทย์อนุญาต

ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2564 กว่าหนึ่งปีก่อนมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติด แต่กลับได้รับการบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาในปี 2565 และสภาเพิ่งจะมีมติรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 หรือก่อนวันประกาศอิสรภาพกัญชาเพียงวันเดียวเท่านั้น การที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เข้าสู่การพิจารณาและเดินไปอย่างล่าช้า “มาไม่ทัน” กับความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเหตุสำคัญที่สร้างภาวะสุญญากาศให้กับกัญชาไร้การควบคุมใดๆ

รัฐบาลเห็นช่องโหว่กฎหมายแล้ว แต่ไม่รีบจัดการ

หลังกัญชาต้องตกอยู่ในสภาวะสุญญากาศทางกฎหมายตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใดเป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 โดยมี สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ลงนามและให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2565 โดยสาระสำคัญคือให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการระงับยับยั้งเหตุรำคาญดังกล่าวได้ 

ต่อมาในวันที่ 16 มิถุนายน 2565 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามประกาศกฎกระทรวง เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้กัญชาที่เป็นพืชตระกูลแคนนาบิส (Cannabis) เป็นสมุนไพรควบคุม และให้ผู้ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป สามารถใช้ประโยชน์กัญชาได้ ยกเว้นการใช้ในที่สาธารณะโดยการสูบ, การใช้ประโยชน์ในหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร, การจำหน่ายให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร อีกทั้ง ให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายการแพทย์แผนไทย สามารถใช้ประโยชน์จากกัญชาในการบำบัดรักษาผู้ป่วยของตน

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า แม้การปล่อยเสรีกัญชาจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้รับผิดชอบและเป็นผู้ดำเนินการปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดกลับไม่ได้เตรียมมาตรการรองรับไว้ล่วงหน้าจนกระทั่ง เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 ทางสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานครรายงานข้อมูลผู้ป่วยใช้กัญชามากเกิน 4 ราย หนึ่งในนั้นเสียชีวิต 1 ราย กระทรวงสาธารณสุขถึงมีการออกมาตรการต่างๆ ตามมา

อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตต่อกระบวนการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกัญชาด้วยว่า การปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด เป็นการกระทำโดยเร่งด่วนของรัฐบาลซึ่งอาศัยช่องทาง “กฎหมายปฏิรูป” ในการเร่งรัดออกกฎหมายให้เร็วกว่ากระบวนการปกติ กล่าวคือ โดยปกติการตรากฎหมายต้องพิจารณาโดย ส.ส. ก่อน จากนั้นจึงส่งให้ ส.ว. เป็นผู้พิจารณา แต่ในกรณีที่เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศจะให้รัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วย ส.ส. และ ส.ว. พิจารณาร่วมกัน จึงทำให้กระบวนการสั้นลง และทำให้รัฐบาลได้เปรียบในการออกกฎหมายเนื่องจาก ส.ว. เป็นเสียงจำนวนมากที่สำคัญในการลงมติสนับสนุนรัฐบาล

การมีช่องทางพิเศษในการออกกฎหมายอยู่ในมือ จึงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่รัฐบาลจะผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบของกัญชาขึ้นมาประกบเพื่อพิจารณาไปพร้อมกัน แต่ทว่า รัฐบาลกลับใช้ช่องทางกฎหมายปฏิรูปเฉพาะ ร่าง พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติด แต่ไม่ได้นำร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา เข้ามาพิจารณาไปด้วยกัน ทำให้การปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดเดินไปลำพังโดยไม่มีมาตรการอื่นรองรับ จึงปฏิเสธได้ยากว่า ภาวะสุญญากาศทางกฎหมายเกี่ยวกับกัญชาเป็นความ “ผิดพลาด” 

หลังผ่านไปเกือบสี่เดือนที่กัญชาอยู่ในภาวะสุญญากาศ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้นัดพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ (กมธ.) ได้พิจารณาแก้ไขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 14 กันยายน 2565 แต่ทว่า การพิจารณากฎหมายดังกล่าวกลับต้องสะดุดตั้งแต่ยังไม่เริ่ม เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย รวมถึงพรรคเล็กพรรคน้อยอื่นๆ ต่างยื่นขอให้ลงมติเพื่อถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกไป และผลสุดท้ายเสียงข้างมากของสภาก็ลงมติให้ถอนร่างออกไปเพื่อแก้ไขใหม่ เพราะเห็นว่า กฎหมายยังมีความหละหลวม ทำให้ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่จะเป็นกลไกในการกำกับดูแลการใช้กัญชาต้องเลื่อนออกไป

ร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา จะเป็นจุดจบของปัญหา หรือ จะก่อปัญหาใหม่

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จะกลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนฯ อีกครั้ง โดยสาระคัญของ ร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา คือ ให้เพาะปลูก ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือขายกัญชา กัญชง หรือสารสกัด ได้ แต่ต้องขอรับใบอนุญาตก่อน หากกระทำโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และผู้ใดนําเข้ากัญชา กัญชง หรือสารสกัด โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ทั้งนี้ หากเป็นการปลูกกัญชาหรือกัญชงในครัวเรือน (ไม่ใช่ในเชิงพาณิชย์) กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องขออนุญาต แต่ต้องไปจดแจ้งและปลูกได้ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ต้น 

นอกจากนี้ ในการพิจารณาในชั้น กมธ. ยังมีการปรับแก้ตัวกฎหมาย โดยเพิ่มมาตรการการคุ้มครองผู้ที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากกัญชาเข้ามา อาทิ ห้ามโฆษณาหรือทําการสื่อสารการตลาด หรือ ห้ามขายกัญชา กัญชง กับบุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

อีกทั้ง ยังมีการจำกัดรูปแบบและสถานที่ในการขาย เช่น ห้ามขายช่อดอก ยาง สารสกัดจากกัญชา กัญชงเพื่อการสูบ ด้วยเครื่องขายอัตโนมัติ, ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 60,000-100,000 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน-1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือ ห้ามขายกัญชาในวัดหรือสถานที่สําหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา, สถานศึกษา, หอพัก, สวนสาธารณะ สวนสัตว์และสวนสนุก มิเช่นนั้น ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และห้ามผู้ใดสูบกัญชา กัญชง หรือสารสกัดในสถานที่สาธารณะ มิเช่นนั้นต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 60,000 บาท และห้ามขับขี่ยานพาหนะขณะมึนเมากัญชา โดยเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งหยุดและทดสอบความมึนเเมา หากกระทำผิดจริงต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

แม้โดยภาพรวมของกฎหมายจะเป็นไปในทางสร้างมาตรการป้องกันผลกระทบจากการเปิดให้ใช้กัญชา แต่จากข้อมูลของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง มีลักษณะเป็นการส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนปลูกกัญชาตามนโยบายรัฐบาล และเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเสพหรือใช้กัญชาโดยเสรีเพื่อนันทนาการ (recreational use) มิใช่การใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อการบำบัดรักษาผู้ป่วย และการให้ประชาชนปลูกกัญชา กัญชงในบ้านโดยไม่มีระบบการจดทะเบียนและได้รับอนุญาตจากบุคลากรทางการแพทย์ จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการนำกัญชาไปใช้อย่างไม่เหมาะสม อาจส่งผลเสียต่อครอบครัว ชุมชน และสังคมในวงกว้าง