ร่างแก้ไขรธน.ที่ผ่านและไม่ผ่านสภา

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 มีการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 4ฉบับด้วยกัน ผลเป็นดังนี้

1. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะกรรมการประชาชน (คปพร.) ฉบับที่ 1 โดยนายแพทย์เหวง โตจิราการ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 71,543 คน เป็นผู้เสนอ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

สาระสำคัญ คือ

  • กำหนดศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ
  • กำหนดให้นำบทบัญญัติส่วนใหญ่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ตั้งแต่หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย จนถึงหมวดที่ 12 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และบทเฉพาะกาลบางมาตรา มาใช้แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

ผลการลงคะแนนออกมาว่า

รับหลักการ 222 เสียง  

ไม่รับหลักการ 235 เสียง

งดออกเสียง 123 เสียง

2. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. …. ฉบับที่ 2  ที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล จำนวน 102 คนเป็นผู้เสนอ

สาระสำคัญ คือ

ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 รวม 6 ประเด็น ตามข้อเสนอของ คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ที่มี นายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธาน)  มี 6 ประเด็นที่จะแก้คือ

  • มาตรา 190 เรื่องการทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา จะแก้เป็นการทำหนังสือสัญญาจะกำหนดประเภทของหนังสือสัญญาว่า เรื่องใดบ้างต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา
  • การยุบพรรคการเมือง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรค (มาตรา 237) ทำยากขึ้น
  • ที่มาของ ส.ส. มาตรา 93-98 ระบบเลือกตั้งเป็นเขตเดียวเบอร์เดียว
  • ที่มาของ ส.ว.มาตรา 111-121 ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
  • การดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ส. มาตรา 265 ให้ ส.ส.สามารถดำรงตำแหน่งต่างๆได้ เช่น ผู้ช่วยรัฐมนตรี ฯลฯ 
  • การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนของ ส.ส.และ ส.ว.มาตรา 266ให้ ส.ส.และ ส.ว. สามารถใช้ตำแหน่งเข้าไปช่วยเหลือ (ก้าวก่าย) เรื่องต่างๆ ทั้งทางตรง หรืออ้อมได้

ผลการลงมติออกมาว่า

รับหลักการ 148 เสียง

ไม่รับหลักการ 177 เสียง และ

งดออกเสียง 212 เสียง

3. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. …. ฉบับที่ 3 มาตรา 93-98 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยการขานชื่อทีละคนเพื่อลงมติ

สาระสำคัญ คือ

ให้แก้ระบบเลือกตั้งเป็น เขตเดียวเบอร์เดียว โดย ส.ส. เขตจะมี 375 คน ส่วน ส.ส.สัดส่วน จะเหลือ 125 คน

ผลการลงมติออกมาว่า

รับหลักการ330  เสียง

ไม่รับหลักการ  156 เสียง

งดออกเสียง  34  เสียง

4. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. …. ฉบับที่ 4 มาตรา 190 เกี่ยวกับการลงนามในสนธิสัญญาที่ต้องขอความเห็นจากรัฐสภา โดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ด้วยการการขานชื่อทีละคน

สาระสำคัญ คือ

แก้ไขใน มาตรา 190 ที่ปกติการทำหนังสือสัญญาใดๆที่จะมีผลผูกพัน ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา มาเป็นกำหนดประเภทของหนังสือสัญญาว่า เรื่องใดบ้างต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

ผลการลงมติออกมาว่า

รับหลักการ354 เสียง
ไม่รับหลักการ 19 เสียง
งดออกเสียง 17 เสียง

ที่มา มติชน, กรุงเทพธุรกิจ

ภาพหน้าแรก : thaigov