เลือกตั้ง66: “บัตรสองใบ” เข้าคูหาเลือกคนที่รักเลือกพรรคที่ชอบ ระวังสับสนเบอร์คนเบอร์พรรคอาจไม่เหมือนกัน

หากไม่นับการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะ ระบบการเลือกตั้งทุกครั้งของไทยตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมามีความเปลี่ยนแปลงทุกครั้ง และในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2566 ก็จะใช้ระบบที่ต่างออกไปจากที่เคยใช้ในการเลือกตั้งในปี 2562 อีก โดยนอกจากสูตรคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ที่เปลี่ยนไปแล้ว สิ่งสำคัญอีกหนึ่งประการคือประชาชนจะได้รับบัตรเลือกตั้ง “สองใบ” เมื่อเดินเข้าคูหาเลือกตั้ง จากที่ครั้งก่อนมีเพียงใบเดียวเท่านั้น

การกลับมาของบัตรสองใบนี้มาควบคู่กับสูตรคำนวณที่นั่งบัญชีรายชื่อให้กลับมาเป็นระบบการคิดคำนวณแบบคู่ขนานหรือ MMM (Mixed member majoritarian system) แทนที่การใช้บัตรใบเดียวและการคำนวณแบบ “สูตรมีชัย” ที่เต็มไปด้วยความพิสดารและข้อครหาว่าบิดเบือนเสียงของประชาชน

บัตรใบที่หนึ่ง: เลือกคนที่รักให้เป็นตัวแทนเขตของเรา

เมื่อเข้าคูหา ประชาชนจะได้รับบัตรเลือกตั้งสองใบ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะสีที่ต่างกัน (คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จะประกาศสีของบัตรแต่ละใบเมื่อใกล้วันเลือกตั้ง) สำหรับบัตรใบแรก ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจะต้องเลือกผู้สมัคร ส.ส. เขตหนึ่งคนให้เป็นผู้แทนเขตเลือกตั้งของตนเอง โดยต้องเลือกผ่านการทำเครื่องหมายกากบาทเท่านั้น หากพบเครื่องหมายอื่นจะถือว่าเป็นบัตรเสียโดยทันที

การหาผู้ชนะในการเลือกตั้ง ส.ส. เขตนั้นไม่ได้มีความซับซ้อนเนื่องจากใช้ระบบเสียงข้างมาก กล่าวคือ ผู้สมัคร ส.ส. คนใดก็ตามที่ได้คะแนนสูงสุดจากผู้มาใช้เสียงทั้งหมดในเขตเลือกตั้งนั้นก็จะถือว่าเป็นผู้ชนะ และได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนเขตเลือกตั้งเข้าไปนั่งในสภา ระบบเลือกตั้ง ส.ส. เขตของไทยนั้นใช้ระบบเสียงข้างมากแบบธรรมดา (Simple majority) ดังนั้น แม้ว่าผู้ชนะจะไม่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด หากแต่เพียงได้รับคะแนนเสียงสูงสุด ก็จะถือว่าชนะการเลือกตั้งในเขตนั้น ซึ่งต่างจากบางประเทศที่บังคับให้ผู้ชนะจะต้องได้รับเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะทำผ่านการเลือกตั้งสองรอบหรือการให้ประชาชนสามารถเลือกลำดับความชอบของผู้สมัครได้

ตัวอย่างกรณีที่ผู้ชนะได้คะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งแต่ก็ยังถือว่าเป็นผู้ชนะภายใต้ระบบเสียงข้างมากแบบธรรมดา

ผู้สมัคร A ได้คะแนนเสียง 26%

ผู้สมัคร B ได้คะแนนเสียง 25%

ผู้สมัคร C ได้คะแนนเสียง 25%

ผู้สมัคร D ได้คะแนนเสียง 24%

ผลการเลือกตั้ง: ผู้สมัคร A ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. เขต

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 บัตรใบแรกจะมีความสำคัญอย่างมากเนื่องจากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งนั้น นอกจากจะมีการเปลี่ยนจำนวนของบัตรเลือกตั้งและวิธีการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อแล้ว ยังมีการเปลี่ยนสัดส่วนของ ส.ส. แต่ละประเภทอีกด้วย จากเดิมที่ในการเลือกตั้ง 2562 มี ส.ส. เขต 350 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 150 คน ก็มีการเพิ่มสัดส่วนของ ส.ส. เขตเป็น 400 คน และลด ส.ส. บัญชีรายชื่อให้เหลือเพียง 100 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนเดียวกับที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2540 ด้วยเหตุนี้ การเลือกตั้งในสนามเขตนั้นจึงมีความสำคัญมากขึ้น พรรคใดก็ตามที่สามารถยึดกุมพื้นที่เขตเอาไว้ได้ ก็มีโอกาสสูงที่จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

บัตรใบที่สอง: เลือกพรรคที่ชอบให้เข้าสภา

แต่ต้นเหตุของละครโรงใหญ่ที่เกิดขึ้นระหว่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งนั้นก็ไม่ได้กำเนิดมาแต่ปัญหาในบัตรใบแรก หากแต่เป็นบัตรใบที่สองที่นำไปสู่การหักมุมนับครั้งไม่ถ้วนในการเมืองรัฐสภา เมื่อประชาชนเข้าคูหากาบัตรใบที่สอง ตัวเลือกที่ปรากฏจะเป็นรายชื่อของพรรคการเมือง แทนรายชื่อของผู้สมัคร ส.ส. เขตที่พบในบัตรใบแรก โดยคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับจากประชาชนทั้งประเทศ ก็จะนำไปถูกคิดคำนวณเพื่อจัดสรรที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อตามสัดส่วนต่อไป

ในขณะที่บัตรใบแรกใช้เลือก ส.ส. เขตตามระบบเสียงข้างมาก บัตรใบที่สองจะเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อตามระบบแบบสัดส่วน สูตรคำนวณที่จะนำมาใช้ในบัตรใบที่สองในการเลือกตั้งปี 2566 นั้นจะคิดที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์แบบคู่ขนานกับจำนวน ส.ส. เขต หรือที่เรียกว่าระบบ MMM หรือในอีกชื่อหนึ่งคือระบบ “หารร้อย” ตามจำนวนที่นั่ง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ที่มี 100 คน ซึ่งเป็นระบบที่ประเทศไทยเคยใช้มาแล้วในรัฐธรรมนูญ 2540 (รูปแบบการคิดคะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อไม่ได้มีเพียงรูปแบบเดียว อ่านรูปแบบการคำนวณวิธีอื่นได้ที่นี่)

สูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นได้

คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน = จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ/จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน

จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่พรรคได้รับการจัดสรร = คะแนนที่พรรคนั้นได้/คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน

ยกตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งปี 25xx มีผู้ออกมาใช้เสียง 20 ล้านคน พรรค A ได้รับคะแนนเสียงในบัตรใบที่สองทั้งหมด 4 ล้านคน พรรค A ก็จะได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ 20 คน โดยคำนวณได้ดังนี้

200,000 (คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน) = 20,000,000 (จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ)/ 100 (จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ)

20 (จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรค A) = 4,000,000 (คะแนนที่พรรค A ได้)/200,000 (คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน)

กล่าวอย่างง่ายคือ ให้พิจารณาว่าคะแนนที่พรรคนั้นได้ในบัตรใบที่สองคิดเป็นร้อยละเท่าไรของจำนวนผู้ออกมาใช้เสียงทั้งประเทศ ก็จะได้ที่นั่ง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์เป็นจำนวนเท่ากับสัดส่วนคะแนนเสียงของตนเอง เช่น ในการเลือกตั้งเดียวกับกรณีตัวอย่างข้างต้น พรรค B ได้รับคะแนนเสียงในบัตรใบที่สอง 6 ล้านเสียง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของผู้ออกมาใช้สิทธิทั้งประเทศ 20 ล้านคน ดังนั้น พรรค B ก็จะได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ 30 ที่นั่ง

เมื่อนำจำนวนเขตที่พรรคชนะมารวมกับที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อตามการคำนวณข้างต้น ประชาชนก็จะทราบว่าพรรคนั้นได้รับ ส.ส. เป็นจำนวนทั้งหมดเท่าไร

เนื่องจากสูตรคำนวณแบบระบบ MMM เป็นการคำนวณแบบคู่ขนาน กล่าวคือ พิจารณาจากคะแนนบัตรใบที่สองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้นำคะแนนบัตรใบที่สองไปหาจำนวน “ส.ส. ที่พึงมี” เหมือนที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้ง 2562 ประกอบกับสัดส่วนของ ส.ส. บัญชีรายชื่อที่ถูกปรับลดลงเหลือเพียง 100 คน ทำให้น้ำหนักของบัตรใบที่สองก็น้อยลงตามไปด้วย พื้นที่ของพรรคขนาดเล็กและขนาดกลางที่มักหวังที่นั่งในระดับชาติจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อมากกว่าการเอาชนะในระดับเขตก็จะเล็กลงในการเลือกตั้งในปี 2566

ระวัง! หมายเลขผู้สมัครและพรรคไม่เหมือนกัน

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงมากมายหลายประการที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า แต่สิ่งหนึ่งที่จะเป็นประโยชน์และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนมากที่สุดกลับไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อประชาชนเดินเข้าคูหาในการเลือกตั้งในปี 2566 จะยังพบหมายเลขผู้สมัคร ส.ส. เขตในบัตรใบแรก และหมายเลขพรรคในบัตรใบที่สอง ไม่เหมือนกันเช่นเดิม เช่น ผู้สมัคร ส.ส. A อาจจะจับฉลากได้หมายเลข 2 ในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต แต่พรรคที่ผู้สมัคร ส.ส. A สังกัดนั้นอาจจับฉลากได้หมายเลข 5 ทำให้ประชาชนที่ต้องการเลือก “ทั้งคนทั้งพรรค” ต้องมีภาระเพิ่มในการกากบาทในช่องหมายเลขที่ไม่เหมือนกันในบัตรใบแรกและบัตรใบที่สอง แทนที่จะเป็นหมายเลขเดียวกันเพื่อให้สะดวกในการจดจำและลงคะแนน

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะ ผู้สมัคร ส.ส. เขตในแต่ละเขตเลือกตั้ง แม้ว่าจะสังกัดพรรคการเมืองเดียวกัน ก็อาจจะไม่ได้มีหมายเลขเดียวกันก็ได้ เนื่องจากผู้สมัคร ส.ส. เขตจะต้องจับฉลากหมายเลขของตนเองในทุก ๆ เขต โดยไม่ขึ้นอยู่กับว่ามาจากพรรคการเมืองใด ทำให้หมายเลขของผู้สมัคร ส.ส. เขตอาจจะไม่เหมือนกับหมายเลขของพรรคที่ตนเองสังกัดไปด้วย

การกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส. เขตที่อาจจะมีหมายเลขไม่เหมือนกันพรรคที่ตนสังกัดเป็น “ทริค” หนึ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้เพื่อสร้างความสับสนให้กับประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยรัฐสภาเคยมีความพยายามแก้ไขในชั้นกรรมาธิการพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส.) ให้ทั้ง ส.ส. เขตและพรรคมีเบอร์เดียวกันเพื่อลดความสับสนของประชาชนและให้พรรคการเมืองหาเสียงได้ง่ายขึ้น แต่ก็ไม่ได้รับการขานรับเนื่องจากสมาชิกกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ภายใต้การนำของพรรคพลังประชารัฐและสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งลงคะแนนเสียงให้เป็น “คนละเบอร์” เหมือนเดิม และเมื่อรัฐสภาไม่สามารถพิจารณากฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส. ได้ทันกรอบเวลา 180 วัน กฎหมายที่ผ่านในท้ายที่สุดจึงเป็นร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ซึ่งก็ไม่ได้มีการแก้ไขความสับสนของหมายเลขที่ต่างกันของ ส.ส. เขตและพรรคแต่อย่างใด

การเมืองเรื่องจำนวนบัตรเลือกตั้งในไทย

นับตั้งแต่ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อถือกำเนิดครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา ประเทศไทยก็มีบัตรเลือกตั้งสองใบมาโดยตลอด ทั้งนี้ก็เพื่อการันตีว่าประชาชนจะมี “ทางเลือก” ในการเลือกตัวแทนของตนเองมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเลือก ส.ส. เขตเพียงใบเดียวอย่างที่เคยเป็นมาตลอดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่รัฐธรรมนูญ 2560 กลับมีความผิดเพี้ยนไป โดยแม้จะยังมี ส.ส. สองรูปแบบเช่นเดิม แต่กลับลดจำนวนบัตรเลือกตั้งลงให้เหลือเพียงหนึ่งใบ แทนที่ประชาชนจะสามารถ “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ” ให้แตกต่างกันได้ ระบบเลือกตั้งที่ผุดกำเนิดขึ้นจาก คสช. กลับบังคับให้ต้อง “เลือกทั้งคนเลือกทั้งพรรค” ซึ่งนับว่าเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างร้ายแรง

เหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจของรัฐบาลทหารให้เหลือเพียงบัตรใบเดียวนั้นก็เพื่อย้อนการเมืองไทยให้กลับไปสู่การเมืองแบบตัวบุคคล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ “กระสุนดินดำ” ที่มีมากมายมหาศาลในการ “ดูด” นักเลือกตั้งตัวเต็งหรือผู้มีอิทธิพลในการเลือกตั้งแบบเขตจำนวนมากให้เข้ามาสวามิภักดิ์แก่เหล่าทหาร ดังนั้น ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจึงไม่มีอิสระในการเลือกมากนัก เพราะหากชื่นชอบผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐ แม้จะไม่ได้ปลื้มพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่ก็อาจจะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเลือกพรรคพลังประชารัฐอยู่ดีผ่านการลงคะแนนให้กับผู้สมัคร ส.ส. เขต