เลือกตั้ง66: นับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง หลายพรรคการเมืองเปลี่ยนทัพปรับโฉม

หากสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 หมดอายุลงด้วยเหตุอยู่ครบวาระสี่ปี คือสิ้นสุดในวันที่ 24 มีนาคม 2566 การเลือกตั้งครั้งใหม่ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดจะเกิดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 และทำให้พรรคการเมืองมีเวลาหาเสียงเลือกตั้งอีกประมาณหกเดือนถ้านับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 

เมื่อการเลือกตั้งใกล้เข้ามา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายพรรคการเมืองจะเริ่มจัดทัพปรับโฉมใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพบริบททางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวนักการเมืองหน้าเก่ากับพรรคการเมืองใหม่ หรือการปรับโฉมดึง “คนรุ่นใหม่” นำทัพพรรคการเมือง ไปจนถึงการจับมือหรือรวมพรรคระหว่างพรรคขนาดเล็กด้วยกันเอง

นักการเมืองหน้าเก่าเปิดตัวนำทัพพรรคการเมืองใหม่

เมื่อใกล้ถึงการเลือกตั้ง นักการเมืองทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ต่างแห่เปิดตัวกับพรรคการเมืองต่าง ๆ โดยการเลือกตั้งครั้งหน้าที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2566 จะมีพรรคการเมืองใหม่ที่นำโดยนักการเมืองหน้าเก่าที่ประชาชนอาจจะรู้จักหรือคุ้นเคยเป็นอย่างดีมาก่อน อย่างน้อย 4 คน ได้แก่

1) สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรคสร้างอนาคตไทย

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เริ่มต้นการทำงานทางการเมืองจากการเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนจะขยับมาเป็นที่ปรึกษาให้กับ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี สมคิดมีชื่อเสียงขึ้นมาในฐานะขุนพลเศรษฐกิจคนสำคัญของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย

หลังการรัฐประหาร ปี 2549 สมคิดลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย และได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ตั้งขึ้นหลังการรัฐประหารให้ดูแลเรื่องการทำให้ต่างชาติเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียง แต่ต่อมาเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทย ทำให้สมคิดในฐานะอดีตกรรมการบริหารพรรคต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลาห้าปีไปด้วย

ต่อมาหลังการรัฐประหาร ปี 2557 สมคิดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิก คสช. ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และดำรงตำแหน่งเรื่อยมา จนมาถึงช่วงใกล้เลือกตั้งในปี 2562 สมคิดได้หันมาจับมือกับ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ สหายอดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และอดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และ ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ แกนนำกลุ่มมัชฌิมา อดีตรัฐมนตรี 4 กระทรวง และแกนนำกลุ่มวังน้ำยม เพื่อทำกลุ่มการเมืองของตัวเอง ก่อนจะย้ายเข้าไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐพร้อมประกาศดัน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ

หลังการเลือกตั้ง ปี 2562 แม้ สมคิดจะได้กลับมารับตำแหน่งรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจอีกครั้ง แต่ด้วยความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐที่เต็มไปด้วยนักการเมืองจากหลากหลายมุ้ง ทำให้สมคิดและบรรดาลูกศิษย์ “4 กุมาร” ซึ่งประกอบไปด้วย อุตตม สาวนายน สุวิทย์ เมษินทรีย์ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และกอบศักดิ์ ภูตระกูล ลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯ และรัฐมนตรี

ต่อมาในปี 2565 มีรายงานข่าวว่า อุตตม สาวนายน และ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  ได้ไปเข้าร่วมกับพรรคสร้างอนาคตไทย และหลังจากนั้น อุตตมก็ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ และมีสนธิรัตน์เป็นเลขาธิการพรรค โดยมีนักการเมืองหน้าเก่าจากหลากหลายพรรคมาร่วมขบวน อย่างเช่น นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หรือ สันติ กีระนันทน์ และ สุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐที่ลาออกมาร่วมพรรคใหม่โดยเฉพาะ นอกจากนี้ พรรคสร้างอนาคตไทยยังแต่งตั้งให้สมคิดมานั่งเป็นประธานพรรค พร้อมทั้งเป็นคนที่พรรคจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดไป

2) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เริ่มต้นการทำงานทางการเมืองจากการเป็น ส.ส. กรุงเทพมหานคร จากพรรคพลังธรรม ก่อนจะได้ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคพลังธรรม และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา

ต่อมา พรรคไทยรักไทยที่นำโดย ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำการควบรวมกับพรรคต่าง ๆ ทำให้สุดารัตน์ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย และได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พร้อมกับรับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในสมัยรัฐบาลทักษิณ จนกระทั่งมีการรัฐประหาร ปี 2549 สุดารัตน์จึงต้องเว้นวรรคทางการเมือง หลังมีการยุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี

สุดารัตน์กลับมาสู่ถนนการเมืองอีกครั้งในช่วงก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 โดยขณะนั้นได้ดำรงตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และเป็นหนึ่งในสามบุคคลที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ทว่า ภายใต้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่มี ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว รวมถึงตัวสุดารัตน์ก็ไม่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. จึงทำให้บทบาททางการเมืองลดน้อยลง

จากนั้นไม่นาน สุดารัตน์ ได้ลาออกจากพรรคเพื่อไทย และมาร่วมก่อตั้งพรรคใหม่ในชื่อไทยสร้างไทย โดยเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 สุดารัตน์ได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคให้ดำรงตำแหน่งประธานพรรคและหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย โดยมีอดีตคนคุ้นเคยจากพรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทยตามมาสังกัด อย่างเช่น ศิธา ทิวารี อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ต่อพงษ์ ไชยสาส์น อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือ โภคิณ พลกุล อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านนโยบายและแผนงานของพรรคเพื่อไทย

3) พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เคยเป็นข้าราชการ โดยดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาก่อนจะเข้าสู่แวดวงทางการเมืองในฐานะ ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับการเลือกเรื่อยมาในฐานะพรรคฝ่ายค้าน จนกระทั่งมีการการยุบพรรคพลังประชาชนที่เป็นพรรครัฐบาล ทำให้เกิดการพลิกขั้วและพรรคประชาธิปัตย์กลายมาเป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาลภายใต้ข้อครหาว่า มีกองทัพคอยหนุนหลัง และทำให้พีระพันธุ์กลายมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ต่อมาหลังการเลือกตั้ง ปี 2562 แม้พีระพันธุ์จะรักษาตำแหน่ง ส.ส. ไว้ได้ แต่พรรคประชาธิปัตย์ต้องเผชิญกับความล้มเหลวครั้งใหญ่ เพราะมีผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งต่ำกว่าเป้าหมาย ทำให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก และต้องมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งหนึ่งในผู้ท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก็มี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ร่วมอยู่ด้วย แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์

ต่อมา พีระพันธุ์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ และได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี รวมถึงได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และคณะกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด เพื่อมาดูการฟื้นฟูกิจการการบินไทย 

แต่หลังจากนั้นไม่นาน พีระพันธุ์ก็ได้ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ และเข้าไปสังกัดพรรคใหม่ในชื่อ “รวมไทยสร้างชาติ” ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าพรรค ภายใต้ข่าวลือว่า พรรคดังกล่าวเป็นพรรคสำรองที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งขึ้น หากสูญเสียฐานที่มั่นในพรรคพลังประชารัฐไป พรรครวมไทยสร้างชาติมีบุคคลที่เป็นที่รู้จักเข้าร่วม โดยเฉพาะแกนนำกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. อย่างเช่น เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ หรือ วิทยา แก้วภราดัย เป็นต้น

4) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี

นายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม หรือ ที่คนรู้จักกันในชื่อ “หมอวรงค์” เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองในปี 2546 โดยขอเข้าร่วมกับพรรคไทยรักไทยเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จังหวัดพิษณุโลก แต่ท้ายที่สุดพรรคได้เลือกคนอื่น จึงลาออกและย้ายไปพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็ทำให้ได้รับเลือกเป็น ส.ส.พิษณุโลก เรื่อยมา จนกระทั่งการเลือกตั้งในปี 2562 หมอวรงค์ ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับผู้สมัครหน้าใหม่จากพรรคหน้าใหม่ ที่ชื่อ อนาคตใหม่ และหลังจากนั้นไม่นาน หมอวรงค์ก็ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์

ต่อมา สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (ชื่อเดิมของพรรครวมพลัง) ได้ดึงหมอวรงค์ไปช่วยงานพรรค พร้อมได้รับเลือกจากกรรมการบริหารพรรคให้เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรรค โดยมีภารกิจสำคัญคือ “ปราบลัทธิชังชาติ” แต่หลังจากอยู่ได้ไม่ถึงหนึ่งปี หมอวรงค์ก็ลาออก โดยให้เหตุผลว่า การสังกัดพรรคการเมืองทำให้มีข้อจำกัดและไม่คล่องตัวในการหาแนวร่วม ก่อนจะเปิดตัวกลุ่ม “ไทยภักดี” หลังจากนั้นไม่นาน

จนในปี 2564 หมอวรงค์ได้จัดตั้งกลุ่มไทยภักดีให้เป็นพรรคการเมืองในชื่อเดียวกัน พร้อมประกาศนโยบายว่าจะต่อสู้กับ “ม็อบสามนิ้ว-พรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า” และระบุกลุ่มดังกล่าวเป็น”ขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์” ทั้งนี้ ไทยภักดีได้ดึงขุนพลจากพรรคเก่า ถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำกลุ่ม กปปส. มาร่วมพรรคด้วย

หลายพรรคการเมืองชู “คนรุ่นใหม่” นำทัพสู้ศึกเลือกตั้ง

หลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นำโดยบรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษาในปี 2563 ทำให้พรรคการเมืองต้องพยายามปรับโฉมให้ทันสมัยตอบสนองต่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ อีกทั้ง ยังมีการดึง “คนรุ่นใหม่” เข้ามาเป็นกำลังสำคัญในพรรค โดยถ้านับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 มีคนรุ่นใหม่ที่ขึ้นมานำทัพพรรคการเมืองอย่างน้อยสี่คน ได้แก่

1) แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย

แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง วัย 36 ปี เป็นที่รู้จักกันในฐานะลูกคนสุดท้องของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยก่อนหน้าที่จะเข้าสู่ถนนการเมือง เธอดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่ด้านบริหารกลุ่มธุรกิจโรงแรม บริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และกรรมการบริษัทธุรกิจในเครือ เช่น โรงแรมโรสวูด กรุงเทพฯ โรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ โรงแรมเอสซี ปาร์ค

ในปี 2564 พรรคเพื่อไทยมีการปรับโฉมพรรคใหม่เพื่อรองรับกระแสคนรุ่นใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยมี นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และดึงตัวแพทองธารมาเป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมเพื่อทำภารกิจเชื่อมต่อระหว่างรุ่นคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่

ต่อมาในปี 2565 แพทองธารได้ขยับบทบาทจากการเป็นที่ปรึกษามาเป็นผู้นำทัพสู้ศึกการเมืองภายใต้บทบาทใหม่ในชื่อ “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” แม้ตำแหน่งดังกล่าวจะไม่ใช่ตำแหน่งอย่างเป็นทางการภายในพรรค แต่ก็สะท้อนถึงบทบาทและความไว้วางใจต่อตัวแพทองธาร ท่ามกลางกระแสข่าวว่า แพทองธารจะเป็นหนึ่งในผู้ที่พรรคจะเสนอให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

2) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือ ทิม เป็นรู้จักกันในฐานะนักธุรกิจรุ่นใหม่วัย 42 ปี ที่ประสบความสำเร็จจากบริษัทผลิตผลิตผลทางการเกษตร และโด่งดังจากการปลดหนี้สินของครอบครัวหลักร้อยล้านบาท และจบการศึกษาด้านธุรกิจและการเมืองจากมหาวิทยาลัย Harvard และ Massachusetts Institute of Technology (M.I.T.)

ในปี 2562 พิธาเปิดตัวเข้าร่วมกับพรรคอนาคตใหม่ที่นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่สี่ และได้รับการวางตัวให้เป็นว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หากพรรคได้เป็นรัฐบาล แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ เขาจึงย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกลและได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล

สำหรับบทบาทในสภา พิธามีชื่อเสียงจากการอภิปรายถึงนโยบายด้านเกษตรกรระหว่างการแถลงนโยบายของรัฐบาล และได้รับคำชื่นชมจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกลางสภา โดยเขาได้อภิปรายเกี่ยวกับ “กระดุมห้าเม็ด” ของปัญหาการเกษตร ได้แก่ ปัญหาการถือครองที่ดิน ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูง ปัญหาจากการไม่มีนวัตกรรมแปรรูปสินค้นเกษตร และการไม่มีทางเลือกในการยกระดับรายได้ เช่น การทำการท่องเที่ยวเชิงเกษตร

3) ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ

พรรคเพื่อชาติเป็นพรรคเกิดใหม่ในช่วงการเลือกตั้ง ปี 2562 เนื่องจากภายใต้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 บีบให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ต้องแตกพรรค หรือ ที่เรียกกันว่า “แตกแบงค์พัน” เพื่อไม่จำนวนที่นั่งในสภาน้อยลง 

พรรคเพื่อชาติมีชื่อเสียงจากการช่วยหาเสียงของ จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยสามารถคว้าที่นั่งในสภาไปได้ห้าที่ ภายใต้การนำของ สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่เป็นหัวหน้าพรรค 

ต่อมาพรรคเพื่อชาติได้มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคอีกหลายครั้ง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565 ที่ประชุมพรรคเพื่อชาติได้เลือก ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช หรือ ฮาย ลูกสาวของยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่มีอายุเพียง 31 ปีเท่านั้น เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ โดย ปวิศรัฐฐ์ มีชื่อเสียงในวงการฟุตบอลไทยลีกในชื่อ ‘แม่เลี้ยงฮาย’ จากการเป็นประธานสโมสรสิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ที่พาทีมคว้าแชมป์ฟุตบอลโตโยต้า ไทยลีก 2019

4) วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา

วราวุธ ศิลปอาชา หรือ ท็อป เป็นลูกชายคนเล็กสุดของบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทยและอดีตนายกรัฐมนตรี โดยเขาเริ่มต้นเส้นทางการเมืองจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรีสามสมัยซ้อนตั้งแต่ปี 2544 ในนามพรรคชาติไทย และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ 

ต่อมาในปี 2551 วราวุธ ศิลปอาชา ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคชาติไทยซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค ก่อนจะกลับมาสู่ถนนการเมืองอีกครั้งในการเลือกตั้ง ปี 2562 ในฐานะ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และเข้าร่วมเป็นพรรครัฐบาลและได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

ในปี 2565 วราวุธได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคแทน กัญจนา ศิลปอาชา พี่สาวผู้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทยคนก่อนหน้า เพื่อสู้ศึกการเลือกตั้งครั้งใหม่

พรรคเล็กเตรียมควบรวมรับมือระบบเลือกตั้งใหม่

ในขณะที่พรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดใหญ่ปรับตัวเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี 2566 พรรคขนาดเล็ก หรือ พรรคที่มี ส.ส. ในสภาไม่ถึงสามที่นั่งก็มีการปรับตัว เนื่องจากการเลือกตั้งใหม่จะใช้ระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่เรียกว่าระบบผสมเสียงข้างมาก หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อระบบคู่ขนานที่ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบให้ประชาชนมีสิทธิเลือกทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ แยกออกจากกัน

แต่ทว่า ภายใต้ระบบเลือกตั้งดังกล่าว มีแนวโน้มที่พรรคขนาดเล็กจะเสียเปรียบ เพราะพรรคขนาดเล็กจะมีคะแนนนิยมทั่วประเทศไม่มากนัก ยิ่งเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมเฉพาะภูมิภาคยิ่งมีโอกาสน้อยที่จะได้รับ ส.ส. จากบัญชีรายชื่อ ด้วยเหตุนี้ พรรคการเมืองขนาดเล็กจึงเริ่มทยอยจับมือหรือควบรวมกัน เพื่อให้พรรคมีฐานเสียงจากทั้งเฉพาะพื้นที่และทั่วประเทศมากขึ้น ได้แก่

1) พรรคชาติพัฒนากล้า ที่นำโดย กรณ์ จาติกวณิช

พรรคชาติพัฒนากล้า เป็นการรวมตัวกันระหว่างพรรคชาติพัฒนาที่นำโดย สุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และ กรณ์ จาติกวณิช อดีตหัวหน้าพรรคกล้า โดยก่อนที่กรณ์ และพรรคชาติพัฒนาจะจับมือกัน กรณ์เป็นอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่หลังการเลือกตั้งในปี 2562 กรณ์ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. และพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อมาทำพรรคกล้า โดยมี อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ มาทำหน้าที่เป็นเลขาธิการพรรค 

ในช่วงต้นปี 2565 พรรคกล้าได้ส่ง อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคลงแข่งในสนามการเลือกตั้งซ่อมกรุงเทพมหานคร เขตหลักสี่ แต่อรรถวิชช์และพรรคกล้ากลับได้รับคะแนนเสียงเป็นลำดับที่สาม พ่ายแพ้ให้กับผู้ชนะลำดับที่หนึ่งอย่าง สุรชาติ เทียนทอง จากพรรคเพื่อไทย และ กรุณพล เทียนสุวรรณ จากพรรคก้าวไกล จากนั้น กรณ์ถึงได้มีข่าวคราวว่ามาจับมือร่วมกับพรรคชาติพัฒนา และมีการเปลี่ยนชื่อพรรคใหม่เป็น ชาติพัฒนากล้า ก่อนจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

2) พรรคโอกาสไทย ที่นำโดย มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์

พรรคโอกาสไทย เป็นพรรคที่เปลี่ยนชื่อมาจากพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ที่นำโดยดำรงค์ พิเดช ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย และประธานที่ปรึกษาพรรค โดยพรรคได้ปรับโฉมด้วยการดึงมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ 

ก่อนจะมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคสร้างโอกาสไทย มิ่งขวัญเป็นอดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคพลังประชาชน อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ก่อนจะห่างหายจากการเมืองไปหลังพรรคพลังประชาชนถูกยุบ และกลับมาใหม่ในการเลือกตั้ง ปี 2562 ในชื่อพรรคเศรษฐกิจใหม่ จนกลายเป็นขวัญใจวัยรุ่นในฐานะ “ลุงมิ่ง”

มิ่งขวัญโกยที่นั่งจากการเลือกตั้ง ปี 2562 ไปได้ถึงหกที่นั่ง และยืนยันที่จะไม่เข้าร่วมเป็นรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่ามกลางกระแสว่ามีการดึงตัวไปร่วมรัฐบาล แต่สุดท้าย ส.ส. ของพรรคเศรษฐกิจใหม่ก็หักเจตนารมณ์มิ่งขวัญด้วยการไปร่วมรัฐบาล จนมิ่งขวัญ เป็น ส.ส. ฝ่ายค้านคนเดียวของพรรค หลังจากนั้น มิ่งขวัญ จึงได้ตัดสินใจลาออก ก่อนจะมาร่วมก่อตั้งพรรคโอกาสไทย