นับตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2565 ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ เนื่องจากตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2561 หรือ “พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.” มาตรา 68 กำหนดให้ภายในระยะเวลา 180 วัน ก่อนถึงวันที่สภาผู้แทนราษฎรอยู่ครบวาระ หรือ วันที่ 24 มีนาคม 2566 บรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามระเบียบวิธีการหาเสียงที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นคนกำหนด หากมีการเลือกตั้งใหม่อันเนื่องมาจากสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ
เมื่อฤดูกาลเลือกตั้งได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ สิ่งสำคัญที่บรรดา ส.ส. และผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีก่อนจะไปสู่การเลือกตั้งครั้งหน้า คือ ‘การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง’ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 และ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. บังคับให้ต้องมี ด้วยเหตุนี้ บรรดา ส.ส. และผู้สมัครรับเลือกตั้งจึงเริ่มเตรียมตัวหาที่ทางให้กับตัวเองก่อนจะถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 ดังจะเห็นได้จากการเปิดตัวร่วมกิจกรรมกับพรรคการเมืองที่ตัวเองคาดว่าจะเข้าไปร่วมงานด้วย
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดให้ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งต้องเข้าเป็นสมาชิกพรรคอย่างช้าที่สุดไม่เกิน 90 วัน นับจนถึงวันเลือกตั้ง (กรณีเลือกตั้งใหม่เพราะครบวาระสภา) หรือ 30 วัน นับจนถึงวันเลือกตั้ง (กรณีเลือกตั้งใหม่เพราะยุบสภา) ส่วนบรรดา ส.ส. ที่ต้องการย้ายพรรคหรือเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ก็ต้องลาออกจากสมาชิกพรรคเดิมก่อน ซึ่งจะส่งผลให้สถานะการเป็น ส.ส. สิ้นสุดลงด้วยเช่นกัน
สมัคร ส.ส. ต้องเป็นสมาชิกพรรค 90 วัน ยกเว้นยุบสภา
คุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ของผู้ที่ต้องการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. คือการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะหากไม่มีพรรคการเมืองสังกัดก็ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้ โดยรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดไว้ว่า
“มาตรา 97 บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร …
(3) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภาระยะเวลาเก้าสิบวันดังกล่าวให้ลดลงเหลือสามสิบวัน”
จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขในการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อลงสมัคร ส.ส. มีอยู่ 2 เงื่อนไข ดังนี้
- กรณีครบวาระสภาผู้แทนฯ ต้องเป็นสมาชิกพรรคนั้นเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง
- กรณียุบสภาฯ ต้องเป็นสมาชิกพรรคนั้นเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 30 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง
ถ้า ส.ส.ย้ายพรรคใหม่ต้องลาออก สิ้นสภาพ ส.ส.
การเลือกตั้งยังคงมีความไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นวันไหน ในกรณีหากครบวาระสภาฯ และมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ตามที่ กกต. กำหนดไว้เบี้องต้น จะทำให้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองต่อเนื่อง 90 วัน ซึ่งจะต้องเป็นสมาชิกพรรคอย่างน้อยภายในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566
อย่างไรก็ตาม เพื่อความแน่นอนในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ควรสังกัดพรรคการเมืองครบ 90 วัน ก่อนวันรับสมัครเลือกตั้ง ดังจะเห็นได้ว่า ส.ส.ปัจจุบันที่ต้องการจะย้ายพรรคใหม่ ได้กำหนดเส้นตายในการย้ายพรรคไว้ช่วงวันที่ 24 ธันวาคม 2565 คือเป็นระยะเวลา 90 วัน จนถึงวันหมดอายุสภาผู้แทนราษฎร
แต่การจะย้ายพรรค ส.ส.ต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเดิมก่อน เพราะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2560 มาตรา 26 กำหนดให้พรรคต้องตรวจสอบไม่ให้ผู้ใดเป็นสมาชิกซ้ำซ้อนกับพรรคการเมืองอื่น กล่าวคือ ห้ามไม่ให้ผู้ใดเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งพรรค และการลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคระหว่างเป็น ส.ส. จะส่งผลให้สถานะการเป็น ส.ส. ของบุคคลนั้นสิ้นสภาพไปทันที
อย่างไรก็ดี ถ้ามีการยุบสภาฯ เกิดขึ้น ก็จะทำให้เงื่อนไขการเป็นสมาชิกพรรคก่อนวันเลือกตั้งลดลงเหลือเพียง 30 วัน ทำให้ ส.ส. ที่ต้องการย้ายพรรคยังสามารถย้ายพรรคหลังยุบสภาได้ทันก่อนวันเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ กกต. ต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน นับจากวันยุบสภาฯ และการยุบสภายังทำให้ ส.ส. ที่ต้องการย้ายพรรคไม่เสียเปรียบ ส.ส. คนอื่นที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ เนื่องจากทุกคนสิ้นสภาพการเป็น ส.ส. พร้อมกัน
ย้อนข้อมูล ส.ส.ย้ายพรรค ของสภาผู้แทนฯ เลือกตั้ง 2562
ที่ผ่านจะเห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งปี 2562 มี ส.ส.ย้ายพรรคจำนวนหลายครั้ง แต่ไม่ได้ต้องสิ้นสภาพ ส.ส.ไปด้วย เนื่องจากสามสาเหตุประกอบด้วย
- ส.ส.ถูกขับออกจากพรรค ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ ส.ส.ที่ถูกขับจากพรรคต้องหาพรรคใหม่ภายใน 30 วัน ถ้าหาไม่ได้จะต้องสิ้นสภาพการเป็น ส.ส. โดยที่ผ่านมามีสามเหตุการณ์ คือ การขับไล่ ส.ส.งูเห่า พรรคอนาคตใหม่ สี่คน, การขับไล่ ส.ส.งูเห่า พรรคเพื่อไทย สองคน และ ความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ จนนำไปสู่การขับไล่ ส.ส.กลุ่มของ รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า 21 คน
- พรรคการเมืองถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ทำให้ ส.ส.จากพรรคที่ถูกยุบต้องหาพรรคสังกัดใหม่ ในกรณีคือ พรรคอนาคตใหม่ ที่ทำให้ ส.ส. จำนวน 65 คนต้องหาพรรคสังกัดใหม่
- พรรคเล็กยุบพรรคตัวเองเพื่อย้ายไปอยู่พรรคใหญ่ ในกรณีเกิดขึ้นการ พรรคประชาชนปฏิรูป ที่มี ส.ส. หนึ่งคน คือ ไพบูลย์ นิติตะวัน กับพรรคประชาธรรมไทย ที่มี ส.ส.หนึ่งคนเช่นกัน คือ พิเชษฐ สถิรชวาล ทั้งคู่ใช้วิธียุบพรรคตัวเอง แล้วย้ายไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ
การที่ ส.ส.ไม่มีสังกัดพรรคจากสามกรณีไม่มีผลทำให้สภาพการเป็น ส.ส.สิ้นสุดลง ซึ่งแตกต่างจากกรณีที่ ส.ส.ย้ายพรรคด้วยสาเหตุลาออกด้วยตัวเองที่จะมีทำให้ทำให้สิ้นสภาพการเป็น ส.ส.ทันที ดังเช่น กรณีของ “มาดามเดียร์” วทันยา บุนนาค ที่ลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และต่อมาย้ายมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่สามารถพกตำแหน่ง ส.ส.มาได้เพราะสิ้นสุดตั้งแต่ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐแล้ว
RELATED POSTS
No related posts