จาก 14 ตุลาฯ 16 ถึง 6 ตุลาฯ 19: การเบ่งบานและร่วงโรยของประชาธิปไตยไทย

เหตุการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าในฐานะ “วันมหาวิปโยค” วันที่มีการปราบปรามประชาชนที่ออกมาประท้วงรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร อย่างรุนแรง แต่ในอีกมุมหนึ่ง เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ก็ถูกจดจำในฐานะ “การปฏิวัติตุลาคม” ที่ฝ่ายผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลได้รับชัยชนะเหนือฝ่ายเผด็จการทหารจนนำไปสู่การเปลี่ยนตัวรัฐบาลและมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การเมืองไทย ‘ดูเหมือน’ จะเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น ประชาชนมีเสรีภาพในการคิดและการแสดงออก มีการชุมนุมประท้วง ในขณะที่รัฐบาลประกอบไปด้วยฝ่ายพลเรือนและมาการเลือกตั้ง จนกล่าวได้ว่า เป็นช่วงที่ประชาธิปไตยไทยกำลังเบิกบาน แต่ทว่า หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ไปไม่ถึง 3 ปี ประชาธิปไตยไทยก็มีอันต้องร่วงโรยด้วยการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเกิดขึ้นหลังการปราบปรามนักศึกษาและประชาชนอย่างโหดร้ายทารุณ

14 ตุลาฯ 16 การเบ่งบานของประชาธิปไตยไทย

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มาจากการบรรดานักวิชาการ นักการเมือง นักคิด นักเขียน นิสิต นักศึกษาออกมาเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ เนื่องจากประเทศไทยถูกปกครองในระบอบเผด็จการทหารมาเป็นเวลาถึง 15 ปี นับตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารในปี 2501 จนมาถึงการรัฐประหารซ้ำในปี 2514 ที่นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร ทำให้ประชาชนที่เบื่อหน่ายระบอบเผด็จการทหารต้องการให้มีรัฐธรรมนูญใหม่และคืนอำนาจกลับไปให้ประชาชน

แต่ทว่า หลังการออกมาเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญและคืนอำนาจให้กับประชาชน รัฐบาลจอมพลถนอมได้ตอบโต้ด้วยการจับกุมประชาชนที่ออกมาเรียกร้องรัฐธรรมนูญ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “13 ขบถรัฐธรรมนูญ” จนทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่องของบรรดานักศึกษาก่อนจะกลายเป็นการชุมนุมใหญ่ของประชาชนในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 จนรัฐบาลเปลี่ยนท่าทีด้วยการสัญญาว่าจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญ และปล่อยตัวประชาชนที่ออกมาเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ

แต่เหตุการณ์ที่ควรจะจบลงด้วยความสงบกลับถูกแทนที่ด้วยความรุนแรงในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 โดยหลังจากที่กลุ่มนักศึกษาไปขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่พระบรมมหาราชวัง เจ้าหน้าที่รัฐได้ทำการสกัดกั้นผู้ชุมนุมจนนำไปสู่การปะทะและจบลงด้วยการสูญเสีย ที่มีผู้เสียชีวิต อย่างน้อย 77 ราย และบาดเจ็บ อย่างน้อย 857 ราย 

การปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ชุมนุมได้โหมไฟให้เกิดการรวมตัวชุมนุมประท้วงอีกครั้ง จนท้ายที่สุด ก็มีการประกาศผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยว่า จอมพล ถนอม กิตติขจร ขอลาออกจากตำแหน่งแล้ว และพระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

หลังมีการประกาศแต่งตั้งสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์ความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไป จนถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2516 ที่มีข่าวว่า จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร เดินทางออกนอกประเทศแล้ว เหตุการณ์จึงค่อยสงบลง และทำให้เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ถูกจารึกในฐานะ ‘ชัยชนะของประชาชน’

ต่อมารัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ทำการตั้ง “สมัชชาแห่งชาติ” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “สภาสนามม้า” ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจำนวน 2,347 คน และให้เลือกกันเองให้เหลือ 299 คน จากนั้นจึงแต่งตั้งบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกไปเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญ ปี 2517 

โดยเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ปี 2517 นอกจากจะทำให้การปกครองประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยและมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว เนื้อหาหลายส่วนมีความก้าวหน้า เช่น การห้ามนิรโทษกรรมผู้ที่กระทำการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือรัฐธรรมนูญ การห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาดำรงตำแหน่งข้าราชการประจำ หรือ การให้ ส.ส. และ ส.ว. ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ยังถูกตั้งคำถามต่อว่า นี่คือชัยชนะของประชาชนหรือการได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการสละอำนาจบางส่วนจากชนชั้นนำให้ประชาชนมีส่วนแบ่งทางอำนาจบ้าง แต่อำนาจที่แท้จริงเป็นของชนชั้นนำดั้งเดิม

6 ตุลาฯ 19 การร่วงโรยของประชาธิปไตยไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเมืองไทย เคยกล่าวถึงช่วงเวลาหลัง 14 ตุลาฯ 16 ไว้ว่า มีการชุมนุมจากกลุ่มต่างๆ เต็มไปหมด ทั้งจากลุ่มผู้ใช้แรงงาน ชาวนา นักศึกษา จนเปรียบเสมือนภูเขาไฟที่ระเบิดออก เพราะในช่วงยุครัฐบาลเผด็จการทหารภายใต้รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาจนถึงจอมพลถนอม กิตติขจร มีการสั่งสมปัญหาเอาไว้มาโดยตลอด

โดยสมัยจอมพลสฤษดิ์ กลุ่มผู้ใช้แรงงานถูกกดขี่ อาทิ การกดค่าจ้างแรงงานเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างชาติ รวมถึงมีการสั่งห้ามรวมกลุ่ม ห้ามนัดหยุดงาน โดยอ้างกฎหมายความมั่นคง และข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ทำให้ประชาชนกลับมามีสิทธิเสรีภาพและสามารถออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมได้มากขึ้น เช่นเดียวกับขบวนการเคลื่อนไหวอื่นๆ อย่าง กลุ่มนักศึกษา ชาวนา ต่างก็ออกมาเคลื่อนไหว 

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางการเคลื่อนไหวต่อสู้ของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ชาวนา คนยากจน และการเติบโตของแนวคิดแบบสังคมนิยมในหมู่นักศึกษา ทำให้กลุ่มผู้มีอำนาจที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมเกิดความหวาดกลัว ประกอบกับการเกิดปฏิวัติไปสู่ระบอบสังคมนิยมในประเทศเพื่อนบ้าน จึงทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเริ่มปฏิบัติใส่ร้ายป้ายสีขบวนนักศึกษาและมีการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มนักเคลื่อนไหว โดยเฉพาะหลังมีการเคลื่อนไหวต่อต้านการกลับเข้ามาในประเทศของจอมพลถนอม กิตขจร ยิ่งนำไปสู่ความตึงเครียดระหว่างชนชั้นนำกับประชาชน

ต่อมาศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ได้จัดการชุมนุมหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2519 จนกระทั่งวันที่ 5 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์เริ่มตึงเครียด เมื่อหนังสือพิมพ์ดาวสยามพยายามกล่าวหาการแสดงละครของกลุ่มนักศึกษาที่จำลองการฆาตกรรมช่างไฟฟ้านครปฐมที่ออกมาประท้วงจอมพลถนอมว่าเป็นการแสดงความอาฆาดมาดร้ายต่อพระบรมโอรสาธิราช (พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว) และต้องการทำลายสถาบันกษัตริย์ 

ต่อมาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีการการระดมพลทั้งกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน นวพล ซึ่งมาจากการจัดตั้งของทหาร ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเริ่มเปิดฉากสังหารหมู่ประชาชนอย่างโหดร้ายทารุณด้วยการใช้อาวุธหนัก มีการใช้อาวุธปืนในหลายรูปแบบกับผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นมีการบังคับให้ผู้ชุมนุมถอดเสื้อนอนลงกับพื้น มีการทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงมีการเผาและทำลายศพ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้เสียชีวิต อย่างน้อย 40 คน และบาดเจ็บด อย่างน้อย 145 คน

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ เคยกล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ว่า เหตุการณ์นี้ถูกทำให้เข้าใจผิดว่ามีนักศึกษาที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดแบบสังคมนิยมเป็นต้นเหตุ แต่แท้จริงแล้วมันคือการฟื้นฟูอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยมโดยใช้ชีวิตของนิสิตนักศึกษาเป็นเครื่องสังเวยและปูทางไปสู่การกุมอำนาจรัฐโดยกลุ่มทหาร เปรียบเสมือนการเด็ดกลีบดอกไม้แห่งประชาธิปไตยที่กำลังเบ่งบานให้ร่วงโรย

โดยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจในนามหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และเชิญ “ธานินทร์  กรัยวิเชียร” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ทว่า ธานินทร์ ผู้ได้ชื่อว่า “ผู้เชี่ยวชาญและนักต่อต้านคอมมิวนิสต์คนสำคัญ” กลับดำเนินนโยบายแบบอำนาจนิยมสุดโต่ง มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนอย่างกว้างขวางจนต้องมีผู้ลี้ภัยเข้าป่า จนท้ายที่สุด  พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของธานินทร์ กรัยวิเชียร 

หลังการรัฐประหาร คณะรัฐประหารได้เชิญ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี และเริ่มยุคสมัย “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ภายใต้ รัฐธรรมนูญ ปี 2521 ซึ่งกำหนดให้คณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจ มีการเลือกตั้งเพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองบ้าง แต่ก็ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการแต่งตั้ง และมีอำนาจมากกว่า ส.ส. จากการเลือกตั้ง อย่างเช่น ให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ซึ่งด้วยอำนาจนี้เอง ทำให้ ส.ว. มีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯ ถึงสองคน คือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และทำให้กองทัพกลับมามีอำนาจทางการเมืองอีกครั้งนานนับทศวรรษ

ข้อมูลอ้างอิง

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2564). เกิดอะไรใน “14 ตุลา” ก่อนมาสู่ชัยชนะสำคัญของประชาชนลุกฮือต้าน “คณาธิปไตย”. สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_40175

อิทธิพล โคตะมี. (2562). ‘สภาสนามม้า’ และข้อถกเถียงของผู้กุมอำนาจหลังเหตุการณ์ ’14 ตุลา 2516′. สืบค้นจาก https://waymagazine.org/racecourse-council/

ภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ. (2560). 14 ตุลาฯ และเรื่องเล่าสองแบบเกี่ยวกับประชาธิปไตยไทย. สืบค้นจาก https://themomentum.co/14-oct-different-narratives/.

ไอลอว์. (2563). ถอดบทเรียน “6 ตุลาฯ” การเติบโตและถดถอยของประชาธิปไตย. สืบค้นจาก https://ilaw.or.th/node/5758

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. สงัด ชลออยู่, ธานินทร์ กรัยวิเชียร และแผนรัฐประหารปี 2519. สืบค้นจาก https://doct6.com/learn-about/who/1-2

สุภชาติ เล็บนาค. (2565). ‘กว่าจะครองอำนาจนำ’ ทำความเข้าใจเครือข่ายวัง และการประกอบสร้าง ‘พระราชอำนาจ. สืบค้นจาก https://themomentum.co/lostinthought-network-monarchy/

ไอลอว์. (2562). ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ’21 ต้นแบบกติกาที่ให้อำนาจ ส.ว. แต่งตั้งเลือกนายกฯ. สืบค้นจาก https://ilaw.or.th/node/5267

ธนาพล อิ๋วสกุล. (2561). 30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (2) : 8 ปี 5 เดือน ของนายกฯ เปรม ภายใต้การเมืองสามเสา. สืบค้นจาก https://www.the101.world/premocracy-2/