อย่าลืม! ต้องย้ายทะเบียนบ้านก่อนเลือกตั้ง 90 วัน

เหลือเวลาอีกไม่นานนักที่สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งชุดแรกตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557 ก็จะหมดวาระสี่ปีลง จนกว่าจะถึงเวลานั้น หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ประชาชนไทยก็จะได้เดินเข้าคูหาเลือกตั้งเพื่อกำหนดอนาคตของประเทศอีกครั้งหนึ่งในช่วงกลางปี 2566 โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้เริ่มวางทามไลน์สู่การเลือกตั้งออกมาแล้ว และได้วางวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป ในกรณีที่สภาผู้แทนฯ อยู่ครบวาระ

สำหรับประชาชนทั่วไป มีหลายประเด็นที่ต้องเตรียมตัวเพื่อให้สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างราบรื่น และไม่ถูกตัดสิทธิอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งเรื่องที่สำคัญหนึ่งคือการมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีชื่ออยู่อย่างน้อยก่อนวันเลือกตั้ง 90 วัน

วาระดำรงตำแหน่งของสภาผู้แทนราษฎรจะมีกำหนดครบสี่ปีในวันที่ 23 มีนาคม 2566 โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 102 กำหนดให้ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วันนับตั้งแต่อายุของสภาผู้แทนราษฎรหมดลง ซึ่งจากการเปิดเผยของ กกต. ก็มีการกำหนดให้วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไปหากการเมืองไทยดำเนินไปอย่างที่ควรจะเป็น

แม้ว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส.) จะยังไม่ประกาศใช้แต่ร่างแก้ไขนั้นก็ไม่ได้เปลี่ยนคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จึงสามารถมั่นใจได้ว่าในการเลือกตั้งในปี 2566 คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นจะยังคงเดิมไม่ต่างจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 โดยมาตรา 31 ของ พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ดังนี้

  1. มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี
  2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง
  3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง

ดังนั้น ใครก็ตามที่ย้ายทะเบียนบ้านเป็นระยะเวลาไม่ถึง 90 วันก่อนวันเลือกตั้งทั่วไป ก็จะขาดคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หากการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ก็จะหมายความว่าประชาชนที่มีความประสงค์จะเปลี่ยนที่อยู่ ก็จะต้องย้ายทะเบียนบ้านไปสถานที่ใหม่อย่างช้าที่สุดวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 หรือ 90 วันก่อนการเลือกตั้ง เพื่อให้สามารถเดินเข้าคูหาเลือกตั้งผู้แทนของตนเองในเขตที่อยู่ใหม่ได้ แต่หากเป็นกรณีที่ย้ายทะเบียนบ้านไปยังสถานที่ใหม่แต่ยังอยู่ในเขตเลือกตั้งเดิม ก็ยังถือว่ามีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นอยู่

นอกจากนี้ หากมีการย้ายทะเบียนบ้านก่อนวันเลือกตั้งน้อยกว่า 90 วันก็ใช่ว่าจะเสียสิทธิเลือกตั้งไปทั้งหมด เพียงแต่ไม่สามารถเลือกตั้งในเขตที่อยู่ใหม่เท่านั้น ในกรณีนี้ พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 106 กำหนดว่าผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันน้อยกว่า 90 วันก่อนวันเลือกตั้ง ให้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันครั้งสุดท้ายเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน หรือก็คือให้ไปเลือกตั้งในเขตเดิมก่อนที่ตนจะย้ายทะเบียนบ้าน ซึ่งหากมีความประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้งจากถิ่นที่อยู่ใหม่ ก็ต้องดำเนินการเหมือนบุคคลที่เลือกตั้งนอกเขต คือต้องทำหนังสือถึงนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 172

อย่างไรก็ตาม เรื่องของทะเบียนบ้านจะซับซ้อนมากขึ้นถ้าการเมืองไทยไม่ได้ดำเนินไปตามทามไลน์ที่ควรจะเป็น หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองที่นำไปสู่การยุบสภาก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะหมดอายุในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ช่วงเวลาที่จะย้ายทะเบียนบ้านก็จะเปลี่ยนไปทันที รัฐธรรมนูญ มาตรา 103 กำหนดให้ในกรณีที่มีการตราพระราชกฤษฎีกายุบสภา กกต. จะต้องจัดการเลือกตั้งภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน เช่น หากมีการยุบสภาในวันที่ 1 มกราคม 2566 การเลือกตั้งทั่วไปก็จะเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ถึง วันที่ 2 มีนาคม 2566 ซึ่งจะทำให้ประชาชนต้องย้ายทะเบียนบ้านตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม 2565 ถึงจะมีสิทธิเลือกตั้ง

ด้วยเหตุนี้ หากมีการยุบสภาเกิดขึ้น การย้ายทะเบียนบ้านให้ทันกำหนดเวลา 90 วันก่อนวันเลือกตั้งก็จะเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ แม้จะทำเรื่องย้ายทะเบียนทันทีเมื่อมีการประกาศยุบสภา ก็จะยังไม่ทันกำหนดเวลา 90 วันก่อนวันเลือกตั้ง เพราะฉะนั้น เนื่องจากอนาคตทางการเมืองยังเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดา ประชาชนที่มีแผนว่าจะย้ายที่อยู่ในเร็ววัน หนทางที่ปลอดภัยที่สุดเพื่อรักษาสิทธิเลือกตั้งในปี 2566 ก็คือการย้ายทะเบียนบ้านให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือหากประสงค์ที่จะเลือกตั้งในพื้นที่เดิม ก็อาจจะรอให้ผ่านการเลือกตั้งไปก่อนค่อยย้ายชื่อในทะเบียนบ้าน

ทั้งนี้ การกำหนดระยะเวลาที่ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของการเลือกตั้งทั่วไปนี้มีความแตกต่างกับกรณีของการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งกำหนดไว้ยาวนานกว่าที่หนึ่งปี รวมถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นยังไม่กำหนดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าหรือนอกเขตเหมือนการเลือกตั้งทั่วไปด้วย