พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จบ แต่คดีไม่จบ ตำรวจ อัยการ ศาลต้องหาทางออกคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.

แม้ว่าประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่ออกมาภายใต้อำนาจของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมดจะถูกยกเลิกแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เนื่องจากสถานการณ์โควิดมีแนวโน้มดีขึ้นตามคำกล่าวอ้างของรัฐบาล แต่การประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวไม่ได้ระบุให้บรรดาคดีความในข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สิ้นสุดลงด้วย ดังนั้น ในทางกฎหมาย คดีเหล่านี้ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ตามกระบวนการจนกว่าคดีจะถึงที่สุด  

ตลอดระยะเวลากว่าสองปีครึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและเป็นข้ออ้างในการสั่งห้ามชุมนุม จับกุมและดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม รวมทั้งตำรวจยังใช้อ้างเป็นเหตุของการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมด้วย พบข้อมูลการดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อคนที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอย่างน้อย 1,445 คน ในอย่างน้อย 623 คดี โดยคดีส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนของตำรวจหรือการพิจารณาของพนักงานอัยการ แต่ก็มีบางส่วนที่ยื่นฟ้องคดีต่อศาลไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้สิ้นสุดแล้ว รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ การดำเนินคดีตามปกติต่อประชาชนย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมโดยรวม  ทั้งจะก่อให้เกิดภาระแก่กระบวนการยุติธรรมด้วยซ้ำ ดังนั้น ตำรวจ พนักงานอัยการ และศาลจึงควรใช้อำนาจที่มีอยู่หาทางออกให้คดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ยังไม่สิ้นสุด โดยการสั่งไม่ฟ้องคดี ถอนฟ้อง หรือยกฟ้อง แล้วแต่กรณี

ยกเลิกการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ทำให้คดีสิ้นสุดโดยทันที

หลักการทั่วไปของกฎหมายอาญา คือ “ไม่มีความผิด โดยไม่มีกฎหมาย” หมายความว่า การดำเนินคดีและลงโทษประชาชนคนใดได้ต้องอาศัยกฎหมายที่เขียนไว้ในขณะที่กระทำความผิดและขณะที่ลงโทษ ถ้าหากกฎหมายนั้นไม่มีอยู่ หรือถูกยกเลิกภายหลัง ทำให้กฎหมายที่จะเอาผิดประชาชน “หายไป” คดีความที่คั่งค้างอยู่ หากยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีก็ต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ หากศาลเคยมีคำพิพากษาให้ลงโทษแล้ว โทษทั้งหลายก็เป็นอันยุติลง จำเลยไม่ต้องรับโทษอีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (5)

แต่คดีความในข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่เข้าหลักการนี้ เพราะกฎหมายที่ผู้ชุมนุมซึ่งถูกดำเนินคดีในช่วงปี 2563-2565 โดนตั้งข้อหา คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 18 ซึ่งกำหนดว่า ผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลเป็นเพียงการประกาศยกเลิกการเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่านั้น แต่ไม่ได้มีผลเป็นการยกเลิกกฎหมายที่กำหนดความผิดและโทษ ดังนั้น ตามหลักการ แม้ว่าสถานการณ์ฉุกเฉินจะถูกยกเลิกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ตัวบทกฎหมาย คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 18  ก็ยังคงอยู่ ไม่ได้ถูกยกเลิกไปด้วย

นอกจากนี้ การประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลก็ไม่ได้ระบุว่าให้บรรดาคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สิ้นสุดลง เช่นนี้ ในทางกฎหมายแล้วคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังคงดำเนินการต่อไปได้

ตำรวจ อัยการ ศาล ใช้ดุลพินิจหาทางยุติคดีได้

ในทางสังคมและการเมือง เมื่อรัฐบาลเห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด มีแนวโน้มดีขึ้น ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดน้อยลง จึงตัดสินใจยกเลิกการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และหันมาใช้กฎหมายปกติในการควบคุมสถานการณ์ เปิดให้ประชาชนกลับใช้ชีวิตตามปกติทำกิจกรรมรวมกลุ่มได้ การดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไปย่อมไม่มีประโยชน์ต่อสังคมและไม่มีประโยชน์ต่อการควบคุมโรคระบาดอีก โดยเฉพาะเมื่อคดีจำนวนมากมีมูลเหตุมาจากแรงจูงใจเพื่อการแสดงออกทางการเมือง ไม่ใช่การจงใจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค การดำเนินคดีย่อมไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย มีแต่จะทำให้ “คดีรกโรงรกศาล” เป็นภาระของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม

1. ตำรวจต้องไม่ดำเนินคดีใหม่ และทำความเห็นสั่งไม่ฟ้อง

ตำรวจอาจมีส่วนช่วยในการลดปัญหา “คดีรกโรงรกศาล” ได้อย่างน้อย 2 แนวทาง แนวทางแรก ตำรวจต้องไม่แจ้งข้อกล่าวดำเนินคดีใหม่สำหรับการกระทำเกิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลใช้บังคับ หากมีคดีความที่ยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาค้างอยู่ ตำรวจก็ทำความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีโดยไม่ต้องเรียกผู้ถูกกล่าวหาเข้าในคดีเลยก็ได้ แนวทางที่สอง สำหรับคดีที่ได้เริ่มแจ้งข้อกล่าวหาและมีการสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนมีอำนาจในการทำความเห็น “สั่งไม่ฟ้อง” เพื่อประกอบดุลพินิจของพนักงานอัยการต่อไป โดยควรออกเป็นนโยบายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ใช่เพียงปล่อยให้เป็นภาระของพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีแต่ละคน

2. อัยการต้องสั่งไม่ฟ้องคดี และถอนฟ้องคดีที่อยู่ในชั้นศาล

สำหรับคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ยังไม่ได้ส่งฟ้องต่อศาล พนักงานอัยการอาจใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว โดยใช้เหตุผลว่า ประชาชนออกมาใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรคติดต่อที่เกิดจากกิจกรรมมีเพียงเล็กน้อย  หรือหากเห็นว่าการฟ้องคดีจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ก็สามารถสั่งไม่ฟ้องโดยเสนอความเห็นไปยังอัยการสูงสุดได้ อาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 21

ส่วนคดีได้ยื่นฟ้องไปแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล พนักงานอัยการก็สามารถอาศัยเหตุผลว่าการฟ้องคดีไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนในการเสนอความเห็นไปยังอัยการสูงสุดและถอนฟ้องคดีออกจากศาลได้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้คดีจบไปโดยไม่เป็นภาระกับผู้ต้องหาและกระบวนการยุติธรรม

ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินการโดยพนักงานอัยการตามข้อนี้ยังสอดคล้องกับมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีกด้วย

3. ศาลอาจสั่งยกฟ้อง หรือพิพากษารอการกำหนดโทษจำเลย

สำหรับคดีที่อยู่ในการพิจารณาพิพากษาของศาล หากศาลเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาและสั่งยกฟ้องคดีได้ หรือหากเห็นว่ามีความผิดจริง ศาลอาจสั่งลงโทษให้เบาที่สุดโดยการสั่งให้รอการกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ซึ่งเคยมีตัวอย่างมาแล้วในคดีของกลุ่มข้าราชการที่มั่วสุมกินดื่มกัน

ตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา มีคดีฐานฝ่าฝืนพรกฉุกเฉินฯ จำนวนมาก ซึ่งไม่ได้จำกัดเพียงคดีชุมนุมทางการเมือง แต่ยังรวมถึงคดีที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนในช่วงโควิด เช่น การจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ การทำกิจกรรมรวมกลุ่ม การเล่นการพนัน ฯลฯ เมื่อการแพร่ระบาดอย่างหนักได้ผ่านพ้นไปแล้ว และมีการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน การดำเนินคดีต่อไปย่อมไม่เกิดประโยชน์ องค์กรในกระบวนการยุติธรรมจึงต้องช่วยกันหาทางออกเพื่อประโยชน์ของประชาชนและกระบวนการยุติธรรมเอง