อนาคตของประยุทธ์หลังคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ “แคนดิเดตนายกฯ หรือองคมนตรี ???”

คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากจำนวน 6 ต่อ 3 เสียง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 ทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงทำหน้าที่ต่อในฐานะนายกรัฐมนตรี โดยเสียงส่วนใหญ่ของตุลาการให้นับการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้

การกำหนดวาระที่เหลือของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาโดยเริ่มจากปี 2560 ทำให้อนาคตทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์เหลือสั้นลงประมาณ 2 ปี 6 เดือน เท่านั้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 ว่าพลเอกประยุทธ์ยังอยากจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ต่อไปหรือไม่ หรือจะตัดสินใจยุติบทบาททางการเมืองแล้วเบนเข็มสู่เส้นทางใหม่ เป็นองคมนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

เวลาทางการเมืองของประยุทธ์ อยู่ถึงมีนา 66 ได้เป็นนายกฯ อีกสมัยก็อยู่ได้ไม่ครบเทอม

นับจากวันที่ 1 ตุลาคม 2565 หนึ่งวันหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินให้วาระ 8 ปีของพลเอกประยุทธ์ยังไม่สิ้นสุด จนถึงวันที่ 23 มีนาคม 2566 หรือวันครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่มาจากการเลือกตั้งปี 2562 ถ้าพลเอกประยุทธ์อยู่จนครบวาระ เขาจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นระยะเวลา 5 ปี 11 เดือน 17 วัน ดังนั้น หากพลเอกประยุทธ์ตัดสินใจลงเลือกตั้งต่อ และเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาซึ่งประกอบด้วย ส.ส. และส.ว. ชุดพิเศษ เลือกเป็นนายกฯ อีกสมัย พลเอกประยุทธ์จะเหลือเวลาในตำแหน่งนายกฯ อีกราว 2 ปี หรือประมาณกลางปี 2568เท่านั้น พลเอกประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด หรือกล่าวง่ายๆ ว่าจะอยู่ได้ “ไม่ครบเทอม” ในรัฐบาลชุดหน้า

อยู่พปชร. ไม่ง่าย ต้องแข่งกับพลเอกประวิตร

อายุทางการเมืองที่เหลือเพียงแค่ประมาณ 2 ปีกว่าของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคสำคัญ ในการลงท้าชิงตำแหน่งว่าที่นายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งปี 2566 เพราะหากพลเอกประยุทธ์กลับเป็นนายกฯ อีกรอบหลังการเลือกตั้งครั้งถัดไป ก็จะมีเวลาอยู่ในตำแหน่งถึงประมาณกลางปี 2568 เท่านั้น ซึ่งอาจส่งผลให้พรรคการเมืองที่จะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ไม่กล้าเสี่ยงเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือถ้าเสนอชื่อก็จะไม่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ในบัญชีเพียงคนเดียวเหมือนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562

พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นผู้เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ เมื่อการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ดูจะมีท่าทีชัดเจนว่า ในการเลือกตั้งปี 2566 จะไม่เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เพียงคนเดียวแน่นอน และชัดเจนว่า 1 ใน 3 ว่าที่นายกฯ จะต้องมีชื่อของ “พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ส่วนพลเอกประยุทธ์ก็อาจจะยังมีชื่ออยู่เช่นเดิม แต่ไม่แน่ว่าจะได้เป็นเบอร์หนึ่งของพรรคเหมือนการเลือกตั้งครั้งก่อน

ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์กับ Voice TV ในประเด็นการเลือกแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่า “มั่นใจได้เลยว่าหนึ่งในนั้นก็คือพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐแน่นอน”  

ส่วนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา “ตามหลักตั้งแต่ก่อนวันที่ 24 สิงหาคม ก็จะเสนอท่านอยู่แล้ว แต่ว่าเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ) ก็คงจะต้องเป็นเรื่องของตัวท่านเองด้วยในการที่ท่านจะเหลือเวลาทำหน้าที่แค่ครึ่งเดียว … แต่ท่านทั้งสองเนี่ยผมเข้าใจว่าท่านหัวหน้าพรรคก็คือท่านพลเอกประวิตร ซึ่งกับท่านพลเอกประยุทธ์ก็เป็นหนึ่งเดียวกันอยู่ ดังนั้นท่านก็คงพูดคุยกันได้ในสองท่านเนี่ยนะครับ”

อย่างไรก็ตามอนาคตของพลเอกประยุทธ์กับพรรคพลังประชารัฐยังคงไม่มีความแน่นอน เพราะบรรดาแกนนำพรรคพลังประชารัฐจำนวนหนึ่งยังคงให้การสนับสนุนอย่างเหนียวแน่น เช่น สุชาติ ชมกลิ่น ผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ ส.ส.จังหวัดชลบุรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  สุชาติ กล่าวถึงการสนับสนุนพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งปี 2566 ว่า “ก็ต้องดูความเห็นของส่วนรวม แต่ผมมาพรรคพลังประชารัฐ ส่วนตัวก็ยังยืนหยัดว่าพรรคเสนอพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯ มันก็เป็นเจตนารมณ์ของผม ที่ผมมาพรรคนี้” 

หนึ่งทางเลือก ย้ายนั่งร้านใหม่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ”

นั่งร้านเดิมอย่างพรรคพลังประชารัฐที่ส่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นแท่นนายกฯ หลังการเลือกตั้งปี 2562 ดูเหมือนจะไม่มั่นคงอีกต่อไปแล้ว ถ้าพลเอกประยุทธ์ยังเลือกพรรคพลังประชารัฐเป็นฐานที่มั่นอยู่ก็อาจจะไม่สมหวังกับตำแหน่งนายกฯ ด้วยเหตุนี้พลเอกประยุทธ์จึงจำเป็นต้องหานั่งร้านใหม่ ที่พร้อมจะส่งตัวเองขึ้นเป็นแคนดิเดตนายกฯ อีกครั้ง

“พรรครวมไทยสร้างชาติ” ดูจะเป็นพรรคการเมืองที่เป็นไปได้ที่สุดสำหรับพลเอกประยุทธ์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดังจะเห็นได้จากที่มาที่ไปของพรรคนี้ที่เริ่มจาก แรมโบ้-เสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ที่ไปตั้งพรรคใหม่เมื่อต้นปี 2565 โดยให้เหตุผลว่า

“การที่จดทะเบียนพรรครวมไทยสร้างชาติ มีความชัดเจนว่าสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อไป และคิดว่าอนาคตการเมืองไม่มีอะไรแน่นอน หากพรรคพลังประชารัฐมีปัญหาก็จะได้มีพรรคการเมืองที่เป็นทางเลือกใหม่ให้นายกฯ ได้พิจารณา … ผมในฐานะเป็นผู้ก่อตั้งก็ได้ประกาศไว้ว่า พรรครวมไทยจะสร้างชาติ จะเป็นพรรคที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าจะมีพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ หรือมีพรรคอื่นที่จะเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ แต่พรรคร่วมไทยสร้างชาติก็จะยืนยันที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ นี่คือจุดยืนของผม”

แม้ช่วงต้นของการก่อตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติจะมีฐานะเป็นแค่พรรคสำรองกรณีพรรคพลังประชารัฐไปไม่รอด แต่การเปิดตัว พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ เป็นหัวหน้าพรรค และมีเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ บุตรบุญธรรมของสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการพรรค พร้อมกับดึงอดีตนักการเมืองคนดังและนักการเมืองท้องถิ่นมาร่วมสังกัดได้อีกพอสมควร ทำให้พรรครวมไทยสร้างชาติมีสถานะที่โดดเด่นขึ้นทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อขั้วประวิตรและขั้วประยุทธ์ในพรรคพลังประชารัฐตกลงกันไม่ได้ พรรครวมไทยสร้างชาติจึงอาจเป็นทางเลือกสุดท้ายของพลเอกประยุทธ์ในการกลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย ทั้งอาจเป็นที่รวมตัวของพรรคเล็กพรรคใหม่ที่ต้องการสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ด้วย

อย่างไรก็ตาม เส้นทางนี้ก็เป็นความเสี่ยงที่พลเอกประยุทธ์จบชะตาคาสนามการเมืองได้ หากหลังเลือกตั้งปี 2566 พรรครวมไทยสร้างชาติมีที่นั่ง ส.ส. ไม่ถึง 25 คน ก็จะทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ดังนั้นต่อให้มี ส.ว. 250 คนอยู่ในมือก็ไม่ช่วยพลเอกประยุทธ์ให้เป็นนายกฯ ได้

ถ้าอยากอยู่ยาว อาจแก้รัฐธรรมนูญ ต่ออายุประยุทธ์

การกำหนดวาระของนายกรัฐมนตรีห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี เป็นมรดกทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารปี 2549 ข้อห้ามนายกฯ ดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี เกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2550 ต่อมารัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงกำหนดหลักการนี้ต่อเนื่อง แม้เหตุผลทางการเมืองของข้อห้ามดังกล่าวจะมีเพื่อป้องกันไม่ให้นายกฯ ที่ได้รับความนิยมจากประชาชนดำรงตำแหน่งนานเกินไป แต่ข้อห้ามนี้กลายเป็นตัวล็อกที่ทำให้พลเอกประยุทธ์ต้องเจอทางตันทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม หนทางที่จะทำให้เส้นทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ไม่ติดล็อกด้วยเงื่อนไขวาระ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 คือ การแก้รัฐธรรมนูญ โดยยกเลิกมรดกการรัฐประหาร 2549 ที่จำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งการจะแก้รัฐธรรมนูญได้ พลเอกประยุทธ์มีเดิมพันสำคัญคือ ต้องกลับมาเป็นนายกฯ ให้ได้อีกครั้งหลังการเลือกตั้งปี 2566 และใช้วาระที่เหลืออีก 1 ปีของ ส.ว.แต่งตั้ง โหวตแก้รัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี

หากพลเอกประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ อีกและแก้รัฐธรรมนูญได้สำเร็จ พลเอกประยุทธ์ก็มีโอกาสสร้างตำนาน เป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประเทศไทย หากนับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 จนถึง 30 กันยายน 2565 พลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ รวมระยะเวลา 8 ปี 1 เดือน 6 วัน หากอยู่จนครบวาระ คือ วันที่ 23 มีนาคม 2566 ก็จะดำรงตำแหน่งรวม 8 ปี 6 เดือน 30 วัน ซึ่งเท่ากับว่าดำรงตำแหน่งนายกฯ ยาวนานกว่า “พลเอกเปรม ติณสูลานนท์” ที่ดำรงตำแหน่งรวม 8 ปี 5 เดือน 4 วัน และจะเป็นรองเพียงแค่ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” ที่ดำรงตำแหน่งรวม 15 ปี 25 วัน และ “จอมพล ถนอม กิตติขจร” ดำรงตำแหน่งรวม 9 ปี 6 เดือน 25 วัน

หนทางสุดท้าย ยุติบทบาทการเมือง มุ่งสู่เส้นทางองคมนตรี

หากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศตัดสินใจยุติบทบาททางการเมืองหลังจากสิ้นสุดอายุสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่มาจากการเลือกตั้งปี 2562 ตำแหน่งองคมนตรีของรัชกาลที่ 10 ก็อาจเป็นอีกหนึ่งในเส้นทางที่อาจจะเกิดขึ้นได้

นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ประเทศไทยมีนายกฯ ทั้งหมด 29 คน แต่มีอดีตนายกฯ เพียง 4 คนเท่านั้นที่ได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรี คือ 

  1. สัญญา ธรรมศักดิ์ (นายกฯ พระราชทาน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516)
  2. พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (นายกฯ 3 สมัยต่อเนื่อง (ปี 2523 – 2531) ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ)
  3. ธานินทร์ กรัยวิเชียร (นายกฯ แต่งตั้งหลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519)
  4. พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ (นายกฯ แต่งตั้งหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549) 

ใน 4 คนนี้ มีถึง 3 คน ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานองคมนตรี คือ สัญญา ธรรมศักดิ์, พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ 

จะเห็นว่าอดีตนายกฯ ที่เป็นองคมนตรี ล้วนเป็นนายกฯ ที่มีที่มาแบบ “พิเศษ” 2 คน มาจากการแต่งตั้งหลังรัฐประหาร คือ ธานินทร์ และ พลเอกสุรยุทธ์ ขณะที่สัญญา เป็นนายกฯ พระราชทาน ส่วนพลเอกเปรม แม้จะมาจากการเลือกโดยสภาผู้แทนราษฎรแต่ก็เป็นสภาชุดแรกหลังการรัฐประหาร ปี 2520 ซึ่งเป็นสภายุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ที่กองทัพยังมีบทบาทนำในการเมือง

สำหรับคณะองคมนตรีชุดปัจจุบัน นับถึง 4 ตุลาคม 2565 มีองคมนตรีที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี 1 คน คือ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานองคมนตรี และมีองคมนตรีอีก 16 คน รวมเป็น 17 คน โดยมีองคมนตรีจำนวน 6 คน มีบทบาทสำคัญหลังการรัฐประหารปี 2557 โดยพลเอกประยุทธ์ได้แต่งตั้งเข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), รัฐมนตรี และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)