เสียงแตกคดีแรก! ย้อนดูการลงมติศาลรธน. 4 คดีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

30 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง วินิจฉัยคดีปมพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งครบแปดปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับ คือ 6 เมษายน 2560 ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่ครบแปดปี จึงทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดลง พล.อ.ประยุทธ์ จึงสามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้

ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีนี้ ส่งผลให้พล.อ.ประยุทธ์ สามารถเป็นนายกฯ ต่อได้จนกว่าจะครบเทอมรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 หรือจนกว่าจะยุบสภา และในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า พล.อ.ประยุทธ์ ยังสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก โดยจะลง ส.ส. หรือแค่มีชื่ออยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอก็สามารถทำได้ แต่หากพล.อ.ประยุทธ์ ยังได้รับการการเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ก็จะไม่สามารถอยู่ครบเทอมถึงปี 2570  แต่มีวาระอยู่ได้ถึงแค่วันที่ 5 เมษายน 2568 หลังจากนั้นก็จะ “ขาดคุณสมบัติ” เป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่ง และสภาต้องเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่

ทั้งนี้ คดีแปดปี พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่คดีแรกที่ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 มีคดีเกี่ยวกับพล.อ.ประยุทธ์ที่ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญถึงสามคดี และหากรวมคดีนี้ก็จะเป็นสี่คดี ซึ่งที่ผ่านมา มติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในแต่ละคดี ต่างก็ “เสียงไม่แตก” ส่งผลให้พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเป็นนายกฯ อยู่ได้ อย่างไรก็ดี แม้พล.อ.ประยุทธ์ จะยังสามารถรอดต่อไปได้ในคดีที่สี่ แต่ในคดีนี้ ก็มีจุดเปลี่ยนที่แตกต่างจากคดีอื่น คือ เป็นคดีแรกที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ “เสียงแตก” ไม่ได้มีมติไปทางเดียวกัน

ปี 2565

คดีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี

คดีนี้เริ่มจาก 17 สิงหาคม 2565 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สังกัดพรรคฝ่ายค้านจึงได้มีหนังสือร่วมกันส่งถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ส่งคำร้องไปศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับกรณีวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของประยุทธ์ และขอให้ศาลมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย โดยหนังสือของพรรคร่วมฝ่ายค้านระบุเหตุผลหกประการที่วาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของประยุทธ์จะต้องเริ่มในวันที่ 24 สิงหาคม 2557 และจะสิ้นสุดครบแปดปีในวันที่ 24 สิงหาคม 2565

24 สิงหาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 ให้รับคำรองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคฝ่ายค้านยื่นขอให้พิจารณาเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าครบ 8 ปี แล้วหรือไม่ พร้อมทั้งสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมา ส่งผลให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ทำหน้าที่รักษาราชการแทนไปพลางก่อน

เสียงข้างมากที่สั่งให้พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่

  1. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
  2. ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์
  3. จิรนิติ หะวานนท์
  4. วิรุฬห์ แสงเทียน
  5. นภดล เทพพิทักษ์

เสียงข้างน้อย

  1. วรวิทย์ กังศศิเทียม (ประธานศาลรัฐธรรมนูญ)
  2. อุดม สิทธิวิรัชธรรม
  3. บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
  4. ปัญญา อุดชาชน

30 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดลง ด้วยมติ 6 ต่อ 3 เสียง ดังนี้

เสียงข้างมาก 6 เสียง

  1. วรวิทย์ กังศศิเทียม (ประธานศาลรัฐธรรมนูญ)
  2. อุดม สิทธิวิรัชธรรม
  3. บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
  4. ปัญญา อุดชาชน
  5. จิรนิติ หะวานนท์
  6. วิรุฬห์ แสงเทียน

เสียงข้างน้อย 3 เสียง

  1. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
  2. ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์
  3. นภดล เทพพิทักษ์

ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย ในวันเดียวกัน มีผู้เผยแพร่ร่างความเห็นส่วนตนของทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้มาจากโควตาศาสตราจารย์ทางด้านนิติศาสตร์ โดยตอนหนึ่งของร่างความเห็นส่วนตนของทวีเกียรติ ระบุว่า

ในบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ย่อมแสดงให้เห็นอย่างมีนัยสำคัญว่าได้สืบทอดหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 171 วรรคสี่มีเจตนารมณ์ผ่าน “ประชามติ” ว่าต้องการที่จะห้ามมิให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งยาวนานเกินกว่าแปดปี เพื่อมิให้อยู่ในอำนาจนานเกินไปจน “เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมือง” จึงต้องตีความในทางควบคุมอำนาจอย่างเคร่งครัด คือ ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่ชัดเจนแล้ว ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 8 ปี และไม่ได้ยกเว้นให้กับนายกรัฐมนตรีที่ตำแหน่งมาก่อนวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ จึงต้องนำระยะเวลาดำรงตำแหน่งก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้มานับรวมเข้าไปด้วย
 
ไม่ว่าจะพิจารณาจากหลักนิติรัฐ เจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ เจตนารมณ์ในการลงประชามติประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขประกอบกับบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500/2561 วันที่ 7 กันยายน 2561 อันเป็นเอกสารราชการที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรความว่า “…แม้ว่าจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีระยะเวลาไม่เกินแปดปี…” รายงานการประชุมนี้ได้มีการรับรอง โดยไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติม หรือมีความเห็นเป็นอย่างอื่น
 
จึงเห็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ คือ วันที่ 24 สิงหาคม 2565 แต่ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามความในรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรคหนึ่ง (1)
 
 

ปี 2563

คดีพักบ้านหลวง ศาลรัฐธรรมนูญชี้ประยุทธ์รอด เสียงไม่แตก

กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) เรื่องฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง รวมถึงความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) เรื่องการกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ พักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุไป 6 ปีแล้ว และถือเป็นการรับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานปกติ

แต่ในคดีนี้ ศาลมีคำวินิจฉัยที่ 29/2563 ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกฯ เนื่องจากเป็นไปตามระเบียบภายในของกองทัพบก (ทบ.) ปี 2548 และยังชี้ว่ารัฐพึงจัดสรรที่พำนักให้ผู้นำประเทศ เพื่อ “สร้างความพร้อมทั้งสุขภาพกายและจิตใจในการปฏิบัติภารกิจในการบริหารประเทศล้วนเป็นประโยชน์ส่วนรวม” และกรณีนี้ไม่ถือประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของประเทศ ไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตัวเอง โดยในคดีนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นตรงกันว่าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ขาดคุณสมบัติ เสียงไม่แตก

ปี 2562

คดีขาดคุณสมบัติเนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เสียงไม่แตก

คดีนี้สืบเนื่องจาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรค ร่วมยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อ ส.ส.จำนวน 110 คน ให้กับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นการขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากพลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นการดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งการดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15)

ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยที่ 11/2562 ว่า ตำแหน่งหัวหน้าคสช. มาจากการเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ โดยมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นการใช้อำนาจรัฎฐาธิปัตย์ ที่เป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ดังนั้นการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นเพียงการเข้าสู่ตำแหน่งเพื่อให้มีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยเพียงเท่านั้น นอกจากนี้การดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นการแต่งตั้งที่ไม่ได้ขึ้นกับกฎหมาย ทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา และการทำงานของรัฐ จึงไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (15) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 16 (6) พลเอกประยุทธ์ สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ โดยในคดีนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งเก้าคน มีความเห็นตรงกัน เสียงไม่แตก

คดีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ มติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง เสียงไม่แตก

ย้อนกลับไปเมื่อ 16 กรกฎาคม 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี รวม 36 คน ได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่พล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 161 วรรคหนึ่ง กำหนด โดยจงใจเลี่ยงประโยคว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

อีกทั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 กำหนดว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด บทบัญญัติใด ของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญบทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” ดังนั้น ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่ครบถ้วนจึงเป็นการกระทำที่มิอาจใช้บังคับได้ และส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่การบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์ มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ในคดีนี้ ภาณุพงศ์ ชูรักษ์ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งที่ 35/2562 มติ “เอกฉันท์” มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 วรรคสาม และมาตรา 47 (1) เนื่องจากเป็นการถวายสัตย์ต่อหน้าพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำทางการเมือง (Political Issue) ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหาร การถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ได้อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด นอกจากนี้การกระทำของพลเอกประยุทธ์ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49

__________________________________________

ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งวินิจฉัยคดี คดีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ และคดีขาดคุณสมบัติเนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้แก่ 1) นุรักษ์ มาประณีต 2) จรัญ ภักดีธนากุล 3) ชัช ชลวร 4) ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ 5) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 6) บุญส่ง กุลบุฟผา 7) ปัญญา อุดชาชน 8) วรวิทย์ กังศศิเทียม และ 9) อุดมศักดิ์ นิติมนตรี

ต่อมาภายหลัง นุรักษ์ มาประณีต, ชัช ชลวร, บุญส่ง กุลบุปผา, อุดมศักดิ์ นิติมนตรี และจรัญ ภักดีธนากุล พ้นจากตำแหน่ง ตุลาการอีกห้าคนจึงมาเข้ารับตำแหน่งต่อ เมื่อ 1 เมษายน 2563 ได้แก่ 1) อุดม สิทธิวิรัชธรรม 2) วิรุฬห์  เสียงเทียน 3) จิรนิติ หะวานนท์ 4) นภดล เทพพิทักษ์ และ 5) บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ซึ่งทั้งห้าคนมีส่วนวินิจฉัยคดีบ้านพักหลวง และคดี 8 ปี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันทั้งเก้าคน จะพ้นจากตำแหน่งในช่วงเวลาดังนี้

  1. ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ > ตุลาคม 2565
  2. วรวิทย์ กังศศิเทียม > กันยายน 2566
  3. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ > พฤศจิกายน 2565
  4. ปัญญา อุดชาชน > พฤศจิกายน 2565
  5. อุดม สิทธิวิรัชธรรม > เมษายน 2570
  6. วิรุฬห์  เสียงเทียน > เมษายน 2570
  7. จิรนิติ หะวานนท์ > เมษายน 2570
  8. นภดล เทพพิทักษ์ > เมษายน 2570
  9. บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ > เมษายน 2570