3 เรื่องศาลรัฐธรรมนูญ เลี่ยงตอบ กรณี 8 ปีประยุทธ์

กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป แม้ว่าจะดำรงตำแหน่งมานานครบ 8 ปี แต่ก็ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 จนกระทั่งเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ศาลรัฐธรรมนูญได้โต้แย้งข้อกล่าวอ้างของฝ่ายค้านไว้หลายประเด็น อย่างไรก็ตาม แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กล่าวถึงเลย ทั้งที่เป็นประเด็นสำคัญที่จะกำหนดชะตาวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารเช่นเดียวกัน

1. ไม่อ้างรายงานการประชุม กรธ. ที่ต้องนับอายุนายกฯ ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560

ประเด็นแรกที่ศาลให้คำอธิบายโต้แย้งแต่อธิบายไม่หมดคือเรื่องเอกสารรายงานการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการหยิบยกเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีขึ้นมาในการประชุม โดยมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานฯ ให้ความเห็นว่าควรจะต้องนับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2560 จะบังคับใช้ไปด้วย 

ในประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นแย้งจากฝ่ายค้านว่า ความเห็นที่ปรากฏนั้นเป็น “เพียงการอธิบายแนวความคิดของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในการจัดทำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตราต่าง ๆ ว่า มีความมุ่งหมายอย่างไร” อีกทั้งความเห็นของกรรมาธิการฯ ทั้งสองคนนั้น “มิได้นำไประบุไว้เป็นความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ มาตรา 158” ดังนั้นจึงไม่อาจนำมาพิจารณาได้

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้มีเนื้อหาคล้ายกับคำชี้แจงของพลเอกประยุทธ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญที่มีการเผยแพร่ว่าความเห็นของกรรมาธิการฯ เป็นเพียงความเห็นเท่านั้น ไม่ใช่บันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 

อย่างไรก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญไม่กล่าวถึงเอกสารสำคัญอีกชิ้นหนึ่งคือรายงานการประชุมของคณะกรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 501 หรือครั้งต่อมา ซึ่งปรากฏว่าที่ประชุมให้การรับรองรายงานการประชุมของครั้งก่อน ซึ่งรวมถึงความเห็นที่ให้นับเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีช่วงก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ไปด้วย ทั้งที่รายงานการประชุมฯ ครั้งที่ 501 นี้เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารที่ศาลรัฐธรรมนูญร้องขอให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรส่งเป็นหลักฐานเอง แต่เมื่อมีคำวินิจฉัยออกมา กลับมีการระบุถึงรายงานการประชุมฯ ครั้งที่ 500 เท่านั้น

2. ไม่อ้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ไว้ 8 ปี เพื่อไม่ให้ผูกขาดอำนาจทางการเมือง

อีกประเด็นหนึ่งที่ศาลไม่กล่าวถึงคือความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ศาลอ้างว่าเนื่องจากความเห็นของคณะกรรมาธิการฯ ในการประชุมครั้งที่ 500 ไม่ถูกบรรจุในเอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 

ดังนั้นจึงไม่อาจนำความเห็นที่ให้นับเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้มาพิจารณาได้ แต่เนื้อหาในคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญกลับไม่ได้ถูกพูดถึงในคำวินิจฉัย โดยคำอธิบายมาตรา 158 กล่าวว่า “การกำหนดระยะเวลาแปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤติทางการเมืองได้” ซึ่งในประเด็นนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญต้องการให้คำวินิจฉัยหนักแน่นขึ้น ก็หลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามว่าการอยู่ในตำแหน่งครบ 8 ปีของพลเอกประยุทธ์ได้ยาก

3. ไม่แย้งกรณี ป.ป.ช. เคยอ้างประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อเนื่อง ไม่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินรอบสอง

ประเด็นสุดท้ายที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กล่าวถึง แต่ปรากฏในคำร้องของฝ่ายค้าน คือกรณีที่พลเอกประยุทธ์ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลรายการบัญชีทรัพย์สินของตนเองเมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อ้างว่าพลเอกประยุทธ์เข้ารับตำแหน่งเดิม ดังนั้น ป.ป.ช. จึงไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลใหม่ โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านอ้างว่า การไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของประยุทธ์เป็นครั้งที่สองนี้เป็นเครื่องยืนยันแสดงให้เห็นถึงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของประยุทธ์ว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2557 และต้องครบแปดปีในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับไม่ได้กล่าวถึงประเด็นนี้