เสวนาวันสากลแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ภาครัฐ-สื่อ-การเมือง เห็นพ้อง ราชการเปิดข้อมูลเป็นประโยชน์กับประชาชน

28 กันยายน 2565 เนื่องในวันสากลแห่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร (International Day for Universal Access to Information) ยูเนสโกร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมเสวนาสาธารณะทางออนไลน์ โดยรวบรวมบุคลากรจากหลากหลายวงการมาเพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์การเข้าถึงข้อมูลของภาคประชาชน การนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) มาปรับใช้กับแนวคิดรัฐบาลดิจิทัล และการส่งเสริมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ในตอนหนึ่งเป็นการเสวนาในหัวข้อ “การสร้างองค์กรสาธารณะที่มีภาระรับผิดชอบและให้บริการที่ครอบคลุมทั่วถึงผ่านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดข้อมูลของประเทศไทย” ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยนโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีผู้เข้าร่วมเสวนาตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบายในระดับราชการ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน สื่อมวลชน ไปจนถึงนักการเมือง

หลักการเปิดเผยข้อมูลต้อง “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น”

พงษ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโสสำนักข่าว The MATTER เริ่มต้นด้วยการบอกเล่าประสบการณ์ Open Data ของตนเอง ในระยะแรก ตนเข้าใจว่าเหตุที่หน่วยงานราชการไม่เปิดเผยข้อมูลเพราะผู้บริหารยังไม่ตระหนักว่าเมื่อเปิดเผยแล้วจะส่งผลดีต่อสาธารณะอย่างไร แต่เมื่อเริ่มขอข้อมูลหลายครั้ง ก็กลับพบว่าแท้จริงแล้วหน่วยงานราชการตระหนักเรื่องประโยชน์อยู่แล้ว เพียงแต่สาเหตุที่ไม่เปิดเผยข้อมูลก็เพราะเกรงว่าจะโดนตรวจสอบ อีกทั้งยังไม่ไว้ใจประชาชนว่าจะนำข้อมูลที่เปิดเผยไปทำอะไร พงษ์พิพัฒน์เห็นว่าสิ่งนี้เป็นแนวคิดของผู้บริหารในหน่วยงานราชการ ในทางกลับกัน ข้าราชการระดับกลางอยากเปิดเผยข้อมูลแต่ไม่มีอำนาจที่จะทำ อีกอุปสรรคหนึ่งที่ตนเคยคิดว่าการไม่มีเครื่องมือส่งผลให้การเปิดเผยข้อมูลทำได้ยาก แต่ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดก็แสดงให้เห็นว่ามีเครื่องมืออยู่มาก แต่ท้ายที่สุดก็ติดอยู่ที่แนวคิดที่ยังไม่เปิดรับ ตนเคยร่วมมือกับกลุ่มสื่อมวลชนเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน แต่ก็ไม่หน่วยงานไหนเปิดเผยแม้แต่หน่วยงานเดียว ผลเสียหนึ่งคือประชาชนเลือกที่จะไปซื้อวัคซีนเอง กลายเป็นต้นทุนที่คนธรรมดาต้องแบกรับ ที่ผ่านมาตนพยายามจูงใจหน่วยงานราชการว่าการเปิดเผยข้อมูลมีประโยชน์ เช่น เอกชนมาสามารถนำข้อมูลของหน่วยงานรัฐไปทำงานต่อได้ ทำให้หน่วยงานราชการทำงานน้อยลง

บรรณาธิการจากสำนักข่าวออนไลน์เสนอว่าจากนี้เราควรเปลี่ยนวิธีคิดให้ข้อมูลไหนที่อยากปิดต้องมีการขออนุญาต แทนที่จะต้องขออนุญาตให้เปิดเผยเช่นในปัจจุบัน ที่ผ่านมา ตนเห็นเอกสารข้อมูลการประชุม ครม. ที่ควรจะต้องเปิดก็กลับปิด พงษ์พิพัฒน์ให้ความเห็นว่า หลักที่ควรยึดให้มั่นคือ เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น แต่ร่างกฎหมายข้อมูลข่าวสารที่ ครม. เห็นชอบเมื่อปีที่แล้วกลับพลิกหลักการให้ปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณภาคประชาชนและนิสิตนักศึกษาที่คัดค้านจนสามารถชะลอร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ ท้ายที่สุด ต้องยอมรับว่า พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ยังมีข้อจำกัดอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของดิจิทัลที่กฎหมายตามไม่ทัน จึงจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไข แต่ยืนยันต้องไม่ใช่การแก้ไขตามที่รัฐบาลเสนอ

วิทยากรคนต่อมา ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ข้อมูลข่าวสารราชการในปัจจุบันเป็นการโยนภาระให้กับประชาชน เพราะผู้ร้องต้องพิสูจน์ว่าข้อมูลที่ตนขอนั้นต้องเปิดเผย แต่ถ้าเราตั้งต้นว่าข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องที่ต้องเปิดเผยอยู่แล้ว ณัฐพงษ์จึงเห็นด้วยกับพงษ์พิพัฒน์ว่าหากหน่วยงานรัฐต้องการปกปิดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงก็ต้องรับภาระขอปิดข้อมูลเอง ที่ผ่านมา ตนได้ร่วมมือกับ WeVis ในการทำข้อมูลงบประมาณแผ่นดิน จากการทำงานก็พบว่าหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานไม่ได้ต่อต้านการเปิดเผยข้อมูล แต่กลับเป็นเพียงสำนักงบประมาณมากกว่าที่ไม่อยากเปิดเผย ในการของบประมาณครั้งที่ผ่านมา งบประมาณเริ่มต้นที่หน่วยงานรัฐทั้งหมดขอรวมกันอยู่ที่ 5 ล้านล้านบาท แต่สำนักงบประมาณตัดเหลือ 3 ล้านล้านบาท เราจึงอยากรู้ว่าเงื่อนไขในการตัดงบคืออะไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือสำนักงบประมาณไม่ให้ข้อมูลโดยอ้างว่าเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร เราจึงต้องยืนยันว่าเรามีอำนาจกรรมาธิการในการร้องขอข้อมูลงบประมาณ แม้ว่าตนเป็น ส.ส. มา 3 ปีแล้ว แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับข้อมูล

สมาชิกผู้แทนราษฎรจากพรรคกล้าวไกลระบุต่อว่าภาคประชาชนสามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้ผ่านการแก้ไขกฎหมาย ในตอนนี้พรรคก้าวไกลก็ได้เสนอร่างกฎหมายข้อมูลข่าวสารฉบับใหม่ ถ้าเรายังให้หน่วยงานราชการมีอำนาจในการตีความว่าเปิดได้ไม่ได้ ก็หมายความว่าเราจะทำให้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา การเข้าถึงข้อมูลยากขึ้นมาก การเปลี่ยนวิธีคิดจึงเป็นสิ่งสำคัญ กฎหมายที่ก้าวไกลเสนอยังมีประโยชน์ให้เปิดเผยข้อมูลรายงานการประชุม เช่น ในกรณีของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าที่พิจารณาดีลควบรวมเทสโก้ ประชาชนไม่เคยทราบเลยว่าในการประชุมนั้นมีการพูดถึงอะไรบ้าง ถ้าคนเหล่านี้รู้ว่ามีคนจับตาดูอยู่ เขาก็จะใช้อำนาจอย่างถูกต้องมากขึ้น หลักการจึงอยู่ที่ว่าฐานข้อมูลภาครัฐเป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะ และเนื่องจากฐานข้อมูลของรัฐนั้นเกิดขึ้นจากเงินภาษีของประชาชน ก็ควรให้ประชาชนเข้าถึงได้

รัฐบาลดิจิทัลยังอยู่ในระหว่างปรับตัว ต้องเร่งติดตามหน่วยงานราชการ

หลังจากที่วิทยากรสองคนแรกมาจากภาคสื่อมวลชนและการเมือง วงเสวนาก็ขยับไปที่ตัวแทนจากภาครัฐและผู้กำหนดนโยบาย คือ ณัฐวัฒน์ วรนพกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) โดยเริ่มต้นว่าเป้าประสงค์ของตนและ DGA ก็คือการช่วยให้หน่วยงานรัฐนำข้อมูลมาเปิดเผย โดยมีเว็บไซต์หลักคือ data.go.th ในการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา เรายังอยู่ในระหว่างการเรียนรู้ เราใฝ่ฝันว่าจะเป็น Open Government และตอนนี้เราอยู่ในขั้นตอนที่ปรับตัวมากพอสมควร ซึ่งตนก็คิดว่าการปรับตัวนั้นเป็นไปได้ค่อนข้างดี เรามีชุดข้อมูลเปิดหลายพันชุด อย่างไรก็ตาม รัฐวัฒน์ก็ยอมรับว่าการทำงานกับหน่วยงานราชการจำนวนมหาศาลนั้นต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้เสียทีเดียว จนถึงวันนี้ผู้บริหารกระทรวงเข้าใจแล้วว่าอะไรคือ Open Data การเปลี่ยนผ่านจากข้อมูลในกระดาษเป็นข้อมูลดิจิทัลยังคงเป็นเรื่องยากอยู่ สิ่งที่เราให้คำปรึกษาหน่วยงานคือข้อมูลในอดีตยังคงเป็นกระดาษ แต่ข้อมูลในปัจจุบันและในอนาคตต้องเอามาทำเป็นข้อมูลดิจิทัลให้ได้

รองผู้อำนวยการ DGA เสริมว่าเราต้องสอนหน่วยงานราชการด้วยว่าข้อมูลอะไรที่สามารถนำมาเปิดเผยได้ โดยปกติแล้วหน่วยงานราชการต้องการ “หลังพิง” ให้มีระเบียบภายในที่ทำให้การเปิดเผยข้อมูลสามารถทำได้ เมื่อมี พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ก็เกิดความสับสนจนคิดกันไปว่าปกปิดเป็นหลัก ทำให้เราต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่ว่าการเปิดเผยข้อมูลนั้นทำเป็นสถิติ ไม่ใช่การเปิดเผยข้อมูลชื่อนามสกุลของใคร เพราะในท้ายที่สุดแล้วเรามองในเชิงมหภาค อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นจุดอ่อนในประเทศไทยคือแม้จะมีนโยบาย มีหน่วยงานที่ให้คำปรึกษา มีปัจจัยเกื้อหนุนพร้อม แต่การติดตามการทำงานยังคงทำได้ยาก เนื่องจากหน่วยงานรัฐมีงานค่อนข้างมาก โอกาสที่จะถูกละเลยไม่ถูกติดตามจึงมีมากตามไปด้วย เราจึงเห็นว่าความเข้มข้นของการเปิดเผยข้อมูลจึงแตกต่างกันไปตามแต่ละหน่วยงานหรือกระทรวง ทำให้ต้องมีการตรวจสอบและให้คำปรึกษาหน่วยงานราชการในทุกเดือนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ภาวนา ฤกษ์หร่าย ผู้อำนวยการส่วนนโยบายและวิเคราะห์ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ กล่าวเป็นคนต่อมาว่า พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 นับเป็นก้าวแรกของประเทศไทยในการเปิดเผยข้อมูล ที่นักวิชาการและภาคประชาชนช่วยกันผลักดันหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ส่วนการแก้ไขกฎหมายข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันก็เพื่อให้สอดรับกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ความเปลี่ยนแปลงในร่างกฎหมาย เช่น กำหนดหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจน ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ทำให้กฎหมายสอดคล้องกับกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งตนได้นำข้อคิดเห็นจากประชาชนและหน่วยงานที่ไม่เห็นด้วยมาพิจารณา และมีการทำประชาพิจารณ์ เมื่อได้มาแล้วก็เปิดเผยข้อมูลในเว็บไซต์

ภาวนาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าสิ่งที่วิทยากรท่านอื่นได้กล่าวมาว่าหน่วยงานของรัฐบางหน่วยอาจจะไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลนั้น แท้จริงแล้วกฎหมายข้อมูลข่าวสารของทางราชการกำหนดให้ต้องเปิดเผยอยู่แล้ว ตามกฎหมายหากเจ้าหน้าที่ของรัฐเปิดเผยข้อมูลโดยสุจริตก็จะไม่ต้องรับโทษ

รศ.ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ กรรมการจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ทุกประเทศต่างให้ความสนใจเรื่องการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งส่งผลให้เกิดการพัฒนาเอไออย่างต่อเนื่อง เราจึงต้องพิจารณาว่าแต่ละประเทศเลือกเน้นความสำคัญอย่างไร โดยมีสามประเด็นคือ ความมั่นคง สิทธิของประชาชน และการพัฒนาเศรษฐกิจ

จากการวิจัยที่ตนพบมานั้น สิ่งหนึ่งที่จำเป็นคือ Guillotine กล่าวคือการยกเลิกกฎหมายที่ไม่ได้ใช้หรือซ้ำซ้อนกัน เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมายมากเกินไปจนทำให้เกิดความสับสน ในยุคนี้จึงมีการใช้เอไอเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการ “ใส่เกียร์ว่าง” ของข้าราชการที่เกิดจากความสับสนนี้ ในยุโรปมีการกล่าวถึง GDPR โดยใช้กฎหมายเอไอเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลทุกประเภท และมีการเขียนอย่างชัดเจนว่ามีข้อมูลไหนบ้างที่ได้รับการยกเว้น การแก้ปัญหาเรื่องเอไอจะมีสองแนวทาง คือ ออกเป็นกฎหมาย หรือการออกเป็นนโยบายก่อน สำหรับประเทศที่อาจจะยังไม่มีความพร้อมนั้นก็การออกเป็นนโยบายก่อนก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

แก้กฎหมายข้อมูลข่าวสารให้ทันยุคดิจิทัลเป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องไม่ใช่แบบรัฐบาล

ในช่วงท้าย วงเสวนาเรื่องการ Open Data กลับมาที่บรรณาธิการอาวุโสสำนักข่าว The MATTER โดยพงษ์พัฒน์อธิบายว่า สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการนั้นเป็นไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับผู้ร้องขอข้อมูล แต่แท้จริงแล้วเป็นผู้ช่วยให้การขอข้อมูลทำได้อย่างราบรื่นมากขึ้น อุปสรรคที่แท้จริงคือหน่วยงานของรัฐที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามขอยกระดับหน่วยงานให้กลายเป็นองค์กรอิสระ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า กฎหมายข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันนั้นถือว่ามีเนื้อหาที่ดี ณ จุดที่กฎหมายบังคับใช้ แต่ก็ต้องมีการแก้ไขเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าร่างกฎหมายที่ผ่าน ครม. นั้นทำให้สถานการณ์แย่ลง เพราะมีการระบุโทษไว้สูงและเพิ่มดุลพินิจให้กับเจ้าหน้าที่ และมีแนวโน้มที่จะทำให้การเปิดเผยข้อมูลทำได้ยากขึ้น วิธีการแก้ไขอีกหนึ่งคือ “lead by example” กล่าวคือ ให้ผู้นำเริ่มปฏิบัติก่อนเป็นตัวอย่างให้ผู้ตามเห็นและนำไปปฏิบัติตาม ซึ่งสิ่งนี้ทำได้ง่ายกว่าการแก้กฎหมายและสามารถเห็นผลได้ในทันทีด้วย