ข้อเสนอเพิ่มช่องทางลูกหนี้ “ฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน” ไม่ต้องถูกฟ้องล้มละลาย

เมื่อใครก็ตาม “มีหนี้สินล้นพ้นตัว” หรือ อยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้แล้ว หนึ่งในวิธีที่เจ้าหนี้อาจเลือกใช้ คือ การ “ฟ้องล้มละลาย” หรือ อาศัยกลไกพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 (พ.ร.บ.ล้มละลาย) เพื่อให้มี “ตัวกลาง” เข้ามาจัดการทรัพย์สินลูกหนี้เพื่อชำระหนี้ อย่างไรก็ดี ในฝั่งของลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคล ก็มีอีกหนึ่งช่องทางที่นอกเหนือไปจากการถูกฟ้องล้มละลาย คือการขอ “ฟื้นฟูกิจการ” เพื่อให้กิจการยังไปต่อ และหาเงินมาจ่ายหนี้ได้ 

อย่างไรก็ดี สถานการณ์โควิด-19 และการสั่ง “ล็อกดาวน์”ช่วงปี 2563-2564 ส่งผลต่อผู้ประกอบธุรกิจโดยถ้วนหน้า ธุรกิจหลายอย่างไม่สามารถไปต่อได้ หรืออาจจะไปต่อได้โดยต้องมีปัจจัยเกื้อหนุนอย่างอื่น การปล่อยให้ทุกคน “ล้มละลาย” อาจกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมอย่างมาก หลักเกณฑ์เท่าที่มีอยู่ของพ.ร.บ.ล้มละลาย จึงไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คณะรัฐมนตรี (ครม.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล ได้เสนอแก้ไขพ.ร.บ.ล้มละลาย หลายประเด็น เช่น แก้ไขเพดานหนี้ฟื้นฟูกิจการ แก้ไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ SMEs เพิ่มเติมกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการแบบเร่งรัด 

ส่วนที่แตกต่างเป็นกลไกใหม่ในร่างฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล คือ กลไกที่เปิดให้ลูกหนี้ “บุคคลธรรมดา” ขอเข้าสู่กระบวนการ “ฟื้นฟูสภาวะการเงิน” ได้ เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการบริหารจัดการหนี้สินของลูกหนี้ที่เป็นคนธรรมดา เพื่อให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ ไม่จำเป็นต้องฟ้องล้มละลายกันทุกกรณี ซึ่งกลไกดังกล่าวไม่มีในร่างพ.ร.บ.ล้มละลายฉบับที่เสนอโดยครม.

เปิดเกณฑ์พ.ร.บ.ล้มละลาย ถูกฟ้องแล้วลูกหนี้ทำอะไรไม่ได้บ้าง?

เมื่อบุคคลธรรมดา มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขาดศักยภาพในการชำระหนี้ หนึ่งในกลไกสำคัญที่เจ้าหนี้จะใช้เพื่อให้ได้รับการชำระหนี้ คือการ ฟ้องลูกหนี้ให้เป็นบุคคลล้มละลาย เพื่อใช้กลไกให้ “ตัวกลาง” โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาช่วยจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ เพื่อจัดสรรแบ่งปัดให้เจ้าหนี้แต่ละรายได้รับชำระหนี้อย่างเป็นธรรมตามที่ทรัพย์สินพอจะมีเหลืออยู่ และลดความเสี่ยงที่ลูกหนี้จะยักย้ายซ่อนเร้นทรัพย์สิน จนเจ้าหนี้ไม่ได้รับชำระหนี้คืน 

โดยการฟ้องล้มละลาย มีหลักเกณฑ์คร่าวๆ ดังนี้

มีหนี้แค่ไหน ถึงถูกฟ้องล้มละลายได้?

1.1) กรณีลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา จะต้องเป็นหนี้ไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท

1.2) กรณีลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคล จะต้องเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคน ไม่น้อยกว่า 2,00,000 บาท

2) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ซึ่งในพ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 8 กำหนดลักษณะพฤติการณ์ของลูกหนี้ไว้หลายกรณี ว่าหากลูกหนี้ย้ายออกไปจากที่อยู่ ซ่อนตัว ออกไปนอกประเทศ ยักย้ายทรัพย์ไปให้พ้นอำนาจศาล เพื่อประวิงการชำระหนี้หรือเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว

3) ลักษณะของหนี้ ต้องเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระแล้วหรือยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม

หลังถูกฟ้องล้มละลายแล้วอย่างไรต่อ ลูกหนี้จัดการทรัพย์สินได้อย่างอิสระหรือไม่?

เมื่อเจ้าหนี้ยื่นฟ้องล้มละลายแล้ว ลูกหนี้จะยังไม่ตกเป็นผู้ล้มละลายทันที แต่จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการของพ.ร.บ.ล้มละลาย โดยศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ออกมาก่อน เพื่อให้ทรัพย์สินของลูกหนี้ถูก “แช่แข็ง” ไว้ก่อน ไม่ให้ลูกหนี้กระทำการใดๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน จะจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินก็ไม่ได้ และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาดูแล โดยมีอำนาจยึดดวงตรา สมุดบัญชี เอกสารสำคัญ และบรรดาทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้

เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมีอำนาจเด็ดขาด ในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ เก็บรวบรวมทรัพย์สินที่ลูกหนี้จะต้องได้รับมา เช่น ถ้าลูกหนี้ได้เงินจากการค้าขาย หรือค่าตอบแทนการทำงาน ก็ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาดูแลก่อน รวมถึงมีอำนาจเข้ามาในคดีความที่ลูกหนี้ฟ้องร้องกันอยู่ ซึ่งกลไกเหล่านี้มีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้แอบจำหน่ายทรัพย์สินออกไป จนอาจทำให้เจ้าหนี้ไม่ได้รับชำระหนี้ในอนาคต

เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งนั้น ก็จะแจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายที่มีหนี้สินค้างชำระอยู่กับลูกหนี้คนนั้น ยื่นขอรับชำระหนี้เข้ามายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อจัดสรรทรัพย์สินทั้งหมดชำระหนี้ต่อไป

ถ้าถูกฟ้องล้มละลาย จะสามารถขอเจรจาต่อรองได้ไหม?

หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้ยังสามารถทำคำขอประนอมหนี้ เพื่อขอชำระหนี้เพียงบางส่วนหรือโดยวิธีอื่น ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก เพื่อปรึกษากับเจ้าหนี้ทั้งหลายที่มีอยู่ว่าจะควรยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ หรือควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ถ้าหากเจ้าหนี้เห็นด้วยกับข้อเสนอใหม่ก็จะทำความตกลงเงื่อนไขการชำระหนี้กันใหม่ที่ทุกฝ่ายพอใจ โดยไม่ต้องให้ลูกหนี้กลายเป็นคนล้มละลาย ถ้าหากลูกหนี้ไม่ได้ขอประนอมหนี้หรือตกลงกันใหม่ไม่ได้ ศาลก็จะพิพากษาให้ลูกหนี้ “ล้มละลาย” 

ถ้าเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว ทำอะไรได้/ไม่ได้บ้าง?

กรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเข้ามาจัดการทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายเพื่อแบ่งแก่ให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ก็จะตกอยู่ในสภาพที่ต้อง “รัดเข็มขัด” ใช้เงินตามพอสมควรเท่าที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดสรรให้ เพื่อใช้จ่ายเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูปเท่านั้น ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเป็นผู้อนุญาต 

ทุกครั้งที่ลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับทรัพย์สินอย่างใดลูกหนี้จะต้องรายงานเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ และลูกหนี้จะต้องแสดงบัญชีรับจ่ายเสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทุกระยะหกเดือน นอกจากนี้ ถ้าหากลูกหนี้จะเดินทางออกนอกประเทศไทย ก็ต้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และรอให้ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาต กรณีที่ย้ายที่อยู่ ต้องแจ้งตำบลที่อยู่ใหม่เป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย เพื่อป้องกันการ “หนีหนี้”

เป็นบุคคลล้มละลาย เล่นการเมืองได้ไหม?

การตกเป็นบุคคลล้มละลายไม่ได้ส่งผลแค่เพียงเรื่องการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้เท่านั้น แต่ยังส่งผลให้ลูกหนี้ที่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองได้ด้วย โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (2) กำหนดลักษณะต้องห้ามไม่ให้บุคคลล้มละลายสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งอื่นๆ ได้เช่นกัน เช่น จะเป็น ส.ว. ชุดปกติ 200 คน ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ (มาตรา 108 ข. (1)) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ (มาตรา 202 (2)) เป็นรัฐมนตรีไม่ได้ (มาตรา 160 (6)) และไม่สามารถเป็นผู้ได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองได้

ข้อเสนอก้าวไกล เพิ่มช่องทางลูกหนี้ยื่นขอ “ฟื้นฟูสภาวะการเงิน” 

ตามกลไกของพ.ร.บ.ล้มละลาย ที่ใช้บังคับอยู่ หากลูกหนี้เป็นนิติบุคคล เช่น บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทมหาชน สามารถยื่นขอ “ฟื้นฟูกิจการ” ได้ แต่ถ้าลูกหนี้เป็น “บุคคลธรรมดา” มีหนี้สินล้นพ้นตัว ช่องทางในการจัดการหนี้สิน คือ การถูกฟ้องล้มละลาย โดยที่เจ้าหนี้เป็นผู้เริ่มฟ้องลูกหนี้ก่อน โดยไม่มีกลไกที่ให้ลูกหนี้เป็นฝ่ายริเริ่มกระบวนการ เพื่อหาทางให้ลูกหนี้ได้รับสภาวะพักการชำระหนี้ หรือมีทางออกอื่นๆ 

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้เสนอร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย ฉบับใหม่ เพื่อเพิ่มกลไกอีกหนึ่งช่องทาง คือ “การฟื้นฟูสภาวะทางการเงินของลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา” กำหนดให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา หากอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และถ้ามีเหตุสมควรและช่องทางที่จะฟื้นฟูสภาวะทางการเงินได้ ตัวลูกหนี้เอง หรือเจ้าหนี้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้มีการฟื้นฟูสภาวะทางการเงินและจัดทำแผนฟื้นฟูสภาวะทางการเงินได้ ซึ่งต่างจากกรณีการฟ้องล้มละลายที่ฝั่งเจ้าหนี้เป็นฝ่ายฟ้องลูกหนี้ และเพื่อเป็นการหาทางออกให้ลูกหนี้ยังคงทำงานหารายได้ต่อไปและหาทางชำระหนี้ให้เป็นที่พอใจได้ เป็นประโยชน์กับทั้งฝ่ายลูกหนี้และเจ้าหนี้เอง

กรณีใดบ้างที่ถือว่าลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ 

สามารถดูจากสถานะของลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้มีทรัพย์สินไม่พอกับหนี้สิน ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ภายในเวลากำหนด และเมื่อได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้ว ก็ยังไม่ชำระภายใน 30 วัน ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินที่จะบังคับคดีได้ตามคำพิพากษา หรือเจ้าหนี้ร้องขอบังคับคดีแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินที่เพียงพอจะชำระหนี้

การร้องขอฟื้นฟูสภาวะทางการเงินกับใคร ต้องขึ้นศาลหรือเปล่า?

ร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย ที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล เจ้าหนี้หรือลูกหนี้มีทางเลือกที่จะยื่นคำร้องให้มีการฟื้นฟูสภาวะทางการเงินและจัดทำแผนฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน กับพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนี้

  1. พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาวะทางการเงินและจัดทำแผนฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน
  2. เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
  3. เจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงค์ชาติ) ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาวะทางการเงินและจัดทำแผนฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน
  4. เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ หรือสมาคมหรือนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการฟื้นฟูสภาวะทางการเงินของลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา
  5. พนักงานเจ้าหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งต้องรอให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาผ่านร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย จนประกาศใช้กฎหมาย หลังจากนั้นจึงจะมีกฎกระทรวงกำหนดพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้สามารถ

จะเห็นได้ว่า กลไกในการเข้าถึงการฟื้นฟูสภาวะทางการเงินในเบื้องต้น ไม่จำเป็นต้องพึ่งพากระบวนการศาลและยังมีหลายช่องทางให้เจ้าหนี้หรือลูกหนี้เลือก หากสะดวกยื่นคำร้องให้กับองค์กรใดก็ไปยื่นที่นั่นได้เลย และยังไม่ผูกขาดว่าจะต้องยื่นคำร้องให้แค่เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของรัฐเท่านั้น เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ยังเปิดโอกาสให้สามารถยื่นคำร้องกับเจ้าหน้าที่ขององค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐอย่างมูลนิธิ สมาคม หรือนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานเรื่องการฟื้นฟูสภาวะทางการเงินโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีจัดตั้งขึ้น

กรณีใดบ้างที่จะขอฟื้นฟูสภาวะทางการเงินไม่ได้?

  • กรณีลูกหนี้ที่ถูกฟ้องล้มละลาย จนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว
  • กรณีที่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้เคยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูสภาวะทางการเงินไปแล้ว แต่พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งยกคำร้องไม่เกินหกเดือน ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่จะพิจารณารับคำร้องหรือไม่ ก็จะพิจารณาว่าลูกหนี้อยู่ในสถานะไม่สามารถชำระหนี้ได้จริงหรือไม่ มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูสภาวะทางการเงินจริงหรือไม่ ถ้าหากไม่เข้าข่ายกรณีเหล่านี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะมีคำสั่งยกคำร้อง 

หนี้ประเภทไหนบ้างที่จะขอฟื้นฟูสภาวะทางการเงินได้?

ร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย ไม่ได้กำหนดประเภทของหนี้ไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น โดยหลักแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหนี้ประเภทใด เช่น หนี้จากการกู้ยืมเงินธนาคาร หรือหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินภาครัฐ ก็สามารถขอให้มีการฟื้นฟูสภาวะทางการเงินและจัดทำแผนฟื้นฟูสภาวะทางการเงินได้

แต่ข้อยกเว้น ที่ไม่สามารถใช้กลไกขอฟื้นฟูสภาวะทางการเงินได้ คือ กรณีหนี้ที่เกิดจากการประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ซึ่งจะต้องไปใช้กลไก “การฟื้นฟูกิจการ SMEs” แทน ดังนั้น แม้ว่าลูกหนี้จะเป็นบุคคลธรรมดาก็ตาม แต่ถ้าหนี้นั้นเกิดจากการฟื้นฟูกิจการในกระบวนการอื่น ก็ไม่สามารถใช้กลไกขอฟื้นฟูสภาวะทางการเงินได้แล้ว

กระบวนการขอฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน เป็นอย่างไร?

เมื่อเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ยื่นคำร้องแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะพิจารณาคำร้อง หากมีคำสั่งรับคำร้อง ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะส่งสำเนาคำร้องและแจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่จะพิจารณาคำร้องแก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้ โดยจะส่งก่อนวันนัดพิจารณาไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

พอถึงวันนัดพิจารณา เมื่อเจ้าหนี้และลูกหนี้มาพร้อมกันแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะจัดให้มีการไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมหรือตกลงกัน ถ้าเจ้าหนี้กับลูกหนี้สามารถหาทางออกในการจ่ายคืนหนี้ร่วมกันได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะจัดทำแผนฟื้นฟูสภาวะทางการเงินให้เป็นไปตามข้อตกลง

โดยแผนฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน อย่างน้อยจะต้องมีข้อมูลต่อไปนี้

  1. เหตุผลที่ทำให้มีการฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน
  2. รายละเอียดของสินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันต่างๆ ของลูกหนี้ในขณะที่ยื่นคำร้องขอ
  3. ขั้นตอนการฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน
  4. การชำระหนี้ การยืดกำหนดเวลาชำระหนี้ การลดจำนวนหนี้ และการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ ทั้งนี้ เจ้าหนี้ที่อยู่กลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน
  5. การจัดการและการหาประโยชน์จากทรัพย์สินของลูกหนี้
  6. แนวทางแก้ปัญหากรณีขาดสภาพคล่องชั่วคราวระหว่างปฏิบัติตามแผน
  7. ระยะเวลาการดำเนินตามแผน

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำแผนเสร็จแล้ว สามารถเห็นชอบด้วยแผนและมีคำสั่งให้ฟื้นฟูสภาวะทางการเงินได้ แต่ว่าถ้ากรณีหนี้ “รวมกัน” มีไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท พนักงานเจ้าหน้าที่จะไม่ใช่ผู้ที่สามารถออกคำสั่งและเห็นชอบกับแผนได้ แต่ต้องส่งแผนฟื้นฟูสภาวะทางการเงินให้ศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจะเห็นชอบกับแผนหรือไม่

ถ้าหากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือศาลเห็นชอบด้วยแผนและมีคำสั่งให้ฟื้นฟูสภาวะทางการเงินแล้ว คำสั่งนั้นและแผนฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน ก็จะถูกนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา และคำสั่งนั้นก็จะผูกมัดเจ้าหนี้

การขอฟื้นฟูสภาวะทางการเงินแล้ว มีอะไรที่ทำไม่ได้บ้าง?

ร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย กำหนดว่า นับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน ไปจนถึงวันที่ครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่แผนดำเนินการเป็นผลสำเร็จแล้ว ห้ามบุคคลที่เกี่ยวข้องกระทำการหลายประการ เช่น

ลูกหนี้ : ห้ามจำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล หากลูกหนี้ฝ่าฝืน มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ถ้าเป็นการกระทำเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ ก็ยังสามารถทำได้ ไม่ต้องห้าม

เจ้าหนี้ : ห้ามฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย ห้ามฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

บุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

>>> เจ้าของทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญในการดำเนินกิจการของลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ ซื้อขาย หรือสัญญาอื่นที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์: ห้ามติดตามเอาทรัพย์สินที่อยู่ในความครอบครองของลูกหนี้คืน และห้ามฟ้องร้องบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์สิน

ถ้าการฟื้นฟูสภาวะทางการเงินไม่สำเร็จ จะเป็นอย่างไร?

กรณีที่การฟื้นฟูสภาวะทางการเงินสามารถดำเนินการได้สำเร็จตามแผน พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะรายงานขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน ถ้าหากกรอบเวลาสิ้นสุดแล้ว แต่แผนดำเนินการใกล้จะเสร็จ ศาลสามารถขยายเวลาได้ตามสมควร

แต่กรณีที่ระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลง แต่การฟื้นฟูสภาวะทางการเงินยังไม่เป็นผลสำเร็จตามแผน พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถรายงานต่อศาลให้ทราบ ถ้าศาลเห็นสมควรก็จะมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน ดังนั้น หลังจากศาลมีคำสั่งดังกล่าว ถ้าหากลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท ก็อาจถูกฟ้องล้มละลายได้ และเข้าสู่กระบวนการจัดการทรัพย์สินตามกฎหมายเดิม

เพิ่มเพดานหนี้ฟื้นฟูกิจการ เพิ่มสิทธิลูกหนี้ SMEs

ในพ.ร.บ.ล้มละลาย ที่เสนอทั้งสองฉบับ นอกจากกลไกการฟ้องล้มละลายแล้ว กฎหมายยังกำหนดกลไกการ “ฟื้นฟูกิจการ” และการฟื้นฟูกิจการสำหรับ SMEs เพื่อให้ลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคลประกอบธุรกิจที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้ ลูกหนี้  หรือบุคคลอื่นตามมาตรา 90/4 สามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้มีการฟื้นฟูกิจการ เพื่อที่ลูกหนี้จะได้รับสภาวะพักการชำระหนี้ จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ และดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ

กรณีการฟื้นฟูกิจการ

ในพ.ร.บ.ล้มละลาย กำหนดว่าลูกหนี้เป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด จะต้องมีหนี้จากเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท จึงจะสามารยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้ อย่างไรก็ดี ร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย ที่เสนอโดยครม. และอีกฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล ได้เสนอแก้ไขจำนวนหนี้ เป็นจำนวน “ไม่น้อยกว่า” 50 ล้านบาท หมายความว่า หากร่างพ.ร.บ.ล้มละลายผ่านการพิจารณาของสภา และประกาศใช้เป็นกฎหมาย หากลูกหนี้มีจากเจ้าหนี้รวมกันไม่ถึง 50 ล้านบาท ตัวเจ้าหนี้ก็ยังไม่สามารถร้องขอให้ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้

กรณีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็น SMEs

ทำนองเดียวกันกับการฟื้นฟูกิจการกรณีปกติ สำหรับกรณีลูกหนี้ที่เป็น SMEs ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล บริษัทจำกัด พ.ร.บ.ล้มละลาย กำหนดหลักเกณฑ์ว่าเจ้าหนี้หรือลูกหนี้จะยื่นต่อศาลให้มีการฟื้นฟูกิจการได้ ถ้าลูกหนี้ไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้ และมีหนี้ที่เกิดจากการดำเนินกิจการจากเจ้าหนี้รายเดียวหรือหลายรายรวมกัน ตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด ซึ่งร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย ฉบับที่เสนอโดยครม. และฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอแก้ไขจำนวนหนี้ต่างกัน ดังนี้

จำนวนหนี้สำหรับการฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ SMEs
ประเภทลูกหนี้ SMEs พ.ร.บ.ล้มละลาย ร่างที่เสนอโดยครม.

ร่างที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล

บุคคลธรรมดา
มีหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท
มีหนี้ 1- 50 ล้านบาท
มีหนี้ไม่ถึง 50 ล้านบาท
๐ คณะบุคคล
๐ ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน
๐ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล
๐ ห้างหุ้นส่วนจำกัด
มีหนี้ไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท
มีหนี้ไม่น้อยกว่า 2-50 ล้านบาท
บริษัทจำกัด
มีหนี้ 3-10 ล้านบาท

นอกจากการเสนอแก้ไขจำนวนหนี้ในการขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ SMEs แล้วร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย ฉบับที่เสนอโดยครม. และฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล ยังกำหนดเพิ่มสิทธิให้ลูกหนี้เป็นผู้บริหารแผนการฟื้นฟูกิจการ SMEs และเพิ่มเติมกระบวนการพิจารณาการฟื้นฟูกิจการแบบเร่งรัดขึ้นมา ซึ่งใช้ทั้งกับกรณีการฟื้นฟูกิจการตามระบบเดิมและการฟื้นฟูกิจการ SMEs

การฟื้นฟูสภาวะการเงินของลูกหนี้บุคคลธรรมดาจะไม่เกิดขึ้นจริง

ถ้าสภาไม่เห็นด้วย

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 24 สิงหาคม 2565 สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย ฉบับที่เสนอโดยครม. และฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 297 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 4 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) 25 คน เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในรายละเอียด โดยใช้ร่างฉบับที่เสนอโดยครม. เป็นร่างหลักในการพิจารณา

ถึงแม้ว่าร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย ฉบับที่เสนอโดยครม. และฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล จะมีจุดร่วมบางอย่างที่เหมือนกัน อาทิ การแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหนี้สำหรับกรณีการฟื้นฟูกิจการ แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ SMEs แต่จุดต่างที่สำคัญ คือ ร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย ฉบับที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล เป็นร่างเดียวที่เพิ่มเติมกระบวนการฟื้นฟูสภาวะทางการเงินของลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีในร่างฉบับที่เสนอโดยครม. อันเป็นร่างหลัก

ในการประชุมกมธ. ร่างพ.ร.บ.ลัมละลาย ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล และโฆษกกมธ. ได้ยกตัวอย่างกรณีของต่างประเทศ คือ กรณีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งกฎหมายล้มละลายกำหนดให้มีกระบวนการฟื้นฟูสภาวะทางการเงินของลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นประเภทลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูมากที่สุดเมื่อเทียบกับลูกหนี้ประเภทอื่น อย่างไรก็ดี ที่ประชุมกมธ. ก็ยังมีข้อสังเกตในประเด็นปัญหาเรื่องนี้ว่า หนี้ส่วนใหญ่ของลูกหนี้บุคคลธรรมดาเป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งอาจส่งผลต่อการกำหนดนิยามความเป็นลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาและเกณฑ์การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสภาวะทางการเงินของลูกหนี้

ผลของการที่ร่างของครม. ถูกใช้เป็นร่างหลัก ทำให้ร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย ฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล เป็น “ส่วนเสริม” ถ้าหากเสียงข้างมากของที่ประชุมกมธ. ไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ในการฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน กมธ. ข้างน้อยที่เห็นด้วยกับเนื้อหานี้ จะต้องสงวนความเห็นให้กำหนดเนื้อหาดังกล่าวไว้ เพื่อให้มีโอกาสไปอภิปรายต่อในสภาเมื่อถึงขั้นตอนการพิจารณารายมาตราในวาระสอง ซึ่งในชั้นวาระสอง สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาว่าจะเห็นด้วยกับเนื้อหาแบบใด 

ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่กระบวนการฟื้นฟูสภาวะทางการเงินของลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาจะถูกกำหนดในร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย จนสามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ จุดสำคัญจึงอยู่ที่เสียงของสภาผู้แทนราษฎรว่าจะเห็นด้วยกับเนื้อหาดังกล่าวในแต่ละมาตราหรือไม่ ซึ่งต้องจับตากระบวนการพิจารณากันต่อไปในสมัยประชุมสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ที่จะเริ่มสมัยประชุมตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2565 จนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2566

ช่วยกันบอกต่อ ส่งเสียง ให้รัฐสภาผ่านร่างนี้ และลงชื่อสนับสนุนให้เป็นจริงทาง Change.org/personal-rehab

_____________________________________________________________________________________________

อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายล้มละลาย และข้อเสนอ “ฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน” 

_____________________________________________________________________________________________

ช่วยกันแชร์เนื้อหาเกี่ยวกับกฎหมายล้มละลาย และข้อเสนอ “ฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน” ได้ทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์

Facebook

Twitter

เมื่อใครก็ตาม “มีหนี้สินล้นพ้นตัว” หรือ อยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้แล้ว หนึ่งในวิธีที่เจ้าหนี้อาจเลือกใช้เพื่อให้ได้รับการชำระหนี้ คือ การ “ฟ้องล้มละลาย”

การถูกฟ้องล้มละลายส่งผลกระทบต่อลูกหนี้หลายอย่าง บางเรื่องลูกหนี้อาจไม่สามารถจัดการได้เต็มที่

1/7 pic.twitter.com/U5UgC9DzJ5

— iLawClub (@iLawclub) September 23, 2022

ปี 63-64 มีการล็อกดาวน์จาก #โควิด19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ครม. และส.ส.พรรคก้าวไกล จึงเสนอแก้พ.ร.บ.ล้มละลาย เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของ SMEs ฯลฯ

ร่างที่เสนอโดยส.ส.ก้าวไกล มีกลไกใหม่ให้ลูกหนี้บุคคลธรรมดาขอเข้าสู่กระบวนการ “ฟื้นฟูสภาวะการเงิน” ได้ https://t.co/7q8dJd5Tzy
1/6 pic.twitter.com/5QO0dTnKm0

— iLawClub (@iLawclub) September 24, 2022

เมื่อบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว อาจเสี่ยงถูกฟ้องล้มละลาย กรณีของนิติบุคคล/บุคคลธรรมดาที่ประกอบกิจการ SMEs ยังมีทางเลือกว่า “ฟื้นฟูกิจการ” จัดการหนี้จากการประกอบกิจการ

แต่ตอนนี้มีข้อเสนอเพิ่มช่องทาง ให้ลูกหนี้บุคคลธรรมดา #ฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน ได้ ข้อเสนอนี้เป็นยังไง มาดูกัน

1/7 pic.twitter.com/DGtOZpLGZ2

— iLawClub (@iLawclub) September 27, 2022