จับตา! #แก้รัฐธรรมนูญ season 4 ปิดสวิตช์ส.ว. เลือกนายกฯ – นายกฯ ต้องเป็นส.ส.

6-7 กันยายน 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็มีกำหนดนัดพิจารณา #แก้รัฐธรรมนูญ จากร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรวมห้าฉบับ โดยจำนวนสามฉบับ เสนอโดยส.ส.พรรคเพื่อไทย อีกหนึ่งฉบับ เสนอโดยภาคประชาชนหกหมื่นกว่ารายชื่อ ร่วมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอปิดสวิตช์ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี และอีกหนึ่งฉบับ เสนอโดยส.ส.พรรคภูมิใจไทย เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 120 เกี่ยวกับการกำหนดองค์ประชุม

โดยร่าง #แก้รัฐธรรมนูญ แต่ละฉบับ เป็นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา มีเนื้อหาแตกต่างกัน รายละเอียด ดังนี้

ประชาชนเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. เลือกนายกฯ

แคมเปญ #แก้รัฐธรรมนูญ ปิดสวิชต์ส.ว. ริเริ่มขึ้นเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2564 โดยกลุ่ม “คณะรณรงค์แก้ไข รธน. มาตรา 272” นำโดยสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

เนื้อหาของร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดให้ยกเลิกเพียงมาตราเดียว คือ มาตรา 272 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดบทเฉพาะกาล ให้อำนาจส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยในระยะห้าปีแรกหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เป็นข้อยกเว้นจากหลักการปกติที่อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 159 กำหนด

เพื่อไทยเสนอ 3 ฉบับ นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. เพิ่มกลไกคุ้มครองสิทธิหลายประเด็น

ฉบับที่หนึ่ง แก้ไขมาตรา 43 ที่รับรองสิทธิชุมชน กำหนดเพิ่มเติมการรับรองสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี  และให้มีองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งเคยมีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการจัดตั้งคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ขึ้นโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ภายหลังยุบเลิกไปหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ข้อเสนอครั้งนี้จึงเป็นความพยายามเอาองค์กรดังกล่าวกลับมา

ฉบับสอง แก้ไขเพิ่มเติมหลายประเด็น อาทิ

  • เพิ่มมาตรา 29/1 เอาสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกลับมา สิทธิเหล่านี้เคยเขียนไว้ชัดเจนในฉบับปี 2550 แต่ถูกตัดออกไปในฉบับปี 2560 เช่น สิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม หลักประกันการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริง การคัดค้านผู้พิพากษา การมีทนายความและได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากรัฐ
  • เพิ่มเติมมาตรา 34 เรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็นว่า การออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพจะจำกัดการติชมด้วยความเป็นธรรมไม่ได้
  • แก้ไขมาตรา 45 เรื่องสิทธิจัดตั้งพรรคการเมือง ผ่อนปรนเงื่อนไขให้ยืดหยุ่นขึ้น โดยเขียนด้วยว่า การจัดตั้งพรรคการเมืองจะต้องไม่มีขึ้นตอนและความยุ่งยากเกินควร การให้สมาชิกมีส่วนร่วมต้องไม่สร้างภาระแก่พรรคการเมืองเกินสมควร ส่วนการยุบพรรคการเมืองจะทำได้เฉพาะกรณีที่ปรากฏพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  • แก้ไขมาตรา 47 เรื่องสิทธิทางสาธารณสุข ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐานและได้รับหลักประกันสุขภาพโดยถ้วนหน้า” เพิ่มคำว่า “สิทธิเสมอกัน” และยืนยันเรื่องหลักประกันสุขภาพแบบ “ถ้วนหน้า” แทนวิธีการเขียนที่ไม่ชัดเจนในฉบับปี 2560

ฉบับสาม นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. และอยู่ในบัญชีพรรคการเมือง

ที่มานายกรัฐมนตรี เป็นข้อถกเถียงมานานหลายสมัย และรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ออกแบบนวัตกรรมใหม่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องเสนอชื่อบุคคลที่จะให้เป็นนายกรัฐมนตรีสามรายชื่อก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นช่องทางที่เปิดให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเอง ไม่ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และไม่ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นวัตกรรมนี้ก็ส่งให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรียาวต่อเนื่องมากหลังการเลือกตั้งในปี 2562

ร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงแก้ไขมาตรา 159 อีกครั้งให้กำหนดบังคับเลยว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็นทั้ง ส.ส. ในสภาที่ได้รับการเลือกตั้ง และต้องเป็นบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อไว้ก่อนเลือกตั้ง หากนายกรัฐมนตรีพ้นจากการเป็น ส.ส. ก็พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย แต่ถึงร่างฉบับนี้ผ่านการพิจารณาก็ไม่มีผลบังคับใช้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งจะยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ เพราะมาตรา 159 ที่เสนอใหม่นี้จะเริ่มใช้หลังการเลือกตั้งครั้งถัดไปเท่านั้น

ภูมิใจไทยเสนอแก้หลักเกณฑ์องค์ประชุม 

รัฐธรรมนูญ มาตรา 120 กำหนดว่า องค์ประชุมของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา แต่มีข้อยกเว้นที่ให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาจะกำหนดองค์ประชุมไว้ในข้อบังคับเป็นอย่างอื่นก็ได้ คือ กรณีการพิจารณาระเบียบวาระกระทู้

ร่างแก้รัฐธรรมนูญ ภูมิใจไทย เสนอเพิ่มข้อยกเว้นอีกสองกรณี 1) ระเบียบวาระการรับทราบรายงานขององค์กรอิสระ หรือองค์การมหาชน หน่วยงานอื่นๆ ของรัฐที่กฎหมายกำหนดให้ต้องรายงานสภา 2) ระเบียบวาระอื่นๆ ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา จะกำหนดองค์ประชุมไว้ในข้อบังคับเป็นอย่างอื่นก็ได้

____________

การ #แก้รัฐธรรมนูญ ครั้งนี้ นับเป็นการแก้รัฐธรรมนูญภาคสี่ ภายใต้รัฐสภาชุดนี้

๐ ภาคแรก (พฤศจิกายน 63 – มีนาคม 64) พิจารณา 7 ร่าง ผล: ร่างที่ให้ตั้ง สสร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกคว่ำในวาระสาม

๐ ภาคสอง (มิถุนายน – พฤศจิกายน 64) พิจารณา 13 ร่าง ผล: ร่างแก้ระบบเลือกตั้งผ่านสภาทั้งสามวาระและประกาศใช้เป็นกฎหมายได้สำเร็จ

๐ ภาคสาม (พฤศจิกายน 64) พิจารณา 1 ร่าง ผล: ร่าง “รื้อระบอบประยุทธ์” ถูกคว่ำในวาระแรก

การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะเป็นอย่างไร จะมีข้อเสนอใดที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาหรือไม่ ต้องติดตามกันในการประชุมรัฐสภา 6-7 กันยายน 2565