ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง พล.อ.ประยุทธ์​ หยุดปฏิบัติหน้าที่-พล.อ.ประวิตร ทำหน้าที่รักษาการนายกฯ

24 สิงหาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 ให้รับคำรองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคฝ่ายค้านยื่นขอให้พิจารณาเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าครบ 8 ปี แล้วหรือไม่ พร้อมทั้งสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมา

การยื่นคำร้องดังกล่าว สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ กำหนดให้ “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่ง ติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง” กล่าวคือ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งนายกฯ มากี่ครั้ง และไม่ว่าจะดำรงต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่องก็ตาม แต่ระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ของทุกคนต้องรวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี 

อีกทั้ง โดยข้อเท็จจริงปรากฎว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 และรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 264 ได้บัญญัติไว้ว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้…” จึงต้องถือว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องสิ้นสุดลงในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 

อย่างไรก็ดี เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 41 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน และถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน

ทั้งนี้ คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 237/2563 ได้กำหนดผังการมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีไว้ว่า ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ ดังนี้

  1.  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
  2. วิษณุ เครืองาม
  3. อนุทิน ชาญวีรกูล
  4. จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์
  5. ดอน ปรมัตถ์วินัย
  6. สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

กล่าวคือ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ รองนายกฯ ที่อยู่ในลำดับที่หนึ่ง ซึ่งก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะทำหน้าที่รักษาราชการแทนไปพลางก่อน และตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 48 วรรคหนึ่งยังกำหนดให้ผู้รักษาราชการแทนมีอํานาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน แต่ในคำสั่งนายกฯ ที่ 277/2563 มีการระบุไว้ด้วยว่า “ผู้รักษาราชการแทนจะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกฯ ได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกฯ เสียก่อน”

โดยหลังจากนี้ หากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ครบวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะกลับมาปฏิบัติหน้าที่เป็นนายกฯ เหมือนเดิม แต่หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในวาระนายกฯ ครบ 8 ปีแล้ว พล.อ.ประยุทธ์​ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง เช่นเดียวกับรัฐมนตรีทุกคนก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วยตามนายกฯ แต่ยังให้อยู่เป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการไปพลางก่อน จนกว่าสภาจะเลือกนายกฯ คนใหม่ และครม. ชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ 

นอกจากนี้ แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ แต่ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุด ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังสามารถเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐฒนตรีได้ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม