ก้าวไกลเสนอปรับลดงบส่วนราชการในพระองค์ เรียกร้องสภาทำให้งบสถาบันฯ โปร่งใส ตรวจสอบได้

23 สิงหาคม 2565 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 (ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2566) ในวาระสอง ลงมติรายมาตรา ซึ่งเป็นการนัดพิจารณาเพิ่มอีกหนึ่งวันสืบเนื่องจากตั้งแต่วันที่ 17-19 สิงหาคม 2565 สภายังพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2566 โดยร่างกฎหมายงบประมาณฉบับนี้ เป็นฉบับสุดท้ายของรัฐบาลประยุทธ์ 2 กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายแผ่นดินประจำปี 2566 รวมอยู่ที่ 3.185 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มมาจากปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่ 85,000 ล้านบาท

โดยหลังร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2566 ผ่านการพิจารณาวาระหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 3 มิถุนายน 2565 สภาก็ได้ตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีในรายละเอียด และกมธ. ข้างมากก็จะเสนอต่อสภาว่าจะปรับลดหรือเพิ่มงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณใดบ้าง เพื่อให้สภาโหวตรายมาตราในวาระสองว่าเห็นด้วยกับที่กมธ. เสนอมาหรือไม่ อย่างไรก็ดี แม้จะมีบางหน่วยรับงบประมาณที่กมธ. ปรับเปลี่ยนตัวเลขวงเงินงบประมาณ แต่บางหน่วยงานก็ไม่ถูกปรับลดหรือเพิ่มวงเงินงบประมาณจากร่างที่คณะรัฐมนตรีเสนอมาในวาระหนึ่ง โดยหนึ่งในนั้นคือ “ส่วนราชการในพระองค์” ซึ่งกำหนดวงเงินงบประมาณไว้ที่ 8,611.67 ล้านบาท

เมื่อการพิจารณารายมาตรา เดินทางมาถึง มาตรา 36 ซึ่งกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการในพระองค์ ส.ส. จากพรรคก้าวไกล 3 คน อภิปรายงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ และมีข้อเสนอให้ “ปรับลด” งบประมาณส่วนราชการในพระองค์ ดังนี้

สุทธวรรณ เสนอปรับลด 10% แจงงบบุคลาการข้าราชการในพระองค์ยังสูง เมื่อเทียบหน่วยงานอื่น

สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา เสนอปรับลดงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ลง 10% และอภิปรายว่า ปีนี้งบประมาณส่วนราชการในพระองค์ ตั้งไว้ที่ 8,611.67 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2565 1.7% (ปีงบประมาณ 2565 ตั้งงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ไว้ที่ 8,761.39 ล้านบาท) การชี้แจงงบประมาณในปีนี้ก็ดีขึ้นกว่าปีก่อน มีการมอบหมายให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีมาเป็นตัวแทนชี้แจงงบประมาณกับกมธ. และเตรียมคลิปวิดีโอแจกแจงรายละเอียดโครงสร้างหน่วยงาน แจกแจงจำนวนบุคลากรแต่ละสำนักมาให้ชม ทำให้กมธ.เห็นภาพมากขึ้น จากที่ปีก่อนๆ ที่แทบไม่ทราบอะไรเลย

“สำหรับงบส่วนราชการในพระองค์ ในปีงบประมาณ 2566 แบ่งเป็นงบบุคลากร ประมาณ 7,948.67 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 663 ล้านบาท ในส่วนของงบบุคลากร ลดลงจากปีที่แล้ว 149 ล้านบาท เพราะมีบุคลากรระดับสูงพ้นจากตำแหน่ง เมื่อดูจากจำนวนบุคลากรในปัจจุบัน ก็เข้าใจได้ว่าทำไมงบถึงสูงถึงปีละ 7,948 ล้าน เพราะว่ามีจำนวนบุคลากรแต่ละสำนักรวมกันถึง 14,457 คน แต่อย่างไรก็ตาม ก็เป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ”

“ในส่วนของงบดำเนินงาน 663 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเท่ากับปีที่แล้ว ไม่เพิ่ม ไม่ลด ตรงนี้ดิฉันทราบมาว่าในห้องกรรมาธิการก็ไม่ได้แสดงรายละเอียดแต่อย่างใดว่าถูกใช้ไปกับอะไร ดิฉันจึงอยากเสนอแนะว่าในปีต่อๆ ไป งบดำเนินงานของส่วนราชการในพระองค์ควรถูกนำมาพิจารณาด้วยเหมือนหน่วยงานอื่นๆ อาจจะมีการพิจารณาในห้องอนุกรรมาธิการเพื่อให้เกิดความโปร่งใสที่สุดและป้องกันการครหานินทา”

สุทธวรรณ อภิปรายต่อว่า อยากเรียนถามกมธ. ว่า เมื่อปีที่แล้ว มีอาจารย์ท่านหนึ่งลงรูปเอกสารหนึ่งเล่ม ปกสีฟ้า ความหนาเป็นร้อยหน้า ลงในโซเชียลมีเดีย หน้าปกของเอกสารเขียนว่า สำเนาเอกสารประกอบปีงบประมาณ 2565 ส่วนราชการในพระองค์ โดยผู้โพสต์ระบุว่า นั่นคือสำเนาเอกสารที่ถูกส่งมาให้สภาพิจารณา พร้อมทั้งกล่าวหาว่าพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โกหกว่าเอกสารมีเพียงเจ็ดหน้าทั้งๆ ที่ความจริงมีเป็นร้อยหน้า สุทธวรรณ ตั้งคำถามว่า เอกสารนี้มีจริงหรือไม่ ถ้ามีจริงเอกสารถูกเก็บไว้ที่ไหน ทำไมกมธ. ปีที่แล้วถึงไม่ได้รับ หรือถ้าไม่มีจริง ทำไมถึงปล่อยให้มีคนแอบอ้างว่ามีเอกสารงบประมาณส่วนราชการในพระองค์อยู่ในมือ จึงอยากถามกมธ. ว่าปีนี้มีเอกสารที่มีความหนาเป็นร้อยหน้าหรือไม่ อยากให้กมธ. ชี้แจงส่วนนี้

“ดิฉันอยากวิงวอนให้สภา ช่วยกันทำให้การพิจารณางบส่วนราชการในพระองค์มีความโปร่งใส เราต้องพิจารณาเรื่องนี้กันให้เป็นเรื่องปกติ พูดคุยกันอย่างมีเหตุผล มีวุฒิภาวะ ทำให้งบส่วนราชการในพระองค์เป็นเหมือนหน่วยรับงบประมาณอื่นๆ ช่วยกันตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้งบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นงบที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดความสง่างามต่อสถาบันฯ ดิฉันหวังว่าในปีต่อๆ ไป เราจะเห็นรายละเอียดที่มากขึ้นไปอีกเพื่อประกอบการพิจารณา ดิฉันไม่อยากเห็นใครครหานินทาว่างบส่วนนี้ตรวจสอบไม่ได้ เป็นสิ่งลึกลับดำมืดของสภา”

เบญจาเสนอปรับลดงบ 15% ตั้งข้อสังเกตงบซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่รับผิดชอบถวายความปลอดภัยฯ

เบญจา แสงจันทร์ เสนอปรับลดงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ 15% คิดเป็น 1,291 ล้านบาท โดยเบญจาให้เหตุผลว่า ถึงแม้งบประมาณส่วนราชการในพระองค์ปีนี้ จะลดลงจากปี 2565 อยู่ 149 ล้านบาท (1.7%) แต่ก็ยังลดน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ทุกๆ ปี หากลองเปรียบเทียบงบประมาณปี 2561 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการตั้งงบประมาณให้กับส่วนราชการในพระองค์ พบว่า ปี 2566 ส่วนราชการในพระองค์ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึง 4,415 ล้านบาท (105%) ภายในห้าปี

เบญจาอภิปรายต่อไปว่า เหตุที่งบประมาณปีนี้พุ่งสูงขึ้น เป็นเพราะรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 กำหนดให้โอนย้ายห้าหน่วยงานราชการ ได้แก่ 1) สำนักราชเลขาธิการ 2) สำนักพระราชวัง 3) กรมราชองครักษ์ ในสังกัดกระทรวงกลาโหม 4) หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ในสังกัดกระทรวงกลาโหม และ 5) สำนักงานนายตำรวจราชสำนัก สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปสังกัดส่วนราชการในพระองค์ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สถานภาพและการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานนี้ ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

เบญจา อภิปรายว่า ในปี 2562 ก็เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อมีการออกพ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ โอนอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกรมทหารราบที่ 1 และราบที่ 11 เข้าไปเป็นหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ทำให้หน่วยงานเหล่านี้เป็นหน่วยงานตามโครงสร้างของส่วนราชการในพระองค์ไปแล้ว ซึ่งสำนักงบประมาณเองก็เคยชี้แจงว่าที่งบประมาณส่วนราชการในพระองค์เพิ่มสูงขึ้น ก็เพราะมีการโอนงบบุคลากรมาจากกองทัพบก แต่จริงๆ มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ นอกจากจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ก็ยังคงตั้งงบประมาณไว้ที่หน่วยงานต้นสังกัดของหน่วยงานที่ย้ายไปสังกัดส่วนราชการในพระองค์อีกด้วย เช่น ปีงบประมาณ 2560 (ก่อนโอนย้ายหน่วยงาน) มีงบประมาณเกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยราว 1,633 ล้านบาท หลังโอนย้ายหน่วยงาน งบส่วนนี้ก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับเพิ่มสูงขึ้น ในปีงบประมาณ 2561 มีการตั้งงบส่วนนี้รวมประมาณ 3,515 ล้านบาท ขณะที่ฝั่งส่วนราชการในพระองค์เองก็ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น

“ทั้งหมดนี้เองเป็นเพราะกฎหมายที่พลเอกประยุทธ์ ได้ออกมาในยุคคสช. บัญญัติให้การบริหารงานบุคคลของส่วนราชการนี้ (ส่วนราชการในพระองค์) เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย จึงทำให้สภาไม่สามารถพิจารณาหรือตรวจสอบงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ได้อย่างปกติเหมือนส่วนราชการอื่นๆ และด้วยเหตุผลที่ดิฉันได้อภิปรายมาทั้งหมด ทำให้เห็นว่างบประมาณส่วนนี้ ไปซ้ำซ้อนกับหน่วยงานเดิมที่ถวายงานอยู่แล้ว ดิฉันจึงต้องขอปรับลดงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ลงทั้งสิ้น 15% ตามที่ได้แปรญัตติไว้” เบญจากล่าว

“สุดท้าย ดิฉันขอให้สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นที่พึ่งที่หวังสุดท้าย ของกระบวนการพิจารณาและอนุมัติงบประมาณ ร่วมกันเปิดประตูแห่งความเป็นไปได้นี้ เสนอให้มีการทบทวนพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ และทบทวนวิธีการจัดสรรงบประมาณแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ให้เหมาะสมกับพระราชสถานะตามสมควร ให้สอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตยและหลักการตรวจสอบงบประมาณตามปกติ เพื่อทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ได้ด้วยความสง่างาม เหนือเขตแดนทางการเมือง ดังเช่นในนานาอารยประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทรงราชย์ไม่ทรงรัฐ ดำรงอยู่ในหลักการปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง ยึดมั่นอยู่ในหลักการนี้ จึงจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในจิตใจของพี่น้องประชาชนได้อย่างมั่นคงสถาพรอย่างแท้จริง”

รังสิมันต์เสนอปรับลด 3,276 ล้านบาท ชี้มีงบซ้ำซ้อนในกลาโหม-สตช.

ด้านรังสิมันต์ โรม เสนอปรับลดงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ลง 38.04% หรือ 3,276 ล้านบาท อภิปรายว่า ยินดีกับพัฒนาการการชี้แจงงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ในชั้นกมธ. ที่มีความก้าวหน้า โปร่งใสตรวจสอบได้มากขึ้น แต่ก็ยังมีประเด็นสำคัญที่ส่วนราชการในพระองค์ควรจะทำให้ได้ หากพิจารณาจากเอกสารงบประมาณที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ รายการใช้จ่ายยังคงมีระบุเพียงงบทั้งก้อน ไม่มีรายละเอียดไปมากกว่านั้น ซึ่งแต่ก่อน ก่อนมีการตั้งส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานแต่เดิมอย่างสำนักพระราชวัง หรือกรมราชองครักษ์ ก็ยังมีการแจกแจงรายละเอียดตั้งหลายหน้า

“เมื่อปีที่แล้ว ผมได้ชี้ให้เห็นว่านอกจากงบส่วนราชการในพระองค์แท้ๆ ที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิม ยังมีงบที่เหลือค้างใน (หน่วยงาน) ต้นสังกัดเดิม ที่ควรโอนภารกิจไปแล้ว อย่างสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม และสตช. (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) อยู่อีกมากมายมหาศาล โดยในปี 66 ก็พบว่า สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ยังมีงบถวายความปลอดภัย ถึง 1,016 ล้าน ส่วนสตช. ก็ยังมีงบถวายความปลอดภัยถึง 1,574 ล้าน มากกว่าก่อนโอนย้าย (หน่วยงานภายใต้สังกัด ไปยังส่วนราชการในพระองค์) ถึงสามเท่า รวมเป็นงบที่ค้างคาถึง 2,590 ล้านบาท และเมื่อรวมกับงบส่วนราชการในพระองค์ เท่ากับว่ามีงบราชการในพระองค์สูงถึง 11,202 ล้านบาท ซึ่งแม้จะลดลงจากปีที่แล้ว แต่ก็ยังมากกว่าช่วงก่อนมีส่วนราชการในพระองค์เกือบเท่าตัว”

“ดังนั้น ผมขอตัดงบส่วนราชการในพระองค์ปี 66 โดยย้อนไปพิจารณาปี 60 ก่อนการโอนภารกิจ ดูเฉพาะสามหน่วยงานที่ได้โอนมาหมดจดแล้วจริงๆ (มีภาพสไลด์ประกอบ สามหน่วยงานได้แก่ สำนักราชเลขาธิการ, สำนักพระราชวัง และกรมราชองครักษ์) แล้วคำนวณอัตราเพิ่มเดียวกันกับงบทั้งประเทศปี 60 ถึง ปี 66 จะได้เท่ากับ 5,336 ล้านบาท นี่คืองบส่วนราชการในพระองค์ในปี 66 ที่ควรจะเป็น”

“ส่วนงบของสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม และสตช. ในเมื่อสภาได้มีมติเห็นชอบแล้ว ว่าควรให้คงงบถวายความปลอดภัยของสองหน่วยงานนี้เอาไว้ ผมจึงเห็นว่า ก็ไม่ต้องให้โอนมาอยู่ในส่วนราชการในพระองค์ตั้งแต่แรก และเมื่อได้งบที่เหมาะสม คือ 5,336 ล้านบาท ก็เท่ากับตัดงบลงไป 3,276 ล้าน หรือคิดเป็น 38.04%”

รังสิมันต์ โรม ยังตั้งคำถามถึงกมธ. งบประมาณปี 66 ดังนี้

  1. จำนวนข้าราชการในพระองค์ทั้งหมด 14,457 คน มียศและตำแหน่งระดับใดบ้าง ระดับละกี่คน อัตราเงินเดือนอยู่ที่เท่าไหร่
  2. ภารกิจถวายความปลอดภัยฯ ซ้ำซ้อนกับกลาโหมและสตช. หรือไม่
  3. แต่ละปีรับข้าราชการในพระองค์เพิ่มกี่คน
  4. ส่วนราชการในพระองค์ มี “ตำรวจราบ” กี่นาย มีคุณภาพชีวิตอย่างไร
  5. จากที่ชี้แจงว่างบบุคลากร ตั้งไว้ 7,949 ล้านบาท (92%) ทำไมถึงได้มากกว่างบทั้งหมดของทุกหน่วยงาน (ห้าหน่วยงาน) ดั้งเดิมรวมกัน และงบที่ก้าวกระโดดขึ้นหลายปีที่ผ่านมา เป็นเพราะอะไร

“ผมเชื่อว่า คำถามเหล่านี้ ถ้าได้รับการตอบอย่างละเอียดครบถ้วน จะเป็นประโยชน์ในการทำให้ส่วนราชการในพระองค์ สามารถทำหน้าที่ได้เป็นที่พึงพอใจ ทั้งต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และต่อประชาชนผู้เสียภาษีในอนาคต”

“ผมขอย้ำอีกครั้งว่า สิ่งที่ผมเรียกร้องนั้น ขั้นต่ำที่สุดคือ ในปีนี้ ขอแค่ส่วนราชการในพระองค์กลับไปสู่สถานะที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ใช้จ่ายอย่างเหมาะสม ให้เท่ากับที่เคยทำเอาไว้เมื่อหกปีที่แล้ว ได้เท่านี้ ก็เป็นนิมิตรหมายอันดีแล้ว…” รังสิมันต์กล่าวทิ้งท้าย

ด้านปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ. ตอบคำถามของสุทธวรรณ ปมที่มีอาจารย์รายหนึ่งโพสต์เอกสารปกสีฟ้า และกล่าวหาว่ากมธ. งบประมาณปี 65 พูดความเท็จ เกิดความเสียหายต่อกมธ. กมธ.ทั้งห้อง ไม่มีใครเห็นเอกสารเล่มดังกล่าว ตนก็เป็นกมธ.งบประมาณต่อเนื่องมาสามปี ก็ยังไม่เคยเห็นเอกสารดังกล่าว เมื่อถามเลขาคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ชี้แจงว่าเอกสารดังกล่าวคืออะไร ทางผู้ชี้แจงก็ตอบว่าไม่ทราบจริงๆ ตนยืนยันว่ากมธ.งบประมาณสามปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครได้เอกสารดังกล่าว

ปกรณ์วุฒิ ชี้แจงต่อว่า กมธ.ข้างมาก เห็นว่า งบประมาณส่วนราชการในพระองค์ มาตรา 36 เพื่อดำเนินงานด้านเลขานุการในพระองค์ ถวายความสะดวกและความปลอดภัยพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศ์ และพระอนุวงศ์ การตั้งงบประมาณดังกล่าวตั้งไว้อย่างเหมาะสมแล้ว

ตอนท้าย สภาลงมติเห็นด้วยกับกมธ. ข้างมาก ที่ “ไม่แก้ไข” งบประมาณส่วนราชการในพระองค์ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 382 เสียง ขณะที่เสียงเห็นด้วยกับข้อเสนอแก้ไขของส.ส. 38 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง มติที่ประชุมไม่ปรับลดงบประมาณส่วนราชการในพระองค์

__________________________________

“ส่วนราชการในพระองค์” เป็นองค์กรหนึ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 พ.ร.บ.จัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 และพ.ร.ฎ.จัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 กฎหมายทั้งสามฉบับสรุปใจความสำคัญได้ว่า วางฐานขึ้นเพื่อ ให้อำนาจพระมหากษัตริย์ใช้อำนาจจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์และบริหารงานบุคคล ภายใต้องค์กรที่ตั้งใหม่ ชื่อว่า “ส่วนราชการในพระองค์” ที่รับงบประมาณจากรัฐ แต่ไม่ใช่ส่วนราชการ ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ระบบกฎหมายอื่นเข้าไปตรวจสอบไม่ได้

ทั้งนี้ สมาชิกพระราชวงศ์บางส่วน ก็มีอีกหนึ่งสถานะเป็น “ข้าราชการในพระองค์” ที่ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ “ส่วนราชการในพระองค์” เช่น พลเอกหญิง สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และพลเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาธิการกองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

ทำความรู้จักกับ “ส่วนราชการในพระองค์” ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5922