สรุปคำฟ้องคดีขอเพิกถอนข้อกำหนด “ลักไก่” ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มโทษผู้ชุมนุม

วันที่ 22 สิงหาคม 2565 เวลา 10.00 น. ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก นิสิตและนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย เช่น เจนิสษา แสงอรุณ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พศิน ยินดี ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สิรภพ อัตโตหิ องค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ฯลฯ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผบ.สส. เป็นจำเลย ขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งเพิกถอนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ฉบับที่ 15 และขอให้ศาลเปิดไต่สวนเพื่อคุ้มครองชั่วคราว 

สืบเนื่องจากวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 47 กำหนดให้การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพของประชาชนที่ย่อมกระทําได้ โดยให้นําหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กําหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) กำหนดมาตรการขึ้นเป็นการเฉพาะ “เพื่อคุ้มครองประชาชน รวมทั้งอำนวยความสะดวกและดูแลการชุมนุม…”

ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2565 พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงออกประกาศฉบับที่ 15 ในข้อ 5 ระบุให้นำหลักเกณฑ์การแจ้งการจัดและการแจ้ง รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามกฎหมายชุมนุมสาธารณะหรือพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558  (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ)มาใช้ หากฝ่าฝืนให้รับโทษตามมาตรา 18 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งที่โทษสำหรับการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีอัตราโทษที่ต่ำกว่าอยู่หลายมาตรา

การออกประกาศดังกล่าว จึงถือเป็นการออกคำสั่งเพิ่มทั้ง “ข้อห้าม” และ “หน้าที่” สำหรับผู้ชุมนุม เกินไปกว่าอำนาจที่ ผบ.สส. มีตามข้อกำหนดฉบับที่ 47 และยังเพิ่มบทลงโทษในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้สูงเท่ากับการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งผบ.สส. ไม่มีอำนาจออกประกาศเช่นนี้ ผู้ฟ้องคดีจะยื่นขอให้ศาลแพ่งไต่สวนเป็นการฉุกเฉินในวันเดียวกัน เพื่อออกคำสั่งเพื่อคุ้มครองชั่วคราวให้ประกาศผบ.สส. ฉบับนี้ไม่มีผลบังคับใช้ในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ด้วย 

รายละเอียดคำฟ้องโดยสรุปมีดังนี้ 

โจทก์ 1-7 ตามลำดับ : เจนนิสษา แสงอรุณ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พศิน ยินดี ประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น, สิรภพ อัตโตหิ นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชษฐา กลิ่นดี สมาชิกสภานิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามและณพกิตติ์ มะโนชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร 

จำเลยที่ 1 และ 2 ตามลำดับ : พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและพลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 47 กำหนดว่า “….การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพของประชาชนที่ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายโดยให้นำหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจสอบ ระงับยับยั้ง หรือยุติการชุมุนม การทำกิจกรรม หรือมั่วสุมที่จัดขึ้นโดยมีลักษณะเสี่ยงจ่อการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมันท่วงที ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ด้านความมั่นคง (ศปม.) กำหนดมาตรการขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อคุ้มครองประชาชน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกและดูแลการชุมนุม รวมไปถึงกำหนดมาตรการอื่นๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ได้…”

ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 15 ระบุว่า “ข้อ ๕ ให้นำหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ต้องรับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ…”

ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 47 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคง ฉบับที่ 15 เป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ออกโดยไม่มีฐานทางกฎหมายใหอำนาจออก โดยกฎหมายแม่บทไม่ให้อำนาจไว้ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้ดุลพินิจในการออกข้อกำหนดโดยมิชอบ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560 หลายประการ ดังนี้

ฉวยใช้กฎหมายลำดับรองเพิ่มโทษผู้ชุมนุม

ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ หมวดที่ 2 การแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ได้ถูกกำหนดโทษไว้ในมาตรา 28 หากผู้จัดการชุมนุมไม่แจ้งการชุมนุมต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หมวด 3 หน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม มีบทกำหนดโทษในมาตรา 30 และมาตรา 31 หากมิใช่การทำให้ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบการสื่อสารหรือโทรคมนาคมระบบผลิตหรือส่งกระแสไฟฟ้าหรือประปา หรือระบบสาธารณูปโภคอื่นใดใช้การไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเท่านั้น 

แต่นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดที่ 47 ข้อ 3 กำหนดให้นำหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม ส่วนผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศฉบับที่ 15 ข้อ 5 ตามที่ระบุข้างต้นมีส่วนที่ให้การกระทำตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯต้องรับโทษตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การกระทำของทั้งสองเป็นการออกกฎหมายลำดับรองไปเพิ่มโทษบุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่ใหญ่กว่าให้ได้รับโทษหนักขึ้นเกินกว่าที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เช่น  การไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จะต้องโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือหากถูกกล่าวหาว่า ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดโทษไว้ที่จำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเท่านั้น 

แต่ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 47 และประกาศผู้บัญชาการทหารสูงสุดฉบับที่ 15 ทำให้แม้การชุมนุมที่แจ้งการชุมนุมโดยไม่ชอบตามกฎหมายหรือถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมที่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กำหนดก็อาจทำให้ต้องรับโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งมากกว่าที่พ.ร.บ.ชุมนุมฯกำหนดไว้ 

หลีกเลี่ยงการยกบทบัญญัติการคุ้มครองสิทธิผู้ชุมนุม 

รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมไว้และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองก็ได้รับรองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเอาไว้ด้วยเช่นกันซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม จึงได้มีการตราพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเห็นได้จากหมายเหตุท้ายพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนที่มุ่งคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการดูแลการชุมนุมสาธารณะ คุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนเอาไว้ตามหมวด 4 การคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการดูแลการชุมนุมสาธารณะ โดยกำหนดให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะมีหน้าที่อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้กับการชุมนุมไปจนถึงขั้นตอนในมาตรา 21 หากเห็นว่าการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็จะต้องไปร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะนั้น ศาลเท่านั้นจึงเป็นผู้มีอำนาจสั่งให้เลิกการชุมนุมตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลภายในระยะเวลาที่กำหนด กฎหมายก็ยังกำหนดขั้นตอนวิธีการต่าง ๆ เอาไว้อีกหลายขั้นตอน 

แต่ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 47 กำหนดให้นำหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม ขณะที่ประกาศของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ฉบับที่ 15 นำหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมมาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น ทั้งสองมีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ให้นำหมวด 4 การคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการดูแลการชุมนุมสาธารณะมาบังคับใช้ มีเจตนาที่กำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตนกำหนดขึ้นให้มีความยุ่งยากซับซ้อน กำหนดโทษที่เพิ่มหนักขึ้นกว่ากฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่ควรจะเป็น และยังจงใจหลีกเลี่ยงไม่ให้นำการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการดูแลการชุมนุมสาธารณะมาบังคับใช้โดยอนุโลม

นอกจากนี้ในข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 47 ระบุว่า  “เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจสอบ ระงับยับยั้ง หรือยุติการชุมนุมการทำกิจกรรม หรือมั่วสุม ที่จัดขึ้นโดยมีลักษณะต่อการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างทันท่วงที ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) กำหนดมาตรการขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อคุ้มครองประชาชน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกและดูแลการชุมนุม รวมไปถึงกำหนดมาตรการอื่น ๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ได้” ซึ่งเป็นการเปิดช่องทางให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกำหนดมาตรการขึ้นเองเป็นการเฉพาะให้สามารถระงับยับยั้ง หรือยุติการชุมนุม ได้ด้วยตนเองทันที โดยไม่ต้องผ่านกลไกศาลเหมือนที่พ.ร.บ.ชุมนุมฯบัญญัติไว้

จำเลยทั้งสองร่วมกันออกข้อกำหนดและประกาศฉบับดังกล่าวขึ้นมาเพื่อมุ่งจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของโจทก์และประชาชนทั่วไปโดยไม่สุจริต มุ่งสร้างเงื่อนไขให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความยุ่งยากซับซ้อน กำหนดอัตราโทษที่หนักขึ้น ไม่ได้สัดส่วนและเกินความจำเป็น โดยหยิบยกเอาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มาเป็นข้ออ้างในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของโจทก์และประชาชน ทั้งที่รัฐได้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มีการรวมตัวและทำกิจกรรมอื่นๆ ยกเลิกมาตรการคัดกรองต่างๆ จนเกือบจะใช้ชีวิตปกติได้ แต่ยังสร้างเงื่อนในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแล้ว หากต้องการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค กฎหมายปกติเท่าที่มีอยู่ก็เพียงพอในการกำกับ การกระทำของจำเลยทั้งสองถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักนิติธรรม เป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของโจทก์และบุคคลอื่นเกินสมควรแก่เหตุ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 และขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง

การใช้อำนาจดังกล่าวมีผลเป็นการทำลาย กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุมของโจทก์ อันเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรอง ทำให้รัฐบาลมีอำนาจเด็ดขาดในการระงับยับยั้ง สกัดการชุมุนมหรือสั่งให้เลิกการชุมนุมได้เองโดยไม่ต้องผ่านการถ่วงดุลโดยฝ่ายตุลาการ ขอให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 47 และ ประกาศผู้บัญชาการทหารสูงสุดฉบับที่ 15 

ไฟล์แนบ